วัดหนองม่วงไข่ ตามประวัติได้เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๑๘ สถานที่ก่อตั้งวัดในอดีต ตั้งอยู่บริเวณข้างหนองน้ำซึ่งเคยเป็นร่องน้ำยมมาก่อน ปัจจุบันนี้แม่น้ำยมได้ไหลเปลี่ยนทิศทางไป บริเวณนี้ในอดีตมีต้นมะม่วงอยู่ตามฝั่งหนองน้ำมากมาย แล้วมีไก่ป่ามาอาศัยอยู่และวางไข่ตามใต้ต้นมะม่วง จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านถือเอาเป็นชื่อของวัดและชื่อของหมู่บ้านว่า “วัดหนองม่วงไข่” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดหนองม่วงไข่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑ เทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา มีอาณาเขต กว้าง ๒ เส้น ยาว ๒ เส้น วัดหนองม่วงไข่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ใต้ เดือนยี่เหนือ ได้รับพระทานกฐินต้น จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จด้วย

ประวัติการก่อสร้างถาวรวัตถุและปูชนีย์วัตถุภายในวัด

อุโบสถวัดหนองม่วงไข่ (ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ) เริ่มแรกตั้งแต่พระอธิการคำเป็นต้นมา มีการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดก็จะเป็นการสร้างด้วยแรงศรัทธาของทายกทายิกาตามมีตามเกิดเท่านั้น กว่าจะปรากฏเป็นหลักฐานได้ก็มาจนถึงสมัยพระอธิการชมพูเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งมีทั้งกุฏิและวิหารแต่ก็ไม่มั่นคงถาวรนัก ต่อมาจึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาต่อมาพระอธิการอานนท์เป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ ได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิเสนาสนะ และได้รื้อวิหารหลังเก่าและสร้างกุฏิขึ้นใหม่หนึ่งหลัง ด้วยไม้เต็งรัง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง มีขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูนหลังคามุงด้วยไม้สักเกร็ด มีการผูกพัทธสีมาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ วันที่ ๑๕ มกราคม พ. ศ. ๒๕๐๔ ได้รื้ออุโบสถหลังเก่าและได้เริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น มีขนาดกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๓๘ เมตร พ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาลังการ ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส รูปปัจจุบัน ได้ทำการบูรณะทาสีอุโบสถใหม่

กำแพงวัด (พระเมธีธรรมาลังการ กับพระภิกษุสามเณรและแม่ขาว ถ่ายภาพหน้าป้ายวัดพัฒนาตัวอย่าง/กำแพง) พ.ศ.  ๒๔๗๖ สร้างกำแพงวัดอีกทั้งสี่ด้าน พ. ศ. ๒๔๙๔ ได้บูรณปฏิสังขรณ์กำแพงวัดทั้งสี่ด้าน  โดยมีพระอธิการอานนท์ เป็นเจ้าอาวาสและปกครองวัดนี้ถึง  ๓๐   พรรษา ได้ถึงแก่มรณภาพ   เจ้าอาวาสรูปต่อมาคือ  พระอธิการหลู่   ได้ปกครองวัดอีก  ๕  พรรษา  ก็ลาสิกขาไป  ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส   ท่านได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนโรงเรียนสามัญโดยตลอด ถือว่าโรงเรียนสามัญได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระอธิการหลู่นี้เอง พ.ศ. ๒๕๔๙  ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาลังการ ได้ร่วมกับคณะศรัทธาและเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ ได้บูรณะทาสีกำแพงใหม่ทั้งหมด

โรงเรียนพระปริยัติธรรม (พระเดชพระคุณพระราชปัญญาภรณ์ รองเจ้าคณะภาค ๖ มาตรวจเยี่ยมวัด ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑) พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้เริ่มสร้างอาคารเรียนประชาบาลขึ้นอีก ๑ หลัง มีขนาด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร พ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชรัตนมุนี (รส คนฺธรโส) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๓ ได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นโดยมีการสอนนักธรรมชั้น ตรี โท และเอก  ขึ้นตามลำดับ  ในปีเดียวกันท่านก็ได้เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น ๑ หลัง มีขนาด กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้างด้วยไม้เต็งรัง มีลักษณะเป็นอาคารไม้ ๒  ชั้น และได้ปิดการดำเนินการหลังจากท่านมรณภาพ พ.ศ. ๒๕๕๐ - ปัจจุบัน ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาลังการ (ประยุทธ ภูริทตฺโต ป.ธ.๙) ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส รูปที่ ๑๕  ได้ดำเนินการฟื้นฟูโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการเรียนการสอนทั้ง ๓ แผนก คือ นักธรรม  บาลี และธรรมศึกษา รวมทั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย

กุฏิ พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้ก่อสร้างกุฏิขึ้นหนังหนึ่ง มีขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร ก่อด้วยปูนซีเมนต์เสริมคอนกรีต หลังคามุงด้วยกระเบื้อง สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) เป็นกุฏิอดีตเจ้าอาวาส และปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๐)ได้ใช้เป็น “พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ของชุมชน” ของวัดหนองม่วงไข่

รายนามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

๑ พระอธิการคำ ๒๓๑๘ - ๒๓๓๘ จำนวนพรรษา ๒๐

๒ พระอธิการยาไชย ( ยาไชย ) ๒๓๓๘ - ๒๓๔๘ ๑๐ จำนวนพรรษา

๓ พระอธิการคันธวงศ์ ๒๓๔๘ - ๒๓๕๘ จำนวนพรรษา ๘

๔ พระอธิการชมพู ชมภูราษฎร์ ๒๓๕๘ - ๒๓๗๒ จำนวนพรรษา ๑๕

๕ พระอธิการสานติ ๒๓๗๒ - ๒๓๘๕ จำนวนพรรษา ๑๓

๖ พระอธิการวัง ๒๓๘๕ -  ๒๔๐๓ จำนวนพรรษา ๑๘

๗ พระอธิการอะนา อะทะเสน ๒๔๐๓ - ๒๔๑๑ จำนวนพรรษา ๘

๘ พระอธิการปัญญา ไข่คำ ๒๔๐๓ - ๒๔๒๖ จำนวนพรรษา ๑๕

๙ พระอธิการญาณรังสี ไข่วัง ๒๔๒๖ - ๒๔๓๕ จำนวนพรรษา ๙

๑๐ พระอธิการยาสมุด พร้อมสัตย์ ๒๔๓๕ - ๒๔๔๕ จำนวนพรรษา ๑๐

๑๑ พระอธิการอานนท์ เขียวสลับ ๒๔๔๕ - ๒๔๗๕ จำนวนพรรษา ๓๐

๑๒ พระอธิการหลู่ มหาวี ๒๔๗๕ - ๒๔๗๘ จำนวนพรรษา ๓

๑๓ พระราขรัตนมุนี (รส คนฺธรโส ) ๒๔๗๘ - ๒๕๓๒ จำนวนพรรษา ๕๒

๑๔ พระครูโอภาสธรรมานุยุต (เปล่ง กิตฺติวณโณ) ๒๕๓๓ - ๒๕๔๙ จำนวนพรรษา ๑๖

๑๕ พระเมธีธรรมาลังการ ( ประยุทธ ภูริทตฺโต ป.ธ.๙) ผู้รักษาการแทนฯ ๑๓  ตุลาคม  ๒๕๔๙  จนถึงปัจจุบัน

การบริหารจัดการวัดในปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ หลังจากหลวงพ่อพระครูโอภาสธรรมานุยุต ได้ถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙ พระเดชพระคุณพระราชวิสุทธี (ก๋วน อคฺคปญฺโญ) เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ได้แต่งตั้งให้ท่านเจ้าคุณ พระเมธีธรรมาลังการ (ประยุทธ ภูริทตฺโต ป.ธ.๙, พธ.บ.,M.A.) รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นรักษาการเจ้าอาวาส ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ (มอบโดยพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมหาโพธิวงศา - จารย์ (สุจี กตสาโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ และเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร) ซึ่งท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาลังการ ท่านเป็นศิษย์เก่าวัดหนองม่วงไข่ ที่เรียนบาลี ๓ ปี สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค และเป็นพระมหาเปรียญ รูปแรก และรูปเดียวของสำนักเรียนวัดหนองม่วงไข่  ที่สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาคณะสงฆ์ไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และเป็นรูปที่ ๒ ของจังหวัดแพร่ มาทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองม่วงไข่ เพื่อบริหารจัดการวัดและดูแลงานศพของหลวงพ่อพระครูโอภาสธรรมานุยุต อดีตเจ้าอาวาส และท่านได้เริ่มนำพระภิกษุสามเณรและญาติโยมทำการพัฒนาวัดหนองม่วงไข่ โดยการบูรณปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ ในวัด ภายในระยะเวลา ๕ เดือน ที่ผ่านมาดังนี้

