เดิมเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้สร้างทำนบกั้นน้ำในสมัยนั้นการลงตีฝาย และบริเวณริมฝั่งลำน้ำที่กั้นฝายได้มีชาวบ้านไปอาศัยอยู่เรียกว่า “หัวฝาย” ก่อนปี พ.ศ.๒๔๒๑ “หัวฝาย” เป็นชื่อหมู่บ้านที่ขึ้นตรงต่ออำเภอเมืองแพร่ ต่อมาได้ยกระดับเป็นตำบล เมื่อพ.ศ.๒๔๓๖ และในปีพ.ศ.๒๔๔๖ ตำบลหัวฝายขึ้นกับอำเภอแม่พวกภายหลังเปลี่ยนชื่ออำเภอแม่พวกเป็นอำเภอสูงเม่น หรือสูงเม่นตั้งแต่พ.ศ.๒๔๖๐ จนถึงปัจจุบัน ในด้านประชากรแต่เดิมเป็นที่อาศัยของคนพื้นเมืองกับชนเผ่าต่างๆหลายชนเผ่า เช่น เผ่าหล๊ะ เผ่าแจ๊ะ ขมุ เงี้ยว ไทใหญ่ (ดังปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองแพร่) เช่น ชาวไทใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่บ้านป่าผึ้ง ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ ก่อนพ.ศ.๒๔๓๖ เข้ามาครอบครองที่ดินที่อาศัยทำมาหากินและถือเป็นพลเมืองแพร่และคนที่มีสถานะเป็น “เฮดแมน” หรือ หัวหน้าชาวไทใหญ่ ชื่อพะก่าหม่อง นับตามรายงานของรัฐบาลในเวลานั้น กล่าวว่า ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านป่าผึ่ง อ.สูงเม่น มีครอบครัวลูกหลานและที่ดินที่นาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีหลักฐานอยู่ สภาพทั่วไปของตำบลหัวฝาย ตำบลหัวฝายอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเม่นประมาณ ๑ กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดแพร่ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสูงเม่น ตำบลดอนมูล ตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่น ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านกวาง อำเภอสูงเม่น อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น

ข้อมูลด้านการปกครอง กำนันคนแรก คือ นายวงค์ ฝักฝ่าย ผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ หมู่ที่ ๑ นายมูล สมัคร หมู่ที่ ๒ นายเนียม รุจิระพงศ์ หมู่ที่ ๓ นายวงค์ เพชรพลอย หมู่ที่ ๔ นายเครือ วงค์ธีรวัฒน์ หมู่ที่ ๕ นายนวล ชมชื่น หมู่ที่ ๖ นายเทพ ดวงเทียน หมู่ที่ ๗ นายไข่ ธงชัย หมู่ที่ ๘ นายหาญ หมายมั่น หมู่ที่ ๙ นายจำรัส สีสด หมู่ที่ ๑๐ นายศรีนวล สรรเสริญ หมู่ที่ ๑๑ นายสมบูรณ์ ดาวดาษ หมู่ที่ ๑๒ นายปัน กลีบใบ หมู่ที่ ๑๓ นางปราณี ฤทธิ์สมบูรณ์

ตำบลหัวฝายมี ๑๓ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ เรียก บ้านช่องลม หมู่ที่ ๒ เรียก บ้านช่องลม หมู่ที่ ๓ เรียก บ้านหัวฝาย หมู่ที่ ๔ เรียก บ้านทุ่งเจริญ หมู่ที่ ๕ เรียก บ้านป่าผึ้ง หมู่ที่ ๖ เรียก บ้านป่าผึ้ง หมู่ที่ ๗ เรียก บ้านป่ากล้วย หมู่ที่ ๘ เรียก บ้านช่องลม หมู่ที่ ๙ เรียก บ้านเหล่าเจริญ หมู่ที่ ๑๐ เรียก บ้านหัวฝาย หมู่ที่ ๑๑ เรียก บ้านป่าผึ้ง หมู่ที่ ๑๒ เรียก บ้านป่าผึ้ง หมู่ที่ ๑๓ เรียก บ้านท่าล้อ

ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ๑.โรงเรียน ช่องลม คือ นายสุข ง่ามไม้ ๒.โรงเรียน ดอนชัย คือ ๓.โรงเรียน ศรีดอก คือ นายมอญ หงษ์สินศรี ๔.โรงเรียน บ้านทุ่งเจริญ คือ นายประสิทธิ์ มีมาก

เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดใน ต.หัวฝาย - วัดช่องลมหรือวัดนาลาวในอดีต คือ หลวงพ่อครูบาจาวรรณะ วัดศรีดอก คือ ครูบาเตจ๊ะ วัดดอนชัย คือ ครูบาหลวงพ่อสิทธิ วัดทุ่งเจริญหรือวัดม่อนจำศีลในอดีต คือ พระสนัด โอภาโส

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน บ้านป่าผึ้ง เดิมเป็นพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้อยู่หนาแน่นและมีผึ้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บ้านหัวฝาย เดิมพื้นที่ของบ้านหัวฝายอยู่หัวหรือเหนือฝาย บ้านป่ากล้วย เดิมพื้นที่เป็นป่าต้นกล้วยจำนวนมาก บ้านทุ่งเจริญ เดิมเป็นทุ่งนาต่อมามีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยก็ทำให้ทุ่งนาเป็นหมู่บ้านที่มีความเจริญ บ้านท่าล้อ เดิมเป็นพื้นที่ที่พักอาศัยของชาวบ้านที่ทำมาค้าขายโดยใช้ล้อเกวียนซึ่งเป็นยานพาหนะที่มีวัวหรือควายเทียมเกวียนใช้บรรทุกสัมภาระข้าวของสินค้าไปขายยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.น่านจะนำสินค้าไปขายยัง จ.อุตรดิตถ์ก็มาพักครึ่งทางคือตรงจุดพักล้อเมื่ออดีตและปัจจุบันคือบ้านท่าล้อ บ้านช่องลม เดิมชื่อบ้านนาลาวเพราะเป็นบ้านที่มีชาวลาวอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยต่อมาเปลี่ยน ชื่อมาเป็นบ้านช่องลมเพราะมีลมพัดผ่านตลอดเวลา บ้านเหล่าเจริญ เดิมเป็นพื้นที่ป่ามีต้นไม้อยู่หนาแน่นต่อมาชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยทำให้พื้นที่มีความเจริญ ตำนานเรื่องเล่าในตำบลหัวฝาย กาลครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงเสร็จเยี่ยมโลก ก็ได้เสด็จมาทางทิศใต้ พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จผ่านสระหนองน้ำและลำห้วยแห่งนี้ซึ่งเป็นป่าดงดิบที่หนาทึบในป่าแห่งนี้มีต้นโพธิ์ต้นหนึ่งใหญ่มาก มีกิ่งก้านสาขาเป็นร่มเงากว้างขวางมาก พระพุทธองค์ได้ประทับใต้ต้นโพธิ์ และขณะนั้นได้มีพวกลั๊วะพวกแจ๊ะ ได้มาหาปลาตามลำห้วยหนองแห่งนี้จึงได้พบกับพระพุทธเจ้าจึงเข้าใจและสงสัยว่าเป็นยักษ์ เพราะไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้ามาก่อน จึงพากันแตกตื่นวิ่งหนีกันไปคนละทิศคนละทาง พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกให้กลับคืนมาว่า เราไม่ใช่ยักษ์เราเป็นพระตถาคตคนพิเศษ พวกลั๊วะพวกแจ๊ะบางพวกเชื่อบางพวกไม่เชื่อ ส่วนพวกที่เชื่อก็กลับมา พวกที่ไม่เชื่อก็ไม่กลับ กล้าๆกลัวๆ พวกที่ยังไม่เชื่อพระพุทธองค์จึงแสดงอิทธิปฏิหาริย์ให้ดูโดยทำให้ต้นโพธิ์(ต้นศรี)บานดอก มีกลิ่นหอมตลบไปทั่ว มีสีที่สวยงาม พวกลั๊วะพวกแจ๊ะเห็นแล้วจึงพากันไปบอกพวกที่อยู่ที่บ้านให้ทราบจึงพากันมาดูพระพุทธเจ้า และดอกโพธิ์ศรี(ดอกศรี)บาน จึงพากันมาดูหมดทั้งบ้าน ละทิ้งฆ้อง(ละฆ้อง)ไว้ที่ห้วยละฆ้อง สถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า ร่องละฆ้อง จนทั่งทุกวันนี้ พวกลั๊วะพวกแจ๊ะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าตนวิศษก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าสถานที่แห่งนี้ต่อไปในภายภาคหน้าจะมีผู้คนมาสร้างรูปพระตถาคตไว้ ณ ที่นี้ ซึ่งเป็นป่าดงดิบหนาทึบมีสัตว์ร้ายต่างๆมากมาย ในเวลาต่อมามีพวกม่าน พวกเงี้ยว ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในป่าแห่งนี้และได้สร้างวิหารเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่งทำด้วยไม้ซาง(ไม้ไผ่)ทำเป็นฝาและเพดาน หลังคามุงด้วยหญ้าคาพออาศัยทำพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยนั้นทิ้งไว้ในป่า บางครั้งก็มีเสือมาอาศัยหลับนอนในวิหารหลังนี้เป็นประจำ ต่อมาก็มีผู้คนมาสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ในปีพ.ศ.๒๒๑๕ ได้สร้างวัดขึ้นได้ชื่อว่า “วัดศรีดอก” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.๒๔๘๑ เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ คือ

๑. เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ คือ น้ำป่าไหลหลากมาท่วมหมู่บ้านต่างๆของตำบลหัวฝายซึ่งรวมทั้งหมู่ที่ ๓ ตำบลหัวฝายด้วยเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชพร้อยด้วยสมเด็จพระราชินีนาถได้เสด็จมาเยี่ยมประชาชนในหมู่ที่ ๓ ของตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เวลา ๑๕.๑๕ นาฬิกา เสด็จฯกลับโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากบ้านป่าผึ้งไปถึงท่าอากาศยานจังหวัดลำปาง เมื่อเวลา ๑๕.๔๕ นาฬิกา หลังจากที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯมาในครั้งนั้น ในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ ต้นน้ำลำน้ำแม่มานก็มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เรียกว่า “อ่างแม่มาน” ตั้งอยู่ที่บ้านแม่มาน ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

๒. สมเด็จพระอริยวงศา เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ กรุงเทพฯ สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จมาที่วัดศรีดอก เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชน ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓

๓. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมายกช่อฟ้าวัดศรีดอก เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพที่สำคัญของประชาชนในหมู่บ้าน - การทำนา ไถ – คลาด – กระบุงใส่ข้าว – เครื่องสีข้าว , การทำสวน เสียม – จอบ - การทำไม้ฟอร์นิเจอร์ เลื่อย – สิ่ว – อุปกรณ์ทาสี

อาหารพื้นเมืองในหมู่บ้าน - แกงอ่อม , น้ำพริกหนุ่ม , ลาบดิบ , แกงแค , ลู่ , ห่อนึ่ง , จิ้นนึ่ง , น้ำพริกน้ำปู , แกงหน่อไม้ , แกงเห็ด , คั่วโฮ๊ะ , แกงฮังเล , แอ็บถั่วเน่า , หลามบอน , ยำขนุน , ซ้ามะเขือแจ้ , ยำมะถั่วมะเขือ และแอ็บปลาซิว

ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน - การฟ้อนเล็บ , การตีกลองปูจา , การซอ และการแห่บั้งไฟ การแสดงการแต่งกายของประชาชนในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน - อดีต *ชาย กางเกงสะดอ เสื้อหม้อฮ้อม *หญิง นุ่งซิ่นแล้ เสื้อหม้อฮ้อม - ปัจจุบัน การแต่งกายทั้งชาย หญิง จะนิยมตามสมัยหรือตามแฟชั่น และตามวัฒนธรรมตะวันตกเช่น ทั้งชายและหญิง นิยม สวมใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ แหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ๑. อ่างเก็บน้ำแม่มาน ๒. น้ำออกรูที่ผาอื้อ ๓. น้ำตกซาววา ลักษณะภาษาพูดของประชาชนในหมู่บ้าน - ใช้ภาษาคำเมืองเหนือ ศาสนาที่คนในตำบลหัวฝายนับถือ - ศาสนาพุทธ, - ศาสนาคริสต์ - และนับถือผี โบราณสถานและโบราณวัตถุของหมู่บ้าน๑. วัดช่องลม ๒. วัดดอนชัย ๓. วัดศรีดอก ๔. วัดทุ่งเจริญ ๕. โบสถ์คริสตจักรป่าผึ้งพิธีกรรม / ความเชื่อ เช่น การนับถือผี , คนทรงเจ้า , หมอดู , หมอผี , หมอตำแย เป็นต้น

ตำบลหัวฝายมีความเชื่อและนับถือผีเป็นส่วนใหญ่ แต่ละบ้านจะมีผีปู่ย่าซึ่งนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะมีความเชื่อเรื่องผีในทุกเรื่อง เช่น ถ้าเจ็บป่วยรักษาโดยหมอแผนปัจจุบันไม่หายก็จะไปให้คนทรงเจ้า หรือหมอผีดูให้ว่าเกิดจากอะไร เพราะเชื่อว่าคนทักดี ผีจะทักไม่ดี ดั่งคำเมืองว่า “คนตักดี ผีตักฮ้าย” คนทำไม่ดีก็จะผิดผี ผู้หญิงในตำบลหัวฝายส่วนใหญ่ถ้าจะแต่งงานต้องบอกต้องผีปู่ย่าถ้าไม่บอกไม่ขอก็จะมีอันเป็นไป พิธีกรรม - การส่งเคระห์ , การสะเดาะเคราะห์ , การปูจาต้าวตั้งสี่ , การไหว้ผีปู่ย่า , การย่ำขาง , การทุบกระดูก , การเสี่ยงทายโดยไข่หรือการตั้งไข่ , การเฮียกขวัญ การเอาขวัญ และการเลี้ยงผีในตำบลหัวฝายมีการนับถือผีมากมายหลายผี เช่น ๑. ผีเจ้าแม่สองนาง ๒. ผีเจ้าพ่อผาอื้อ ๓. ผีปู่ใจ๋ ๔. ผีเก๋าผึ้ง ๕. ผีปู่ผีย่าผีบ้านผีเรือน

ปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในหมู่บ้าน เช่น สมุนไพร, ตั๋วเมือง ,ศิลปะ , วัฒนธรรม , และศาสนา เช่น ๑. ชื่อนายเชิง ปานสุขุม อายุ ๗๒ ปี บ้านเลขที่ ๑๗๗ หมู่ที่ ๓ หมู่บ้าน หัวฝาย ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์มือถือ - เชี่ยวชาญด้านย่ำขางรักษาด้านกล้ามเนื้อ ๒. ชื่อนางปั๋น จับจ่าย อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๒๕๖ หมู่ที่ ๑ หมู่บ้าน ช่องลม ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์มือถือ - เชี่ยวชาญด้านรักษารากฟันอักเสบ,เหงือกอักเสบ ๓. ชื่อนางบุญ กลีบใบ อายุ ๗๗ ปี บ้านเลขที่ ๑๕๗/๑ หมู่ที่ ๑๒ หมู่บ้าน ป่าผึ้ง ตำบลหัวฝา อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์มือถือ - เชี่ยวชาญด้านเสี่ยงทายโดยใช้ไข่ ๔. ชื่อนายผัด พึ่งพา อายุ ๕๘ ปี บ้านเลขที่ ๒๐๐ หมู่ที่ ๗ หมู่บ้านช่องลม ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์มือถือ - เชี่ยวชาญด้านรักษากระดูกแตกหักโดยวิชาหมอเมือง ๕. ชื่อนายปรีชา เตชะกาศ อายุ ๗๔ ปี บ้านเลขที่ ๑๕๖ หมู่ที่ ๑๓ หมู่บ้านช่องลม ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์มือถือ ๐๘๙-๕๕๔๓๐๗๐เชี่ยวชาญด้านส่งเคราะห์/สะเดาะเคราะห์ , ปูจาเตียน ปูจาต้าวตั้งสี่ , ทำขวัญนาค , ส่งปู่แถนย่าแถน

ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนา,ศิลปะ,วัฒนธรรม,ประเพณี เป็นต้น ๑. พระพุทธรูปนั่งดินของวัดศรีดอก เป็นพระพุทธรูปนั่งดินที่ไม่มีฐานรองรับ ๒. พระธาตุวัดศรีดอก ๓. งานปิดทองพระวัดช่องลม และวัดศรีดอก ๔. งานบุญบั้งไฟวัดศรีดอก ๕. ประเพณีลอยกระทง ๖. ประเพณีสงกรานต์ ๗. ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ คำขวัญตำบลหัวฝาย เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก สวยงามนักอ่างแม่มาน นมัสการพระพุทธรูปนั่งดิน เยือนถิ่นภูเขาพญาผ่อ สานต่องานบุญบั้งไฟ ผู้ให้ข้อมูลชื่อ ร.ต.ต. บุญช่วย คงยืน อายุ ๗๙ ปี บ้านเลขที่ ๑๓๕/๑ หมู่ที่ ๓ หมู่บ้านป่าผึ้ง ตำบล หัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ มือถือ ๐๘๖ - ๑๘๑๓๕๕๗ ตำแหน่งประธานวัฒนธรรมตำบลหัวฝาย

ความเชื่อในการสะเดาะเคราะห์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (การสะเดาะเคราะห์ข้าวปุ้น) ความเชื่อในการสะเดาะเคราะห์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (การสะเดาะเคราะห์ข้าวปุ้น) เป็นความเชื่อในเรื่องของการสะเดาะเคราะห์ใหญ่ทั้งครอบครัวหรือการสะเดาะเคราะห์หลวง ๑ ปีจะมี ๑ ครั้งจะทำในช่วงของเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น และจะทำพิธีที่วัดในเวลา ๐๔.๐๐ น. (ตี ๔) มีความเชื่อว่าหากได้สะเดาะเคราะห์หลวงแล้วจะทำให้พบแต่สิ่งที่ดีๆ มีแต่โชคลาภ มีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยทั้งหมดทั้งปวง การร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

การร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันอาฬสาหบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น วัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคม ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงได้สืบทอดเจตนารมณ์ทางพระพุทธศาสนา ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป จึงตระหนักถึงความสำคัญในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไปจนถึงลูกหลานเช่นเดียวกัน การทำกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน

การทำกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๘ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ จะรวมกลุ่มกันในการผลิตน้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน ไว้ขายเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่ม รวมทั้งส่งเสริมการผลิตน้ำยาถูพื้น และน้ำยาล้างจานใช้เอง เนื่องจากต้องใช้ในชีวิตประจำวัน จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง เป็นการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต ได้รับงบประมาณในการดำเนินการจากองค์การบริหารส่วนตำบลหัวฝาย และได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อในพิธีสะเดาะเคราะห์ การปูจาต้าวตั้งสี่ ส่งปู่แถนย่าแถน พิธีสะเดาะเคราะห์ การปูจาต้าวตั้งสี่ ส่งปู่แถนย่าแถน เป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา บุคคลผู้ที่ประกอบพิธีกรรมนี้ได้จะต้องผ่านการบวชเรียนมาก่อน จะท่องตำราอยู่เป็นเนืองนิตย์ มีครูบาอาจารย์เป็นที่เคารพกราบไว้ ผู้ประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ การปูจาต้าวตั้งสี่ ส่งปู่แถนย่าแถน เฮียกขวัญ ส่งผีตายโหง คือ พ่ออาจารย์สุภาพ เกตุวีระพันธ์ อยู่บ้านเลขที่ ๑๐๘ หมู่ที่ ๘ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ การสะเดาะเคราะห์ การปูจาต้าวตั้งสี่ ส่งปู่แถนย่าแถน เฮียกขวัญ การส่งผีตายโหง เหล่านี้จะเป็นความเชื่อของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะกระทำเมื่อมีเคราะห์ เช่น ประสบอุบัติเหตุก็จะสะเดาะเคราะห์ การจะก่อสร้างบ้านหรือทำบุญบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ ก็จะปูจาต้าวตั้งสี่ก่อน การเจ็บป่วย / สะดุ้งตกใจ ก็จะส่งปู่แถนย่าแถนและเฮียกขวัญ การเชิญให้พ่ออาจารย์ไปประกอบพิธีก็จะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียนมาบอกกล่าว พ่ออาจารย์ก็จะเอากรวยดอกไม้ธูปเทียนนั้นไปบอกกล่าวครูบาอาจารย์ก่อนที่จะไปประกอบพิธีที่บ้านของผู้ที่มาบอกกล่าวนั้นการโฮมเขี้ยวหรือการรักษาฟันตามภูมิปัญญาชาวบ้าน การโฮมเขี้ยวหรือการรักษาฟันตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการรักษาอาการปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง สามารถรักษาได้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีความเชื่อมาจนถึงปัจจุบันก็ยังทำการรักษาโดยวิธีนี้อยู่ ผู้ที่ทำการรักษา คือ นางปั๋น จับจ่าย อยู่บ้านเลขที่ ๒๖๕ หมู่ที่ ๑ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ อุปกรณ์ที่ใช้ทำการรักษาก็จะมีสมุนไพรที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการเจ็บปวด มีกะลาเชื่อมต่อท่อขึ้น เมื่อเตรียมตัวยาใส่ในถ้วยเล็กจุดไฟ แล้วใช้กะลาครอบให้ควันยาสมุนไพรออกทางท่อต่อของกะลา ซึ่งใส่เข้าไปในหูของผู้ที่ทำการรักษาควันไฟจะเข้าไปรักษาทางหู โบสถ์คริสตจักรที่ ๒ ไทยผดุงธรรมป่าผึ้ง

โบสถ์คริสตจักรที่ ๒ ไทยผดุงธรรมป่าผึ้ง เป็นสถานที่ซึ่งผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นจุดรวมยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวคริสต์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวตำบลหัวฝายรวมทั้งเป็นสถานที่ใช้ประกอบกิจกรรมของทางราชการด้วยบ้านทรงโบราณสมัยบรรพบุรุษย้อนหลังประมาณ ๑๐๐ ปี

บ้านทรงโบราณ หลังนี้เจ้าของคือพ่อใหญ่เติง ชาวนา หมู่ที่ ๕ แต่เสียชีวิตแล้ว ปัจจุบันลูกหลานดูแลรักษาและยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้

