ชุมชนบ้านกาศ เกิดขึ้นจากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เริ่มจากลักษณะทำเลแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะในการทำการเกษตร ประมาณปีพุทธศักราช ๑๙๕๐ จึงเป็นแหล่งที่มีผู้คนจากที่อื่นอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน โดยเริ่มจากมีกระท่อมเพื่อทำการเพาะปลูก ลักษณะที่ตั้งเป็นที่ราบลุ่มทอดยาวจากทิศตะวันออก ลงไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมีแม่น้ำ ๓ สายไหลผ่าน ประกอบด้วย ๑. แม่น้ำแม่สาย ไหลผ่านทางด้านทิศใต้ ๒. แม่น้ำร่องแวง ที่แยกจากแม่น้ำเหมืองบ้าน ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ ๓. แม่น้ำเหมืองกาด ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ประชาชนได้ตั้งหลักแหล่งทั้งสองข้างลำเหมืองกาดจากทางทิศตะวันออก(คือบ้านกาศเหนือปัจจุบัน) ลงไปทางทิศตะวันตก(คือบ้านม่วงในปัจจุบัน) โดยเริ่มตั้งรกรากที่บ้านกาศใต้ (หมู่ที่ ๓ ปัจจุบัน) จากประวัติการสร้างวัดดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้เชื่อว่า มาจากเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ (จากหลักฐานประวัติการสร้างวัด,ประวัติตระกูลในตำบล) โดยบริเวณหน้าวัดกาศเหนือ เดิมมีต้นโพธิ์ขึ้นหนาแน่น (ต้นศรี) ปัจจุบันเป็นตลาดสด เป็นแหล่งนัดพบและค้าขาย จึงมีพ่อค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้า จึงเรียกว่า “ กาด” เป็นภาษาเหนือที่มาจากคำว่า “ตลาด” ต่อมาคำว่า “กาด” เปลี่ยนเป็น “กาศ” ท่านมหาวิชิต ศรีจันทร์กาศ เปรียญ ๖ น.ธ.เอก ผู้เรียบเรียงประวัติวัดกาศเหนืออธิบายไว้ว่า “วัดกาศเหนือ ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดกาดหลวง เพราะวัดนี้มีศรัทธาทนุบำรุงมากมาย หรือเป็นวัดที่เจ้าหลวงนครแพร่บำรุง เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตกาล นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอีกว่า “วัดกาดศรีคง” เพราะสมัยก่อนมีต้นศรี (ต้นโพธิ์ ) ขึ้นหนาแน่นมาก  ส่วนคำว่า “กาด” เปลี่ยนมาเป็น “กาศ”

ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ไม้เป้ง ไม้เซา เข้าใจว่า ในสมัยโบราณคงจะมีไม้ประเภทนี้มาก หรือ อาจจะมาจากศัพท์ว่า “ปรกาศ” (ปร-กาศ) แปลว่า แสงสว่าง คนสมัยก่อนคงทราบว่าเป็นหมู่บ้านของคนผู้มีแสงสว่างแห่งชีวิต มีศีลธรรมอันดีงาม จึงใช้คำว่า “กาศ” มาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับตำบลร่องกาศ ซึ่งน่าจะมีที่มาเดียวกัน ความเป็นมาของคำว่า “กาด” ในอดีต เกิดจากเมื่อสมัยเวียงกวาง (ต.บ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่) เป็นเวียงแห่งแรกของจังหวัดแพร่ บ้านกาศเป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าวาณิชต่างๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า “กาด” มาจากตลาดและเป็นคำว่า “กาศ”ในที่สุด (จากหลักฐานประวัติวัดกาศเหนือ) ลำดับความเป็นมา สรุปได้ดังนี้ ประมาณ พ.ศ. ๑๙๕๐ มีราษฎรเริ่มมาอาศัยทำการเพาะปลูก บริเวณแหล่งน้ำทั้ง ๓ สาย ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ มีผู้คน พ่อค้ามาพักทำการค้าขายบริเวณกาดศรีคง ซึ่งเป็นพวกเงี้ยวและที่มาจากเชียงแสน เชียงตุง ซึ่งสินค้าจะเป็นพวกผ้าไหม โสร่ง โจงกระเบน และมาตั้งรกรากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ พ.ศ.๒๑๐๐ มีพระชื่อ “พระโกวิระ” มาพร้อมกับพวกเงี้ยว แต่ประวัติวัดกาศเหนือบอกว่าพระนั้นชื่อ “โกวินทะ” มาจากทางอีสาน ซึ่งอาจจะเพี้ยนไปเพราะเป็นไปตามคำบอกกล่าวต่อๆกันมา และมาสร้างวัดขึ้นคือ “วัดกาดใต้” ต่อมาจึงมีวัดเพิ่มขึ้นอีกคือ วัดกาศเหนือ วัดม่วงเกษม และวัดหนองช้างน้ำ ประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ทางการได้ตั้งหมู่บ้านนี้เป็นแขวงหนึ่ง และแต่งตั้งให้นายอุตตมะเป็นนายแขวงเรียกชื่อเป็นบ้านกาศ แบ่งออกเป็น ๘ หมู่บ้าน และนายบุญทะวงศ์ ได้เป็นนายแขวงสืบต่อมา และทางเจ้าหลวงเมืองแพร่ได้ตั้งให้นายบุญทะวงศ์ เป็น ขุน ชื่อ ขุนกาศ ระงับกิจ

