วัดของหมู่บ้านน้ำรัดแต่ดั่งเดิม ตั้งอยู่ในเขตของ      หมู่ที่ 4 ของตำบลน้ำรัด ฟากตะวันออก ของถนนสายบ้านสุพรรณ –หัวเมืองชื่อว่า  “วัดหนองน้ำรัด” มีเนื้อที่ 6ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา น.ส.3 ครุฑเขียว( 7ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา) บริเวณที่ตั้งวัดมีอาณาเขตติดกับลำแม่น้ำยม สร้างขึ้นเมื่อใด และมีเจ้าอาวาส ปกครองดูแลมาจำนวนเท่าใด ไม่ปรากฏประวัติที่แน่ชัดมาก่อน เท่าที่ทราบและเป็นที่ยืนยันได้แน่นอนและจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบต่อกันมาที่พอเชื่อถือได้เช่น จากการสัมภาษณ์ พ่อเฒ่าตุ้ย  มหาวัน อายุ 94ปี และ แม่เฒ่า ไฮ  วังแก้ว อายุ 89 ปี (ขณะที่ได้บันทึกคือ วันที่ 10 สิงหาคม 2538 ) ปัจจุบันนี้บุคคลทั้งสองนี้ได้เสียชีวิตแล้ว ทำให้ทราบว่าในช่วงหนึ่ง วัดหนองน้ำลัดมีเจ้าอาวาสและสามเณร จำพรรษาอยู่ต่อมา มีดังนี้