การเหยียบขางรักษาอาการปวดเมื่อยร่างกาย ผู้ทำการรักษาคือ นายเชิง ปานสุขุม อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๗ หมู่ที่ ๓ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ เป็นความเชื่อทางการรักษาในอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคัดยอก ช้ำบวม เป็นต้น อุปกรณ์ในการเหยียบขางคือ เตาถ่าน แผ่นขาง (แผ่นเหล็ก) น้ำมันงา เขี้ยวหมูตั๋น มีดหมอ ขวาน งาช้าง เป็นต้น ผู้ที่ได้รับการรักษาโดยวิธีนี้จะมีอาการดีขึ้น บางคนหายเป็นปลิดทิ้ง จึงเป็นความเชื่อและเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ การรักษาโรคกระดูกตามภูมิปัญญาชาวบ้าน การรักษาโรคกระดูก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ผู้ทำการรักษา คือ นายผัด พึ่งพา (หนานตุ๋ย) อยู่บ้านเลขที่ ๒๐๐ หมู่ที่ ๗ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ สิ่งที่ใช้ในการรักษา น้ำมันงา ฝ้ายที่ทำเป็นท่อนเพื่อเอาไว้ทุบตรงที่บาดเจ็บ การรักษาจะขึ้นขันครูก่อนก็จะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียนเพื่อเคารพครูบาอาจารย์ก่อนทำการรักษา ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บว่ามากน้อยเพียงใด การเสี่ยงทาย การทำนาย ตามความเชื่อทางภูมิปัญญาชาวบ้าน การตั้งไข่ เป็นการทำนาย/การเสี่ยงทายโดยใช้ไข่ไก่ ใบพลู ปูนแดง และหมาก ผู้ประกอบพิธี คือ นางบุญ กลีบใบ อยู่บ้านเลขที่ ๑๕๗/๑ หมู่ที่ ๑๒ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ ส่วนใหญ่จะถามถึงอาการเจ็บป่วยว่ามีผีตนไหนมาทำให้เจ็บป่วยแม้จะรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วก็ยังไม่หาย ถามถึงการงานในอนาคต ถามถึงการสอบว่าได้หรือไม่ได้ สามารถทำนายดวงชะตาล่วงหน้าและย้อนหลังได้ ถามถึงโชคลาภ ถามถึงทรัพย์สินที่สูญหาย ถามถึงตำแหน่งของนักการเมืองในอนาคต เป็นต้น

ประเพณีการกินสลากและการแต่งตัวเมื่อครั้งอดีต ประเพณีกินสลาก ในอดีตประเพณีการกินสลากเป็นประเพณีที่ประชาชนมีความเชื่อในเรื่องของการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปยังบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งส่วนบุญส่วนกุศลที่ใหญ่หลวงนี้มีความเชื่อว่าจะทำให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับได้พ้นจากการทรมานในนรก ลักษณะของกัณฑ์สลากจะทำเป็นชั้นๆคล้ายกับยอดฉัตร จะมี ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น ประเพณีกินสลากไม่ได้กินทุกปีอยู่ที่ความพร้อมของประชาชน และวัด เนื่องจากใช้ทุนสูง ประเพณีการกินสลากยังได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะการแต่งกายของสตรีในอดีตจะนุ่งผ้าถุง มวยผม ดูแล้วเรียบร้อยดี ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ยังนุ่งผ้าถุงเป็นการสืบทอดเอกลักษณ์แบบไทยๆ ประเพณีการจัดงานศพเมื่อครั้งอดีต ประเพณีการจัดงานศพ ในอดีตการจัดงานศพของชาวบ้านโดยทั่วไปจะทำแบบง่ายๆไม่สิ้นเปลืองในเรื่องของการต้อนรับขับสู้อย่างในปัจจุบัน ลักษณะของศพที่เตรียมไปทำการเผาหรือการฌาปนกิจก็จะใส่โลงศพแล้วครอบด้วยปราสาทซึ่งทำไว้อย่างสวยงาม และเผาด้วยเตาเผาเชิงตะกอน ในอดีตเมื่อครอบครัวใด มีงานไม่ว่างานศพ งานบวช หรืองานประเพณีต่างๆ ญาติพี่น้องไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลก็จะมารวมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทำให้มีความอบอุ่น ความสามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกัน อย่างเห็นได้ชัด แต่ในปัจจุบันยังมีลักษณะเช่นนี้เหลืออยู่บ้าง ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละชุมชน/สังคม

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 03 •ตุลาคม• 2012 เวลา 21:57 น.• )