ด้านการปกครอง หลังจากขุนกาศ ระงับกิจ เสียชีวิตลง ภายหลังรัชกาลที่ ๖ ได้กำหนดให้มีพระราชบัญญัตินามสกุลและพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองขึ้น จึงกำหนดให้เป็นตำบลบ้านกาศ แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ หมู่บ้าน มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครองสืบต่อมา ประกอบด้วย ๑. นายวงศ์ สุวรรณกาศ ๒. นายตัน มาตรแม้น ๓. นายต่อง  เนืองนิตย์ ๔. นายสุวิทย์  สุวรรณกาศ ๕. นายสนิท  สุวรรณชัย ๖. นายสิงห์พันธ์ กาศสกุล ๗. นายสม  อุ่นกาศ ๘. นางจารุวรรณ  สุวรรณชัย ๙. นายชานันท์ (ชยนัน) เข็มวิชัย ๑๐. นายสังคม  อุ่นกาศ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๕ )

ตำบลบ้านกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ หมู่ที่ ๑ บ้านกาสเหนือ,  หมู่ที่ ๒ บ้านกาสเหนือ, หมู่ที่ ๓ บ้านกาสใต้,  หมู่ที่ ๔ บ้านม่วงเกษม, หมู่ที่ ๕ บ้านหนองช้างน้ำ, หมู่ที่ ๖ บ้านกาสเจริญ, หมู่ที่ ๗ บ้านม่วงเกษม ที่ตั้ง ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่, ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น, ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ และตำบลบ้านกวาง อำเภอสูงเม่น, ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านตอนิมิตร ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น พื้นที่ ของตำบลบ้านกาศจำนวน ๗.๖ ตารางกิโลเมตร

ข้อมูลด้านการปกครอง ๑. เจ้าอาวาสวัดในตำบลบ้านกาศ วัดกาศเหนือ (สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๔ ) เจ้าอาวาสชื่อ ครูบาชัยเสน, วัดกาศใต้ ( สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ) ไม่หลักฐาน, วัดหนองช้างน้ำ (สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ) เจ้าอาวาส ชื่อพระอธิการมหาวัน, วัดม่วงเกษม (สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ ) เจ้าอาวาสชื่อ พระอธิการพรหมวัตร

กำนันคนแรกของตำบลคือ นายวงศ์ สุวรรณกาศ, ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน (๑) โรงเรียนบ้านกาศ (วัฒนาประชานุกูล ) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ชื่อนาย กิ ประดิษฐ์, (๒) โรงเรียนบ้านม่วงเกษม (เกษมวิทยาคาร) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ชื่อ นายจำเริญ เจริญกาศ, (๓) โรงเรียนบ้านกาศประชานุเคราะห์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ชื่อนายประหยัด บุญยงค์

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน (๑) สถานที่เกี่ยวกับการศึกษา - โรงเรียนบ้านกาศ(วัฒนาประชานุกูล) หมู่ที่ ๒ ต.บ้านกาศ สอนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ ๖  - โรงเรียนบ้านม่วง(ม่วงเกษมวิทยาคาร) หมู่ที่ ๔ ต.บ้านกาศ สอนระดับอนุบาล - ประถมศึกษาปีที่ ๖ - โรงเรียนบ้านกาศประชานุเคราะห์ หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านกาศ สอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖

