ชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่มีกระจายอยู่ในพื้นที่หลายอำเภอ อำเภอที่มีแหล่งชุมชนโบราณตั้งอยู่มากที่สุดคืออำเภอลองและรองลงมาคืออำเภอเมืองแพร่ จึงเป็นสิ่งยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในเขตพื้นที่ต้นน้ำแม่ยม อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดแพร่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่ที่แสดงถึงร่องรอยความเจริญของพื้นที่จังหวัดแพร่ชุมชนแรกที่วังฟ่อนดอทคอมขอนำเสนอคือ เมืองสองหรือเมืองสรอง ตั้งอยู่ที่บ้านต้นผึ้ง ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง บนฝั่งแม่น้ำสองหรือแม่น้ำกาหลง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม

เมืองสองเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๒๐ ไร่ มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ๓ ชั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและคนกลุ่มใดเป็นผู้สร้าง นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าพระเพื่อนพระแพงใรวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ บริเวณพื้นที่ในเขตคันดินซึ่งเป็นกำแพงเมืองลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ ๔ - ๕ เมตร พบเศษภาชนะดินเผาทั้งชนิดธรรมดา ชนิดเคลือบและชนิดแกร่งเป็นจำนวนมากจากเตาเผาในพื้นที่เมืองพะเยา และปรากฏร่องรอยซากเจดีย์วัดร้าง ๒ แห่ง ปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกข้าวโพด ทำสวน ทำให้ซากวัดและเจดีย์ถูกทำลายจนหมดสิ้น ด้านนอกกำแพงเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีซากเจดีย์เก่าแก่ ในอดีตชาวบ้านเรียกว่าธาตุหินส้ม และเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองหินส้ม ปัจจุบันธาตุหินส้มได้รับการบูรณะและสร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า วัดพระธาตุพระลอ เวียงสองหรือเมืองสองหรือเวียงหินส้มนี้ถูกทิ้งร้างมานานนับ ๑๐๐ ปี และได้รับการบูรณะาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕
เวียงเทพ ตั้งอยู่ที่บ้านร่องถ่าน ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ บริเวณทุ่งนาด้านหลังของโรงเรียนเวียงเทพในปัจจุบัน เวียงเทพหรือเมืองเวียงเทพเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่กว่าเมืองสอง และเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานานกว่า ๑๐๐ ปี ตำนานการสร้างเวียงเทพที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเล่าต่อกันมาว่าเมืองนี้สร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับเมืองสอง โดยกลุ่มที่สร้างคือพวกม่าน เวียงเทพเป็นชุมชนโบราณที่มัคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น เมื่อประมาณ ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา บริเวณเวณเมืองเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น มีผู้พบภาชนะดินเผาทั้งชนิดธรรมดา ชนิดเคลือบและชนิดแกร่ง ซากสถูปเจดีย์ของวัดล้างภาในแนวกำแพงดิน แต่ปัจจุบันแนวกำแพงดินถูกขุดไถทำลาย เหลือเป็นเนินดินเตี้ย ๆ ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน ส่วนซากวัดและเจดีย์ตลอดจนเศษภาชนะที่เคยปรากฏอยู่ถูกขุดไถทำลายจนหมดเพื่อใช้พื้นที่ทำนา

 

 

ที่ตั้งวัดพระธาตุพระลอตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านพระธาตุพระลอ ตำบลบ้านกลาง ห่างจากตัวอำเภอสองประมาณ ๒ กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ๕๑ กิโลเมตร บนฝั่งแม่น้ำสอง มีเนื้อที่รวม ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๕๑ ตารางวา เดิมเป็นวัดร้างอยู่นอกกำแพงเมืองสรองซึ่งเป็นเมืองโบราณที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอ ครั้งอดีตชาวบ้านเรียกว่าธาตุหินส้ม เพราะแต่เดิมก่อนจะมีการบูรณะพระธาตุนั้นมีซากอิฐและหินกองใหญ่มีรสเปรี้ยว ต้นไม้ตลอดแนวเถาวัลย์ปกคลุมจึงเรียกว่าธาตุหินส้ม ราว พ.ศ. ๒๔๖๐ ศรัทธาประชาชนอำเภอสองได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ โดยมีนายส่างไส เป็นหัวหน้าช่างก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ทับองค์เดิมรูปแบบเจดีย์ฐานย่อเก็จลักษณะศิลปะพม่า ขณะนั้นเป็นวัดที่ยังไม่มีพระภิษุจำพรรษา ราว พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นต้นมาทางคณะสงฆ์พร้อมด้วยข้าราชการประชาชนได้ร่วมกันพัฒนาวัดโดยการสร้างศาลาการเปรียญ หล่อพระพุทธรูปพระประธาน โดยมีชาวบ้านต้นผึ้งเป็นศรัทธาดูแลอยู่ในขณะนั้น ภายหลังราว พ.ศ. ๒๕๐๒ ชาวบ้านต้นผึ้งจำนวน ๗ครอบครัวได้อพยพขึ้นมาบุกเบิกทำไร่ทำนา ใกล้กับวัด ประชากรเพิ่มขึ้นตามลำดับ พ.ศ. ๒๕๓๕ ทางราชการได้แบ่งเขตการปกครองแยกออกจากบ้านต้นผึ้งเป็นบ้านพระธาตุพระลอ จนถึงปัจจุบัน

 

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 17 •ตุลาคม• 2011 เวลา 15:18 น.• )