1.หลวงพ่อธิ หรือ ครูบาธิ เป็นเจ้าอาวาส
2.สามเณรใจ คำแจ้ (บิดา ของแม่เฒ่า ไฮ   วังแก้ว ในเวลาต่อมา )
3.สามเณรวงศ์   สินธุวงศ์ (บิดา ของพ่อเลี้ยง ทวีศักดิ์  สินธุวงศ์)
4.สามเณรราช    ทิพยรักษ์ (บิดาของ นาง ไข  อินกัน)
ต่อมาลำน้ำยมได้เปลี่ยนทิศทางการเดินและกัดเซาะทำให้ตลิ่งพัง และกินเนื้อที่เข้าหาเขตวัดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับบริเวณลานวัดมีรูกว้างลึก (รูหลาว) อยู่หลายแห่ง เป็นที่เกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อโบราณสถานต่อไปในภายภาคหน้า  ครูบาธิ จึงได้ปรึกษากับชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้น อาธิ เช่น พ่อท้าวเทพ  พ่อแสน นามวงศ์         (ใจ  ทิพยรักษ์) เพื่อขอความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขเพื่อให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวหนองน้ำรัดต่อไป
ทุกฝ่ายมีความคิดเห็นว่าควรจะย้ายที่ตั้งวัดใหม่ จึงร่วมมือกันสืบเสาะหาบริเวณที่เหมาะสมแก่การตั้ง        วัดใหม่ และต่างก็ลงความคิดเห็นว่า บริเวณที่มีภูมิประเทศดี เหมาะแก่การตั้งวัดใหม่คือ บริเวณที่อยู่ทางทิศเหนือ   ซึ่งเป็นป่าดงทึบ มีต้นไม้ใหญ่มากมาย หางจากลำน้ำยมหลายร้อยเมตรและห่างจากวัดเดิมประมาณ 700 เมตร ชาวบ้านจึงได้ช่วยกัน แผ้วถางและได้พบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นวัดร้างที่มีซากปรักหักพังของอุโบสถและมีก้อนหินสีมา (พันธสีมา) อยู่โดยรอบถึง 9 จุด และด้านทิศตะวันออกใกล้กับอุโบสถ  พบเนินดินกองใหญ่มีซากก้อนอิฐขนาดใหญ่ หักทับทมกันอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นซากเจดีย์เก่าจึงได้ขุดพบหลืบก้อนหินและก้อนอิฐมีโพลงบรรจุพระพุทธรูปเก่าเก่าที่เป็นทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ปูนปั้นและพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ และพระพุทธรูปทองเหลืองที่ฉาบด้วยปูนขนาดต่างๆมากมาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่ดี และสมบูรณ์ และมีที่ชำรุดอยู่บ้างบางส่วน ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างอุโบสถชั่วคราวมุงด้วยหญ้าคา แล้วคัดเลือกพระพุทธรูปที่อยู่ในสภาพดีอันเชิญขึ้นประดิษฐานไว้  ส่วนองค์พระที่ชำรุดก็ได้ช่วยกันขุดฝังดินไว้ที่เดิม
หลังจากที่แผ้วถางและสร้างอุโบสถชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทราบเรื่องราวได้เล่าประวัติสืบต่อกันมาว่า บริเวณวัดร้างแห่งนี้เคยเป็นวัดของพวกเงี้ยวมาก่อน ผู้ที่ริเริ่มสร้างชื่อว่า จองปักก่า และแม่นาง เหลียว  เชื่อว่าคงเป็นสมัยที่พม่าหรือเงี้ยวเรืองอำนาจและมีเหตุให้ต้องแย่งดินแดนกับคนไทยเจ้าของแผ่นดินจนต้องทำให้ทิ้งถิ่นฐานแล้วอพยพหนีไป  ทิ้งให้เป็นวัดร้าง (บริเวณรอบวัดแห่งนี้ นาย สมคิด วังแก้วและนาย จำนง วังแก้ว เคยขุดพบซากโครงกระดูกคนที่ตายผุพังโดย ขา ข้างซ้ายและแขน ข้างขวาถูกตัดขาดไป แต่ฟันยังคงสภาพดีอยู่ นอกจากนี้ยังขุดพบ ผอบกระดูก  ไปป์ดินปั้นหรือที่ใส่สำหรับสูบ และตลับใส่ปูนเคี้ยวกับหมากทองเหลือง           อีกหลายชิ้น )
ในช่วงแรกครูบาธิ  ได้พา สามเณรใจ  คำแจ้ มาปฏิบัติวิปัสนากัมมฐานทดลองดูว่าก่อน 1 พรรษาส่วนสามเณรลูกวัดให้จำพรรษาอยู่ที่วัดเดิม ทั้งนี้เพื่ออยากทดสอบดูว่าจะมีเหตุการณ์หรือมีสิ่งจำแลงบอกเหตุประการใดหรือไม่ ก็ปรากฏว่า ไม่มีเหตุการณ์เป็นลางบอกเหตุแต่อย่างใด  เห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี  ครูบาธิจึงได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าจำต้องนำวัดมาตั้งในที่แห่งใหม่  จึงได้ต่อเรือบุษบกอย่างดีเพื่อเป็นที่ใส่ธรรมาสน์ไม้ทรงสูงแบบล้านนาที่สวยงามซึ่งเป็นฝีมือของท่านขึ้นตั้งไว้ ( ปัจจุบันนี้ยังปรากฏให้เห็นที่วัดรัตนสุนทร )แล้วทำพิธีการบวงสรวงเทวดาเจ้าที่  พรหมอินทร์  ยมนา ครุฑ นาคน้ำ ปรมัยไอศวรย์ ตั้งขบวนแห่ด้วยเครื่องสูง  ประกอบด้วย     ตุงใย  ตุงกระบอก  ตุงกระด้างจากวัดเดิมริมฝั่งแม่น้ำยมขึ้นไปทางเหนือเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จึงถึงวัดใหม่
ต่อมาครูบาธิ  ได้นำลูกบ้านบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังชั่วคราวด้วยอิฐถือปูน  มุงด้วยแป้นเกล็ดหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยครูบาธิ เป็นช่างก่อสร้างเอง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ขุดพบ และนิมนต์     ตุ๊ปู่ก๋า ช่างจากในเวียงเป็นผู้ปฏิสังขรณ์รพระธาตุนางเหลียว ทางด้านทิศตะวันออก(องค์เดิม)ของอุโบสถเพื่อให้เป็นที่สักการะของชาวบ้านหนองน้ำรัดสืบไป และได้บรรจุพระพุทธรูปและแก้วแหวนเงินทองจากผู้ที่มีจิตรศรัทธาและของเก่าไว้เป็นจำนวนมากและนอกจากนี้ท่านก็ได้สร้างกุฏิไม้มุงด้วยหญ้าคาอีก 1 หลัง ไว้ตรงบริเวณที่ตั้งศาลาการเปรียญองค์ปัจจุบัน (เข้าใจกันว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร  และถูกไฟไหม้)
ต่อมาครูบาธิได้เล็งเห็นถึงความเจริญของบ้านเมืองที่เจริญมากขึ้น พุทธศาสนิกชนมีจำนวนมากขึ้น แต่อุโบสถที่ท่านบูรณะขึ้นนั้นมันมีขนาดคับแคบไม่พอที่จะบรรจุอุบาสก อุบาสิกา หรือพระภิกษุสามเณรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจึงดำริที่จะสร้างวิหารหลังใหม่ ส่วนอุโบสถนั้นใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์เพียงอย่างเดียวและห้ามให้ผู้หญิงเข้าไปในอุโบสถเด็ดขาด จนถึงปัจจุบัน ส่วนวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ได้สร้างทางทิศตะวันออกของพระธาตุนางเหลียวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยครูบาธิ  เป็นช่างออกแบบและก่อสร้างเอง การก่อสร้างได้ดำเนินการสร้างฐานและก่อโครงร่างไว้แต่ยังไม่ทันได้มุง  ครูบาธิ ก็อาพาธและมรณกรรมในเวลาต่อมา ชาวบ้านได้ร่วมจัดบำเพ็ญกุศลศพ และประชุมเพลิงศพของท่าน
จากการมรณภาพของครูบาธิ ทำให้การก่อสร้างวิหารหยุดชะงักเพราะขาดหัวเรือที่สำคัญผู้เฒ่าผู้แก่จึงได้ปรึกษาและขอความเมตตาจาจากผู้ใจบุญเป็นผู้อุปถัมภ์ปรากฏว่า เจ้าพรหม (บางท่านเรียกหลวง พรหม) และแม่เจ้าก้อนบ้านปงสนุกหรือบ้านพงษ์สุนันท์ บ้านในเวียง จังหวัดแพร่ รับอาสาสร้างต่อให้ โดยการมุงหลังคาด้วยเป็นเกล็ดและฝาผนังด้านในวาดภาพพุทธประวัติและมหาเวชสันดรชาดก  โดยหนานจ่า  เมืองตีบเป็นช่างผู้วาดเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ทำบุญฉลอง เมื่อ พ.ศ.2469 จากการที่ได้คลุกคลีกับวัดหนองน้ำรัดและสนิทสนมกับสามเณรตลอดจนถึงชาวบ้านทำให้เจ้าพรหมได้ทราบว่าที่วัดนี้มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่งและเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมากมีความอยากได้จึงตั้งเงื่อนไขว่าจะขอเอาพระพุทธรูปองค์นี้หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเพชร เป็นของตอบแทนในการสร้างวิหารแต่ประชาชนชาวบ้านไม่ยอมในที่สุดหลวงพรหมโกรธจึงเรียกเงิน 500 บาท เป็นค่าสร้างวิหารแทน แต่ชาวบ้านไม่มีเงินจ่ายให้ เพราะในตอนแรกหลวงพรหมรับอาสาจะสร้างให้โดยไม่คิดเงิน  และแล้วเรื่องนี้ก็จบลงด้วยการเลิกแล้วต่อกันไป ต่อมาก็มีการสร้างพระประธาน ด้วยการก่อด้วยอิฐถือปูน โดยสล่า อุ๊        และส่างชั้น เป็นช่างก่อสร้าง
หลังจากที่ครูบาธิได้ถึงแก่มรณกรรมไปแล้ว ก็ไม่มีพระภิกษุหรือเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดสืบมา จนกระทั้งชาวบ้านได้ไปนิมนต์ พระสงค์จากวัดอื่นมาเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัด ดังนี้คือ
