เนิ่นนานมาแล้วเกินที่จะจำได้ บ้านเตาปูนและบ้านก้นต้อ อยู่รวมกันที่บ้านปงเก้าผึ้งบริเวณตรงข้ามโรงเรียนบ้านเตาปูนในปัจจุบัน และมีวัด ๆ หนึ่ง ที่ใช้ประกอบศาสนกิจร่วมกันเป็นวัดม่าน (พม่า) สร้างสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน มีเจ้าปู่จันฑิมาเป็นเจ้าอาวาส อยู่บริเวณโรงเรียนบ้านเตาปูนในปัจจุบัน เนื่องจากหมู่บ้านบางส่วนไปตั้งรกรากอยู่ทางทิศใต้ คือบ้านเตาปูนปัจจุบัน มีบางส่วนย้ายขึ้นมาอยู่ที่ทางทิศเหนือโดยการนำของพ่อแคว่นวงศ์ คำเกตุ ได้นำพาสมัครพรรคพวก สมัยนั้นมีตระกูลเก่าแก่ของหมู่บ้านประมาณ ๒๐ ครอบครัว คือ ตะกูล ขันฑิมา, คำตั๋น, คำต้น, คำแข่ง, ใจหลัก, ใจอูป, อุ่นใจ, ปินใจ, ใจพรม, ยาวิราช,หมื่นสาม มาตั้งหมู่บ้านบริเวณบ้านปงและรายรอบวัดท่อสมานและบ้านห้วยรังในปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นได้ตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ คือมีท่อไม้ขขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านบริเวณท่อลอดห้วยรัง จึงเรียกว่า บ้านก้นต้อ และทำการสร้างวัดขึ้น เรียกว่าวัดก้นต้อ เป็นวัดซึ่งดัดแปลงมาจากศาลาประชาคม โดยมีพระสงฆ์รูปแรก คือ ตุ๊เจ้าจันตาเป็นผู้ก่อตั้งวัดก้นต้อ ต่อมา ตุ๊เจ้าก๋วน คำต้น, ตุ๊เจ้าจี๋ คำแข่ง, ตุ๊เจ้ามา กิติวงศ์, และตุเจ้าน้อย คำเกต ตามลำดับ มีสามเณร ๓ รูป คือเณรแก้ว ใจอูป, เณรแก้ว หมื่นสาม และเณรแก้ว ยาวิราช ต่อมาตุ๊เจ้าน้อยลาสิขาบท ทำให้วัดไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาจึงเป็นวัดร้างตั้งแต่นั้นมา สมัยนั้นใครจะบวชจะเรียนหรือทำศาสนกิจต้องไปทำที่วัดเตาปูนอยู่หลายปี สำหรับชื่อหมู่บ้านหลายปีให้หลังมีการก่อสร้างท่อคอนกรีตทดแทนท่อไม้ชำรุด โดยอาศัยทุนทรัพย์จากชาวบ้าน เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น “บ้านท่อสมาน” วัดท่อสมานได้รับการฟื้นฟูบูรณะอีกครั้งโดย ผู้ใหญ่สี ปันดิ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เห็นว่าชาวบ้านได้มีการสามัคคีกันมากขึ้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเห็นสมควรนิมนต์พระมาจำพรรษาที่วัดท่อสมานเพื่อทำนุบำรุงศาสนาให้ประชาชนได้เข้าถึงพระธรรมได้สะดวกขึ้น โดยนิมนต์ตุ๊ลุงเหมย สุจิตโต จากวัดดอนมูล จังหวัดลำปาง มาจำพรรษาอยู่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะวัด สร้างกำแพง สร้างพระประธาน จนถึงสมัย ผู้ใหญ่วิญญู ธราวรรณ สร้างกุฏิ มีการบวชสามเณรขึ้นมาหลายรูป สมัยตุ๊ลุงเหมย สุจิตโต ได้สร้างวัดจนสำเร็จ ได้ผูกพันธสีมา พ.ศ. ๒๕๓๕ ปี ๒๕๓๖ ตุ๊ลุงเหมย สุจิตโต ได้มรณภาพลง จึงได้นิมนต์พระครูวิจารณ์ สันติธรรม จากวัดเตาปูน มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จนท่านได้มรณภาพเมื่อปี ๒๕๔๗

