การศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับเมืองลอง งานการศึกษาที่เขียนเกี่ยวกับเมืองลองและเมืองต้าโดยตรงนั้นมีจำนวนน้อยมาก แต่เพื่อเป็นการปูพื้นฐานทั้งการนำมาใช้เป็นหลักฐานและกรอบแนวความคิด  จึงได้สำรวจงานการศึกษาทุกแขนงวิชาที่เกี่ยวข้องกับเมืองลองและเมืองต้า  เพื่อสำรวจสถานภาพงานการศึกษาที่ผ่านมาของเมืองลอง งานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองลองจัดจำแนกออกได้เป็น ๔ กลุ่มหลักตามประเด็นที่ศึกษา โดยผู้ศึกษาได้เชื่อมโยงและวิพากษ์วิจารณ์งานกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา  และทำให้เห็นภาพการศึกษาเกี่ยวกับเมืองลองที่ผ่านมา

๑. กลุ่มตำนานที่เกี่ยวข้องกับเมืองลอง

เมืองลอง เมืองต้า เริ่มปรากฏในตำนานภายนอก คือ พื้นเมืองเชียงใหม่ตอนเริ่มสถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนช่วงทศวรรษ ๒๒๗๐ เนื่องจากเมืองศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญในช่วงนี้อยู่ที่เมืองลำปาง ดังนั้นพื้นเมืองเชียงใหม่ในตอนนี้จึงกล่าวถึงบริบทเหตุการณ์ในเมืองนครลำปางอย่างละเอียด  นอกจากนั้นก็มีตำนานฝ่ายวัดกล่าวพาดพิงถึง เช่น ตำนานธรรมครูบามหาเถรเจ้า ตอนครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรกลับจากนครเชียงใหม่ผ่านมาถึงเมืองลองและพักที่เมืองต้า ซึ่งตำนานระบุว่าเจ้าเมืองลองได้ทำบุญพร้อมกับส่งครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรที่เมืองต้า  และมีปรากฏชื่อพระธาตุสำคัญของเมืองลอง คือ ตำนานพระเจ้าตนหลวง และตำนานพระธาตุสบแวน  ตำนานทั้งสองเขียนตำนานตามรูปแบบของตำนานพระเจ้าเลียบโลก โดยการเชื่อมโยงพระธาตุของแต่ละเมืองเข้าไว้ด้วยกันเป็นสายวัฒนธรรมทางความเชื่อศรัทธาพุทธศาสนาตามโลกทัศน์ของผู้แต่ง อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นเพียงรูปแบบการแต่งตำนาน แต่ตำนานทั้งสองก็สะท้อนโลกทัศน์และการรับรู้ของคนในสมัยนั้น ว่ามีพระธาตุของเมืองลองอยู่หลายองค์

ส่วนตำนานหลักภายในเมืองลองมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ ตำนานพระธาตุแหลมลี่ และตำนาน พระธาตุศรีดอนคำ ซึ่งมีการนำตำนานทั้งสองฉบับมาจารรวมกันในใบลานหรือเขียนลงพับสาด้วยอักษรธรรมล้านนา ใช้ชื่อต่างกันออกไปเช่น ตำนานเมืองลอง, ตำนานพระธาตุห้าหลังในเมืองลอง, ตำนานมหาธาตุขวยปู, ตำนานธาตุสี่หลัง, ตำนานแหลมลี่ ร่องอ้อ, และตำนานเสลธาตุ ฯลฯ แม้ว่าชื่อตำนานที่ปรากฏเหล่านี้แตกต่างกันแต่เนื้อความที่จารนั้นเหมือนกันทุกฉบับ จะต่างกันบ้างเนื่องจากการคัดลอกตกหล่นหรือเพิ่มเติมเข้าไป ตำนานฉบับแรก คือ ตำนานพระธาตุแหลมลี่  แต่งขึ้นช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยพระมหาพุทธคุณเถระ วัดพระธาตุแหลมลี่ กล่าวประวัติร่วมกันของพระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ และพระธาตุไฮสร้อย  มีลักษณะเป็นตำนานที่เน้นอิทธิปาฏิหาริย์  ส่วนตำนานฉบับที่สอง คือ ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ สันนิษฐานว่าผู้แต่ง คือ ครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะ  วัดนาหลวง(ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ) ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลักษณะของตำนานกล่าวเริ่มด้วยปีศักราชเป็นตอนๆ และปีศักราชที่ระบุในตำนานฉบับที่สองเมื่อเทียบเคียงกับตำนานอื่น เช่น พื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมืองน่าน และพื้นเชียงแสน  มีความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย ถือได้ว่าตำนานฉบับนี้น่าเชื่อถือมากกว่าตำนานพระธาตุแหลมลี่ ช่วยเติมเต็มให้เข้าใจบริบทเหตุการณ์ของเมืองลองชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงพม่าปกครอง

