พระธาตุตุงคำ ตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ดอยด้วน  เดิมบริเวณดอยด้วนเป็นป่าไม้ใหญ่ดงดิบ  อุดมสมบูรณ์ร่มเย็น  ซึ่งแต่ก่อนเมื่อยังเป็นป่าอุดมสมบูรณ์มักมีพระภิกษุชาวม่าน  หรือภิกษุชาวเงี้ยวเข้ามาพักจำพรรษาอยู่บนดอยแห่งนี้เป็นประจำมิได้ขาด  มีผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านทุ่งแค้วในสมัยนั้น  ยังได้ไปถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุเหล่านั้นอยู่เสมอ ๆต่อมาในสมัยเงี้ยวปล้นคลังจังหวัดแพร่  ได้นำเงินที่ปล้นมาแจกหรือหว่านให้ชาวบ้านแถบนั้นเก็บเอา แล้วบอกว่า “ให้สูเจ้าเอาเงินสี่บาทเจ้าคืนไป” ผู้ที่ไม่กลัวก็เข้าไปเก็บเอาเงินที่โจรเงี้ยวหว่าน ส่วนเงินที่เหลือเงี้ยวก็แบ่งกันไปซ่อนคนละทิศละทาง

ต่อมาทางรัฐบาล( ร.๕) ได้ปราบเงี้ยวได้สำเร็จและได้ประกาศว่า  เงินที่เงี้ยวนำมาหว่านนั้นเป็นเงินที่ปล้นมาจากคลังจังหวัดแพร่  และหาทางกำจัดพวกเงี้ยวและพยายามเอาเงินมาคืนคลังให้ได้มากที่สุด  ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นม่านหรือเงี้ยวก็เดือดร้อน  แม้แต่ภิกษุที่เป็นม่านหรือเงี้ยวก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย จึงได้หลบซ่อนอยู่ตามห้วยทางทิศตะวันตกของดอยด้วน  ห่างจากพระธาตุตุงคำประมาณ  ๕๐๐ เมตร ที่ชาวบ้านเรียกจนติดปากว่า ห้วยตุ๊ และ ห้วยพระหาย(ห้วยพระห้าย)  มาจนถึงปัจจุบันนี้  พวกโจรเงี้ยวได้อาศัยอยู่กับพระบริเวณนี้ได้เอาเงินทองสิ่งของฝังไว้ด้วย  ต่อมาเกิดขาดอาหารจึงได้ขุดเอาดินมากินแทนข้าว  ที่ชาวบ้านไปพบเห็นเป็นดินเค็มมัน ซึ่งปัจจุบันยังปรากฎให้เห็นอยู่  มาระยะหลัง ๆพระภิกษุและพวกเงี้ยวก็ได้อพยพหายไปจากบริเวณแห่งนี้  จึงคงเหลือแต่สภาพวัดร้างเรียกว่า ห้วยวัด ซึ่งอยู่ติดกับห้วยปุ๋ยในปัจจุบัน  ผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อนได้เล่าให้ฟังว่า  พวกโจรเงี้ยวคงเอาทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆฝังไว้บริเวณป่าแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดกันว่าบริเวณ  ดอยเต่า  ซึ่งมีรูปเต่าหิน  หันหน้าไปทางป่าแห่งหนึ่งและห้วยวัด  คาดกันว่า อาจเป็นลายแทงแหล่งสมบัติของพวกเงี้ยว ก็เป็นได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นายจำรัส คำเหลือง ราษฎร หมู่ ๕ ตำบลวังหลวง อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นร่างทรงได้ชักชวนชาวบ้านที่นับถือเลื่อมใส  ทำการปรับปรุงบริเวณดอยด้วน  เพื่อประสงค์จะก่อสร้างเจดีย์  จึงใช้ท่อซีเมนต์ต่อกันขึ้นเป็นถังสูงเพื่อเป็นแกนฐานในการก่อสร้างเจดีย์ ต่อมาชาวบ้านหมู่ที่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลทุ่งแค้ว  เห็นด้วยกับการที่จะก่อสร้างจึงร่วมใจกันสร้างเป็นพระธาตุขึ้น  จึงให้ความร่วมมือสนับสนุนในการก่อสร้างพระธาตุขึ้น  เพื่อเป็นสถานที่เคารพและยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่สักการะของชาวทุ่งแค้วสืบไปในวันที่  ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นวันวางศิลาฤกษ์  ซึ่งท่านพระครูสมานแห่งวัดพระธาตุหนองจันทร์  อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เป็นผู้ดำเนินการวางศิลาฤกษ์และดำเนินการก่อสร้าง  โดยการสนับสนุนงบประมาณจากคหบดีจากกรุงเทพฯ ในวันนี้ได้นิมนต์พระผู้ใหญ่ในเขตอำเภอสอง จำนวน ๕ รูป มาประกอบพิธีทางศาสนาอย่างสมบูรณ์แบบ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ได้ทำการสมโภชองค์พระธาตุ  ท่านพระครูสมานได้เป็นเจ้าภาพ  ได้นิมนต์พระเจ้าอาวาสต่าง ๆ จำนวน ๒๙ รูป  ร่วมพิธีสมโภชองค์พระธาตุ ซึ่งมีพิธีสวดและเทศตลอดทั้งคืน สร้างความศรัทธาและความปิติยินดีมายังพี่น้องชาวทุ่งแค้วเป็นอย่างยิ่ง  ภายในองค์พระตาตุ  ท่านพระครูสมาน ได้ประกอบพิธีบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีค่าได้แก่  พระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ และตุงทองคำ ซึ่งท่านได้รับถวายมาจากพี่น้องชาวสิบปันนา ประเทศจีน เมื่อครั้งไปแสวงบุญ  และได้ตั้งชื่อพระธาตุองค์นี้ว่า  “พระธาตุตุงคำ” ต่อมาคุณพ่อวิชัย    บัวมูล  ได้ก่อสร้างรั้วรอบองค์พระธาตุ ทำให้องค์พระธาตุงามสง่ายิ่งขึ้น เพื่อเป็นการทำบุญสักการะพระธาตุตุงคำ คณะศรัทธาตำบลทุ่งแค้ว จึงได้กำหนดเอาวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ (เหนือ)  เป็นวันทำบุญ  ถือเป็นประเพณีของชาวทุ่งแค้วขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี (ผู้ใหญ่ยม ธรรมลังกา บันทึกจากคำบอกเล่าของพ่อใหญ่แก้ว  ธรรมลังกา / อ.วุฒินันท์ วงศ์ชมภู เรียบเรียง)

คุณครู วุฒินันท์  วงศ์ชมภู

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 22 •ตุลาคม• 2015 เวลา 11:04 น.• )