๑. ทาสีอุโบสถ (เฉพาะภายนอก) โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ โดยการนำของนายขจร  ธรรมไชยางกูร นายกเทศมนตรี และคณะ ส่งช่างมาทาสีให้พร้อมกับช่วยหางบประมาณ   จากการบริจาครวมทั้งสิ้น เป็นเงิน   ๕๐,๐๐๐  บาท  (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

๒. ทาสีกำแพงวัด ทั้ง  ๔  ด้าน  รอบวัด โดยได้รับความร่วมมือจากคณะศรัทธาวัดหนองม่วงไข่ ทั้ง ๘ หมู่บ้าน เป็นอย่างดียิ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น  จำนวน  ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

๓. ทำการบูรณกุฏิพระราชรัตนมุนี (รส คนฺธรโส) และอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมบางส่วน พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น เป็นเงิน ๕๑,๒๒๐  บาท (ห้าหมื่นหนึ่งพันสองร้อยยี่สิบบาทถ้วน)

๔. ทาสีศาลาโรงฉัน และที่เก็บพัสดุ จำนวน ๑ หลัง  รวมค่าสี เป็นเงิน  ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

๕. บูรณศาลารวมใจ จำนวน ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  โดยเปลี่ยนหลังคามุงด้วยกระเบื้อง และปูพื้นใหม่ จากเงินทอดกฐินสามัคคี ของคณะคุณพ่อกมล– แม่พิกุล  ลือวัฒนานนท์ รวมค่าบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งสิ้น เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน)

๖. ติดไฟระย้า ณ ศาลาพระราชรัตนมุนี โดยมีคุณแม่เส่ง รัตนมูลปัญญา เป็นเจ้าภาพเป็นจำนวนเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้วน)

๗. ได้หุ้มกลองปู่จา ใหม่ทั้งชุด  และกลองเพล ๑ ลูก รวมเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นสองพันบาทถ้วน) โดยมี คุณพ่อสมบูรณ์-แม่ถนอม  ฟูคำ พร้อมครอบครัว แม่ผ่องพรรณ  ลือวัฒนานนท์ คุณเสรี ปะละใจ และคุณสันทัด-รำบิน เจริญศรีเมือง เป็นต้น เป็นเจ้าภาพ

๘. ซื้อฆ้อง จำนวน ๓ ลูก และแช่ จำนวน ๑ ชุด เป็นเงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท (สี่พันบาทถ้วน)  โดยมีคุณมานะ – ศศิธร เทียมแสน พร้อมลูกหลาน เป็นเจ้าภาพ

๙. ทำการบูรณะปิดทองหลวงพ่อพระพุทธจักรลานนาไทย ทั้งองค์ สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น จำนวน  ๒๘๐,๐๐๐ บาท  (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

๑๐. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมหรือศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ขึ้น เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม  ๒๕๕๐

๑๑.  ได้ทำการขออนุญาตจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหนองม่วงไข่ (อ.ป.ต.)ขึ้น