ฌาปนสถานในตำบลบ้านกาศ - ฌาปนสถานบ้านกาศเหนือ หมู่ที่ ๕ บริการประชาชนในหมู่ที่ ๑,๒,๕,๖ - ฌาปนสถานบ้านกาศใต้ หมู่ที่ ๓ บริหารประชาชนหมู่ที่ ๒,๓,๔,๗

สถานพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖

หน่วยบริการประชาชน ศูนย์ตำรวจชุมชนตำบลบ้านกาศ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกาศ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ซึ่งมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกาศ ดังนี้  ๑. นายอุดมเดช คณะบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๘ ๒. นายเจริญ กาศโอสถ พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๒ ๓. นายเจริญ กาศโอสถ พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ (ถึงแก่กรรม) ๔. นายวิเชียร สุวรรณกาศ พ.ศ. ๒๕๕๓ - ปัจจุบัน ( ขณะจัดทำข้อมูล ๒๕๕๕ )

ด้านการศึกษา ที่ศาลาวัดกาศเหนือ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๒ เริ่มตั้งโรงเรียน ชื่อ “โรงเรียนบ้านกาศ ๑” มีการเรียนการสอนที่วัดและเมื่อมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจึงจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคาร ต่อมา มีพระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับให้เยาวชนทุกคนที่มีอายุระหว่าง ๗ ปี- ๑๔ ปีเข้าเรียนในโรงเรียน จึงมีครูใหญ่คนแรก คือ นายกิ ประดิษฐ์ เปิดสอน ณ บริเวณที่ดินโรงเรียนบ้านกาศในปัจจุบัน เป็นอาคารเรียนที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมา ในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ ได้สร้างอาคารแบบ ป.๒ ทรงปั้นหยา ๒ ชั้น ๖ ห้องเรียน เปิดสอนตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นโรงเรียนแห่งแรกในตำบลบ้านกาศและต่อมามีโรงเรียนบ้านหนองช้างน้ำ(สหราษฎร์บำรุง) โรงเรียนบ้านม่วง(ม่วงเกษมวิทยาคาร)โรงเรียนบ้านกาศประชานุเคราะห์ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และพ.ศ.๒๕๓๕ โรงเรียนบ้านหนองช้างน้ำได้ยุบรวมกับโรงเรียนบ้านกาศ(วัฒนาประชานุกูล) ปัจจุบันโรงเรียนในตำบลบ้านกาศ จึงประกอบด้วย (๑) โรงเรียนบ้านกาศ(วัฒนาประชานุกูล) เปิดสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่เขต ๒ (๒) โรงเรียนบ้านม่วง(ม่วงเกษมวิทยาคาร) เปิดสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่เขต ๒ (๓) โรงเรียนบ้านกาศประชานุเคราะห์ เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ ๓๗

ด้านสังคม วัฒนธรรม ตำบลบ้านกาศ เป็นตำบลทำการเกษตร เช่นปลุกข้าว ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นตำบลที่ดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว เช่น เป็นหมู่บ้านมั่งมีศรีสุข หมู่บ้านเขียวขจี  ๑. ประเพณีการสืบชะตาหลวง ปฏิบัติกันในวันปากปี๋ (วันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี๋ )พระสงฆ์ ๙ รูป เพื่อเป็นศิริมงคลให้กับตนเอง และหมู่บ้าน มีการใช้ด้ายมงคลทอดยาวจากวัดจนถึงบ้านแต่ละหลังในตำบล และทุกคนจะมาทำพิธีกันที่วัดโดนใช้ด้ายมงคลพันรอบศีรษะ ๒. ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ๓. ประเพณีไหว้สาพระธาตุสะหลีศรีกาศแก้วแสนเมืองมา มีการฉลองเดือนเมษายน ของทุกปี ๔. ประเพณีทำบุญไม้ก้ำศรี เดือน เมษายน ของทุกปี๋ ๕. ตักบาตรเป็งปุ๊ด ของทุกปี ๖.เหตุผลที่ตั้งชื่อเรียกหมู่บ้าน เนื่องจากอดีตเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของพ่อค้า เรียกว่า “ กาด “ ส่วนคำว่า “กาด” เปลี่ยนมาเป็น “กาศ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ไม้เป้ง ไม้เซา เข้าใจว่า ในสมัยโบราณคงจะมีไม้ประเภทนี้มาก หรือ อาจจะมาจากศัพท์ว่า “ปรกาศ” (ปร-กาศ) แปลว่า แสงสว่าง คนสมัยก่อนคงทราบว่าเป็นหมู่บ้านของคนผู้มีแสงสว่างแห่งชีวิต มีศีลธรรมอันดีงาม จึงใช้คำว่า “กาศ” มาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับตำบลร่องกาศ ซึ่งน่าจะมีที่มาเดียวกัน

