“เขาเป็นบุคคลที่สวรรค์ให้ลงมาเกิดเป็นจาวแพร่ หากวาสนาหายอมให้เขาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้ง ๆ ที่เมื่อลำดับศักดิ์ในสกุลวงศ์แล้วเขาก็คือทายาทโดยชอบธรรมของผู้เจ้าครองนครแพร่ แต่เมือเขาไม่ได้เป็นจ้าวในราชวงษ์ครองนคร เขากลับเป็นได้ยิ่งใหญ่กว่า คือเป็นราชาแห่งวงการประพันธ์ภายใต้นามปากกา “ยาขอบ” คนผู้นั้นคือ “โชติ แพร่พันธุ์” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในหนังสือ “นครแพร่” ยาขอบได้เปิดเผยและประกาศตนเป็นลูกหลานเมืองแพร่โดยสมบูรณ์ เขามีความรู้สึกอย่างไรต่อปิตุภูมินั้น จากข้อเขียนสั้น ๆ ของ “ยาขอบ” ชิ้นนี้คงจะได้ทิ้งความสะเทือนอย่างรุนแรงไว้ด้วยถ้อยคำจากน้ำใจจริง” ต่อหน้ากองทัพข้าศึกซึ่งกำลังจะเข้าประจัญบานกันนั้น มาควิสแห่งชานปิงให้ชักธงประจำตัวขึ้น จารึกว่า จูล่ง ชาวเมืองเสียงสาน เขามิได้สนใจแก่ตำแหน่งยศแต่เขาหยิ่งต่อกำพืชเดิม และอยากให้ขึ้นชื่อลือชาปรากฏไปว่าเป็นฝีมือของชาวเมืองใด หากมาควิสแห่งชานปิงกระทำเช่นนั้นในสนามรบเป็นการถูกต้อง ในสนามหนังสือข้าพเจ้าก็ควรที่จะชักธงขึ้นว่า โชติชาวเมืองแพร่ แทนที่จะบอกว่า โชติ แพร่พันธุ์

คุณครูผู้จัดทำหนังสือนี้ ให้เกียรติยศ บอกเล่าให้ข้าพเจ้าเขียนคำขัญ ข้าพเจ้าปฏิเสธว่าข้าพเจ้ายังเป็นคนเล็กเกินไปสำหรับจะเขียนคำขวัญให้แก่หนังสือใด ๆ ได้ ท่านผู้ทำหนังสือจึงแนะนำว่า ถ้าฉะนั้นในฐานที่เป็นลูกเมืองแพร่ – ก็ขอให้เขียนความคิดคำนึงถึงเมืองแพร่เถิด “แต่ข้าพเจ้าจะเขียนได้ประการใดเล่า เมืองแพร่แต่เกิดยังมิได้แลเห็น โอ้เมืองแพร่ เทือกเขาเหล่ากอของเรา เดี่ยวนี้เราแตกแยกกันไป น้อง ๆ ร่วมพ่อก็ใช้นามสกุล เทพวงษ์ เขาว่ายังมีอีกหลายสายซึ่งเป็นหลานร่วมปู่ แต่ใครเล่าจะรู้ว่าเรานี้แหล่ะคือญาติกัน”

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเมืองแพร่ แต่ “แพร่” ได้ช่วยไว้ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เป็นคน นามสกุล ณ แพร่ ก็ไม่มีในโลกนี้ ด้วยเจ้าเทพวงษ์ผู้ครองนครแพร่คนสุดท้ายถูกพงศาวดารบันทึกว่าเป็นขบถ เจ้าอินทร์แปลงเป็นลูกชายคนเดียวของเจ้าเทพวงษ์ และข้าพเจ้าเป็นลูกหัวปีแห่งเจ้าอินแปลงนั้นข้าพเจ้าจะให้ชีวิตสมบุกสมบันมาเพียงใดก็ตาม แต่ไม่เคยประพฤติการของลูกผู้ชายที่ต่ำต้อย เมื่อใดสิ่งมายั่วให้ทำทรามข้าพเจ้าก็ตั้งปัญหากับตัวเองว่า ตัวเป็นลูกใคร สกุล ณ แพร่ ไม่มีในโลกนี้ก็จริง แต่ข้าพเจ้าก็ถือว่าตัวเองเป็นคนเมืองแพร่อย่างสมบูรณ์ คำว่า “แพร่” จึงเหนี่ยวรั้งยับยั้งข้าพเจ้าไว้ อย่างน้อยก็ยังพอเหลือเกียรติยศ ให้คนเขากล่าวถึงกันบ้างในเมืองไทย และถูกชักชวนให้เขียนหนังสือร่วมงานของโรงเรียนประจำจังหวัดแพร่คราวนี้ด้วยผู้หนึ่ง

เพราะฉะนั้น ในความคำนึงถึงเมืองแพร่ครั้งนี้ ข้าพเจ้าสุดที่จะคิดถึงอย่างอื่น นอกจากขอฝากการกราบไหว้ มายังพี่ป้าอาวลุงชาวแพร่ทั้งปวง

โชติ แพร่พันธุ์

๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๑

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 28 •มกราคม• 2012 เวลา 09:53 น.• )