ประวัติวัดเตาปูน ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ประมาณ ๑๐ กว่าปี เดิมมีชื่อว่า “วัดศรีบุญเรือง” สร้างขึ้นมานานแล้ว โดยการบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีครูบาอุด มาจำพรรษาอยู่เพราะว่าเป็นวัดร้างจากการถูกพม่ามาโจมตี ในวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่องค์หนึ่งที่พื้นใต้ศาลานั้นมีถ้ำอยู่ลักษณะเป็นวังลึกมาก จากคำบอกเล่าคนโบราณเอาไม้ยาวประมาณ ๑๐ เมตร หยั่งลงไปก็ยังไม่ถึงพื้นดิน หลังจากนั้นมีฝนตกหนักมากติดต่อกันหลายวันทำให้ดินทรุดตัวทั้งศาลาและพระพุทธรูปองค์ใหญ่พังทลายลงไปในถ้ำน้ำลึก ช่วงนั้นมีครูบาจันทิมาอยู่ด้วย เดิมทีวัดศรีบุญเรืองตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านเตาปูนตั้งอยู่ปัจจุบัน หลังศาลาและพระพุทธรูปจมน้ำ ครูบาจันทิมาจึงย้ายวัดมาตั้งใหม่ชื่อ “วัดเตาปูน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ จากคำบอกเล่าของพ่อใหญ่ตี้ สุขสาด (ผู้สูงอายุบ้านเตาปูน) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๙

ปัจจุบันวัดเตาปูนตั้งอยู่ที่ ชุมชนบ้านเตาปูน หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี ๒๔๖๕ ได้รับพระราชทานวิสงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ตุลาคม ๒๔๘๒ ตอนนั้นวัดเตาปูนมีเนื้อที่ ๓ ไร่ กับอีก ๒๗ ตารางวา ต่อมาได้รับความอุปถัมภ์ บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินถวายวัด โดยการนำของ แม่ย่าฟ้าหญิงสร้อยทิพย์ สุมณฑา หลวงปู่เฮียะ บำรุงษา คุณพ่อสม คุณแม่ทองปลิว ฮวดพิทักษ์ คุณพ่อละม่อม คุณแม่กิมจู พ่อน้อยพิทักษ์ และอีกหลายคน พร้อมคณะอำเภอสามพรานคิดเป็นปัจจัยทั้งหมด ๘๕,๐๐๐ บาท ปูชนียวัตถุ วัดเตาปูนมีพระพุทธรูปปูนปั้น ๕ องค์ พระพุทธรูปทองเหลือง ๗ องค์ พระพุทธรูปปูนปั้นนั้น ประดิษฐานในพระอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยพระครูบาอภิวงค์ พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดเตาปูน เป็นเจ้าภาพในการปั้นอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งได้สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยพ่อมูล แม่แปง ใจหวาน พร้อมด้วยคณะศรทธาวัดเตาปูน ร่วมสร้างถวาย ส่วนพระพทธรูปทองเหลืองนั้นประดิษฐานในพระอุโบสถ โดยคณะศรัทธาจากอำเภอสามพราม จังหวัดนครปฐม นำมาถวาย

ประวัติบ้านเตาปูน ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเดิมที หมู่บ้านแห่งนี้ชื่อ “บ้านปงต้นส้าน” (เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๔) ตอนนั้นมีครูบาลำเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเฮียง หรือวัดศรีบุญเรือง (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวัดเตาปูน) มีเจ้าพระยาเมืองสอง เข้ามาเผาปูน บริเวณใกล้ ๆ โรงเรียนบ้านเตาปูนอยู่ปัจจุบัน ก็เลยตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านเตาปูน” หลังจากนั้น ตามคำบอกเล่าก็มีพ่อหนานพุทธวงค์ แม่ใหญ่ปิมปา แสนปัญญา มาพร้อมกับนายขาว แม่ของ แม่ใหญ่น้อย จิตเสงี่ยม จากบ้านร่องถ่ายเข้ามาอยู่กลุ่มแรก ต่อมามีพ่อเฮือน แม่เฒ่าเบ้า มาจากบ้านน้ำคือเข้ามาอยู่เป็นกลุ่มที่ ๒ ตามมาด้วยกลุ่มแม่ใหญ่มอย ปันติ นอกจากนั้นได้มีพระยามาจากบ้านนาแหลมพร้อมด้วยญาติพี่น้องทางบ้านลับแลง ๑๒ ครอบครัว อยู่มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งได้สร้างวัดปูนมาจนถึงปัจจุบัน บ้านเตาปูนเป็นหมู่บ้านที่ ๓ (หมู่ที่ ๓) ของตำบลเตาปูน เมื่อระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘ – ๒๕๓๙ ได้แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นหมู่ที่ ๓ อีกส่วนหนึ่งเป็นหมู่ที่ ๑๐ มาจนถึงปัจจุบัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 11 •ตุลาคม• 2012 เวลา 19:33 น.• )