ตำนาน/ความเชื่อ เรื่องเล่า นิทานหมู่บ้าน ประวัติความเป็นมาของตำบลบ้านกาศ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์แน่ชัด เพียงแต่สอบถามจากผู้เม่าผู้แก่ที่มีความรู้ จากหลักฐานการสร้างวัด ตลอดจนประวัติบุคคล หรือวงศ์ตระกูลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตำบลบ้านกาศ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบ ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงประกอบด้วย ๑. หลักฐานการสืบค้นจากผู้รู้ในตำบลบ้านกาศ ๒. หลักฐานแผนชุมชนหมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านกาศ ๓. หลักฐานประวัติวัดกาสเหนือ ๔. หลักฐานประวัติวัดกาศใต้ ๕. หลักฐานประวัติวัดม่วงเกษม ๖. หลักฐานประวัติวัดหนองช้างน้ำ ๗. หลักฐานประวัติโรงเรียนบ้านกาศ (วัฒนาประชานุกูล) ๘. หลักฐานประวัติโรงเรียนบ้านม่วงเกษม (เกษมวิทยาคาร) ๙. หลักฐานหนังสือประวัติทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๘ กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเล่า/ตำนาน  เชื่อว่าตำบลบ้านกาศ เป็นแหล่งหรือชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยก่อน ซึ่งเรียบเรียงโดยมหาวิชิต ศรีจันทร์กาศ เปรียญ ๖ ประโยค นธ. เอก ว่าวัดกาศเหนือ ตั้งอยู่ติดกับ กาด (ตลาด ) เป็นวัดที่มีประเพณีตานสลาก หรือกินสลาก ( สลากภัตร ) ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เหนือ พร้อมกันในจังหวัดแพร่ ความเชื่อ (๑) การเลี้ยงผีเจ้าบ้าน สถานที่เลี้ยงผี (โฮงผี ) หมู่ที่ ๖ ชื่อว่าผีเจ้าพ่อพระยาแก้วมักเลี้ยงกันในเดือน ๔ เหนือ ของทุกปี เชื่อว่าผีเจ้าบ้านมีอิทธิฤทธิ์ ปกปักรักษาหมู่บ้านไม่ให้มีเภทภัย ต่างๆ แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง (๒) ผีมะกวัก มีชื่อเรียกว่าพ่อดำ แม่ดำ เป็นความเชื่อของคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง เป็นผีที่มีความเมตตา เมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วย ของหาย หรือ ต้องการอะไร ก็จะไปถามผีมะกวัก คนที่จะถือ (จับ)เครื่องหรืออุปกรณ์ของผีมะกวักต้องเป็นคนขวัญอ่อน มีมะกวัก เสื้อนิยมใช้เสื้อหม้อห้อม มีไม้ยาวประมาณ ๑ เมตร ทำเป็นแขน (ลักษณะเหมือนหุ่นฟาง) กระด้ง ใส่ข้าวสาร หมาก พลู ดอกไม้สีขาว เป็นเครื่องทำพิธี จะทำพิธีตอนกลางคืน ก่อนทำพิธีผู้ถือต้องนำไปทำกับเตาไฟ ที่มีก้อนเส้า แบบสมัยก่อน เมื่อผีเข้าร่าง(มะกวัก ) ผู้ถือ (จับ) จะรู้สึกมีน้ำหนักมากขึ้น ส่วนมากจะมีคนในชุมชนและต่างชุมชนไปขอทำพิธีทุกวันจนถึงปัจจุบัน ๘. เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านประทับใจมากจนถึงทุกวันนี้ (ระบุวัน เดือน ปี พ.ศ. ที่เกิดเหตุการณ์ )  ( ไม่มีเหตุการณ์)

เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านจดจำจนถึงทุกวันนี้ - เกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ระดับน้ำสูง ประมาร ๑ เมตร ท่วมบ้านเรือน สัตว์เลี้ยงเสียหาย

