ตำบลสบสายมีทั้งหมด ๖ หมู่บ้าน คือ บ้านสบสาย ได้แก่ หมู่ที่ ๑ , ๒ , ๕ และ ๖ บ้านวังวน หมู่ที่ ๓ และบ้านหาดลี่ หมู่ที่ ๔ สภาพทั่วไปของตำบล ตำบลสบสายตั้งอยู่ในเขตอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอสูงเม่น อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดแพร่ ห่างจากอำเภอสูงเม่น ประมาณ ๕ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ ๘ กิโลเมตร อาณาเขตตำบล ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลร่องกาศ ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ทิศใต้ ติดกับ ตำบลดอนมูล ตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น และ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จำนวนประชากรของตำบล จำนวนประชากรในเขต อบต. ประมาณ ๓,๗๗๔ คน ประชากรชายประมาณ ๑,๘๑๒ คน ประชากรหญิงประมาณ ๑,๙๖๒ คน จำนวนหลังคาเรือน ๑,๑๘๐ หลังคาเรือน ข้อมูลประวัติศาสตร์ตำบลสบสาย ประกอบด้วยชุมชนต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. ชุมชนบ้านสบสาย ชุมชนบ้านสบสาย มี ๔ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ , ๒ , ๕ และ ๖ ตั้งอยู่ในตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอสูงเม่น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนส้มเขียวหวาน อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับ ชุมชนบ้านปงพร้าว ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนบ้านพระหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น ทิศตะวันออก ติดกับ ชุมชนบ้านค่างาม ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น ทิศตะวันตก ติดกับ ลำน้ำแม่ยม ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น ความหมายของชื่อหมู่บ้าน และเหตุผลในการตั้งชื่อบ้านนี้ ชุมชนบ้านสบสาย เป็นชนเผ่าไทยลื้อ อพยพมาจากเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๙ (สมัยพระเพทราชา) เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยอยู่รวมกับชาวพื้นเมืองเดิม คือ พวกลั๊วะ สถานที่ตั้งของหมู่บ้านคือ ปากลำน้ำแม่สาย แม่น้ำยมไหลมาพบกับน้ำแม่สาย (คำว่า พบ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า สบ จึงเป็นที่มาของบ้านสบสาย บริเวณที่ตั้งของชุมชนนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำแม่ยม และน้ำแม่สาย ไหลผ่าน สภาพของลำน้ำมีสภาพ(แม่ยมตื้นเขินในฤดูแล้ง ส่วนน้ำแม่สายเป็นร่องน้ำลึกแต่แคบ

ประวัติศาสตร์การกำเนิดชุมชนนี้ ประชากรของชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลื้อ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ก่อนที่จะมาตั้งบ้านเรือนที่นี้ชาวบ้าน ได้อพยพมาจากเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๘๙ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านคือ นายตา เวียงอินทร์ กำนันคนคนแรก ชื่อนายปัญญา ผาทอง ชุมชนนี้อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสบสาย ชุมชนนี้มีโรงเรียน ๑ แห่ง คือโรงเรียนบ้านสบสาย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ มีครูใหญ่คนแรกชื่อ นายกำแหง เดือนดาว สถานศึกษาแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และมีวัด จำนวน ๑ แห่ง คือ วัดสบสาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ มีเจ้าอาวาสรูปแรก ชื่อ พระอธิการจันธิมา นอกจากนี้หมู่บ้านแห่งนี้เคยปรากฏเหตุการณ์ หรือสภาพที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำยมท่วมหมู่บ้านและปริมาณน้ำท่วมมากที่สุด เมื่อวันที่ ๑ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘ และปีพ.ศ.๒๕๕๔ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีก ๓ ครั้ง คือ วันที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ และเดือนสิงหาคมอีก ๒ ครั้ง คือ วันที่ ๑ สิงหาคม วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

อาชีพ ชาวบ้านสบสายประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน เป็นอาชีพหลักของประชาชนในหมู่บ้าน เริ่มจากการทำสวนอ้อย โดยทำบริเวณพื้นที่ฝั่งแม่น้ำยมทางทิศตะวันออก และเริ่มเปลี่ยนมาเป็น การทำสวนส้มเขียวหวานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยนายกำแหง เดือนดาว นำกิ่งตอนมาจากบางมด กรุงเทพมหานคร และเดี๋ยวได้ขยายพื้นที่ทำสวนส้มเขียวหวานซึ่งจะตั้งอยู่สองฝั่งของลำน้ำยมตั้งแต่อำเภอลองเรื่องไปจนถึงหมู่บ้านสะท้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อาหารพื้นถิ่นในหมู่บ้าน มีสภาพการกินอยู่เหมือนคนท้องถิ่นทางเหนือทั่วไป ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน วันสงกรานต์ กินสลากประเพณียี่เป็ง เข้าพรรษา ออกพรรษา การแสดงศิลปวัฒนธรรมในหมู่บ้าน การตีกลองสะบัดชัยและกลองปูชา(ปู๋จ๋า)นับว่าหาคนตีกลองให้เหมือนแต่ก่อนแทบจะไม่มี จำเป็นต้องมีการสืบทอดและสืบสานภูมิปัญญาเอาไว้ ปัจจุบันตีให้ดังแต่ทำนองและจังหวะจะผิดเพี้ยนไปจากอดีต เหตุการณ์สำคัญในอดีตบ้านสบสาย มีวัดร้างที่เรียกว่า “ท่าดง” อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และดงเจ้าบ้านอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน อีกแห่งหนึ่งคือ ดงเจ้าบ้าน อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยคือ เมื่อ ๓ – ๔๐ ปีที่แล้ว ถึงวันพระจะมีลูกแก้วขนาดเท่าลูกมะตูมจะพุ่งขึ้นจากสถานที่ดังกล่าว มีลำแสงสว่างจ้าวิ่งขนานกับพื้นดินไปยังอีกจุดหนึ่งและปัจจุบันก็ยังมีปรากฏแต่ไม่บ่อย เหตุการณ์ที่ประทับใจของบ้านสบสาย คือ พ.ศ. ๒๕๐๔ บ้านสบสายได้รับรางวัลเป็นหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดแพร่ สิ่งที่ชุมชนในหมู่บ้านนี้มีความคาดหวังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือทางราชการดำเนินการเพื่อพัฒนาชุมชน และหมู่บ้านในอนาคต ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนเข้าใจการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จัดหาเงินกองทุนให้กู้ ดอกเบี้ยถูกระยะยาว และจัดการให้นักวิชาการมาให้ความรู้ในการเกษตรเป็นครั้งคราว เป็นต้น

๒. ชุมชนบ้านวังวน ชุมชนบ้านวังวน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ของตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอสูงเม่น ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำยม และตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนบ้านโตนใต้ ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น ทิศตะวันออก ติดกับ ชุมชนบ้านสบสาย อำเภอสูงเม่น ทิศตะวันตก ติดกับ ชุมชนบ้านหาดลี่ ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น ความหมายของชื่อบ้าน และเหตุผลในการตั้งชื่อบ้านนี้ แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบเป็นที่ทำไร่ทำสวนของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านพระหลวง ต่อมาก็พากันจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพราะเห็นว่าที่แห่งนี้ทำเลดีอยู่ติดกับแม่น้ำยมซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ครอบครัวแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่คือ ครอบครัวพ่อถง แม่ติ๊บ สายทอง ซึ่งเป็นชาวบ้านพระหลวง ต่อมาก็มีสมัครพรรคพวกติดตามมามากขึ้น ประกอบกับผู้คนที่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหาดลี่อยู่ก่อนนั้น ได้ย้ายเข้ามารวมอยู่ด้วยกัน จึงเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น ทางราชการได้แต่งตั้งพ่อถงเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแลและขนานนามบ้านว่า “บ้านวังวน” ตามลักษณะของแม่น้ำยมที่ไหลอ้อมหมู่บ้านทางทิศเหนือเป็นบริเวณที่น้ำไหลลึกมาก เรียกว่า “วัง” และบริเวณน้ำลึกนี้จะไหลวน ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “น้ำผัดมนตาไก่” จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านวังวน” ประชาชนของชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายถง ผาทอง หมู่บ้านนี้อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลสบสาย มีโรงเรียน ๑ แห่ง คือ โรงเรียนบ้านวังวน ตั้งขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑ มีครูใหญ่คนแรกชื่อ นายกำแหง เดือนดาว แต่เดิมนั้นนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนบ้านสบสาย ต่อมาทางราชการเห็นความยากลำบากในการเดินทาง จึงอนุญาตให้สร้างโรงเรียนที่วัดหาดลี่ สร้างเป็นอาคารชั่วคราวปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีนายกำแหง เดือนดาว เป็นครูใหญ่ ต่อมาจำนวนนักเรียนมากขึ้นและเป็นนักเรียนที่อยู่ บ้านวังวนเป็นส่วนมาก ทำให้อาคารเรียนไม่เพียงพอ และนักเรียนต้องข้ามแม่น้ำยม ซึ่งไม่สะดวกต่อการเดินทาง ดังนั้นนายกำแหง เดือนดาว ครูใหญ่พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านได้หาทางแก้ไขโดยการไปติดต่อขอย้ายโรงเรียนมาสร้างที่บ้านวังวนในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบันนี้โรงเรียนบ้านวังวนได้เปิดทำการสอนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และชุมชนบ้านวังวนมีวัดอีก ๑ แห่ง ชื่อ วัดวังวน มีเจ้าอาวาสรูปแรกชื่อ พระอธิการ ฐฺตสีโล นอกจากนี้บ้านวังวนความเชื่ออีกอย่าง คือ ฮ่องเฮี้ยนถือเป็นวัดร้าง หลักฐานปรากฏคือ ก้อนอิฐ นอกนั้นเป็นคำเล่าและผลของการเข้าไปลบหลู่ก็จะมีอันเป็นไป ปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่ แต่ก็น้อยคนนักที่จะเข้าไปในบริเวณดังกล่าว เหตุการณ์ที่ประทับใจของบ้านวังวน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมู่บ้านวังวนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับจังหวัด ได้รับเงินรางวัล จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และได้รับพระราชทานโล่ห์รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อาชีพ ชาวบ้านวังวนทำเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก เป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดจิ๋ว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้าน เพราะประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ ดำเนินในรูปแบบของสหกรณ์ มีขั้นตอนในการประดิษฐ์และจำหน่ายเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน อาหารพื้นถิ่นในหมู่บ้าน มีสภาพการกินอยู่เหมือนคนท้องถิ่นทางเหนือทั่วไป ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน วันสงกรานต์ กินสลาก ประเพณียี่เป็ง เข้าพรรษา ออกพรรษา ประเพณีผีปู่ย่าเดือนหก