ตำนานพระธาตุของเมืองลองที่นำมาวิพากษ์เพื่อใช้ในบทความฉบับนี้ คัดเลือกที่ยังไม่ปริวรรต ๙ ฉบับ และปริวรรตแล้ว ๓ ฉบับ คือ ฉบับวัดนาตุ้ม ฉบับวัดพระธาตุไฮสร้อย ฉบับวัดนาหลวง ฉบับวัดเชียงมั่น ฉบับวัดเจดีย์หลวง ฉบับวัดเหมืองหม้อ ฉบับวัดดอนแก้ว ฉบับวัดป่าเปอะ ฉบับวัดหลักปัน ตำนานพระธาตุวัดศรีดอนคำและประวัติเมืองลอง ตำนานพระธาตุแหลมลี่  ตำนานพระธาตุแหลมลี่  ตำนานที่วิพากษ์แล้วทั้ง ๑๒ ฉบับต่อไปเมื่อใช้อ้างอิงจะเรียกว่า “ตำนานเมืองลอง ฉบับตรวจสอบ ปีพุทธศักราช  ๒๕๕๐” นอกจากตำนานหลักทั้งสองฉบับ  เมืองลองยังมีตำนานปกิณกะต่างๆ  ที่เขียนขึ้นภายหลัง คือตำนานพระธาตุเจ้าปูคำหรือตำนานพระธาตุขวยปู แต่งโดยพระจันทวงศาเถระ เขียนเพิ่มเติมเพื่ออธิบายถึงที่มาของพระธาตุให้สอดคล้องกับชื่อว่าพระธาตุขวยปู เพราะตำนานฉบับหลักข้างต้นไม่ได้อธิบายที่มาของชื่อพระธาตุ ลักษณะเนื้อหาสันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นชาวนครเชียงตุง โดยนำตำนานเมืองเชียงตุงที่เคยรับรู้มาเรียบเรียงให้สัมพันธ์กับที่มาของพระธาตุขวยปู

ตำนานบ่อเหล็กและบ้านนาตุ้ม เป็นตำนานที่มีต้นเค้ามาจากเรื่องเล่าภายในท้องถิ่นก่อนมีการจดบันทึกลงในใบลานก้อมจำนวน ๑๗ ลาน และคัดลอกอีกทอดใส่สมุดโหราโดย หมื่น กลางโฮง(พ่อน้อยแก้ว  จาอาบาล) ตำนานได้กล่าวถึงการก่อตั้งบ้านนาตุ้ม ที่มาของบ่อเหล็ก และเชื่อมความสัมพันธ์กับพระนางจามเทวีสร้างพระธาตุศรีดอนคำ

