ตำนานพระธาตุหนองจันทร์ ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ วัดพระธาตุหนองจันทร์เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในอำเภอสองเป็นคู่กับพระธาตุพระลอ ตั้งออยู่ตำบลห้วยหม้าย ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำยมห่างจากที่ว่าการอำเภอสองประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ห่างจากถนนสายสอง-งาวทิศตะวันตกบ้านลูนิเกตไปประมาณ 3 กิโลเมตร ความเป็นมา ในตำนานซึ่งมีอยู่ในพระธรรมเทศนาพื้นเมือง กล่าวไว้ว่าโพธิสัต โต ชาโต สุวัณณะมาสะระภะมิคคะ คุมภะ เทว เอกัง ปัพพัตตัง อะโหสิ ฯลฯ

พระโพธิสัตว์ของเรา เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทอง อยู่ในระหว่างดอยหนึ่ง ไกลจากเมืองมัทราชประมาณ 2 พันวา ได้อยู่กับพ่อแม่ที่นั้น โดยมีสัจธรรมอยู่ในใจ พอเกิดมาได้ปีกับ 3 เดือน พ่อแม่ทั้งสองก็ถึงแก่ความตายไปแล้ว ส่วนเนื้อทายโพธิสัตว์ ก็เป็นกำพร้าพ่อแม่ มีแต่ตัวเองเดียวอยู่กลางดอยนั้น อยู่มาวันหนึ่งเป็นฤดูเดือน 8 ขึ้น 8 ค่ำ เป็นวันอังคาร รวายเส็ด (ปีจอ) เวลากลางวัน ใกล้เที่ยง เนื้อทรายโพธิสัตว์ก็นอนอยู่ใต้ร่มไม้ม่วงต้นหนึ่งนั้นแล เมื่อมะม่วงสุกตกลงมา โพธิสัตว์เจ้าก็กินมะม่วงอยู่ที่นั้นตามความสุขสำราญของตนเอง ในขณะนั้นเกิดปาฏิหาริย์กับเนื้อทรายตัวนั้นขึ้น คือได้รัศมีรังสีแผ่ออกจากตัวเป็นสีทองกระจายแสงไปทั้งป่าทั้งหมด ประดุจแสงพระจันทร์ในวันเพ็ญนั้นแล เอโก วเนโจ มีนายพรานฮ่อผู้หนึ่ง เดินเข้าไปในป่านั้นเพื่อแสวงหาเนื้อมาบริโภค ได้มองเห็นรัศมีสีทองแห่งเนื้อทรายทองนั้น คิดว่าเป็นรัศมีของเทพบุตร เทพธิดา ผู้รักษาป่าไม้แน่ จึงเกิดความกลัวตายขึ้นมา จึงวางสีนาด(อาวุธสำหรับยิงสัตว์) และคะแนง(กล่องสำหรับใส่ลูกสีนา) ไว้ตรงนั้นแล้วพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วน แล้วแลด้วยความลืมตน เพราะรีบร้อนอยากได้เนื้อทรายทอง นายพรานจึงจับเอาเฉพาะสีนาดเท่านั้นติดตามไป เผอิญลืมคะแนงไว้ที่นั่น ฐานะที่นั้นจึงเรียกชื่อว่า “ห้วยคะแนง”มาจนบัดนี้