๓. ชุมชนบ้านหาดลี่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ของตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับ บ้านผาสุก ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น ทิศใต้ ติดกับ บ้านท่าจั่น ตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น ตะวันออก ติดกับ บ้านวังวน ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น ทิศตะวันตก ติดกับ ป่าสงวนแห่งชาติ ความหมายของชื่อหมู่บ้าน และเหตุผลในการตั้งชื่อบ้าน เดิมบริเวณพื้นที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย ต่อมาหม่องโพธิ์ ซึ่งเป็นพวกเงี้ยวเป็บบุคคลที่มาอาศัยอยู่เป็นคนแรก เป็นผู้มีฐานะร่ำรวยมีบริษัททำไม้มาทำอยู่ที่ห้วยเฮิม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านหาดลี่เห็นว่าบริเวณนี้มีทำเลดี เพราะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม จึงได้สร้างบ้านเรือนขึ้น ต่อมาผู้คนเห็นว่าสะดวกต่อการทำมาหากินได้อพยพมาอยู่รวมกันโดยมีครอบครัวของพ่ออินจันทร์ ศฤงคาร ซึ่งได้อพยพมาจากบ้านสองแคว จากนั้นผู้คนก็เพิ่มขึ้นและได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาชื่อว่า “บ้านสะหลี-บุญยืน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บ้านหาดลี่” เนื่องจากว่าในสมัยนั้นแม่น้ำยมที่ไหลผ่านบ้านหาดลี่เป็นหาดแคบๆ ชาวบ้านใช้เป็นที่ดักปลาได้เป็นอย่างดี คำว่า”หาด” เป็นบริเวณที่น้ำตื้น ส่วนคำว่า “ลี่” หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้ดักปลา มีลักษณะเหมือนสวิงแต่ ใหญ่กว่า หรือคำว่า “ลี่” เป็นศัพท์โบราณในภาษาล้านนาหมายความว่า แหลม ดังนั้นบ้านหาดลี่จึงมีความหมายว่า เป็นบ้านที่มีหาดทรายยื่นแหลมมาหาแม่น้ำยม จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหาดลี่”ประชากรของชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย โดยได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่นี่เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๒๔ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายมา ขุนเทา และมีวัดชื่อ “วัดหาดลี่” สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๗ เนื่องจากหม่องโพธิ์เห็นว่าผู้คนมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นจึงได้สร้างอารามขึ้น และได้มีพระภิกษุรูปแรก คือ พระอธิการจัย สายสร้อย เป็นเจ้าอาวาส วัดหาดลี่ในสมัยนั้นขึ้นกับตำบลบ้านปงท่าข้าม ต่อมาเห็นว่าการติดต่อลำบากมากเพราะเดินทางล้อ(เกวียน) เป็นป่าไม้ไม่สะดวกต่อการเดินทาง จึงได้ย้ายมาขึ้นกับตำบลสบสาย หมู่ที่ ๓ ต่อมาเห็นว่าผู้คนมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นจึงย้ายออกจากหมู่ ๓ บ้านวังวนมาเป็นหมู่ที่ ๔ บ้านหาดลี่ นอกจากนี้ บ้านหาดลี่ยังมีความเชื่อเรื่องผีหรือเจ้าที่เจ้าทาง และที่ชาวบ้านนับถือคือ พญายักขะ เป็นที่เคารพนับถือ ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยเมื่อมีงานสำคัญในหมู่บ้าน จึงมีการบอกกล่าว และเมื่อเสร็จงานก็มีการแก้บนทุกครั้ง หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีปรากฏการณ์น้ำท่วมมากที่สุด คือ ปีพ.ศ. ๒๕๓๘

แหล่งท่องเที่ยวสถานที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมตำบลสบสาย ๑. วัดสบสาย ๒. โรงเรียนบ้านสบสาย ๓. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสบสาย ๔. องค์การบริหารส่วนตำบลสบสาย ๕. ศูนย์เรียนรู้สภาวัฒนธรรมตำบลสบสาย ๖. วัดบ้านวังวน ๗. โรงเรียนบ้านวังวน ๘. วัดบ้านหาดลี่ ๙. วัดดอยจำค่า ๑๐. น้ำตกตาดจาน

ปราชญ์ชาวบ้านตำบลสบสาย

๑. นายชวน สมจิตต์ อายุ ๗๑ ปี บ้านเลขที่ ๗๔/๓ หมู่ที่ ๕ บ้านสบสาย ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนา อักษรพื้นเมือง พิธีกรรมต่างๆ

๒. นายอิ่นคำ วงศ์วาน อายุ ๘๑ ปี บ้านเลขที่ ๓๐ หมู่ที่ ๖ บ้านสบสาย ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนา อักษรพื้นเมือง พิธีกรรมต่างๆ

๓. นายวิโรจน์ เดือนดาว อายุ ๖๗ ปี บ้านเลขที่ ๘๑ หมู่ที่ ๑ บ้านสบสาย ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร

๔. นายวัง ศฤงคาร อายุ ๙๒ ปี บ้านเลขที่ ๕๔/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านวังวน ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนา อักษรพื้นเมือง พิธีกรรมต่างๆ

๕. นางดวงใจ สายทอง อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๖๕/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านวังวน ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร

๖. นายต่วน สายสร้อย บ้านเลขที่ ๑๓/๔ หมู่ที่ ๔ บ้านหาดลี่ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตร

๗. พระเปลี่ยน ไชยวุฒิ อายุ ๗๗ ปี หมู่ที่ ๔ บ้านหาดลี่ ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนา อักษรพื้นเมือง พิธีกรรมต่างๆ