๒. กลุ่มศึกษาและอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเมืองลอง

ล้านนาประเทศ แสดงถึงหลักฐานโบราณคดีที่บ่งชี้ให้เห็นว่า การคมนาคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ขึ้นมาตามลำน้ำยม คือ จากเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย  ที่พบโบราณสถานโบราณวัตถุแบบลพบุรีมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  เมื่อขึ้นมาตามแม่น้ำยมก็เป็นเมืองตรอกสลอบ พบจารึกมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙  และพบพระพิมพ์เนื้อชินที่มีอิทธิพลศิลปะแบบลพบุรีผสมกับศิลปะแบบท้องถิ่น ถัดขึ้นไปมีชุมชนโบราณในเขตบ้านแม่บงเหนือ พบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา แบบเผาแกร่ง(Stoneware) และภาชนะเคลือบแบบ สังคโลกสุโขทัยและจากเตาของล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา และต่อมาคือเมืองลองโบราณบริเวณบ้านไฮสร้อย  ที่อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมเส้นทางการคมนาคม

ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่ เล่ม ๑ อำเภอสูงเม่น เด่นชัย ลอง วังชิ้น ออกสำรวจชุมชนโบราณเงี้ยวบ้านบ่อแก้วหรือบ้านห่างเงี้ยว  ที่เป็นกลุ่มเริ่มต้นเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕ พบอุปกรณ์เครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผาแบบเคลือบและไม่เคลือบ นอกจากนี้ก็กล่าวถึงบริเวณบ้านห้วยอ้อที่ตั้งเมืองลองปัจจุบัน  เวียงต้า  และชุมชนโบราณบ้านไฮสร้อย  ซึ่งเมื่อกล่าวถึงชุมชนโบราณบ้านไฮสร้อยได้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ว่าชุมชนโบราณอยู่บริเวณเมืองโกนหลวง  แต่ชุมชนโบราณบ้านไฮสร้อยหรือเวียงลองคือบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านไฮสร้อยในปัจจุบัน โดยมีกำแพงดินล้อม รอบ ๔ ชั้น คูน้ำคันดิน ๓ ชั้น  ส่วนโกนหลวงคือบริเวณวัดนอกเวียงลองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

หูช้างในเขต อ.เมือง อ.ลอง และอ.วังชิ้น จ.แพร่ ศึกษาถึงนาคทัณฑ์ในเขตอำเภอเมืองแพร่ว่าได้รับอิทธิพลจากเมืองน่าน และส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลแบบศิลปะรัตนโกสินทร์อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนในเขตอำเภอลองและอำเภอวังชิ้นนาคทัณฑ์มีความคล้ายคลึงกัน รับรูปแบบทางศิลปกรรมของลำปางเข้ามาผสมแต่ก็คงมีลักษณะของงานพื้นบ้าน และรายงานการวิจัยเบื้องต้น ลวดลายสลักไม้คันทวยประดับโบสถ์วิหารในเขตอำเภอลอง  จังหวัดแพร่ นาคทัณฑ์รุ่นเก่าพบที่วัดพระธาตุศรีดอนคำและวัดนาหลวง มีลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรมคล้ายกับนาคทัณฑ์วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง  และในเมืองลองปรากฏลวดลายไส้หมูนำมานิยมตกแต่งเหมือนกับที่นิยมในเมืองลำปาง เช่น วัดนาหลวง วัดนาตุ้ม แต่ฝีมือเชิงช่างเป็นแบบท้องถิ่น

กลุ่มอธิบายผ้าโบราณและผ้าซิ่นตีนจกในเมืองลอง การศึกษาลวดลายผ้าซิ่นตีนจกอำเภอลอง จังหวัดแพร่ , การศึกษารูปแบบและลวดลายผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง และจกเมืองลองของดีเมืองแป้ กล่าวถึงซิ่นตีนจกเมืองลองมีรายละเอียดเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นแตกต่างไปจากตีนจกลับแล จ.อุตรดิตถ์ ตีนจกหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย หรือตีนจกเมืองลำปาง ทั้งลักษณะการใช้สี  ขนาดลวดลาย  และขนาดการจก พร้อมกับแสดงความแตกต่างของตีนจกเมืองลองและวิธีการผลิตที่เริ่มเปลี่ยนช่วง พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นต้นมา กลุ่มงานที่ศึกษาเกี่ยวกับผ้าซิ่นตีนจกเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะศึกษาลวดลาย อธิบายขั้นตอนกระบวนการผลิต และการปรับประยุกต์ใช้ในสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาหรือความสัมพันธ์กับความเป็นเมืองลอง