เนื้อทรายทองนั้นจึงวิ่งไปตามสันเขาลูกหนึ่ง นายพรานฮ่อมันก็วิ่งไล่ไปทันเห็นเนื้อทรายทองมาบเดียว(เห็นแวววาวแว๊บหนึ่ง)ฐานะที่นั้นจึงชื่อว่า “แม่มาบ” มาจนบัดนี้ มันรีบวิ่งติดตามพระโพธิสัตว์ไปอีก ทันเห็นสะเมียงเดียว(ละม้ายคล้ายคลึง) ฐานะที่นั้นจึงได้ชื่อว่า “ห้วยแม่เมียง” มาจนทุกวันนี้ เนื้อทรายทองโพธิสัตว์ได้วิ่งหนีไปด้วยความเร็ว ในปากยังคาบมะม่วงไว้ลูกหนึ่งไม่ทันได้คายทิ้ง เมื่อไปถึงดอยลูกหนึ่งจึงคายทิ้งไว้ตรงนั้นแล้วลงไปจากดอยด้านข้างตะวันตกไปเห็นผาก้อนหนึ่งอยู่ในเงื่อมดอยลูกนั้นมีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่มเย็นร่มรื่น เนื้อทรายทองจึงหยุดนอนอยู่เหนือผาก้อนนั้น ด้วยความหิวโหยอ่อนเพลียเป็นที่สุดมีทุกข์ทรมานมากนักในขณะนั้นมีเทพยาดาองค์หนึ่งชื่อว่า นทีเทวดา ผู้รกษาป่า สิงสถิตอยู่ที่น้ำให้เนื้อทรายทองได้ดื่มกินแล้ว นอนพักตามความสบายบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “บวกทรายนอน” (หรือทะรายนอน) ตามภาษาของชาวบ้านเรียกกันจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนนายพรานฮ่อไม่ละความพยายามที่จะเอาชีวิตเนื้อทรายทองให้ได้ ทำให้เนื้อทรายทองเหนื่อยอ่อน ไปนอนหงายอยู่บนดอยแห่งหนึ่ง สถานที่นั้นจึงเรียกชื่อว่า “ทะรายเหงา”  มาจนถึงทุกวันนี้ เนื้อทรายทองจึงได้หนีต่อไป ผ่านป่าไม้ภูเขาอันหนาทึบตีบตัน จนเหนื่อยเมื่อยล้า หายใจไม่ค่อยออก เพราะคอตีบไปหมด ฐานะแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “เมืองตีบ” มาจนทุกวันนี้ พระโพธิสัตว์เจ้า ก็กระเสือกกระสนวิ่งไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปในถ้ำ ส่วนสถานที่ถ้ำนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งรักษาอยู่ ชื่อว่า อการเทวดา เมื่อเห็นเนื้อทรายทองโพธิสัตว์เข้ามา คิดว่าถ้าเราไม่ช่วยเหลือคงตายแน่ๆ จึงได้เนรมิต รอยเท้าของเนื้อทรายทองประดุจว่าเดินออกจากถ้ำไปแล้ว พอนายพรานฮ่อมาเห็นรอยเท้าอย่างนั้นก็รีบติดตามไปอีกทางหนึ่ง เป็นเวลาวันหนึ่งอีกหนึ่งคืน ก็ไม่เห็นเนื้อทรายทองด้วยพระบารมีของพระโพธิสัตว์ จึงทำให้นายพรานฮ่อเหน็ดเหนื่อย จึงถึงแก่ความตายใกล้ปากถ้ำนั้นคือ “ถ้ำผีเมืองตีบ” จนถึงทุกวันนี้ ส่วนน้ำที่ไหลลงมาจากบวกทะรายนอนผ่านมาทางนี้ จึงเรียกว่า “แม่น้ำตีบ” มาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนทายทองโพธิสัตว์ พอมีเวลาใกล้ค่ำ จึงออกมาจากถ้ำไปสู่ดอยสูงทางทิศตะวันออก เดินเรื่อยมาและได้มานอนพักผ่อนอยู่บนเนินเขาสูงชัน มีหนองน้ำอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทางทิศใต้ถัดไปจากถ้ำนั้น และเนื้อทรายทองได้ยืนชันอยู่เป็นเวลาวันหนึ่ง แล้วจึงลงจากดอยชัน เข้าไปสู่สระหนองนั้น ขณะนั้นมีเทวดาองค์หนึ่ง รักษาสระหนองน้ำนั้น และรู้ความต้องการดื่มน้ำของเนื้อทรายทอง จึงเอาแก่นจันทร์แดง มาฝนใส่สระน้ำหนองนั้น เนื้อทรายทองจึงได้ดื่มน้ำแก่นจันทร์นั้นตามความสำราญ มีกำลังขึ้นมาบ้างแล้ว มาคำนึงในใจว่า ดอยที่เราลงมาสู่สระหนองที่นี้ คนจักเรียกกันว่า “ดอยชัน” (หรือดอยจันทร์) สระหนองนี้เขาจักเรียกว่า “หนองจันทร์” แล้วเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ ก็เดินต่อไปตามลำดับลัดป่าไม้ดงดอย ไม่มีขอบขั้นจนมีร่างกายผอมเหลือง ซูบซีดไปมาก จึงไปหยุดพักอยู่ระหว่างห้วยอีกที่หนึ่ง มีสภาพอันแห้งแล้ว จักหาน้ำบริโภคมิได้ ทุกขเวทนาเพราะความหิวกระหาย เข้าครอบงำจะเหลือพรรณนาได้แต่ก็พยายามพักอยู่ อีกอย่างหนึ่งก็เกรงว่านายพรานฮ่อตามมาฆ่าสถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “แม่บางฮ่อ” มาจนถึงทุกวันนี้ ต่อแต่นั้นพระโพธิสัตว์ ก็หนีจากที่นั้นได้เดินไปตามลำดับ จนถึงห้วยอีกแห่งหนึ่งมีน้ำไหลใสสะอาด พระโพธิสัตว์ก็ลงดื่มน้ำนั้น แล้วนอนกลิ้งไปมาส่วนรัศมีของพระโพธิสัตว์ก็เหลืองอร่ามตามผิวน้ำฉะนั้นแม่น้ำสายนั้นคนทั้งหลายจึงเรียกว่า “น้ำแม่คำมี” มาจนบัดนี้แล