ประวัติพุทธสถานถ้ำผาแท่น ถ้ำผาแท่น ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านหาดลี่ ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นสถานที่อันรื่นรมย์ใจ ในอดีต ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นที่บำเพ็ญธรรมของบรรดาพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายในสมัยก่อนมีตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ได้ ๒๕ พรรษา ทรงประทับอยู่ที่ วัดเชตวันมหาวิหาร ในคืนหนึ่งเวลาใกล้รุ่งพระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า บัดนี้เรามีอายุ ๖๐ พรรษาแล้วเมื่ออายุ ๘๐ พรรษาเราก็จักปรินิพพาน ศาสนาของเราจักไม่แพร่หลายเราควรเสด็จออกไปทำนายพุทธสถานต่างๆ ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระศาสนา จึงเสด็จออกจากวัดเชตวันมหาวิหารในเดือนเจื๋อง แรม ๑ ค่ำ พร้อมกับ พระอานนท์เถระ พระโสณะเถระ พระอุตตระเถระ พระรัตนะเถระ พระเรวะตะเถระ โดยมีพระอินทร์ถือฉัตรติดตามมา กับพญาอโศกราชาได้ถือรองเท้ากับไม้เท้าติดตามพระพุทธเจ้า ไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ๆต่างๆ มาจนถึง เมืองแพร่ จากนั้นได้ทรงเสด็จมาถึงห้วยแห่งหนึ่งซึ่งลึกมาก พระอินทร์จึงเนรมิตขอนไม้ทองคำให้พระพุทธเจ้าเสด็จเดินข้าม พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ห้วยอันพระอินทร์ได้เนรมิตขอนไม้ทองคำให้พระองค์เสด็จข้ามไปนี้ ต่อไปในภายภาคหน้าจักได้ชื่อว่าห้วยคำ แล้วเสด็จมาถึงลำห้วยใหญ่ ทอดพระเนตร เห็นก้อนหินใหญ่ลูกหนึ่งเป็นรมณียสถานอันอุดมวิเศษยิ่ง จึงนำพระอรหันต์ พระอินทร์ พญาอโศกเข้าไปในถึงที่นั้นแล้วพักอยู่ แล้วทรงเอนพระปฤษฎางค์ (หลัง)นอน บนแท่นศิลาบัลลังค์ ณ หน้าผาแห่งนั้นซึ่งมีน้ำตกไหลเย็นสะอาด แล้วทรงตรัสว่า สาธุ สาธุ สาธุ ดีนักแล พระอานนท์เถระจึงทูลถามว่า พระพุทธองค์กล่าวคำว่า สาธุ เพราะเหตุอันใดหนอ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อน อานนท์ ศิลาบัลลังค์ ก้อนใหญ่ที่ตถาคตนอนอยู่นี้เป็นอัครฐานอันเลิศยิ่งนัก มีอารักษ์คือยักษ์เสนาตนใหญ่ชื่อว่าพญาสูโรยักษ์ อันมีบริวาร ๑,๕๐๐ ตน อยู่รักษาแท่นศิลาบัลลังค์นี้มาตั้งแต่ปฐมกัปป์มา แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงมาแล้วคือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ ทุกพระองค์ล้วนเคยเสด็จมาโปรดสงเคราะห์อารักษ์ที่นี้ รวมทั้งพระตถาคตเป็น ๔ องค์ แม้นพระศรีอริยเมตไตยเมื่อได้ตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเสด็จมานอนที่นี้เหมือนกันเพราะเป็นพุทธประเพณี จึงเป็นที่ประเสริฐยิ่งจักตั้งปรากฏเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาแก่คน และเทวดาทั้งหลายผู้มีปสาทะศรัทธาตลอดสิ้น ๕,๐๐๐ ปีแล และ ลำห้วยแห่งนี้เป็นอาณาเขตของพญานาคตนหนึ่งมี ชื่อว่ากาฬนาคราช ได้อาศัยอยู่ที่หนองแห่งหนึ่งไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก ในปัจจุบันนี้หนองน้ำอันเป็นที่อยู่ของพญานาคนั้นก็ยังปรากฏมีอยู่ชื่อว่า หนองนาค มาตราบ ทุกวันนี้ เมื่อพญานาคทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาพร้อมพระสาวกแล้วประทับอยู่ ณ แท่นผาอันเป็น อาณาเขตของตนจึงได้พาบริวาร ๕๐๐ ตนมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วนำผลหมากสมอทิพย์มาถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์รับแล้วก็ทรงฉันหมากสมอทิพย์ เมื่อฉันเสร็จได้เอาเมล็ดในของผลสมอทิ้งไปแล้วไปตกที่ห้วยแห่งหนึ่ง จึงทรงพยากรณ์ว่าอนาคตกาลไปภายภาคหน้า ห้วยที่เมล็ดสมอไปตกนั้นจักได้ ชื่อว่าห้วยยา เพราะว่าเมล็ดของลูกสมอที่เป็นยาทิพย์ไปตกลงที่นั้น แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงพระธรรมเทศนา เรื่องเทวธรรมโปรดสูโรยักษ์ และพญากาฬนาคราช เมื่อพระพุทธเจ้าฉันหมากสมอทิพย์แล้วทรงหิวน้ำแต่หาน้ำที่สะอาดจะฉันไม่มี จึงได้เอาไม้เท้าที่พญาอโศกทรงถือมาปักลงตรงธารน้ำตกเป็นบ่อลึกลงไป ด้วยพุทธานุภาพจึงเกิดเป็นสายน้ำใสสะอาดพุ่งขึ้นมาจากบ่อ พระอานนท์เถระจึงได้เอาพระธัมมะกรกกรองน้ำถวาย พระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าฉันเสร็จจึงทรงพยากรณ์ว่าอนาคตกาลไปภายภาคหน้าตาดแห่งนี้จะมี ชื่อว่าตาดน้ำบ่อ ตามที่พระองค์ได้เอาไม้เท้าปักลงแล้วเป็นบ่อน้ำ แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์เห็นจึงทูลถามว่าเป็นเพราะเหตุอันใดถึงแย้มพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้าจึงบอกต่อไปว่า ในอนาคตพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าแค่งซ้ายของพระองค์ จะมาประดิษฐานอยู่ ณ.แท่นผาแห่งนี้ให้เหล่ามนุษย์ และเทวดาทั้งหลายได้สักการะบูชากราบไหว้ สถานที่แห่งนี้เหล่าสาวกของพระองค์จะมาบำเพ็ญเพียร และสำเร็จธรรมบรรลุเป็น พระอรหันต์ ณ ที่แท่นผาแห่งนี้หลายองค์ จึงเป็นสถานที่สำคัญ แล้วทรงสั่งให้พญากาฬนาคราชให้อยู่คอยดูแลอุปฐากพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย และคอยเฝ้ารักษาอย่าให้ใครมาทำลายและทำสกปรกในบริเวณนี้ไปตราบ ๕,๐๐๐ปี และ ณ ที่นี้ จักได้ ชื่อว่าผาแท่นพุทธไสยาสน์ตาดน้ำบ่อ จะเป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาในอนาคตกาลภายหน้าแล เมื่อทราบดังนั้นพระอินทร์จึงเนรมิตตุงทิพย์ยาว ๑,๐๐๐ วาไปปักไว้บนเขาใกล้แท่นผาพุทธไสยาสน์เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นสถานที่สำคัญ ปัจจุบันนี้หลุมตุงที่พระอินทร์ปักไว้นั้น ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ที่บนเขาทางด้านตะวันตกของแท่นผาพุทธไสยาสน์ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า ผู้ใดก็ตามที่มีจิตศรัทธามาสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูป กุฏิ วิหาร ศาลา เสนาสนะ ได้มาทำบุญให้ทานมานมัสการ ยังแท่นศิลาบัลลังค์ และพุทธสถานแห่งนี้ บุคคลผู้นั้นจะได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า จะพลันได้บรรลุมรรคผลนิพพานในกาลอันใกล้นี้แล ผู้ที่มานมัสการและจะมาก่อสร้างยังสถานที่แห่งนี้นั้นถ้าจะให้เจริญรุ่งเรือง ให้บูชาพญาอินทร์ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พระอุปคุต พญากาฬนาคราช พญาสูโรยักษ์ นางแม่ธรณี และเทวดาอยู่ที่ต้นค่า อย่าให้ขาดก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแล สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ในวันพระสำคัญพระบรมสารีริกธาตุ ที่สถิตอยู่ข้างในแท่นผา จะเสด็จออกมาเป็นดวงแก้วสีเขียวลอยออกมาจากหลุมตุงพระอินทร์ ปรากฏให้คนเห็นมาโดยตลอด และมีเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อนพอถึงเดือน ๖ เพ็ญซึ่งเป็นวันขึ้นพระธาตุช่อแฮ ดวงแก้วจะลอยจากในถ้ำตรงที่หลุมตุงพระอินทร์ไปที่พระธาตุช่อแฮ ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ผู้ที่มายังสถานที่แห่งนี้จึงพึงสำรวมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดนอบน้อมกราบแท่นผาพุทธไสยาสน์และ พระเจดีย์ทั้งหลายที่ประดิษฐาน ณ พุทธสถานแห่งนี้ แล้วระนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็จักได้ผลบุญ อันประเสริฐแลตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลกเสด็จประดิษฐานพระศาสนาในเมืองแพร่ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะฯ เทวาติ เทวัง นะมิตะวา ธัมมัญจะสังฆัญจะ วะระทักขิเณยยัง วักขามิ โกสิยะธัชชะปัพพะตัง ธาตุ ติธารัง พะละเทวะรัฏฐัง ฯ อะหังอันว่าข้า นะมิตะวา น้อมนบแล้ว เทวาติ เทวัง ยังพระพุทธเจ้าอันเป็นเทวะยิ่งกว่า เทวะ ๓ ประการ คือว่า สมมติ เทวะ อุปัตติเทวะแล วิสุทธิเทวะ สุคะตัง ชื่อว่า สุคะตะ สุนทะรังฐานัง คะตัตะตา เหตุภาวะ พระพุทธเจ้าถึงแล้วยังฐานะ อันยิ่ง คือนิพานะมิตะวา น้อมนบแล้ว ธัมมัญจะ ยังนะวะโลกุตตะระธรรมเจ้า ๙ ประการ ๑๐ กับพระปริยัติธรรม นะมิตะวา จะ ข้าพเจ้าก็นบน้อมแล้ว สังฆัง ยังพระอริยะสงฆ์ วะระทักขิเณยยัง อันควรรับเอาทานอันประเสริฐของนรชนทั้งหลาย วักขามิ จักกล่าว บัดนี้ โกสิยะธัชชะปัพพะตัง ยังดอยอันชื่อว่า ช่อแฮ อันมีในเมืองแพร่ ธาตุ ติธารัง อันทรงอยู่ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้ามากนัก พะละเทวะรัฏฐัง อันเกิดในเมืองพะละนคร อันเป็นอะนารัฏฐะนพพะบุรีเชียงใหม่ แล มีตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ได้ ๒๕ พรรษา ทรงประทับอยู่ที่ วัดเชต วันมหาวิหาร ในคืนหนึ่งเวลาใกล้รุ่งพระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า บัดนี้เรามีอายุ ๖๐ พรรษาแล้วเมื่ออายุ ๘๐ พรรษาเราก็จักปรินิพพาน ศาสนาของเราจักไม่แพร่หลายเราควรเสด็จออกไปทำนายพุทธสถานต่างๆ ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระศาสนา จึงเสด็จออกจากวัดเชตวันมหาวิหารในเดือนเจื๋อง แรม ๑ ค่ำ พร้อมกับพระอานนท์เถระ พระโสณะเถระ พระอุตตระเถระ พระรัตนะเถระ พระเรวะตะเถระ โดยมีพระอินทร์ถือฉัตรติดตามมา กับพญาอโศกราชาได้ถือรองเท้ากับไม้เท้าติดตามพระพุทธเจ้า ไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ๆต่างๆ มาจนถึง เมืองแพร่ พระพุทธองค์พร้อมเหล่าพระสาวกผู้ติดตามได้เสด็จมาถึงดอยลูกหนึ่งมีสัณฐานอันงดงาม เพื่อจะขึ้นไปเล็งดูสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและตั้งพระศาสนาในเมืองนี้ พระพุทธองค์จึงทรงวางบาตรของพระองค์ ลงตั้งบนยอดดอยลูกหนึ่งซึ่งมีศิลาอันเกลี้ยงเกลางดงามรองรับอยู่ด้วยพุทธานุภาพ จึงปรากฏเป็นรอยก้นบาตรติดอยู่ที่ก้อนศิลานั้นมาตราบทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้เรียกดอยลูกนั้นว่า ดอยภูกวาง(ดอยห้างบาตร) และดอยที่พระองค์ทรงขึ้นไปเล็งที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระศาสนานั้นจึงได้ชื่อว่า ดอยเล็ง มาตราบจนถึงทุกวันนี้ และตอนที่พระอินทร์ได้เหาะติดตามพระพุทธเจ้ามานั้น พระอินทร์ได้ทำเป็กหน้าทั่ง (เครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งเป็นหินก้อนเล็กๆ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเสมอกัน ทุกด้านมีอิทธิฤทธิ์ในทางป้องกันภัยอันตรายได้) หล่นตกลงมาที่ข้างยอดดอยเล็งทางด้านทิศตะวันตกจึงปรากฏ ชื่อว่า ดอยเป๊ก มาจนตราบทุกวันนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพักสำราญพระอิริยาบถพอสมควร จึงเสด็จลงมาจากดอยเล็งจนมาถึงดอยอีกลูกหนึ่ง อันมีสัณฐานประเสริฐยิ่งนักตั้งอยู่โดดเดี่ยวไม่ติดเนื่องด้วยดอยลูกอื่นเลย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของดอยห้างบาตร สถานที่แห่งนี้เป็นที่น่ารื่นรมย์ยินดียิ่งนัก เพราะจะทอดพระเนตรไปทางไหนก็เป็นที่สว่างไสวมากนัก สมควรจะเป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนาต่อไป ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลาจวนแจ้งพอดี พระพุทธองค์จึงใช้พระอานนท์ไปตักน้ำมาล้างพระพักตร์(หน้า) แต่พระอานนท์ไปหาน้ำที่ไหนก็ไม่มีเพราะปีนั้นฝนไม่ตกบ้านเมืองแห้งแล้งมาก พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐานเอานิ้วพระหัตถ์เบื้องขวาเจาะลงที่กลางภูเขา ด้วยพุทธานุภาพน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์จึงได้ผุดขึ้นเป็นบ่อขึ้นมาแล้วพระอานนท์จึงตักมาถวายพระพุทธองค์ บ่อน้ำแห่งนั้นยังมีปรากฏอยู่ตราบทุกวันนี้เรียกว่า บ่อน้ำทิพย์ อยู่ข้างพระธาตุจอมแจ้งลักษณ์ของบ่อน้ำในปัจจุบันนี้จึงมีรูปเป็นห้าเหลี่ยมเหมือนนิ้วมือทั้งห้า ในขณะนั้นยังมีสองตายาย พากันทำไร่ปลูกเผือกมันเลี้ยงชีพของตนอยู่ที่นั้น เมื่อสองตายายได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ณ ที่นั้นก็มีความยินดีมากนักจึงมีศรัทธาเลื่อมใสอยากจะถวายอาหารบิณฑบาตร แต่ด้วยตนเป็นคนยากจนไม่มีอะไรจะใส่บาตร ชายผู้เป็นผัวจึงใช้ให้เมียไปเอาหัวมันในไร่ของตนมาใส่บาตรถวายพระพุทธเจ้า นางก็ไปหาหัวมันได้มา ๓ หัวแล้วนำมาล้างขัดสีจนสะอาดแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ฉันแล้ว ก็ทรงอนุโมทนาและเทศนาอนุปุพพิกถา ให้สองผัวเมียฟัง เมื่อสองตายายได้ฟังธรรมโดยเคารพแล้งจึงตั้งอยู่ในไตรสรณคมณ์พระพุทธองค์จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์จึงทูลถามว่าเป็นเพราะเหตุอันใดถึงแย้มพระโอษฐ์ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าสถานที่นี้เป็นที่รื่นรมย์ดีนักสมควรที่จะตั้งพระศาสนา เมื่อพระอานนท์ได้ยินดังนั้นจึงกราบทูลขอพระเกศาธาตุกับ พระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นลูบบนพระเศียรได้พระเกศาธาตุมา ๒ เส้น แล้วเอายื่นให้พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปฐาก พระอานนท์ก็น้อมรับเอาด้วยกระบอกไม้รวกแล้วก็ส่งให้พระอินทร์ จากนั้น พระอินทร์ก็เนรมิตขระอูปทองคำใหญ่ ๗ กำมือใส่พระเกศาธาตุแล้วนิมิตปราสาทหลังหนึ่งสูง ๒ วา ๒ ศอก แล้วขุดอุโมงค์ลงลึก ๗ วา ก่อด้วยดินและอิฐแล้วก็เอาแก้วแหวนเงินทองใส่ไว้เป็นอันมาก เพื่อเป็นการบูชา พระเกศาธาตุแล้วก็เอา ขระอูปทองคำที่บรรจุพระเกศาธาตุ และปราสาทลงไว้ในอุโมงค์นั้นจากนั้นจึงถมดินขึ้นมาให้เท่าดินเดิมแล้วปลูกต้นมะเกลือ กับต้นมะค่า ไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายพระศาสนาแล้วพระพุทธองค์ทรงพุทธพยากรณ์ว่าเมื่อตถาคตดับขันธปรินิพาน พระบรมสารีริกธาตุส่วนหัวแม่มือเบื้องซ้าย จะมาประดิษฐานอยู่ที่นี้ให้คนและเทวดาทั้งหลายได้มาบูชา ต่อจากนั้นจะมีพญาสมันตราราชองค์หนึ่งจะมาสร้างพระเจดีย์สูง ๑๔ วา ๒ ศอกครอบอุโมงค์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ด้วยตอนที่พระองค์เสด็จมาถึงที่นี้เป็นเวลาจวนแจ้งใกล้สว่างพอดี สถานที่แห่งนี้จะได้ชื่อว่าพระธาตุจวนแจ้งแล้วจะเพี้ยนเป็นพระธาตุจอมแจ้ง มาจนตราบทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าพระอรหันต์ทั้ง ๕ พระอินทร์และพญาอโศก ก็ได้เสด็จขึ้นไปทางทิศเหนือแห่งดอยจวนแจ้งมาถึงยังดอยอีกลูกหนึ่ง มีสัณฐานอันงดงามมีชื่อว่าดอยโกสิยะธัชชะบรรพต คือดอยช่อแฮ อยู่ห่างจากแม่น้ำยะมุนา ๔,๕๐๐ วา เมื่อเสด็จมาถึงพระพุทธองค์ทรงประทับนอนใต้ต้น จองแค่ (ต้นสะแก) บนดอยลูกนั้นและมีต้นหมากต้นหนึ่งใหญ่ ๘ กำมือ สูง ๒๐ วาที่นั้นมีขุนลั๊วะผู้หนึ่งมีชื่อว่าอ้ายก๊อม ได้เข้ามาไหว้ พระพุทธเจ้า