๓. กลุ่มศึกษาและอธิบายประวัติเมืองลอง

งานกลุ่มนี้ชิ้นแรกคือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นต้นเค้าให้พ่อหนานบุญชู ชุ่มเชื้อ ปราชญ์ท้องถิ่นของเมืองลองนำมาเขียนอธิบายจนเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเมืองลองคือ “เมืองเชียงชื่น” สืบจนปัจจุบัน เริ่มจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงอธิบายถึงตำแหน่งที่รบกันระหว่างกองทัพพระเจ้าติโลกราช  กษัตริย์อาณาจักรล้านนา  กับกองทัพพระบรมไตรโลกนาถ  กษัตริย์อาณาจักรอยุธยา  และทรงพยายามค้นหาว่าเมืองเชลียงตั้งอยู่จุดไหน  จึงให้พระยาสุรบดินทร(พร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกได้ไต่สวนดู ก็ได้ข้อมูลว่าเมืองเชลียงน่าจะเป็นเมืองลองขึ้นนครลำปาง ส่วนเมืองเชียงชื่นนั้นน่าจะเป็นเมืองเถิน และสุดท้ายก็ทรงสันนิษฐานว่า เมืองเชียงชื่นน่าจะเป็นเมืองลองหรือเมืองเถินเมืองใดเมืองหนึ่งเพราะเมืองเชลียงอยู่บริเวณเมืองศรีสัชนาลัย

ตำนานพระธาตุวัดศรีดอนคำ(ห้วยอ้อ)และประวัติเมืองลอง ผู้เขียนได้ค้นคว้าและรวบรวมอย่างกว้างขวาง ทั้งมาจากตำนานพระธาตุแหลมลี่ ตำนานวัดศรีดอนคำ ประชุมพงศาวดารของหลวงวิจิตรวาทการ พงศาวดารโยนก พงศาวดารไทยใหญ่ พงศาวดารเหนือ และสอบถามผู้รู้ประวัติเมืองลอง  งานชิ้นนี้ถือเป็นต้นแบบให้กับงานเขียนเกี่ยวกับประวัติเมืองลอง ที่สืบเนื่องตลอดมาจนปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ(๕๙ ปี) เช่น ตำนานเมืองเหนือ เมืองแพร่ ๘๐๐ ปี ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่ และบ้านของเรา เป็นต้น ผู้เขียนได้เขียนตามกรอบของประวัติศาสตร์ชาติไทย และรับความคิดเรื่องเมืองลองคือเมืองเชียงชื่นจากงานพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาอธิบายเพิ่มเติม  แต่คุณูปการที่สำคัญยิ่งคือได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานของท้องถิ่นเมืองลองไว้  ทั้งลำดับรายนามเจ้าเมืองลอง บุคคลสำคัญ การสร้างถาวรวัตถุ ความสัมพันธ์กับเมืองลำปาง เมืองแพร่ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในความทรงจำของชาวเมืองลองในอดีต แม้ว่าปีที่ระบุอาจมีความคลาดเคลื่อนแต่ก็สามารถนำมาเป็นแนวทางให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลองสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ส่วนเมืองต้ามีการเขียนประวัติเมืองต้า โดยพิทักษ์ ปัญญาฉลาด ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองต้า เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๓ ได้กล่าวถึงเมืองต้าในแต่ละยุคสมัย รายนามเจ้าเมืองต้า และมีตำนานที่รวบรวมจากคำบอกเล่าของผู้รู้ในท้องถิ่น  เช่น ตำนานชื่อผาเจ้า  ตำนานพระเจ้าแสนตอง  ตำนานถ้ำหลามอ้าย(อธิบายที่มาของคำพูดคนเมืองต้า เมืองลองที่ต่างกัน) และตำนานชื่อภูผาต่างๆ ในเมืองต้า   งานเขียนชิ้นนี้ถือว่าได้รวบรวมเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่นเมืองต้าไว้เป็นครั้งแรก เป็นการปรากฏสำนึกความเป็นตัวตนของเมืองต้าในหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นฐานให้ศึกษาเรื่องของเมืองต้าได้ดี