อาชีพที่สำคัญของประชาชนในหมู่บ้าน ๑๐.๑. อาชีพเกษตรกรรม มีประชากร ร้อยละ ๘๐ ทำการเกษตร เช่น ทำนา ปลูกพืชหลังทำนาเสร็จแล้ว เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ยาสูบ และปลูกผักกาด แตง เป็นต้น ๑๐.๑. อาชีพเสริม หลังจากทำนาเสร็จ จะมีอาชีพที่ขึ้นชื่อของคนในตำบลบ้านกาศ เช่น  (๑) การทอผ้าซิ่น ( ซิ่นแล้) ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในตำบลบ้านกาศ เป็นการทอด้วยมือ มีความประณีต การทอซิ่นแล้ เริ่มมีมานานเป็นตำบลที่มีการทอซิ่นแล้เป็นแห่งแรก ลักษณะพิเศษของซิ่นแล้ บ้านกาศ ทำด้วยด้ายเส้นเล็ก ทอด้วยกี่ เนื้อแน่น เนื้อผ้าจะมีความเรียบ มัน พื้นเป็นสีดำ มีลวดลายเป็นสีแดง ปัจจุบันก็ยังมีการประกอบอาชีพนี้อยู่ และมีการเพิ่มลวดลาย ต่าง ๆ ตามผู้สั่งทำ เช่น ซิ่นตามะนาว หรือซิ่นตาเล่ม พื้นจะเป็นสีดำ ลวดลายสีเหลือง เป็นที่นิยมของคนทั่วไป สานสุ่ม เป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้มากพอสมควร ปัจจุบันเป็นสินค้าออกของตำบลบ้านกาศ ทำด้วยไม้ไผ่ ผู้ที่มีอาชีพสานสุ่มมักทำกันในหมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๗ ( บ้านม่วงเกษม )  การทำไม้กวาด เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนตำบลบ้านกาศ ซึ่งทำด้วยดอกก๋ง เมื่อก่อนจะมีการทำกันเกือบทุกครัวเรือน แต่ปัจจุบันดอกก๋งหายาก และมีราคาแพง จึงมีไม่กี่คนที่ยังประกอบอาชีพนี้อยู่

อาหารพื้นถิ่นในหมู่บ้าน  คั้วแค ( แกงข้าวคั้ว ) อาหารประเภทนี้ตามท้องถิ่นอื่น ไม่อร่อยเหมือนชุมชนบ้านกาศ วัตถุดิบที่มาประกอบเป็นแกงคั้ว ประกอบด้วย น้ำพริก ประกอบด้วย ข่า มะแข่น กระเทียม หัวหอม ตะไคร้ ขมิ้น เกลือ พริกแห้งผิงไฟแล้ว (เพื่อความหอม ) ปลาร้าสับ เอาทั้งหมดโขลกให้ละเอียด เครื่องปรุง  - กะทิ นำกะทิตั้งไฟจนแตกมัน - ผักเผ็ด ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ มะเขือสุก มะเขือพวง ใบกระเพรา ผักชีฝรั่ง ผักชะโอม ผักตำลึง ( เครื่องแกงแค ) หั่นเครื่องปรุงทั้งหมดเป็นชิ้นยาวประมาณ ๑ ซ.ม. เนื้อไก่ หั่นเป็นชิ้นพอคำ นำน้ำพริกที่โขลกแล้วลงผัด ใส่เนื้อไก่ลงผัด ให้หอม เติมน้ำให้พอดี เมื่อน้ำเดือดใส่ผักที่หั่นไว้จนสุก และน้ำเริ่มงวด ใส่ข้าวคั่วคนให้ทั่ว แล้วยกลง ลักษณะพิเศษของแกงคั้วแค จะมีกลิ่นหอม เป็นเอกลักษณ์ของตำบลบ้านกาศ

ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน  (๑) กิ๋นสลาก (สลากภัตร ) ทุกวัดในตำบลบ้านกาศจะทำกันทุกปี มักทำกันในเดือน... (๒) พิธีสืบชะตา บ้าน และสืบชะตาหลวง การสืบชะตาหลวงจะเป็นการสืบต่ออายุ ให้ยืนยาว เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเองและในหมู่บ้าน ตำบลบ้านกาศ มีการจัดทุกปี โดยเฉพาะวัดกาศเหนือ และถือว่าเป็นประเพณีของตำบลบ้านกาศ ทำพิธีช่วงปี๋ใหม่เมือง วันปากปี ( วันที่ ( ๑๖ เมษายน ) นอกจากนั้น ยังมีประเพณี การขึ้นบ้านใหม่ การบวชนาค พิธีงานศพ ฯลฯ เช่นเดียวกับทั่วๆ ไป