พระโพธิสัตว์ จึงเดินทางต่อไปห้วยความอุตสาหะ วิริยะ แม้จะได้ทุกข์ทรมานอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ จนถึงแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ตั้งอยู่ริมบ้านวาลุการาม เป็นหมู่บ้านอันกว้างขวางมากนัก (ปัจจุบันอยู่ระหว่างบ้านน้ำเลา-บ้านไผ่) พระโพธิสัตว์ก็เห็นรอยเท้าของคนไปทำไร่ทำสวนที่พากันเหยียบบนกองทรายนั้น จึงเกิดความกลัวขึ้นมาอีก จึงรีบวิ่งทุรนทุราย ไปตามริมน้ำนั้น พระโพธิสัตว์มีความคิดไปต่างๆ นานา ว่า เราคงจักตายเสีย ณ ที่นี้กระมัง แล้วคำนึงถึงสังขารธรรมว่าเป็นของไม่มั่นคง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันแน่แท้ แม่น้ำสายนี้ต่อไปคนทั้งหลายจักเรียกชื่อว่า “แม่เทิก (แม่เติ๊ก แม่ถาง) ” แท้แล แต่นั้น เนื้อทรายทองโพธิสัตว์ก็ขึ้นไปบนเขา(ดอยม่อนน้อย) ที่นั้นแล้วไปนอนพักอยู่ใต้ต้นไม้รังต้นหนึ่ง ได้รับทุกเวทนาลำบากยิ่งจักถ่ายอุจจาะ ปัสสาวะ ก็ไม่ออกปวดแจ (ปวดปัสสาวะ) ทุกข์ทรมานอยู่ได้ 3 วัน 3 คืน จึงถึงแก่ความตายไปในร่มไม้รังต้นนั้นแล สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “ปูแจ” มาจนทุกวันนี้ (คือพระธาตุปูแจ อ.ร้องกวาง ในปัจจุบัน) ต่อแต่นั้นก็มีพวกเทวดา อินทร์ พรหม ทั้งหลาย พากันมาณาปนกิจศพของเนื้อทรายทองโพธิสัตว์ ณ ที่นั้นแล

ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จโปรดสัตว์มาตามลำดับ จนถึงดอยมัทธะราชที่นั้น ได้ฉันโภชนาการ ที่ดอยทะกรายนั้นเป็นครั้งแรก บรรดาคนทั้งหลาย บางพวกก็รู้ว่า เป็นพระพุทธเจ้า บางคนก็ไม่รู้จักคิดว่าเป็นผีสาง เทวดา ตนใดตนหนึ่ง เป็นแน่แท้ขณะนั้นคนทั้งหลายพากันไปหาปู หาปลา ในแม่น้ำกันเป็นส่วนมากยังคงค้างคาอยู่เฉพาะ ปู่ ย่า หลานอยู่เฝ้าบ้าน จึงพากันไปกราบไหว้พระพุทธเจ้า แล้วรีบไปบอกกล่าว ร้องป่าวให้คนที่ไปท่าน้ำรู้ว่าท่านทั้งหลายพระพุทธเจ้ามาโปรดชาวเราแล้ว พวกท่านอย่าโง่เง่า(เขลา) ใบ้ บอด มาแสวงหากินปลา น้ำย่อดำ น้ำบ่อแดงฉันนี้หนอ เมื่อคนที่อยู่ท่าน้ำรู้กันทุกคนแล้วก็พากันกลับบ้าน อาบน้ำชำระร่างกายแล้วมีมือถือดอกไม้ ของหอม พร้อมทั้งโภชนาหารรีบน้ำไปถวายพระพุทธเจ้าที่บนดอยนั้น แล้วพากันไปกราบอาราธนาขอให้พระพุธเจ้าไว้รอยพระบาทที่ผาบนดอยนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเหยียบก้อนหินก้อนหนึ่งด้วยพระบาทข้างขวา ให้เป็นรอยเพื่อให้เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของคนและเทวดาทั้งหลาย พระองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระว่าหากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว จงถือว่าเอาสารีริกธาตุแห่งตถาคตมาบรรจุใต้รอยพระบาทที่นี้ด้วย เพื่อให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมาบูชาสักการะสารีริกธาตุนี้ จัดติดเนื่องด้วยสองปู่หลาน เป็นนิมิตจักเอาสารีริกธาตุของตถาคตมาบรรจุไว้เป็นปฐมฤกษ์ แล้วจักปรากฏชื่อว่าธาตุดอยปู่หลานจักมีภายหน้าแท้แล เรื่องนี้จักได้ชื่อหมู่บ้านว่าบ้านวังแดงแล้วภายหลังจัดได้ชื่อว่าบ้านวังเลียงแลแม่น้ำที่เขาไปตักน้ำหาปลานั้น จัดได้ชื่อว่า แม่ง่าว ภายหลังจักเปลี่ยนแปลงไปว่า “แม่น้ำงาว” แท้แล

เมื่อพระพุทธองค์ ทรงทำนายดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปริมฝั่งดอยข้างตะวันตกแล้วเสด็จไปตามสันของดอย ลัดป่าไม้ ดงไพร ตามมัคคาทางชาติก่อนยืดยาวเสียด้วย พระองค์จึงตรัสแก่อานนท์ว่า ห้วยนี้ต่อไปภายหน้าคนทั้งหลายจักเรียกว่า ห้วยเคาแล พระองค์จึงเสด็จขึ้นสู่ยอดดอยนั้น แล้วไปหยุดพักที่ร่มไม้ต้นหนึ่ง ชื่อว่า ไม้หาด แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงกราบทูลถามเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสบอกถึงเรื่องในอดีตกาล ที่เคยเป็นเนื้อทรายทองโพธิสัตว์มาหยุดเหงาอยู่ที่ใต้ต้นหาดต้นนี้ ได้มากินลูกหาดและคายไว้ตรงนี้ งอกออกมาเป็นต้นใหญ่จนบัดนี้แล

พระอานนท์เถระ พร้อมทั้งพระอินทร์ ก็กราบอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนา เพื่อสถาปนาตรงนี้ พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวา ลูกพระเกศาได้เส้นหนึ่งแล้ว ทรงยื่นให้พระอานนท์เถระ ท่านก็น้อมรับเอาด้วยมุมผ้าสังฆาฏิจากพระพุทธเจ้าแล้ว ยื่นต่อให้พระอิททร์ เมื่อพระอินทร์รับแล้ว ก็เนรมิตโกศทองคำใส่ไว้แล้ว ก็เอาบรรจุลงไว้ที่ดอยตรงนั้น แล้วเนรมิต เทียนเงินเทียนคำและดอกไม้คำ เพื่อบูชาพร้อมทุกอย่างและเนรมิตยันต์พันไว้รักษาพระธาตุนั้นด้วย แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกแก่พระอานนท์ว่าเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พวกพระอินทร์และเทพยดาทั้งหลายก็จักบันดลให้หัวใจของมนุษย์ทั้งหลายสร้างก่อเป็นเจดีย์ไว้สักการะ บูชา คนทั้งหลายเขาจักเรียกว่า “ดอยทะรายเหงา” หมื่นแท้แล