1.ครูบาคำ  นออินทร์
2.ครุบาแก้ว  รัตนะ
3.ครูบาปิง  ยานสกุล
ปรากฏว่าสมัยครูบาปิง  ยานสกุล เป็นเจ้าอาวาสวัตถุที่มีค่าของวัดถูกขโมยออกขายเป็นจำนวนมาก            เพราะครูบาปิง และพรรคพวกติดการพนัน  และเสียเงินเพราะการเล่นไพ่ จึงถูกชาวบ้านนิมนต์ไปจำพรรษาที่วัดอื่น
4.ครูบาถา
5.ครูบาซาว (ขว้างโหว้  บนหลังวิหารไปล้อมเก๊าม่วง) ตอนหลังไปสร้างวัดบ้านใต้
6.พระครูสุนทร  สิกขวัฒน์ (ชุมพู  กาละวงศ์) เป็นเจ้าอาวาสวัดตั้งแต่ พ.ศ.2473 ท่านเป็นหัวเรือในการสร้างสิ่งต่างๆดังนี้
1.ได้นำชาวบ้านไปลากไม้ จากการยุบเลิกของกรมทหารที่เด่นชัย เพื่อนำมาสร้างกุฏิ 2 หลัง หลังแรกคือหันหน้าไปทางทิศเหนือ มี 3 ห้อง หลังที่ 2 มี 3 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ซึ่งในตอนหลังได้สร้างชานเป็นลานเชื่อมกุฏิ 2 หลัง (พระครู สวรรณ  วรคุณ เจ้าอาวาสวัดบ้านแม่คำมี ในเวลาต่อมา เป็นผู้ดูแลพระเณรลูกวัด                อีกส่วนหนึ่ง)
2.สร้างกุฏิก่อด้วยอิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาด 6 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อยู่ทางด้านเหนือของกุฏิ    ตามข้อที่ 1
3.สร้างโรงเรียนประชาบาล 2 ชั้น ขนาด 4 ห้องเรียน (หลังนอก)เมื่อ พ.ศ.2473 และทำการฉลองเมื่อ       พ.ศ.2475
4.สร้างอาคารเรียนใต้ถุนสูง ขนาด 3 ห้องเรียน(ในวัด)พระครุสุนทร  สิกขวัฒน์  ได้ย้ายไปดำรงค์ตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอ สอง ที่วัดเทพสุนทรินทร์  และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณญาณสิทธิสุนทรจนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ และได้พระราชทานเพลิงศพ เมื่อ14 มีนาคม พ.ศ. 2506
7.พระครูสถิตย์รัตนสุนทร  (พรหมา  ชมพูราช ) อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2482 รักษาการเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2483 ได้ทำการเปลี่ยนแปลงต่างๆดังนี้
1.เปลี่ยนชื่อวัดจาก วัดหนองน้ำลัด เป็น วัดรัตนสุนทร พ.ศ.2488
2.สร้างศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ พ.ศ.2490 โดยสล่าน้อย  บ้านร่องแหย่ง
3.สร้างอาคารเรียนโรงเรียนบ้านหนองน้ำรัด (พรหมาประชาสงเคราะห์) ขนาด 10 ห้องเรียน 2ชั้นพ.ศ.2498
4.สร้างกุฏิขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 24 เมตร 5 ห้อง หันหน้าไปทางทิศเหนือ พ.ศ.2502
5.รื้อวิหาร พ.ศ.2503 และสร้างวิหารหลังใหม่ ขนาดกว้าง 7 วา ยาว 14 วา พ.ศ.2505สร้างเสร็จ พ.ศ. 2519   ค่าก่อสร้างทั้งหมด 1 ล้าน 2 แสนเศษ ทำบุญฉลอง พ.ศ.2520 (ก่อสร้าง 14 ปี)
6.รื้ออาคารเรียนใต้ถุนสูงในวัดไปสร้างอาคารเรียนประถมปลาย พ.ศ.2505
พระครูสถิตย์  รัตนสุนทร ถึงแก่มรณภาพ  เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2523 และพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524
8.พระธวัชชัย   โสภารัตน์  (พ.ศ.2524-พ.ศ.2525)
9.พระสว่าง  ปภัสโร (พ.ศ.2525-พ.ศ.2527)
1.ได้รื้อพระอุโบสถและสรร้างขึ้นใหม่ โดยสล่า เสงี่ยม  บ้านมุ้ง ตำบลป่าแดง ผู้สร้าง
2.พระมานพ  ติกขวิโร เจ้าอาวาสวัด   พระธาตุหนองจันทร์ อำเภอ สอง เป็นองค์ประธานบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุนางเหลียวโดยก่ออิฐคร่อมทับพระธาตุองค์เดิม ทำบุญนมัสการ พ.ศ.2533
10.พระชำนาญ  ชนันโท (พ.ศ.2527-พ.ศ.2532)
11.พระวัชรกร  เขมะปปัญโญ(พ.ศ.2532-พ.ศ.2533)
12.พระนิกร  ยโสธโร  รักษาการเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ.2534- ปัจจุบัน