และพระองค์ทรงถามว่าลูกหมากต้นนี้ฉันได้ไหม ขุนลั๊วะบอกว่าไม่ได้กินแล้วจะเป็นบ้าเมาแพร่ไป พระพุทธเจ้าจึงบอกให้เอามาพระองค์จักฉัน ขุนล๊วะอ้ายก๊อมจึงขึ้นนำมาถวายปลีหนึ่งพร้อมด้วยปูนและพลูถวายให้พระอานนท์นำไปผ่าเป็น ๔ คำแล้วถวายให้พระพุทธเจ้า เมื่อฉันเสร็จพระพุทธองค์ทรงยื่นให้ขุนลั๊วะอ้ายก๊อมกินด้วยพุทธานุภาพเมื่อได้กินหมากนั้นแล้วมีรสหวานอร่อยยิ่งนักไม่เมายันเหมือนดังแต่ก่อน ขุนลั๊วะจึงขอพันธุ์หมากนี้ไว้ เพื่อจะเอาไว้ปลูกให้ลูกหลานตนกินในอนาคตกาลดั้งนั้นต้นหมากจึงเกิดมีมากในบริเวณพระธาตุช่อแฮมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะด้วยเหตุที่ว่าหมากต้นนี้ใครได้กินแล้วจะเป็นบ้าเมาแพร่ไปนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าต่อไปในภายภาคหน้าเมืองแห่งนี้จะได้ชื่อว่า เมืองแพร่ จากนั้นขุนลั๊วะก็ให้เมียของตนจัดอาหารถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงบ้วนปากน้ำที่บ้วนปากทิ้งนั้นไปตกยังขุนดอยทางด้านตะวันออกของดอยช่อแฮ ด้วยพุทธานุภาพของน้ำบ้วนปากพระพุทธองค์ไปตกที่ขุนดอยแห่งนั้นก้อนหินก้อนผาที่อยู่บริเวณนั้นก็พุ่งขึ้นเป็นสาย แล้วเกิดเป็นแม่น้ำไหลออกมายาว ๔,๐๐๐ วา เพราะเหตุว่าก้อนหิน ก้อนผาพุ่งขึ้นเป็นสาย จึงเรียกว่า น้ำแม่สาย มาตราบจนถึงทุกวันนี้ และแม่น้ำสายนี้ได้ไหลไปสบกับแม่น้ำยม ณ บ้านแห่งหนึ่งทางปลายแม่น้ำ บ้านแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านสบสาย ด้วยอานุภาพแห่งน้ำบ้วนปากพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงบอกว่าน้ำแม่สายนี้บุคคลผู้ใดได้มากินมาอาบ จักหายโรคภัยไข้เจ็บพ้นจาก ภัยอันตราย มีอายุมั่นขวัญยืนสติปัญญาดีเพราะเป็นน้ำพุทธบ้วนปากของพระพุทธเจ้า จากนั้นพระอานนท์กับเหล่าพระอรหันต์และพญาอโศกก็ทูลบอกพระพุทธเจ้าว่าสถานที่นี้ควรตั้งพระศาสนาจึงทูลขอพระเกศาธาตุ พระพุทธองค์ก็เอามือขวาลูบพระเศียรได้พระเกศาธาตุมา ๑ เส้นประทานให้ ขุนลั๊วะอ้ายก๊อม ขุนลั๊วะจึงใช้ให้เมียไปเอาเอาขระอูปแก้วมาใส่ แต่เมียของมันเป็นคนตระหนี่ไม่ยอมไปเอาเพราะเสียดาย ขุนลั๊วะจึงดุด่าว่าผู้หญิงทำนี้ไมถึงชอบชนะผู้ชายนักหนอ แล้วก็วิ่งไปเอาขระอูปแก้วที่บ้านมาใส่พระเกศาธาตุ พระพุทธเจ้าจึงถามว่าที่มีถ้ำไหม ขุนลั๊วะอ้ายก๊อมบอกว่ามีอยู่ทิศตะวันออกแห่งดอยลูกนี้ลึก ๒๐๐ วาพระพุทธองค์บอกว่าถ้าอย่างนั้นจงนำพระเกศาธาตุไปบรรจุไว้ในถ้ำแห่งนั้นเถิด ขุนลั๊วะอ้ายก๊อมมันได้ยินดังนั้นมีความยินดีมากนักจึงนำพระเกศาธาตุไปบรรจุในถ้ำลึก ๒๐๐ วาที่อยู่ใต้ดอยลูกนั้นแล้วเอาข้าวของเงินทองของตนใส่ไป ๑ ล้าน ของคนทั้งหลายใส่อีก ๑ ล้านพระอินทร์จึงเนรมิตยนต์จักรไว้รักษาพระเกศาธาตุตลอดถึงข้าวของทั้งหลายในถ้ำ จากนั้นได้เอาก้อนหินใหญ่ ๓ ก้อนปิดไว้ข้างใน แล้วจึงเอาหินอีกก้อนหนึ่งใหญ่ ๓๐ กำมือปิดปากถ้ำไว้ไม่ให้คนเข้าไปข้างในได้ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปี พระบรมสารีริกธาตุส่วนข้อศอกซ้ายจะมาประดิษฐานอยู่ที่นี้โดยพระอรหันต์ ๗ องค์จะเป็นผู้นำมาและพญาหัวเวียงทั้ง ๕ คือเวียงละหึ่ง เวียงก้อน เวียงเรือง เวียงวา และเวียงกวางนอน จะเป็นผู้อุปถัมภ์ในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุโดยให้คนทั้งหลายในเวียงทั้ง ๕ ช่วยกันขุดตรงกลางดอยลึก ๑๕ วาแล้วเอาก้อนอิฐเงินก่อขึ้นจากพื้นดินมา ๑๒ ศอก เอาอิฐทองคำก่อขึ้นอีก ๑๒ ศอกแล้วจึงทำแท่นทองคำสูง ๗ ศอกประดับด้วยแก้ว ๗ ประการจากนั้นให้ช่างหล่อสิงห์ทองคำตัวหนึ่งสูง ๗ ศอกขึ้นตั้งบนแท่นแห่งนั้นแล้วเอาขระอูปแก้วใส่พระบรมสารีริกธาตุส่วนข้อศอกซ้ายที่พระอรหันต์ทั้ง ๗ องค์นำมาบรรจุลงในท้องสิงห์ทองคำจากนั้นก็เอาอิฐทองคำก่อเป็นอุโมงค์กว้างได้ ๗ วา แล้วเอาอิฐทองคำก่อหลังอุโมงค์ขึ้นอีก ๑๒ ศอก เอาอิฐเงินก่อต่อขึ้นอีก ๑๒ ศอก จากนั้นเอาอิฐดินก่อขึ้นอีก ๗ ศอกแล้วเอาดินถมขึ้นจนถึงผิวดินเดิมแล้วนำต้นรัง (ต้นเปา) ปลูกไว้ที่ศูนย์กลางของอุโมงค์นั้นเพื่อเป็นเครื่องหมาย ต่อจากนั้นไปในอนาคตจะมีพญาสามันตะราชองค์หนึ่งจะมาหาต้นรั้งที่ปลูกหมายไว้นั้นแล้วจะสร้างเจดีย์ครอบต้นรั้ง และอุโมงค์เพื่อจะได้เป็นที่สักการะแก่คนและเทวดาทั้งหลายและจะได้ชื่อว่าพระธาตุช่อแฮ เพราะว่าขุนทั้งหลายจะทำช่อจากผ้าแฮ (ผ้าแพร) มาถวายเป็นพุทธบูชา ถัดจากนั้นไปในอนาคตจักมีขุนผู้หนึ่งอันกินเมืองแพร่แห่งนี้มีลูกฝาแฝด ขุนผู้นั้นกล่าวว่าต่อนี้ไปบ้านเมืองแห่งนี้จะแพร่ออกกว้างขวางมี พะละกำลังมากนัก จึงตั้งชื่อเมืองว่ามหาพลนคร หรือเมืองพล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพุทธทำนายแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงดอยลูกหนึ่งชื่อว่าม่อนทะรายตาย พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกผู้ติดตามได้เข้าไปพักใต้ต้นรังต้นหนึ่ง ทรงแยมพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์จึงถามว่าทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะเหตุอันใด พระพุทธเจ้าตรัสบอกแก่พระอานนท์ว่า ปางเมื่อพระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทองได้มาปวดแจแล้วตาย ณ สถานที่นี้พระอานนท์จึงทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเล่าถึงตำนานให้ฟังพระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าบอกแก่พระอานนท์และพระเถระทั้ง ๓ และพญาอินทร์กับพญาอโศก ฟังว่าเมื่อครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ อาศัยอยู่ระหว่างดอยที่หนึ่งไกลจากเมืองมัททะราชประมาณ ๒ พันวา ได้อยู่กับ พ่อแม่ที่นั้นโดยถือสัจจะธรรมอยู่ในใจพอเกิดได้ ๑ ปีกับ ๓ เดือนพ่อแม่ทั้งสองก็ได้ถึงแก่ความตาย ส่วนเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็เป็นกำพร้าพ่อแม่อยู่ตัวเดียวในป่ากลางดอยมาถึงฤดูเดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำเป็น วันอังคาร ปีรวายเส็ด(ปีจอ)เวลาใกล้เที่ยง เนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็นอนอยู่ใต้ต้นมะม่วง ต้นหนึ่ง เมื่อมะม่วงสุกตกลงมาเนื้อทรายโพธิสัตว์ก็กินมะม่วงอยู่ที่นั้น ตามความสุขสำราญของตน ในขณะนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์กับเนื้อทรายทองคือ ได้มีรัศมีสีทองแผ่ออกจากตัวกระจายเป็นแสงไปทั่วป่าทั้งหมด ประดุจดั่งแสงพระจันทร์ในวันเพ็ญนั้นแล ซึ่งในขณะนั้นมีนายพรานฮ่อผู้หนึ่งเดินเข้าไปในป่านั้นเพื่อล่าสัตว์ ได้มองเห็นรัศมีสีทองของเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็คิดว่าเป็นรัศมีของเทวดา ผู้รักษาป่าไม้จึงเกิดความกลัวตายขึ้นมา จึงวางสีนาด(ปืนยิงสัตว์)และคะแนง(กล่องสำหรับใส่ลูกสีนาด) ไว้ตรงนั้นแล้วเขาไปดูอย่างถี่ถ้วนจึงเห็นเป็นเนื้อทรายทอง จึงรีบวิ่งไล่ติดตามเพื่อจะเอาเนื้อทรายทองตัวนั้นให้ได้ ด้วยความลืมตนเพราะรีบร้อนอยากได้เนื้อทรายทอง นายพรานฮ่อจึงจับเอาไปแต่สีนาดติดตามไปเท่านั้น จึงลืมคะแนงไว้ที่นั้น แล้วห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ห้วยคะแนง มาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื้อทรายทองเมื่อเห็นนายพรานจึงวิ่งหนีไปตามสันเขาลูกหนึ่ง