๔. กลุ่มศึกษาและอธิบายเมืองลองยุคปัจจุบัน ในรูปของอำเภอลอง จังหวัดแพร่

งานกลุ่มนี้จะศึกษาและอธิบายเมืองลอง ในหน่วยการปกครองที่แบ่งออกเป็นตำบล หมู่บ้าน แสดงถึงขนาด ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ประชากร วัฒนธรรมของท้องถิ่น หน่วยการปกครอง สถานที่ วัด โบราณสถานโบราณวัตถุสำคัญ  และแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ นำเสนอข้อมูลของอำเภอลองว่ามีอะไรและเป็นอย่างไรบ้าง โดยอธิบายความเป็นเมืองลองในลักษณะแยกส่วนตามหน่วยการปกครองของกระทรวงมหาดไทย  ทั้งที่อำเภอลองคือการรวมเมืองลองและเมืองต้าแบบจารีตเข้าไว้ด้วยกัน และถูกตัดแบ่งเมืองลองแบบจารีตออกไปเป็นอำเภอวังชิ้น ทำให้คนรับรู้ว่าทั้งสองอำเภอมีประวัติความเป็นมาที่ขาดออกจากกัน รวมถึงทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันมีจำนวนน้อยที่รู้ว่าอำเภอลองและอำเภอวังชิ้นมีความสัมพันธ์กับลำปาง  เพราะเกิดจากความเข้าใจตามรูปแบบการปกครองในหน่วยของจังหวัดและอำเภอของประเทศไทย  งานกลุ่มนี้ เช่น ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่ แพร่...ประตูสู่ล้านนา ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๘ และบ้านของเรา

สรุปภาพรวมงานการศึกษาเกี่ยวกับเมืองลองทั้งหมดที่ผ่านมาทุกชิ้นทุกกลุ่ม ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มีลักษณะของการศึกษาแบบแยกสาขาไม่ได้นำมาบูรณาการให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แทบทั้งหมดเป็นการเขียนคัดลอกและตัดเติมเสริมแต่งบ้างเพียงเล็กน้อย เห็นได้ชัดเจนคืองานประวัติเมืองลองของพ่อหนานบุญชู  ชุ่มเชื้อ ที่เป็นต้นแบบให้กับงานเขียนเกี่ยวกับประวัติเมืองลองทั้งจากคนภายในท้องถิ่นและคนภายนอก สืบเนื่องตลอดมาจนปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ กอปรกับงานการศึกษาแต่ละชิ้นจะเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ ลักษณะทางศิลปกรรม และโบราณสถานโบราณวัตถุในแต่ละช่วงมิติเวลา แต่ขาดการนำมาร้อยรัดถักทอให้เห็นความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันในด้านต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่รวมกันเป็นหน่วยเมืองลองแบบจารีตของอาณาจักรล้านนา  จนนำมาสู่การคลี่คลายกลายเป็นหน่วยอำเภอลองของระบบราชการไทยแบบใหม่ที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นการศึกษาประวัติเมืองลองจึงขาดมิติความสัมพันธ์ตลอดมากว่าร่วมศตวรรษ

ภูเดช  แสนสา

ภาพมุมมองจากยอดดอยทางทิศตะวันตกของเมืองลอง

(ที่มา : อภิเกียรติ ชื่นสมบัติ, ๒๕๕๔)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 10 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 07:23 น.• )