 

 

 

หลวงพ่อเพชร

พุทธลักษณะ
พระพุทธรูปทองเหลือง  ปางขัดสมาธิเพชร สมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 8 นิ้ว ด้านหลังบริเวณฐานแต่แตกหัก ได้ใช้ไม้ค้ำยันเป็นฐานกันล้ม
ประวัติการพบ
พ่อเฒ่าเปี้ย แม่เฒ่าอ้น เสาร์แดน เป็นผู้ขุดพบกลางไร่ที่ปลูกต้นคราม (สำหรับทำสีหม้อห้อมใช้ย้อมผ้า) บริเวณตลาดสดบ้านหนองน้ำรัดปัจจุบัน ได้ใช้จอบขุดถูกองค์พระด้านหลังจนทำให้ฐานแตกหัก พ่อเฒ่าเปี้ยได้ใช้ไม้ทำเป็นง่ามค้ำยันไว้ตอนแรกคิดว่าจะเก็บไว้บูชาที่บ้าน  แต่เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสวยงามและเป็นที่หมายปองของคนที่พบเห็นโดยทั่วไป  เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อตนเองและครอบครัวจึงได้ตัดสินใจอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัด  ตั้งแต่สมัยครูบาธิ เป็นเจ้าอาวาสเป็นต้นมา
เหตุการณ์และปาฏิหาริย์ที่สำคัญ
ในสมัยครูบาธิเป็นเจ้าอาวาส เกิดไฟไหม้ป่ารอบวัด  และลุกลามเข้าไหม้กฏิและอุโบสถ  แต่ปรากฏว่า บริเวณที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ไฟได้ไหม้โดยรอบแต่ไม่ถึงองค์พระหลวงพ่อเพชร จึงไม่ได้รับความเสียหายแต่ประการใด
2.เคยมีผู้ที่คิดจะครอบครองและขโมยหลายครั้งดังนี้
1.เจ้าพรหม และแม่เจ้าก้อน รับอาสาที่จะต่อเติมวิหารที่ยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากครูบาธิได้มรณภาพก่อนโดยรับเป็นผู้อุปถัมภ์ในการก่อสร้างต่อ จนแล้วเสร็จโดยไม่คิดสิ่งตอบแทน แต่จากการที่ได้เข้ามาคลุกคลีและเข้าออกวัดเป็นเวลานาน เจ้าพรหมมีโอกาสเห็นหลวงพ่อเพชรว่าเป็นพระที่เก่าแก่ที่มีลักษณะงามยิ่งนัก และมีกิตติศัพท์เลื่องชื่อลือไกลในเรื่องเมตตามหานิยม และคุ้มครองผู้ที่ได้ครองครองให้ร่มเย็นเป็นสุข จึงอยากได้ดังนั้นจึงตั้งเงื่อนไขว่าจะขอเอาพระพุทธรูปองค์นี้หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเพชร เป็นของตอบแทนในการสร้างวิหารแต่ประชาชนชาวบ้านไม่ยอมในที่สุดหลวงพรหมโกรธจึงเรียกเงิน 500 บาท เป็นค่าสร้างวิหารแทน แต่ชาวบ้านไม่มีเงินจ่ายให้ เพราะในตอนแรกหลวงพรหมรับอาสาจะสร้างให้โดยไม่คิดเงิน  และแล้วเรื่องนี้ก็จบลงด้วยการเลิกแล้วต่อกันไป
2.ขณะที่ยังไม่มีเจ้าอาวาส เนื่องจากครูบาธิมรณภาพ และยังไม่มีใครปกครองดูแลวัด นาย อำเภอจันทร์หอม  นายอำเภอสอง ได้ทราบกิตติศักดิ์ของหลวงพ่อเพชรอยากได้จึงเดินทางมาที่วัด และติดต่อขอเอาจากสามเณรพ่อ (สามเณรลูกวัดรักษาการ) โดยอ้างว่าจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่อำเภอ เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยหากประดิษฐานไว้ที่วัด       แต่ข่าวนี้ทราบไปถึงชาวบ้านและพระวัดอื่นส่วนหนึ่งคือ ตุ๊เจ้าต๊ะ  เฟื่องฟู  ตุ๊เจ้าราช   ทิพยรักษ์  ตุ๊เจ้าวงศ์  สินธุวงศ์ จึงได้ติดตามไปขอคืนกลับมา