นายพรายฮ่อมันวิ่งไล่ไปทันเห็นแสงของเนื้อทรายทองขึ้นมามาบเดียว (แสงเกิดขึ้นมาแว๊บเดียว) ห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าแม่มาบ มาจนถึงปัจจุบันนี้ นายพรานมันจึงรีบวิ่งตามเนื้อทรายแล้วสะเมียงตาดู(แลดู)สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าแม่สะเมียง มาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื้อทรายทองได้วิ่งหนีไปอย่างรวดเร็วในปากก็ยังคาบมะม่วงไว้ลูกหนึ่งไม่ทันได้คายทิ้ง เมื่อไปถึงดอยลูกจึงคายมะม่วงทิ้งไว้ตรงนั้น ดอยลูกนั้นจึงได้ชื่อว่าม่อนกวางคาย มาจนตราบทุกวันนี้ แล้วก็ลงไปจากดอยด้านตะวันตกไปเห็นผาก้อนหนึ่งอยู่ในเงื้อมดอยลูกนั้น ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่มเย็นร่มรื่น เนื้อทรายทองจึงหยุดนอนอยู่ที่เหนือผาก้อนนั้น ด้วยความหิวโหยอ่อนเพลียเป็นที่สุดมีความทุกข์ทรมานมาก ซึ่งที่ผาก้อนนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งชื่อนทีเทพบุตรรักษาอยู่ที่นั้นได้เกิดความสงสาร จึงเนรมิตบ่อน้ำให้เนื้อทรายทองโพธิสัตว์ได้ดื่มกินและนอนพักผ่อนตามสบาย บริเวณที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าบวกทรายนอน (หรือทะรายนอน) มาจนตราบทุกวันนี้ ส่วนนายพรานฮ่อก็ไม่ละความพยายามที่จะจับเนื้อทรายทองให้ได้ จึงไล่เนื้อทรายทองไปอีกจนไปถึงดอยลูกหนึ่งด้วยความเหนื่อยอ่อน จึงไปนอนเหงาอยู่บนดอยลูกนั้น สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่าดอยทะรายเหงามาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื้อทรายทองจึงหนีต่อไปผ่านป่าไม้ดงหนาทึบตีบตัน จนเหนื่อยเมื่อล้าหายใจไม่ค่อยออกเพราะคอตีบตันไปหมด สถานทีแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าเมืองตีบมาจนถึงทุกวันนี้ เนื้อทรายทองโพธิสัตว์จึงกระเสือกกระสนวิ่งเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอะกาละเทวดา รักษาอยู่ เทวดาตนนั้นคิดว่าถ้าเราไม่ช่วยเหลือเนื้อทรายทองโพธิสัตว์คงตาย จึงเนรมิตกลับรอยเท้าของเนื้อทรายทองให้เหมือนว่าเนื้อทรายทองได้เดินออกจากถ้ำไปแล้ว พอนายพรานตามมาถึงปากถ้ำเห็นรอยเท้าเนื้อทรายทองเดินออกไปจากถ้ำจึงวิ่งตามไปวันกับอีกหนึ่งคืน ก็ไม่เห็นเนื้อทรายทองจึงวิ่งกลับมาที่ถ้ำแห่งนั้น ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงถึงแก่ความตายใกล้ปากถ้ำ ถ้ำแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าถ้ำผีเมืองตีบ มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนน้ำที่ไหลมาจากบวกทะรายนอนผ่านมาทางนี้จึงได้ชื่อว่าน้ำแม่ตีบ มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนเนื้อทรายทองพอเวลาค่ำก็เดินออกมาจากถ้ำขึ้นไปสู่ดอยสูงทางทิศตะวันออก เดินเรื่อยมาได้มาหยุดพักผ่อนอยู่บนเนินเขาสูงชันมีหนองน้ำอุดมสมบูรณ์ และเนื้อทรายทองได้ไปยืนชันอยู่เป็นเวลาวันหนึ่ง สถานที่อันเนื้อทรายทองไปยืนชันอยู่นั้นจึงได้ชื่อว่า ดอยชัน มาตราบทุกวันนี้ แล้วเนื้อทรายทองจึงลงจากดอยชันเข้าไปสู่สระหนองแห่งหนึ่งซึ่งในที่นั้นมีเทวดาองค์หนึ่งรักษาอยู่ เทวดารู้ว่าเนื้อทรายทองต้องการดื่มน้ำ จึงเอาไม้จันทร์แดงมาฝนใส่น้ำในหนองแห่งนั้นเนื้อทรายทอง จึงได้ดื่มกินน้ำแก่นจันทร์ตามความสำราญหนองแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าหนองจันทร์ มาจนตราบทุกวันนี้ เมื่อกินน้ำแล้วจึงมีกำลังขึ้นมาบ้างจึงเดินไปตามป่าเขาร่างกายก็ซูบผอมมาหยุดพักที่ห้วยแห่งหนึ่งแห้งแล้งมากหาน้ำจะกินไม่ได้ ในใจก็กลัวนายพรานฮ้อจะติดตามมาฆ่า สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าแม่ยั้งฮ้อ แล้วเพี้ยนมาเป็นแม่ยางฮ้อ จนตราบถึงทุกวันนี้ จากนั้นเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็เดินต่อไป จนมาถึงห้วยแห่งหนึ่งมีน้ำใสเย็นสะอาดพระโพธิสัตว์จึงลงดื่มน้ำในห้วยแล้วนอนกลิ้งเกลือกไปมา ทำให้ขนที่เป็นทองคำหลุดออกมาและรัศมีสีทองได้แผ่ไปเต็มลำน้ำแห่งนั้น น้ำสายนั้นจึงเรียกว่า น้ำแม่คำมี มาจนถึงทุกวันนี้ พระโพธิสัตว์จึงเดินทางต่อไปด้วยความวิริยะ อุตสาหะ แม้ได้รับทุกข์เวทนาก็ไม่ย่อท้อจนถึงแม่น้ำอีกสายหนึ่ง อยู่ริมบ้านวาลุการามเป็นหมู่บ้านอันกว้างขวางมากนัก(ปัจจุบันคือบ้านน้ำเลาบ้านไผ่) พระโพธิสัตว์เห็นรอยเท้าคนที่ไปทำไร่ทำสวนบนกองทราย จึงเกิดความกลัวจึงวิ่งไปตามแม่น้ำสายนั้นคิดไปต่างๆนาๆว่าเราจะต้องตายเสีย ณ ที่นี้กระมัง แล้วจึงคิดคำนึงถึงสังขารว่าไม่มั่นคงย่อมมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมดา แม่น้ำสายนี้ต่อไปคนทั้งหลายจะเรียกชื่อว่า แม่เทิก(เติ๊ก) แม่ถางแลต่อจากนั้นก็ได้เดินขึ้นไปดอยม่อนน้อย แล้วไปพักอยู่ใต้ต้นรังต้นหนึ่งได้รับทุกข์เวทนาลำบากยิ่ง จักถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ไม่ออกจึงมีความปวดแจ(ปวดปัสสาวะ)เป็นทุกข์ทรมานอยู่ได้ ๓ วัน ๓ คืน จึงถึงแก่ความตายในร่มไม้รังต้นนั้นแล สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าดอยม่อนทะรายตาย มาจนตราบทุกวันนี้ จากนั้นพวกเทวดา อินทร์ พรหม ทั้งหลาย พามาฌาปนกิจศพของเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ ณ ที่นั้นแล พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกแก่พระอานนท์ว่า สถานที่เนื้อทรายทองมาตายอยู่นั้นก็คือใต้ร่มต้นรังต้นนี้แล พระอานนท์จึงกราบทูลว่าสถานที่นี้ เป็นที่ประเสริฐยิ่งนักสมควรที่จะตั้งพระศาสนา พระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวา ลูบพระเศียรได้พระเกศาธาตุมา ๑ เส้น ทรงประทานให้พระอานนท์ พระอานนท์ก็รับเอาด้วยมุมสังฆาฏิ แล้วยื่นต่อให้พระอินทร์ เมื่อพระอินทร์รับแล้วจึงเนรมิตผอบทองคำใหญ่ ๗ กำมือ เอาเส้นพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าลงบรรจุข้างใน จากนั้นก็เนรมิตอุโมงค์ลึก ๗ วา เนรมิตปราสาทสูง ๗ ศอกแล้วเอาโกศทองคำเข้าใส่ไว้ในปราสาทนำลงบรรจุไว้ในอุโมงค์นั้น แล้วก็เนรมิตขันคำใบใหญ่สองสูง ๓ ศอกใส่เทียนเงิน ๔ คู่ ดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ อย่างละ ๓ ดอกใส่ลงในขันคำใบนั้น แล้วจึงเนรมิตฆ้องทองคำใหญ่ ๒๐ กำมือ ระฆังทองคำใหญ่ ๔ ศอกคืบ เครื่องบูชานับไม่ถ้วนบรรจุลงไปเพื่อบูชาพระเกศาธาตุ แล้วจึงปิดปากอุโมงค์ด้วยหินก้อนใหญ่ จากนั้นพระพุทธเจ้าอยากฉันน้ำ พระอินทร์จึงเนรมิตบ่อน้ำไว้ตรงทิศหรดี พระอานนท์จึงไปตักมาถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงฉันแล้วจึงตรัสบอกกับพระอานนท์ว่าเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระบรมสารีริกาตุส่วนตาตุ่ม จะมาประดิษฐานอยู่ที่นี้ จากนั้นท้าวพญาและคนทั้งหลายจะพากันมาสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นี้ และจะได้ชื่อว่าพระธาตุปวดแจ แล้วจะเพี้ยนมาเป็นพระธาตุปูแจมาจนตราบถึงทุกวันนี้ เพราะเหตุที่ปางเมื่อตถาคตเกิดเป็นเนื้อทรายทอง ถูกนายพรานฮ่อไล่ฆ่า ได้มาปวดแจตาย ณ ตรงนี้ เมื่อทรงพยากรณ์แล้วพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูปก็เสด็จต่อไปจนถึงแม่น้ำยะมุนา พระองค์ได้เสด็จข้ามแม่น้ำยะมุนาแล้วขึ้นไปยืนชันอยู่ที่นั้นชั่วขณะหนึ่ง