การแสดงศิลปวัฒนธรรมในหมู่บ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน - มีความเหมือนกับตำบลอื่น ๆ ในจังหวัดแพร่ การแต่งกายของประชาชนในหมู่บ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน - มีความเหมือนกับตำบลอื่น ๆ ในจังหวัดแพร่

วิสัยทัศน์ตำบลบ้านกาศ ( VISION) : แหล่งวัฒนธรรมล้านนา การศึกษาเป็นยอด ปลอดมลพิษ พิชิตปัญหาความยากจน ชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

คำขวัญตำบลบ้านกาศ : บ้านกาศน่าอยู่ เคียงคู่เกษตรกรรม  งามล้ำพระธาตุสะหลี หัตถกรรมดีไม้กวาด  ตลาดสดประจำถิ่น ผ้าซิ้นเนื้อดี ประเพณีตานสลาก หลากหลายวัฒนธรรม.

เพลงบ้านกาศเมืองงาม ทำนองซอปั่นฝ้าย ประพันธ์โดย พิพัฒน์พงษ์ หน่อขัด ๑. สิบนิ้วก่ายเกล้าวันตา ขอเล่าไขจ๋าประวัติบ้านกาศ อำเภอสูงเม่น เมืองแป่ เมืองงาม ม่วนงันทุกยามไผได้มาแอ่ว ๒. เมืองแป้เลิศแล้วเมืองเฮา บ้านกาศนานเนาสมัยแต่ก่อน ป่ออุ้ยแม่หม่อน ยกย้ายกั๋นมา เก้าเหง้าล้านนา เจียงแสนเมืองเก่า ๓. ก่อเก๊าสร้างบ้านแป๋งเมือง ก้านกุ่งฮุ่งเฮืองแถวย่านบ้านกาศ แดนงามวิลาศมีน้ำสามสาย ไหล่ล่องมาก๋ายสมบูรณ์ล้ำเจ้น ๔. ไหลเย็นแม่สายฮอมแปง แม่น้ำร่องแวง แม่น้ำเหมืองกาด อันใสสะอาด หล่อเลี้ยงไฮ่นา กุ้งหอยปู๋ปล๋าอาหารบ่ขาด ๕. เวียงกว๋างบ้านกาดโบราณ เล่าต๋ามต๋ำนานก้าขายเมืองแป่ ป้อก้ามาแว่แม่ก้า มาก๋าย ไผก่อมาขายข้าวของหลายหลาก ๖. จื้อนี้มาจากกาดหลวง ตี้เฮาตึงปวงฮ้องกั๋นติ๊ดปาก เมื่อลูนเปลี่ยนจากบ้านกาด จื้อเดิม ได้มาแต่งเสริม บ้านกาศจื้อใหม่ ๗. เลื่อมใสวัดวาอาราม มีหลายวัดงามศรัทธาใจ๋ใส่ มีวัดกาศใต้และวัดกาศเหนือ วัดหนองจ้างน้ำ วัดม่วงเกษม ๘. เต๋มอ๊กเต๋มใจ๋นักหนา ยามเมื่อลูนมาเจ้าฟ้าเมืองแป่ มอบต๋ำแหน่งแก่นายอุตมะ หื้อรับภาระนายแขวง บ้านกาศ ๙. บ่ขาดผู้นำต่อมา สถาปนาจื้อว่าขุนกาศ มีความสามารถจื้อเสียงลือไป ทั่วเวียงโกษัยไผก่ออ้างอวด ๑๐. ลวดเจินแขกแก้วมาเมือง ชมความฮุ่งเฮืองตำบลบ้านกาศ ไหว้สาพระธาตุสะหลี๋ศรีกาศแก้ว แสนเมืองมา  ประเพณียิ่งใหญ่ ๑๑.เครื่องไจ้ไม้ไผ่นานา เป็นภูมิปัญญาคนเฒ่าบ่าเก่า ซิ่นแล้นั้นเล้าของเฮามีมา ขึ้นจื้อลือจาทั่วล้านนาไทย ๑๒.ขอสาน้อมไหว้จวนเจิญ ท่านผู้เจริญเจิญกั๋นมาแอ่ว มาเมืองแป้แก้วถึงแล้ว เวียงไจย ขอเจินเครือใยมา แอ่วบ้านกาศ แลนา

ผู้ให้ข้อมูล นายประหยัด สกุล กาศอุดม อายุ ๖๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ ๐๕๔๖๔๓๑๐๑ มือถือ ๐๘๓-๕๗๓๐๐๑๐

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 08 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 19:20 น.• )