3. สมัยเจ้าคุณญาณสิทธิสุนทร เป็นเจ้าอาวาส ขณะที่ชาวบ้านกำลังสนุกสนานกับการแข่งขันจุดบั้งไฟตามประเพณีพื้นบ้าน เนื่องในวันสำคัญทางศาสนามีชายฉกรรจ์คนหนึ่งได้แอบขึ้นไปบนกุฏิ และนำเอาหลวงพ่อเพชรซ่อนเอาไว้ในเสื้อพยายามจะขโมยพอดี แม่เฒ่าเมา (มารดาของแม่ใหญ่ชุ่ม   ปราบสงบ)เห็นเหตุการณ์จึงได้วิ่งไปแจ้งข่าวแก่ชาวบ้านที่กลางทุ่งนา ชาวบ้านจึงหยุดการแข่งขันบ้องไฟ แล้วไล่กวดตาม คนร้ายจวนตัวจึงได้นำหลวงพ่อไปซ่อนไว้ที่ใต้ต้นไผ่ในวัดร้างหนองน้ำลัดเดิม แล้วหนีข้ามลำน้ำยมไปชาวบ้านจึงช่วยกันค้นหา และตามไปพบจึงได้อัญเชิญกลับมายังวัด ซึ่งสืบทราบตอนหลังว่าคนร้ายเป็นคนงานทำไม้ของเจ้าน้อยลุนที่ตั้งปางอยู่ที่ท่าน้ำบ้านย่านยาว
4.สมัยพระครูสถิตย์ รัตนสุนทร ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส เคยมีคนประสงค์ที่จะนำเอาหลวงพ่อเพชรไปขายที่ต่างจังหวัด แต่ข่าวนี้ทราบถึง ร.ต.ท. ทา  ศรีวุฒิ อดีตนายตำรวจที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านหนองน้ำรัดและเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นนักอนุรักษ์ได้ขอร้องละทัดทานไว้ จึงไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
จากกรณีที่เกิดขึ้นหลายๆครั้ง ทำให้พระภิกษุที่ทำหน้าทีเป็นเจ้าอาวาสเกิดความรู้สึกหวาดวิตก  กังวน     และหนักใจที่ต้องเฝ้าระวังผู้ประสงค์ร้ายที่จะครอบครองหลวงพ่อเพชรโดยพลการ  และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของชาวหนองน้ำรัดและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังนั้นคณะกรรมการผู้ปกครองหมู่บ้าน จึงเสนอแนวคิดว่าควรจะแบ่งความรับผิดชอบเหล่านี้ให้ผู้ปกครองและคณะกรรมการวัดช่วยกันรับผิดชอบ  โดยนิมนต์หลวงพ่อไปประดิษฐานตามบ้านของคณะกรรมการและผู้เฒ่าผู้แก่ โดยเก็บเป็นความลับสุดยอด บ้านละประมาณ 3-4 เดือน หรือตามแต่ที่ผู้นั้นจะมีความสามารถและความมั่นใจคุ้มครอง แต่ในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาก็จะนิมนต์กลับเข้าวัดดังเดิม แต่เจ้าอาวาสก็ต้องสับเปลี่ยนที่ประดิษฐานตลอดระยะเวลาเป็นที่น่าสังเกตว่าหากผู้ใดที่ได้ครอบครองหลวงพ่อเพชรแล้วจะเกิดบารมีปกครองครอบครัว 2 ประการดังนี้
1.ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวนี้ดีขึ้น
2.เกิดความร่มเย็นแก่ครอบครัวขึ้น
ปี พ.ศ.2528 คณะกรรมการโดยการนำของ นาย เตรียม จันจร  กำนันตำบลน้ำรัด นาย อิ๊ด  รักพงษ์  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ได้ติดต่อแม่เลี้ยง กรองทอง นิลกระจ่าง ชาวบ้านแต อำเภอเมืองแพร่ เป็นผู้อุปถัมภ์ สร้างที่ประดิษฐาน โดยใช้กรงเหล็กครอบไว้ 2 ชั้น
ปีพ.ศ.2547 ด.ร.ช่างโชติ  พันธุเวช  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนสุนันทา ได้นำกฐินสามัคคีมาทอดถวายเพื่อให้สรร้างที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรใหม่ขึ้นเนื่องจากซุ้มที่ประดิษฐานเดิมเล็กและมองไม่เห็นองค์หลวงพ่อชัดเจนคณะกรรมการจึงจ้างช่างสร้างซุ้มเป็นที่ประดิษฐานเป็นบุษบกไว้ทางด้านทิศใต้ของพระประธานแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2550 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 250,000 บาท