พระพุทธเจ้าจึงเสด็จต่อไปสู่หนบูรพา(ตะวันออก)ตามรอยทรายคำในชาติก่อน จนถึงแม่น้ำสายหนึ่ง ปรากฏชื่อว่า “แม่น้ำยม” พระองค์พร้อมพระอานนท์ก็พากันเสด็จผ่านน้ำยมนั้น ขึ้นสู่ยอดดอยลูกนั้นแล้ว เสด็จยืนชันอยู่ที่นั้นชั่วขณะหนึ่ง แล้วทรงยิ้มแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์เถระจึงทูลถามเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสว่าเมื่อตถาคตเป็นเนื้อทรายทองวันนั้น ได้มายืนชันอยู่ที่นี้ ได้วันหนึ่งแล้วจึงได้ลงไปดื่มน้ำในสระหนองตรงนี้ เพ่อเป็นที่สักการะ บูชาของคนและเทวดาทั้งหลาย พระองค์จึงทรงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวา ลูบพระเศียร ได้พระเกศาเส้นหนึ่ง ทรงยื่นต่อให้พระอินทร์เมื่อพระอินทร์รับไปแล้วก็เนรมิตผอบ(ผะอบ)คำใหญ่ 3 กำมือ วิจิตรพิสดารด้วยแก้ว 7 ประการ แล้วเอาเกศาธาตุพระพุทธเจ้าลงบรรจุไว้ในโกศดำแล้วเนรมิตคูหา คือ ถ้ำไว้ได้ยอดดอยที่แห่งนั้น แล้วเนรมิตศิลา(หิน) ก้อนหนึ่ง มีสัณฐานเป็นดั่งรูปปลา มีน้ำไหลเวียนแวดเวียนอยู่ตลอด แล้วพระอินทร์ก็เอาโกษที่ใส่เกศาพระธาตุพระพุทธเจ้าลงบรรจุไว้เหนือหลังศิลา แล้วบูชาด้วย เทียนเงิน เทียนคำ แล้วจุดประทีปบูชาไว้ดูรุ่งเรืองงามยิ่งนัก แล้วเนรมิตยันต์พันไว้รักษา เกศาธาตุ ของพระพุทธเจ้า ณ ที่ถ้ำแห่งนั้นพระพุทธองค์ จึงทรงทำนายว่า ต่อไปข้างหน้าคนทั้งหลายจักเรียกชื่อว่า “ม่อนทะรายชัน” หรือ “ม่อนหนองจันทร์” แท้แล เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ดังนั้นยังมีบ้านหมู่หนึ่ง อยู่หนใต้หนองจันทร์ จักปรากฏชื่อว่า บ้านนาเขียง นาตอง อยู่ห่างไกลไปประมาณสามพันวา พวกเทวดาผู้รักษาเกศาธาตุ และรักยังดอยชันที่นั้น จักไปบันดาลเข้าหัวใจชาวบ้านนาเขียง นาตองที่นั้น ให้พากันมาสร้างมาก่อทำเป็นเจดีย์ไว้ให้ไหว้และบูชา เป็นปฐมฤกษ์ ก็จักมีภายหน้าหมื่นแท้แล

แม้บุคคลผู้ใด ใครผู้หนึ่งมาสร้างศาลา เพื่อสักการะบูชา ไหว้นบน้อม ยำเกรง อาบ องค์ สรง พระธาตุหนองจันทร์ที่นี้ จักมีผลานิสงส์มากนัก อย่างไรก็ดี แม้ปรารถนาสิ่งใด ก็จักสมประสงค์ทุดอย่างแน่แท้ และสระน้ำที่ตถาคตเคยเป็นเนื้อทรายทองลงไปดื่มน้ำนั้น ภายหน้าคนทั้งหลายจักเรียกว่า “หนองจันทร์” แน่แท้แล