หลวงพ่อพุทธจักรลานนาไทย พระเมธีธรรมาลังการ(ประยุทธ) บูรณปิดทอง เสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ. ศ. ๒๕๑๒ ได้ทำพิธีหล่อพระประธานหน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๙ นิ้ว โดยมีนายสวัสดิ์ และนายถาวร เดชพ่วง เป็นช่างหล่อ สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๑๙,๒๐๐ บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสองร้อยบาท) มีสมเด็จพระวันรัต (สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น) ได้เสด็จเป็นองค์ประธานทำพิธีเททอง และทรงประธานพระมงคลนามว่า “ หลวงพ่อพุทธจักรลานนาไทย” วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ. ศ. ๒๕๑๓ ได้ทำบุญปิดทองพระหลวงพ่อพุทธจักรลานนาไทย โดย มีพระภัทรสารมุนี (ปัจจุบันดำรงตำสมณะศักดิ์รองสมเด็จพระราชทินนามที่ พระมหาโพธิวงศาจารย์) เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ในสมัยนั้น เป็นประธาน และพระครูมธุรสธรรมภาณี (รส คนฺธรโส) เป็นรองประธานการจัดงาน วันที่ ๒๑ มีนาคม พ. ศ.๒๕๑๔ ได้จัดงานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์หลวงพ่อพุทธจักรลานนาไทย โดยมี พลโทสำราญ แพทยกุล อดีตแม่ทัพภาคที่ ๓ เป็นประธานผู้บรรจุ การก่อสร้างอุโบสถซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึง  พ. ศ. ๒๕๑๔ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย จากการประมาณค่าก่อสร้างในสมัยนั้นประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาท) ในช่วงนี้ทางวัดได้มีโครงการพัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลายโครงการ เช่น ขยายกำแพงวัดโดยรอบออกไป ย้ายศาลาการเปรียญ การก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นต้น ตลอดถึงโครงการต่าง ๆ ที่ท่านพระครูมธุรสธรรมภาณี ได้ทุ่มเทให้กับวัดหนองม่วงไข่อีกมากมาย ในปัจจุบันนี้โครงการเหล่านั้นก็ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกโครงการ พ.ศ. ๒๕๕๑ ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาลังการ (ประยุทธ ป.ธ.๙) ได้ทำการบูรณะปิดทองใหม่ทั้งองค์ สิ้นงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

ศาลาพระราชรัตนมุนี (รส คนฺธรโส) พ.ศ. ๒๕๔๘ พระครูโอภาสธรรมานุยุต อดีตเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าอาวาส รูปที่ ๑๔ ได้สร้างศาลาพระราชรัตนมุนี ขึ้นหนึ่งหลังเมื่อ วันที่ ๒ สิงหาคม พ. ศ. ๒๕๔๘ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างศาลาพระราชรัตนมุนี มีขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๙ เมตร เพื่อเป็นที่ระลึกและประดิษฐานรูปเหมือนของพระเดชพระคุณพระราชรัตนมุนี (ตุ๊ปู่รส ) อดีตเจ้าอาวาส วัดหนองม่วงไข่ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัดหนองม่วงไข่ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมี ชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคลมากมาย โดยชมรมผู้อายุตำบลหนองม่วงไข่ได้ บริจาคสมทบทุนครั้งแรก เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท นอกจากนั้นประชาชนชาวหนองม่วงไข่ และบรรดาศิษยานุศิษย์ของพระราชรัตนมุนี ตลอดถึงผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนมาก สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาท)

กิจกรรมของวัด

๑. จัดโครงการนำคนเข้าวัด “กลุ่มคนรักษ์วัด” โดยนำญาติโยมเข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตเสริมสร้างคุณภาพชีวิต  สำหรับประชาชนทั่วไป  ทุกวันพระ พ.ศ. ๒๕๕๐

๒. จัดโครงการนำแสงธรรมนำชีวิต  สำหรับเด็กนักเรียนเยาวชนของชาติ เข้าวัดศึกษาพระธรรมเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ทุกวัดอาทิตย์  และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญแห่งชาติ  ตั้งแต่ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๙

๓. จัดงานฟื้นฟูประเพณียี่เป็ง หรือเทศมหาชาติ  ขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะศรัทธาสาธุชนอำเภอหนองม่วงไข่เป็นอย่างมาก พ.ศ. ๒๕๔๙

๔. ร่วมมือกับทางราชการ ผู้นำชุมชนจัดโครงการ “วัดปลอดเหล้า” ภายในวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ  ๘๐  พรรษา ในวันที่  ๕  ธันวาคม  ๒๕๕๐

๖. จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  พ.ศ. ๒๕๕๐

๗. ฟื้นฟูการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี และธรรมศึกษาขึ้น พ.ศ.๒๕๕๐

๘. จัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ขึ้น

๙. โครงการวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญของชาติ เช่น วันพ่อและวันแม่

ประวัติบรรพบุรุษของหมู่บ้าน และผู้นำหมู่บ้าน

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๖๘ ระยะแรกเริ่มนั้นมีตระกูลต่าง ๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในพื้นที่นี้และได้ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวหนองม่วงไข่ มีทั้งหมด ๙ ตระกูล คือ

๑. พ่อเฒ่าปินตา  แม่เฒ่าคำ   ชมภูราษฎร์  ต้นตระกูล “ ชมพูราษฎร์”  ย้ายมาจากบ้านสันกลาง  ตำบลในเวียง จังหวัดแพร่