ที่ประดิษฐานของหลวงพ่อเพชรดูแปลกตา เหตุเนื่องมาจากในอดีตเคยมีการลักลอบขโมยหลวงพ่อเพชร ชาวบ้านและคณะกรรมการทางวัดจึงได้ลงมติสร้างที่ประดิษฐานให้แก่องค์พระ

 

พระธาตุนางเหลียว เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่ชาวตำบลน้ำรัดเคารพนับถือ

นางเหลียวที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ

สำหรับพระธาตุนางเหลียวเป็นศาสนวัตถุที่มีมาพร้อมกับการสร้างวัดรัตนสุนทร ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นพระธาตุนั้นได้มีชาวบ้านที่มาแผ้วถางเพื่อสร้างวัดใหม่แต่ได้พบเจอกองจอมปลวกจึงได้พยายามขุดออกแต่แล้วก็ได้พบกับพระเครื่อง พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ทำด้วยทองเหลืองบ้าง ทองสัมฤทธิ์บ้าง และทำด้วยไม้บ้าง จำนวนมาก และได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ประดิษฐานไว้ที่อุโบสถชั่วคราวของวัด และนำพระพุทธรูปที่แตกหักเข้าฝังไว้ที่เดิมที่ หลังจากที่แผ้วถางและสร้างอุโบสถชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทราบเรื่องราวได้เล่าประวัติสืบต่อกันมาว่า บริเวณวัดร้างแห่งนี้เคยเป็นวัดของพวกเงี้ยวมาก่อน ผู้ที่ริเริ่มสร้างชื่อว่า จองปักก่า   และแม่นาง เหลียว เชื่อว่าคงเป็นสมัยที่พม่าหรือเงี้ยวเรืองอำนาจและมีเหตุให้ต้องเพื่อแย่งดินแดนกับคนไทยเจ้าของแผ่นดินจนต้องทำให้ทิ้งถิ่นฐานแล้วอพยพหนีไป  ทิ้งให้เป็นวัดร้างต่อมาครูบาธิ  ได้นำลูกบ้านบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังชั่วคราวด้วยอิฐถือปูน  มุงด้วยแป้นเกล็ดหันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยครูบาธิ เป็นช่างก่อสร้างเอง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ขุดพบ และนิมนต์     ตุ๊ปู่ก๋า ช่างจากในเวียงเป็นผู้ปฏิสังขรณ์รพระธาตุนางเหลียว ทางด้านทิศตะวันออก(องค์เดิม)ของอุโบสถเพื่อให้เป็นที่สักการของชาวบ้านหนองน้ำรัดสืบไปต่อมาพระมานพ  ติกขวิโร เจ้าอาวาสวัด   พระธาตุหนองจันทร์ อำเภอ สอง เป็นองค์ประธานบูรณปฏิสังขรณ์รพระธาตุนางเหลียวโดยก่ออิฐคร่อมทับพระธาตุองค์เดิม ทำบุญนมัสการ พ.ศ.2533พระแม่นางเหลียว มีการเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นภรรยาของเจ้าเมืองเงี้ยวชื่อว่าจองปักกาได้มาสร้างเมืองอยู่บริเวณนั้นแล้วได้เสียชีวิตพร้อมสามีเนื่องจากการรบรากับคนไทยเพื่อแย่งดินแดนกันแต่ก็ยังมีบางท่านเล่าว่าอันที่จริงพระแม่ นางเหลียวเป็นเจ้าหญิงที่เสด็จผ่านมาแล้วเห็นวัดจึงอยากที่จะมานมัสการพระแต่ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบเจ้าหญิงองค์นั้นก็ได้เสียชีวิตลง แต่สำหรับรูปปั้นพระแม่นางเหลียวที่เห็นนี้เป็นเพียงภาพนิมิตของ พ่ออาจารย์ แก้ว  จันทร์กระจายซึ่งท่านก็เป็นที่เคารพนับถือของชาวตำบลน้ำรัดท่านเล่าว่ามีหญิงคนหนึ่งมาเข้าฝันแล้วบอกว่าชื่อนางเหลียวต้องการที่อยู่และต้องขอที่บริเวณข้างองค์พระธาตุเท่านั้น พ่ออาจารย์ แก้วจึงได้ใช้ช่างวาดรูปเหมือนพยายามวาดภาพให้ออกมาเหมือนกับในฝันแล้วจึงได้จ้างช่างปั้นรูปที่วาดออกมาเป็นรูปปั้นของพระแม่นางเหลียวให้ชาวน้ำรัดและชาวตำบลใกล้เคียงได้เคารพนับถือ