พระพุทธองค์ก็เสด็จไปตามรอยเนื้อทรายทองไปทางนั้นๆจนบรรลุถึงดอยม่อนทะรายตายแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปนั่งใต้ร่มไม้รังต้นหนึ่ง ทรงแย้มพระโอษฐ์ออกมา พระอานนท์จึงกราบทูลถามเรื่องนั้น พระองค์ได้ตรัสบอกว่า ปางเมื่อตถาคตเป็นเนื้อทรายทองได้มาตายที่นี่ ได้มาปวดแจตายที่นี่ เป็นสถานที่ประเสริฐยิ่งนักพระองค์จงมีพระกรุณาแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด ฉะนั้นพระองค์จึงทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระเศียรได้พระเกศาหนึ่งเส้นทรงยื่นให้พระอานนท์ ท่านอานนท์ก็น้อมรับเอาด้วยมุมผ้าสังฆาฏิแล้วก็ยื่นต่อให้พระอินทร์ เมื่อพระอินทร์รับแล้ว ก็เนรมิตผอบทองคำใหญ่ 7 กำมือ เอาเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้าลงบรรจุไว้ แล้วเนรมิตอุโมงค์ลึก 7 วา แล้วเนรมิตปราสาทสูง 7 ศอก แล้วเอาโกศทองคำเข้าไว้ในประสาทคำ แล้วนำลงบรรจุไว้ในอุโมงค์นั้นแล้วก็เนรมิตขันคำใหญ่สองกำมือ สูงสามศอก มีเทียนเงิน 4 คู่ ดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ อย่างละ 3 ดอก ฆ้องทองคำใหญ่ 20 กำ ระฆังทองคำใหญ่ 4 ศอกคืบ เครื่องบูชาพระมหาธาตุนับไม่ถ้วน ที่นั้นพระพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะฉันน้ำ พระอินทร์จึงเนรมิตบ่อน้ำไว้ตรงทิศหรดีของเจดีย์ พระอานนท์เถระ ก็ไปตักเอาน้ำในบ่อมาน้อมถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงดื่มน้ำแล้ว จึงตรัสบอกแก่พระอานนท์ว่าดูกรอานนท์ หากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ให้เอาพระโคปกะ(ตาตุ่ม) ข้างขวาของตถาคตมาบรรจุไว้ตรงนี้เถิด ให้เป็นคู่กับเกศาเส้นนี้ ต่อภายภาคหน้าจักเรียกว่า “พระธาตุปูแจ” แท้จริงเหตุว่า ปางเมื่อตถาคตเกิดเป็นเนื้อทรายคำ ถูกนายพรานฮ่อไล่ฆ่า ได้มาปวดแจตายตรงนี้แล

บุคคลใดถือว่าเป็นคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตก็ตาม หรือท้าวพระยาเป็นใหญ่ ครองบ้านเมืองเสวยเมืองก็ดี เสนาอามาตย์ พราหมณ์ คหบดี ไพร่ฟ้า ภิกษุสามเณร หรือ ใครก็ตาม ได้มาก่อสร้างพระมหาธาตุก็ดี ได้สร้าง ศาลากำแพง บันไดนาคก็ดีลงจากมิอนธาตุหนองจันทร์ที่นี่ ด้านหนึ่งก็ดี 2 ด้าน 3 ด้านก็ดีหากจุติจากมนุษย์โลกนี้ ก็จักได้บังเกิดเป็นเทพบุตร เทวดา อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานสูงได้พันโยชน์ มีนางฟ้ามาทำความสะอาดเป็นบริวารได้แสนแปดหมื่นองค์ ส่วนบุคคลผู้ไดได้มาทำความสะอาดมีดายหญ้าเป็นต้น ในม่อนดอยหนองจันทร์ทีนี้ และได้นำเอาหินทรายมาก่อกอง เรียงราย ผายแผ่ ในม่อนดอยหนองจันทร์ที่นี้ หากจุติจากเมืองคนแล้ว จักนำตนให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นมายา มีวิมานคำสูงได้พันหนึ่ง มีนางฟ้าก็ได้พันหนี่ง เป็นบริวารแน่แท้แล ส่วนบุคคลผู้ได้ได้มาสมโภชอบรม สระสรงน้ำพระธาตุที่นี้ก็ดีหรือได้เจริญเมตตา ภาวนาในสถานที่นี้ก็ดี หายได้ตายทำลายขันธ์ไปแล้วก็จักได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต มีวิมานคำ ปราสาทสูงได้พันวา มีนางฟ้าก็ได้พันหนึ่งเป็นบริวารแท้แล ส่วนบุคคลผู้ใดที่ได้ก่อสร้างยังพระธาตุ หรือได้สร้าง ศาลาบาตร กุฏิ บันไดนาค ขึ้นม่อนพระธาตุหนองจันทร์แล้วแม้จะปรารถนาสิ่งใดๆ มีปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ปรารถนาเป็นจักรพรรดิ หรือปรารถนาเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ปรารถนาเป็นพ่อ เป็นแม่ ของพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าก็จักสมประสงค์ทุกประการส่วนท้าวพระยาผู้มาเป็นใหญ่ปกครองบ้านเมืองที่นี้ ต้องการให้มีอายุยืนนานก็ดีจงพากันมาเสริมสร้างยังพระธาตุแล้วก่อกำแพงสร้างวิหารเสียเถิด บ้านเมืองจักได้รุ่งเรือง มีอายุยั่งยืนแท้แล หากท้าวพระยา ผู้ใดได้สักการบูชายังพระธาตุตถาคตแล้ว ก็เสมอเหมือนได้บูชาตถาคตเมื่อมีชนมายุอยู่เหมือนกันแล