แล้วจึงทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์จึงถามว่าเป็นเพราะเหตุอันใดจึงทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเมื่อตถาคตเป็นเนื้อทรายทองวันนั้น ได้มายืนชันอยู่ที่นี้ได้วันหนึ่ง แล้วจึงได้ลงไปกินน้ำในสระหนองตรงนี้ พระอานนท์จึงทูลว่าสถานที่นี้ประเสริฐนักสมควรจักตั้งพระศาสนา พระพุทธองค์จึงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระเศียรได้พระเกศาธาตุมา ๑ เส้น ทรงประทานให้พระอานนท์ ท่านก็รับเอาด้วยผ้าสังฆาฏิแล้วก็ยื่นให้พระอินทร์ เมื่อพระอินทร์รับไปแล้วก็เนรมิตโกศทองคำใหญ่ ๓ กำมือประดับด้วยแก้ว ๗ ประการเอาพระเกศาธาตุลงบรรจุข้างใน แล้วเนรมิตถ้ำไว้ใต้ยอดดอยแห่งนั้นแล้วเนรมิตหินก้อนหนึ่งมีสัณฐานเป็นดั่งรูปปลาช่อน มีน้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา จากนั้นพระอินทร์ก็เอาโกศทองคำตั้งไว้เหนือหลังศิลาแห่งนั้นบูชาด้วย เทียนเงิน เทียนทอง แล้วจุดประทีปบุชาไว้ดูรุ่งเรืองงามยิ่งนัก จากนั้นจึงได้เนรมิตยนต์จักรรักษาพระเกศาธาตุไว้ในถ้ำแห่งนั้น พระพุทธเจ้าจึงทำนายว่าต่อไปในภายภาคหน้าคนทั้งหลายจักเรียกว่าม่อนทะรายชัน หรือม่อนหนองจันทร์ และเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้วยังมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งอยู่ใต้หนองจันทร์จักปรากฏชื่อว่าบ้านนาเขียง นาตอง อยู่ไกล ๓,๐๐๐ วา พวกเทวดาผู้รักษาพระเกศาธาตุ และรักษาดอยทะรายชันแห่งนี้จะไปดลบันดาลเข้าหัวใจของชาวบ้านนาเขียง นาตองที่นั้นพากันมาสร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้ให้คนและเทวดาทั้งหลายบูชาตราบ ๕,๐๐๐ ปีและเจดีย์แห่งนั้นจะได้ชื่อว่าพระธาตุหนองจันทร์ จากนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์เถระ พระโสณะเถระ พระอุตตระเถระ พระรัตนะเถระ พระเรวะตะเถระ พญาอินทร์ และพญาอโศกได้ทรงเสด็จเลียบเมืองแพร่มาถึงห้วยแห่งหนึ่งมีความสงบเย็นใจดี ทรงพักผ่อนอิริยาบถแล้วทำนายว่าต่อไปในภายภาคหน้าจักได้ชื่อว่า ห้วยเย็น จากนั้นเสด็จเดินตามห้วยพวกชาวลั๊วะ ทั้งหลายมีขุนลั๊วะอ้ายเลี้ยงเป็นหัวหน้าของชาวลั๊วะทั้งหมดได้นำดอกจุ๋มป๋าลั๊วะ(จำปาลาว)มาบูชา แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉันข้าวในหมู่บ้านของชาวลั๊วะ พระพุทธองค์บอกว่าต่อไปภายภาคหน้า ณ สถานที่ขุนลั๊วะอ้ายเลี้ยงเอาดอกไม้มานิมนต์นี้จะได้ชื่อว่าห้วยดอกไม้ แล้วพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกก็เสด็จไปโปรดคนในหมู่บ้าน พระองค์เสด็จไปถึงแล้วทรงพักที่ใต้ต้นมะม่วงคำต้นใหญ่อันเป็นที่พักแห่งคนทั้งหลาย แล้วทรงบอกว่าสถานที่นี้พระพุทธองค์ได้มานั่งพักใต้ต้นมะม่วงคำ ในอนาคตจักเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านต้นม่วงบ้านเย็น ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวลั๊วะ ซึ่งต่อมาจะเพี้ยนเป็นต้นม่วงบานเย็น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมชื่อกาลามะสูตร โปรดชาวลั๊วะทั้งหลาย ณหมู่บ้านแห่งนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตะปรินิพพานแล้วเศษพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะมาประดิษฐานอยู่ณที่นี้ (สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมกาลามะสูตร โปรดชาวลั๊วะทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นวัดร้างและเป็นไร่นาชาวบ้านไปหมดแล้วคือตรงบริเวณ นาของพ่อไฝ ใต้ทุ่งต้นตาล ๗ ต้นในปัจจุบันนี้) เมื่อโปรดคนในหมู่บ้านครบทั้ง ๗ วันแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงหนองอันใหญ่แห่งหนึ่งเรียกว่า หนองสำเภาคำ มีพญานาคตนชื่อว่าโควินนาคราช ผู้รักษาหนองน้ำเมื่อได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทางนี้จึงได้นำดอกมหาวัน อันเป็นดอกไม้ที่เกิดแต่ในภิภพนาคนำมาบูชาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์ เมื่อโปรดพญานาคเสร็จพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เสด็จเดินข้ามไม่ได้เพราะเป็นหนองใหญ่ พระองค์จึงเสด็จเดินอ้อมหนองแห่งนั้นไปทิศตะวันตกแห่งหนองนั้น แล้วพระพุทธองค์ทรงทำนายว่าในอนาคตกาลไปภายภาคหน้าหนองน้ำแห่งนี้จะได้ชื่อว่าหนองพระอ้อม แล้วจะเพี้ยนไปเป็น หนองผ้าอ้อม จากนั้นได้ทรงเสด็จมาถึงห้วยแห่งหนึ่งซึ่งลึกมาก พระอินทร์จึงเนรมิตขอนไม้ทองคำให้พระพุทธเจ้าเสด็จเดินข้าม พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ห้วยอันพระอินทร์ได้เนรมิตขอนไม้ทองคำให้พระองค์เสด็จข้ามไปนี้ ต่อไปในภายภาคหน้าจักได้ชื่อว่าห้วยคำ แล้วเสด็จมาถึงลำห้วยใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นก้อนหินใหญ่ลูกหนึ่งเป็นรมณียสถานอันอุดมวิเศษยิ่ง จึงนำพระอรหันต์ พระอินทร์ พญาอโศกเข้าไปในถึงที่นั้นแล้วพักอยู่ แล้วทรงเอนพระปฤษฎางค์ (หลัง)นอน บนแท่นศิลาบัลลังค์ ณ หน้าผาแห่งนั้นซึ่งมีน้ำตกไหลเย็นสะอาด แล้วทรงตรัสว่า สาธุ สาธุ สาธุ ดีนักแล พระอานนท์เถระจึงทูลถามว่าพระพุทธองค์กล่าวคำว่า สาธุ เพราะเหตุอันใดหนอ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อน อานนท์ ศิลาบัลลังค์ก้อนใหญ่ที่ตถาคตนอนอยู่นี้เป็นอัครฐานอันเลิศยิ่งนัก มีอารักษ์คือยักษ์เสนาตนใหญ่ชื่อว่าพญาสูโรยักษ์ อันมีบริวาร ๑,๕๐๐ ตน อยู่รักษาแท่นศิลาบัลลังค์นี้มาตั้งแต่ปฐมกัปป์มา แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงมาแล้วคือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ ทุกพระองค์ล้วนเคยเสด็จมาโปรดสงเคราะห์อารักษ์ที่นี้ รวมทั้งพระตถาคตเป็น ๔ องค์ แม้นพระศรีอริยเมตไตยเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเสด็จมานอนที่นี้เหมือนกันเพราะเป็นพุทธประเพณี จึงเป็นที่ประเสริฐยิ่งจักตั้งปรากฏเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาแก่คน และเทวดาทั้งหลายผู้มีปสาทะศรัทธาตลอดสิ้น ๕,๐๐๐ ปีแล และลำห้วยแห่งนี้เป็นอาณาเขตของพญานาคตนหนึ่งมี ชื่อว่ากาฬนาคราช ได้อาศัยอยู่ที่หนองแห่งหนึ่งไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก ในปัจจุบันนี้หนองน้ำอันเป็นที่อยู่ของพญานาคนั้นก็ยังปรากฏมีอยู่ชื่อว่า หนองนาค มาตราบทุกวันนี้ เมื่อพญานาคทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาพร้อมพระสาวกแล้วประทับอยู่ ณ แท่นผาอันเป็นอาณาเขตของตนจึงได้พาบริวาร ๕๐๐ ตนมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วนำผลหมากสมอทิพย์มาถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์รับแล้วก็ทรงฉันหมากสมอทิพย์ เมื่อฉันเสร็จได้เอาเมล็ดในของผลสมอทิ้งไปแล้วไปตกที่ห้วยแห่งหนึ่ง จึงทรงพยากรณ์ว่าอนาคตกาลไปภายภาคหน้า ห้วยที่เมล็ดสมอไปตกนั้นจักได้ ชื่อว่าห้วยยา เพราะว่าเมล็ดของลูกสมอที่เป็นยาทิพย์ไปตกลงที่นั้น แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องเทวธรรมโปรดสูโรยักษ์ และพญากาฬนาคราช เมื่อพระพุทธเจ้าฉันหมากสมอทิพย์แล้วทรงหิวน้ำแต่หาน้ำที่สะอาดจะฉันไม่มี จึงได้เอาไม้เท้าที่พญาอโศกทรงถือมาปักลงตรงธารน้ำตกเป็นบ่อลึกลงไป ด้วยพุทธานุภาพจึงเกิดเป็นสายน้ำใสสะอาดพุ่งขึ้นมาจากบ่อ พระอานนท์เถระจึงได้เอาพระธัมมะกรกกรองน้ำถวายพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าฉันเสร็จจึงทรงพยากรณ์ว่าอนาคตกาลไปภายภาคหน้าตาดแห่งนี้จะมี ชื่อว่าตาดน้ำบ่อ ตามที่พระองค์ได้เอาไม้เท้าปักลงแล้วเป็นบ่อน้ำ แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์เห็นจึงทูลถามว่าเป็นเพราะเหตุอันใดถึงแย้มพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้าจึงบอกต่อไปว่า ในอนาคตพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าแค่งซ้ายของพระองค์ จะมาประดิษฐานอยู่ ณ.