วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๑๑ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่  อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ ๘ กิโลเมตร  ในบริเวณวัด ประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศี   คือพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ) องค์พระธาตุช่อแฮ  มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง ๓๓ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๑๑ เมตร ศิลปะแบบเชียงแสน ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก  กล่าวว่าสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ดอยโกสิยะแห่งนี้

และได้มอบพระเกศาให้กับ ขุนลั๊วะอ้ายก้อมจึงได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮแห่งนี้   เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา ด้านประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างขึ้นสมัยกรุงสุโขทัย   โดยระหว่างจุลศักราช  ๕๘๖-๕๘๘ (พ.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๑) ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท)ขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช   ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย  ได้เสด็จมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ และในพ.ศ.๑๙๐๒ ได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ และขนานนามว่า  “โกสิยธชัคคปัพพเต”หรือ “โกสัยธชัคคบรรพต” จากนั้นได้จัดงานสักการะ ๗ วัน ๗ คืน และต่อมาจึงได้ชื่อว่า “พระธาตุช่อแฮ”  (คำว่า “แฮ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่า ผ้าแพร)

 

สมัยกรุงธนบุรี (ปี พ.ศ. ๒๓๑๒) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงยกทัพตีพม่าที่ยึดครองล้านนาอยู่โดยมี พญาแพร่หรือเจ้ามังไชยะ ผู้ปกครองเมืองแพร่ พาขุนนาง กรมการเมืองและไพร่พล เข้าเฝ้าถวายบังคมเข้าร่วมทัพ ยกทัพไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดแต่งตั้งให้เป็น พระยาศรีสุริยวงค์ ดังนั้นในสมัยกรุงธนบุรี   จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุช่อแฮ  โดยพญาแพร่ หรือเจ้ามังไชยะ  (พระยาศรีสุริยวงศ์) ตลอดมา  ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาดูแลองค์พระบรมธาตุช่อแฮจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเจ้าหลวงเทพวงศ์ (เจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นทอง)
ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ เจ้าหลวงอินทวิไชย ก็รับการปูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากเจ้าหลวงเทพวงศ์
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕  เจ้าหลวงที่มีบทบาทในตำบลป่าแดงมากที่สุดและอุปถัมภ์พระบรมธาตุช่อแฮตลอดคือ เจ้าหลวงพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) และจนมาถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเมืองแพร่มากที่สุด คือเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์(เจ้าพิริยวิไชย) ท่านปกครองเมืองแพร่
ปีพ.ศ. ๒๔๓๒ - ปี ๒๔๔๕ เจ้าหลวงเดินทางไปหนีภัยที่หลวงพระบางซึ่งในปีนี้เมืองแพร่เกิดจลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ องค์พระธาตุช่อแฮก็ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งโดยนักบุญแห่งล้านนาไทยที่ซึ่งเรียกตามคนเมืองแพร่ว่า ครูบาศีลธรรมหรือครูบาศรีวิชัยนั่นเอง ดังค่าวตำนานปางเดิม กรมศิลปากร   ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระธาตุช่อแฮ  เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘  และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน  เล่มที่ ๙๗  ตอนที่ ๑๕๙  ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๒ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดไว้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๑๙๑๐  ตามหนังสือ ที่ พ.ศ. ๐๐๐๓/๕๒๖  ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๘
วัดพระธาตุช่อแฮ  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดราษฎร์   ขึ้นเป็นพระอารามหลวง  ชั้นตรี ชนิดสามัญ  ตั้งแต่วันที่  ๒๓  มิถุนายน ๒๕๔๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๙๖ ง  ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จังหวัดแพร่ ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ   โดยยึดถือตามจันทรคติ  ในระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ ของทุกปีโดยใช้ชื่องานว่า  “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง”  ด้วยความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้า เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด และนำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้
“หม้อห้อมไม้สัก  ถิ่นรักพระลอ  ช่อแฮศรีเมือง  ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”

พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุใน ๑๒ ราศี  คือเป็นพระธาตุประจำปีเกิด ของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ) ลักษณะองค์พระธาตุ เป็นพระธาตุรูปแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน บุด้วยทองดอกบวบ สูง ๓๓ เมตรฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๑๑ เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ๑ ชั้น ถัดขึ้นไป เป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ๓ ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำ และชุดทองไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป ๗ ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง ๑ ชั้น และหน้ากระดาน ๑ ชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา หุ้มด้วยทองจังโกตลอดทั้งองค์ มีรั้วเหล็กรอบ องค์พระธาตุ ๔ ทิศ มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาผสมศิลปะพม่า เรียกว่า ปราสาทเฟื้องไว้อย่างสวยงาม (เวชไชยยนต์ปราสาท) เป็นพระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระเกศาธาตุ และพระข้อศอกข้างซ้ายแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตามโบราณประเพณีล้านนา  มีความเชื่อว่า หากนำผ้าแพรสามสีไปถวาย จะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ การสวดและไหว้ ให้เริ่มต้น นะโม 3 จบ แล้วสวดด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
คำไหว้พระธาตุช่อแฮ
นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
โกสัยยะธะชัคคะปัพพะเต  สัตตะมะโนรัมเม  พุทธะเกสาธาตุ  ปะติฏฐิตา  อะหัง  วันทามิ  สัพพะทา  อะหัง  วันทามิ  ธาตุโย  อะหัง  วันทามิ  สัพพะโส
ข้าพเจ้าขอไหว้พระเกศาธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่บนธชัคคบรรพตแห่งเมืองโกศัย อันเป็นที่รื่นรมย์ใจของชนทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงในกาลทุกเมื่อแล

องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๑๑ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่  อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิดสิบสองราศี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล (ปีเสือ)  มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ   สูง ๓๓ เมตร    ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๑๑ เมตร ศิลปะแบบเชียงแสน ตามหนังสือตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่าสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา  ณ  ดอยโกสิยะแห่งนี้ และได้มอบพระเกศาให้กับ ขุนลั๊วะอ้ายก้อมจึงได้นำมาใส่ในท้องสิงห์ทองคำบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ พระธาตุช่อแฮแห่งนี้ เพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะสืบมา
ด้านประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ระหว่างจุลศักราช  ๕๘๖-๕๘๘ (พ.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๑) ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท)  ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ ๗ วัน ๗ คืน จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ"  (คำว่า "แฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แพร" แปลว่า ผ้าแพร) และในปีพ.ศ.๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
กรมศิลปากร   ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน  เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๕๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๒
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือรับรองสภาพวัดไว้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๑๙๑๐ ตามหนังสือ ที่ พ.ศ. ๐๐๐๓/๕๒๖  ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๘
วัดพระธาตุช่อแฮ  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดราษฎร์  ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ  ตั้งแต่วันที่ ๒๓  มิถุนายน ๒๕๔๙  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๙๖ ง ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
จังหวัดแพร่ ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ  ในระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ ของทุกปี โดยใช้ชื่องานว่า "งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง" ด้วยความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้า เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด และนำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้ "หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี  คนแพร่นี้ใจงาม"

หลวงพ่อช่อแฮ
หลวงพ่อช่อแฮ หรือ พระเจ้าช่อแฮ ประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นพระประธาน พระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้วแกะสลักด้วยไม้สัก   ลงรักปิดทอง มีความประณีตอ่อนช้อยงดงาม พระอุนาโลมประดับเพชรที่พระนลาฏ (หน้าผาก)  มีหน้าตักกว้าง  ๓๘๐ เซนติเมตร สูง ๔๕๐ เซนติเมตร   ตั้งประดิษฐานบนฐานชุกชี มีลายปูนปั้นบัวคว่ำบัวหงาย เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว ราวพุทธศักราช ๑,๖๐๐ มีอายุประมาณ ๙๐๐ กว่าปี

หลวงพ่อทันใจ
หลวงพ่อทันใจ หรือพระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น  ลงรักปิดทอง ศิลปะเชียงแสน ปางสมาธิ    หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๑๒๐ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๕  ผู้สร้างคือ ส่างคำปัน เป็นชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  มีนักท่องเที่ยวมาอธิษฐานขอพรอยู่เสมอ
คำไหว้หลวงพ่อทันใจหรือพระเจ้าทันใจ
นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
นะโม  นะมะ  สะขัง  โกธะมัง  ใจจะคุ (ว่า ๓ จบ)

พระเจ้านอน
พระเจ้านอนประดิษฐานในศาลาพระนอน เป็นพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะพม่า ปางไสยาสน์  ขนาดยาว ๓๗๐ เซนติเมตร สูง ๑๓๕ เซนติเมตร  ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดแพร่เคารพนับถือ ก่อนจะขึ้นนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านนิยมมานมัสการพระเจ้านอน  โดยมีพ่อจองปัน  จิต๊ะแค แม่ออน ปรางสุวรรณ  เป็นผู้สร้าง เมื่อขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ พุทธศักราช ๒๔๕๙

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 28 •มกราคม• 2012 เวลา 09:12 น.• )