๒. พ่อเฒ่ากัน แม่เฒ่าเตี่ยง สุทธกัน  ต้นตระกูล“สุทธกัน” มาจากบ้านต้นผึ้ง อำเภอสอง จังหวัดแพร่

๓. พ่อเฒ่ายะ  คำแจ้    ต้นตระกูล “คำแจ้”  ไม่ปรากฏที่มา

๔. พ่อเฒ่าปาละ แม่เฒ่าคำ กาวี ต้น ตระกูล “กาวี ” มาจากบ้านหัวข่วง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

๕. พ่อเฒ่าหำ แม่เฒ่าเป็ง ไข่คำ ตระกูล “ ไข่คำ” มาจากตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

๖. พ่อเฒ่าแหวน แหวนวัง  ต้นตระกูล “แหวนวัง” มาจากตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

๗. พ่อหนานอานา  ทนันชัย  ต้นตระกูล “ทนันชัย” มาจากบ้านบวกโป่ง ตำบลสูงเม่น จังหวัดแพร่

๘. ท้าวคำลือ ต้นตระกูล “ คำลือ” มาจากตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

๙. พ่อเฒ่าลาด วงศ์ราษฎร์ ต้นตระกูล “วงศ์ราษฎร์” มาจากบ้านหนองน้ำรัด  อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่

การตั้งชื่อหมู่บ้านและวัด

เมื่อประชาชนอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินมากขึ้นได้มีการแต่งตั้งพ่อเฒ่าปินตา ชมภูราษฎร์  เป็นหัวหน้าหมู่บ้านเป็นคนแรก  และประชาชนได้เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น ณ บริเวณฝั่งหนองน้ำทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ โดยมีพระอธิการคำ เป็นเจ้าสำนักสงฆ์ หรือเจ้าอาวาสรูปแรก และมีการตั้งชื่อหมู่บ้านโดยอาศัยสถานที่และสภาพแวดล้อมของชุมชน คือ มีต้นมะม่วงที่สูงใหญ่ข้างฝั่งหนองน้ำต้นหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีไก่ป่ามาอาศัยอยู่และได้ทำรังออกไข่เป็นจำนวนมากจึงถือเอาบริเวณนี้ซึ่งมีหนองน้ำต้นมะม่วงและไข่ไก่มารวมกันเป็นหนองม่วงไข่ จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดหนองม่วงไข่ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองม่วงไข่   นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

รายนามผู้เคยดำรงตำแหน่งกำนันตำบลหนองม่วงไข่

๑. พ่อเฒ่าปินตา ชมพูราษฎร์

๒. พ่อเฒ่าปุ๊ด

๓. พ่อเฒ่ากัน สุทธกัน

๔. พ่อเฒ่าหนานยะ คำแจ้

๕. พ่อหนานอานา ทนันชัย

๖. พ่อเฒ่าลาด วงศ์ราษฎร์

๗. พ่อขุนนนท์ วงศ์ไข่ (ขุนม่วงไข่ขจร)

๘. พ่อกำนันเสาร์ จิตตประพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๕๐๔

๙. พ่อกำนันอิ๊ด สินธุวงศ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๑๖

๑๐. พ่อกำนันนิทัศน์ โสภารัตน์ พ.ศ. ๒๕๑๖

๑๑. พ่อกำนันกมล ลือวัฒนานนท์ พ.ศ. ๒๕๑๗

๑๒. พ่อกำนันยงยุทธ สินธุวงศ์ พ.ศ. ๒๕๑๘

๑๓. พ่อกำนันเรือง รัตนมูลปัญญา พ.ศ. ๒๕๒๐

๑๔. พ่อกำนันหวล มหาวัน พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๕. พ่อกำนันเกรียงศักดิ์ สินธุวงศ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๑

๑๖. กำนันประดิษฐ์ กันยะมี พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๕๑

๑๗. กำนันณฐภณ เพชรโก พ.ศ.๒๕๕๑ - จนถึงปัจจุบัน

รายนามนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่

๑. นายยงยุทธ สินธุวงศ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ -  ๒๕๔๕

๒. นายเสรี ปะละใจ พ.ศ. ๒๕๔๖ -

๓. นายขจร ธรรมไชยางกูร พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๕๑

๔. นายขจร ธรรมไชยางกูร พ.ศ. ๒๕๕๑ - จนถึงปัจจุบัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 14 •พฤษภาคม• 2012 เวลา 23:31 น.• )