แท่นผาแห่งนี้ให้เหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้สักการะบูชากราบไหว้ สถานที่แห่งนี้เหล่าสาวกของพระองค์จะมาบำเพ็ญเพียร และสำเร็จธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ที่แท่นผาแห่งนี้หลายองค์ จึงเป็นสถานที่สำคัญ แล้วทรงสั่งให้พญากาฬนาคราชให้อยู่คอยดูแลอุปฐากพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย และคอยเฝ้ารักษาอย่าให้ใครมาทำลายและทำสกปรกในบริเวณนี้ไปตราบ ๕,๐๐๐ปี และ ณ ที่นี้ จักได้ ชื่อว่าผาแท่นพุทธไสยาสน์ตาดน้ำบ่อ จะเป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาในอนาคตกาลภายหน้าแล เมื่อทราบดังนั้นพระอินทร์จึงเนรมิตตุงทิพย์ยาว ๑,๐๐๐ วาไปปักไว้บนเขาใกล้แท่นผาพุทธไสยาสน์เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นสถานที่สำคัญ ปัจจุบันนี้หลุมตุงที่พระอินทร์ปักไว้นั้น ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ที่บนเขาทางด้านตะวันตกของแท่นผาพุทธไสยาสน์ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า ผู้ใดก็ตามที่มีจิตศรัทธามาสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูป กุฏิ วิหาร ศาลา เสนาสนะ ได้มาทำบุญให้ทานมานมัสการ ยังแท่นศิลาบัลลังค์ และพุทธสถานแห่งนี้ บุคคลผู้นั้นจะได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า จะพลันได้บรรลุมรรคผลนิพพานในกาลอันใกล้นี้แล ผู้ที่มานมัสการและจะมาก่อสร้างยังสถานที่แห่งนี้นั้นถ้าจะให้เจริญรุ่งเรือง ให้บูชาพญาอินทร์ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พระอุปคุต พญากาฬนาคราช พญาสูโรยักษ์ นางแม่ธรณี และเทวดาอยู่ที่ต้นค่า อย่าให้ขาดก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแล สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ในวันพระสำคัญพระบรมสารีริกธาตุ ที่สถิตอยู่ข้างในแท่นผา จะเสด็จออกมาเป็นดวงแก้วสีเขียวลอยออกมาจากหลุมตุงพระอินทร์ ปรากฏให้คนเห็นมาโดยตลอด และมีเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อนพอถึงเดือน ๖ เพ็ญซึ่งเป็นวันขึ้นพระธาตุช่อแฮ ดวงแก้วจะลอยจากในถ้ำตรงที่หลุมตุงพระอินทร์ไปที่พระธาตุช่อแฮ ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ผู้ที่มายังสถานที่แห่งนี้จึงพึงสำรวมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดนอบน้อมกราบแท่นผาพุทธไสยาสน์และพระเจดีย์ทั้งหลายที่ประดิษฐาน ณ พุทธสถานแห่งนี้ แล้วระนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็จักได้ผลบุญอันประเสริฐแล เมื่อทรงทำนายแล้วพร้อมเหล่าพระสาวกก็เสด็จไปอยู่เหนือดอยลูกหนึ่งมีชื่อว่ามันภะครรถะ คือดอยภูตั๊บ ทรงฉันมะม่วงหอมแล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ พระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตะปรินิพพานแล้วพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะมาประดิษฐานอยู่ในยอดเขาแห่งนี้ แล้วจักได้ชื่อว่าพระธาตุภูตั๊บ จากนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระพระอานนท์เถระ พระโสณะเถระ พระอุตตระเถระ พระรัตนะเถระ พระเรวะตะเถระ พญาอินทร์ และพญาอโศก จึงเสด็จมาถึงดอนแหลมลี่วันนั้นแล ยามนั้นยังมีพญาต๋นชื่อ สมาทะ อันเป็นใหญ่แก่ชาวเมืองเววาทภาษิตทังหลาย คือเป็นใหญ่แก่ชาวเมืองลอง พญาต๋นนี้ได้ทำไร่ฝ้ายในดอนแหลมลี่ที่นั้นก็ได้เห็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่กับพระอรหันต์ทังหลาย พญาก็ยินดีมากนัก ก็ได้เอาถั่วงา หมากเต้าหมากแตง มาถวายเป็นทานแก่พระพุทธเจ้าและอรหันต์ทังหลาย แล้วพญาก็ได้ฟังธรรมรักษาศีลอยู่ ๗ วัน ในวันถ้วนแปดนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้เสวยภัตตาหารอยู่นั้นก็ทรงแย้มพระโอฐ เมื่อนั้นพระเรวะตะเถระเจ้า ก็ได้ทูลถามเหตุที่พระพุทธเจ้าแย้มพระโอฐเป็นเพราะเหตุอันใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูราท่านเรวะตะ เกาะอันนี้ประเสริฐมากนักแลมีน้ำแวดล้อมเหมือนดั่งสระอโนดาด ดอนอันนี้จักเป็นมหานครอันใหญ่ในอนาคตแล คนทั้งหลายจักมาอยู่ที่นี้กว่าหมื่นกว่าแสนในภายภาคหน้าแล ส่วนเทวดาพระอรหันต์ทั้งหลายและท้าวพญาจักเอาพระบรมสารีริกธาตุมาฐาปันนาตั้งไว้ ณ ดอนแหลมลี่ที่เมือพระตถาคตนิพพานไปได้ ๒๐๐ ปี สถานที่นี้เป็นที่อุดมยิ่งนัก พระพุทธเจ้าทังหลายมีพระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ แลพระพุทธเจ้าโคตะมะคือพระพุทธองค์เอง ตลอดถึงพระพุทธเจ้าศรีอริยะเมตตัยที่จักมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าล้วนต้องมาแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่าสารัมมะจิตตะสูตร ทุกพระองค์แล ตามพุทธประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อนั้นเทวดา พระอินทร์ พระพรหม พญาครุฑ พระยานาค มาแต่หมื่นโลกธาตุมาชุมนุมฟังธรรมในที่นี้แล เมื่อนั้นพระฤาษีปะระนาอยู่ดอยตาดฟ้าวันตกเมืองเววาทภาษิต กับเทวดาตนหนึ่งชื่อว่าเทวเถร ทังสองได้มาฟังธรรมแห่งพระพุทธเจ้าแล พระพุทธเจ้ากล่าวว่าพระฤาษีปะระนา และเทวะเถรเทวบุตร ในภายภาคหน้าจักได้มาบวชเป็นภิกษุอยู่ที่นี้ เมื่อนั้นยังมีพญาองค์หนึ่งชื่อ สามะดาหรี เกิดมาเป็นใหญ่ในเมืองอันนี้ พญาองค์นั้นพร้อมด้วยพระภิกษุ ๒ องค์ คือพระจัตตะกาโร กับพระเทวเถร ได้ร่วมกันกับชาวเมืองเววาทภาษิต (คือเมืองลอง)ช่วยกันสร้างพระเจดีย์สูง ๒๕ วา เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนาแลทำนายสถานที่นี้เสร็จ ส่วนว่าคนและเทวดาทั้งหลายก็ได้ถึงมรรคผล ตามบุญญาธิการของตนแล เมื่อทรงทำนายแล้วพร้อมเหล่าพระสาวกก็เสด็จไป ดอยปู่เจ้า ท่าสอย ท่าทราย เมืองเชียงตุงแล้วก็กลับไป วัดเชตะวันมหาวิหารดังเดิม นิฎฐิตัง ขียาอันกล่าวยังพุทธตำนาน พระเจ้าเลียบเมืองแพร่ก็แล้วห้องหนึ่งก่อนแล ฯ

พระสวาธุเจ้าศรีปัญญา สิริปญฺโญ วัดพระพุทธบาทดอยชำค่าอรัญวาสี ผู้เรียบเรียงจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก และจากคำบอกเล่าของพ่อหนานทา คำขาด ซึ่งได้รับฟังมาจากหลวงพ่อครูบาแก้ว อินฺทจกฺโก เล่าให้ฟังเมื่อสมัยเป็นสามเณร

ผู้รวบรวมข้อมูล ๑. นายจิรวัตร เดือนดาว ๒. นางดวงใจสายทอง ๓. นายบุญ สายทอง ๔. นางขจรศรี ดอกแก้ว ๕. พระสยาม สิริปัญโญ

แม่น้ำยม

สหกรณ์เฟอร์นิเจอร์จิ๋วบ้านวังวน

ซุ้มวัดบ้านหาดลี่

วัดถ้ำผาแท่น

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 27 •กันยายน• 2012 เวลา 10:32 น.• )