 

หนองเฒ่า หรือหนองน้ำรัด เป็นหนองน้ำสาธารณะ อยู่หลังโรงเรียนบ้านหนองน้ำรัด มีเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่เศษ  มีน้ำขังตลอดปี ต่อมาบางส่วนได้ตื้นเขิน สภาตำลบน้ำรัดใช้งบประมาณ ก.ส.ข.ปี 2523 ทำการขุดลอกและทางการประมงได้เข้าจัดทำ ทำนบกั้นบางตอนที่น้ำล้น และได้จัดทำประตูเปิดปิดในเวลาต่อมา พ.ศ.2532 ทางการได้จัดสรรงบประมาณ 1,000,000 บาท เพื่อทำการขุดลอก ปรับแต่งถนนโดยรอบ ซึ่งทางตำบลได้ทำการรื้อผักตบชวา และขอพันธุปลาจากสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดแพร่ นำมาปลายและเปิดโอกาสให้ประชาชนในตำบลและตำบลใกล้เคียงจับปลาในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบล น้ำรัดมีโครงการร่วมกับโรงเรียนบ้านหนองน้ำรัด และโรงพยาบาลหนองม่วงไข่สร้างภูมิทัศน์เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการแข่งขันกีฬาทางน้ำ รวมทั้งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของญาติคนไข้ที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลหนองม่วงไข่อีกด้วย นอกจากนี้หนองเฒ่ายังเป็นแหล่งน้ำที่เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกบริเวณโดยรอบได้ใช้น้ำทำการเกษตรทุกฤดูกาล

 

อ่างเก็บน้ำแม่แฮต เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของตำบลน้ำรัดเป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช สร้างเมื่อ พ.ศ.2534 เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นแหล่งจับปลา และเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตรของตำบลน้ำรัดและตำบลใกล้เคียง  เกษตรกรได้รับประโยชน์ 5,500ไร่(เก็บกักน้ำจากห้วยแม่แฮต และห้วยอื่นจากภูเขาที่กั้นเขตอำเภอร้องกวางและอำเภอลอง ซึ่งนาย บุญธรรม  ปราบสงบ กำนันตำบลน้ำรัด เป็นผู้ถวายฏีกา            ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จอ่างเก็บน้ำห้วยเป๊าะ อำเภอสอง เมื่อ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2532 สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่แฮต ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 10,818,000 บาท

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 14 •กุมภาพันธ์• 2014 เวลา 20:09 น.• )