พระพุทธเจ้าก็นำเสด็จดำเนินไปโปรดเวไนยสัตว์ พร้อมทั้งเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ตั่งแต่ดอย ทะรายนอน ตลอดถึง ทะรายเหงา ทะรายยืนชัน แล้วเสด็จถึงปูแจพร้อมด้วยอานนท์เถระ จึงเสด็จกลับสู่เชตะวันมหาวิหารด้วยอิทธิฤทธิ์ แล้วได้เทศนาพระธรรมโปรดไนยสัตว์มีเทวดาและมนุษย์เป็นต้น บางพวกก็ได้ถึงโสดา สกิทาคามี อนาคามี และอรหันตตผล ตามบุญบารมี ของต้นนั้นแลฯ

ผู้ค้นพบครั้งแรก

พระธาตุหนองจันทร์ จะมีใครเป็นผู้สร้างเป็นเจดีย์ครั้งแรกไม่มีบ่งไว้ในตำนานเป็นหลักฐานแน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานกันว่าบูรณะเสริมสร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจเพรามีฝีมือเงี้ยวปรากฏอยู่ต่อมาประมาณ พ.ศ.2445 (80 ปีผ่านมา) ครูบาภิชัย(ภิชัย) เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.สอง ได้บูรณะขึ้นซึ่งรูปเดิมมีปรากฏอยู่คล้ายจอมปลวกใหญ่ๆ เท่านั้น ต่อจากนั้นประมาณ พ.ศ.2482 ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธิสุนทร (ชมพู กาละวงศ์) อดีตเจ้าคณะอำเภอสองวัดเทพสุรินทร์ ได้เป็นหัวหน้าบูรณะก่อสร้างให้สูงขึ้นโดยทำพิธียกยอดพระธาตุ และซ่อมแซมใหม่ เนื่องจากมีวาตภัย ลมแรงมาพัดพังทลายเสียหาย ฐานกว้างประมาณ 12 ศอก สูงประมาณ 20 ศอก สร้างวิหารติดด้านเหนือธาตุอีกหลัง กว้างประมาณ 24 ศอก ยาวประมาณ 30 ศอก จัดให้มีงานประจำปีมาตั่งแต่เดิมคือ เดือน 5 เพ็ญ 3 ใต้ของทุกๆปี (จะเริ่มตั่งแต่ 11 ค่ำถึง 15 ค่ำ)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2509 ท่านพระครูสุวรรณธรรมกร อดีตเจ้าคณะอำเภอสอง วัดเทพสุนทรินทร์ ได้เป็นประธานก่อกำแพง 4 ด้าน รอบพระธาตุเรียบร้อย จนถึง พ.ศ.2521 พระอาจารย์มานพติกฺขวีโร ได้บูรณะต่อมีหุ้มองค์พระธาตุด้วยทองเหลือง สร้างถนนคอนกรีตรอบพระธาตุ สร้างกุฎิ ศาลาการเปรียญ และกำลังสร้างเจ้า 9 วา 3 ศอก อยู่ในขณะนี้ด้วย

อภินิหารของพระธาตุสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญ ถนนหนทางยังไม่ดี การคมนาคมไม่สะดวกศรัทธาประชาชนมักจะเดินทางไปนมัสการพระธาตุหนอง