ด้านการปกครอง ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ ขุนป้องกันภัยต้นตระกูล “ขันฑิมา” เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบ้านปงเก้าผึ้ง มีการปกครองเป็นรุ่นเป็นวาระลำดับได้ดังนี้ ๑. พ่อแคว่นวงศ์ คำเกตุ ๒. พ่อกำนันทา ใจฉลาด ๓. พ่อกำนันคำ คำต้น ๔. ผู้ใหญ่วัง บุญปลอด เป็นสมัยแรก ถึง พ.ศ. ๒๕๑๘ ๕.  ผู้ใหญ่สี ปันดิ สมัยแรก พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง ๒๕๒๐ ๖. ผู้ใหญ่วัง บุญปลอดสมัยที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๑ ๗. ผู้ใหญ่วิญญู ธราวรรณ พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๕ ๘. ผู้ใหญ่คม อุปกันทะ พ.ศ. ๒๕๒๖ – ๒๕๒๘ ๙. ผู้ใหญ่สี ปันดิ สมัยที่สอง พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๒๕๓๐ ๑๐. ผู้ใหญ่จันทร์ วันมหาชัย พ.ศ. ๒๕๒๖ – ๒๕๔๐ ๑๒. ผู้ใหญ่วิวัฒน์ กงเรือ พ.ศ. ๒๕๔๐ ทางการเห็นว่าบ้านท่อสมานมีจำนวนประชากรมาก การปกครองและการพัฒนาไม่ทั่วถึง จึงมีการแบ่งการปกครองหมู่บ้านเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่ ๒ และหมู่ที่ ๙ สถานีอนามัยเตาปูน มาตามถนนสายหลักถึงบ้านพ่อแพร ใจหลัก จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีการแบ่งการปกครองหมู่บ้านอีกครั้งโดยแบ่งบริเวณบ้านแม่ติ๊บ ใจงาม ตัดขึ้นไปทางเหนือ เป็นบ้านท่อสมานหมู่ที่ ๑๑ บ้านท่อสมานหมู่ที่ ๒ จึงมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในโซนที่เป็นบ้านที่ขยายใหม่ทั้งสิ้น ผู้ใหญ่วิวัฒน์ กงเรือ เป็นผู้ใหญ่จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ลาออก นายเอก ใจตรง เป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ – พ.ศ. ๒๕๕๒ ปัจจุบันเป็นกำนันตำบลเตาปูน

ก่อนที่จะมาเป็นประวัติบ้านท่อสมาน ผู้เขียนได้ตะเวณหาข้อมูจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นแม่เอื้อง กิติวงศ์, พ่อประเสริฐ ใจฟื้น, ผู้ใหญ่สี ปันดิ และอีกหลายท่าน บางข้อมูลอาจยังมีความคลาดเคลื่อนไปบ้างเนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐาน เพียงได้รับการบอกเล่าจึงได้เรียบเรียงเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้าหาหลักฐานของเยาวชนรุ่นหลังต่อไป หากท่านใดมีข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมกรุณาแจ้งมายังผู้เขียนเป็นรวบรวมให้ลูกหลานต่อไป

เสริมพันธ์  ศรีคำภา ค้นคว้าเรียบเรียง ตุลาคม ๒๕๓๖ – กันยายน ๒๕๔๙

ส่วนทางเว็บไซต์ขอบคุณท่านที่เห็นความสำคัญของชุมชนสามารถส่งเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ ๐๘-๖๗๒๘-๗๕๔๘ Email : •อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน•

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 18 •ตุลาคม• 2012 เวลา 20:17 น.• )