ประวัติผู้สร้างวัด จากการสืบค้นหาประวัติของการสร้างวัดศรีบุญเรืองไม่ปรากฏเอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ ยืนยันแน่ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เชื่อถือได้ วัดศรีบุญเรืองสร้างมานานกว่า ๒๐๐ ปีขึ้นไป และได้มีการเริ่มต้นบันทึกกันเริ่มที่ พญาแสนศรีขวาเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์  บุตรของพญาแสนศรีขวาคือ พญาประเสริฐชนะสงครามราชภักดีต่อมา “แม่เจ้าคำป้อ” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาประเสริฐฯ ได้สมรสกับ “พระวิชัยราชา” (นามเดิมว่า ขัติ หรือเจ้าหนานขัติ) เป็นกำลังสำคัญในการบูรณะซ่อมแซม และอุปการะวัดนี้มาตลอดอายุขัยของท่านทั้งสอง

หากจะสันนิษฐานการสร้างวัดศรีบุญเรืองนี้ แบ่งได้ ๒ แนวทาง คือ แนวทางสถานที่ตั้งของวัด และแนวทางประวัติศาสตร์การสืบเชื้อสายของเจ้าหลวงเมืองแพร่ หลักฐานของสถานที่ตั้ง การสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยโบราณ การปกครองทางฝ่ายเหนือจะมีเจ้าผู้ครองนคร หรือเจ้าหลวงปกครองในแต่ละเมือง ภูมิประเทศที่ตั้งก็คือ คุ้มเจ้าหลวงจะอยู่ตรงกลาง สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ มีประตูเข้า – ออก ๔ ทิศด้านนอกกำแพงเมืองมีคูน้ำล้อมรอบ ส่วนลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าหลวงได้สร้างบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ภายในกำแพงเมืองนั้นเรียกว่า ในเวียง ส่วนผู้อยู่นอกกำแพงเมืองออกไปเรียกว่า นอกเวียง หลังจากสร้างบ้านแปลงเมืองได้ไม่นานจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น การสร้างวัดในแต่ละวัดจะต้องมีเนื้อที่มากกว่าการสร้างบ้านเรือน ก็เลยมีความคิดที่จะสร้างอยู่ติดกับกำแพงเมือง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีจำนวน ๕ วัด คือ วัดหัวข่วง, วัดศรีชุม (วัดศรีจุม),วัดหลวง, วัดพระนอน และวัดศรีบุญเรือง สมัยก่อนทางเดินรอบกำแพงเมืองด้านในจะเป็นทางเท้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นถนนรอบเมืองเช่นปัจจุบัน จึงสันนิษฐานว่าความเก่าแก่ของวัดทั้ง ๕ วัดนี้คงมีความเป็นมายาวนานพอ ๆ กัน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในสมัยก่อนการสร้างวัดขึ้นสักแห่งหนึ่ง  จะต้องมีที่ดินกว้างขวางการก่อนสร้างก็ต้องใช้เงินมิใช่น้อย  ตลอดจนแรงงานคนด้วยหากว่าเจ้าหลวงองค์ใดองค์หนึ่งไม่ได้สร้าง ก็ต้องเป็นบุตรหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าหลวงเท่านั้นที่จะสร้างได้วัดศรีบุญเรืองก็เช่นเดียวกัน จากหนังสืองานฉลองวัดศรีบุญเรือง พ.ศ. ๒๕๑๕เริ่มต้นที่พญาแสนศรีขวาเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์  ต่อมาก็คือพระยาประเสริฐชนะสงครามราชภักดีผู้เป็นบุตรซึ่งให้การอุปถัมภ์ บำรุงวัดตลอดจนพระภิกษุสามเณรจนกระทั้งถึงแก่อสัญกรรม ถัดมาก็เป็นพ่อเจ้าพระวิชัยราชาและแม่เจ้าคำป้อซึ่งเป็นบุตรตรีของพระยา ประเสริฐฯ ก็ได้ดูแลบูรณะซ่อมแซมมาจนตราบสิ้นอายุขัยทั้ง๒ท่าน หากจะนับเชื้อสายของพ่อเจ้าพระวิชัยราชาขึ้นไปแล้ว ท่านก็เป็นเชื้อสายของเจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นตอง (ลิ้นทอง) ซึ่งเป็นเจ้าหลวงเมืองแพร่ ในปี พ.ศ.๒๓๑๖-๒๓๗๓ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าหลวงได้มีผลงานการก่อสร้างใดๆ เพราะผู้รวบรวมมีจุดประสงค์ที่จะให้ทราบว่า ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเป็นเชื้อสายใดเท่านั้น และมีการสืบค้นก็จะเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๖ลงมาจนถึงปัจจุบัน
สรุป การก่อสร้างวัดศรีบุญเรือง ยังคงไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่จากการสันนิษฐาน น่าจะสร้างหลังจากการสร้างบ้านแปลงเมืองไม่นานนัก เพราะวัดศรีบุญเรืองได้สร้างขึ้นภายในบริเวณกำแพงเมืองด้านทิศใต้และผู้ สร้างน่าจะเป็นเจ้าหลวงผู้ครองเมืองแพร่องค์ใดองค์หนึ่ง เพราะจากประวัติศาสตร์ผู้บูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมานั้นล้วนเป็นเชื้อสาย เจ้าหลวงทั้งนั้น

พระพุทธศรีบุญโญภาส ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ๑ ใน ๓๐๐ องค์ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามของประเทศไทย

 

พระบรมสารีริกธาตุ

 

อุบาสิกา วทียศ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นบุตรีของพันโท พระณรงค์เรืองเดช (หิรัญ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) และนางณรงค์เรืองเดช (ปุ่น หนุนภักดี) เป็นผู้นิมนต์ พระอาจารย์จำลอง รกฺขิตสีโล พระวิปัสสนาจารย์ มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙  อุบาสิกา วทียศ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และพระอาจารย์จำลอง รกฺขิตสีโล ได้ร่วมกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดศรีบุญเรือง เป็นมหาคุณูปการทั้ง ศาสนวัตถุ ศาสนบุคล ศาสนธรรม เป็นผู้มีความคิดกว้างไกล โดยก่อตั้งมูลนิธิ โอกาสี เพื่อเป็นทุนทะนุบำรุงวัดศรีบุญเรือง และสนับสนุนผู้ปฏิบัติธรรม เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน อุบาสิกา วทียศ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ถึงแกกรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๑ อายุ ๖๐ ปี

 

ศรีวิไจย (โข้) นักกลอนหรือกวี เมืองแพร่ ประการชีวิตของท่านอยู่ในโลกที่สว่างได้ไม่นานนักเพียงแค่ 25 ปี เท่านั้นเอง จากนั้นดวงตาก็มืดสนิททั้งสองข้าง ส่วนอีกประการหนึ่งศรีวิไจย (โข้) มิได้มีชิวิตผูกพันกับเจ้าหลวงมากนัก เพียงแต่มีผลงานการฮ่ำประตูคุ้มอยู่บ้าง ได้รับการบอกเล่า ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน จากนางพุ่ง เทพยศ ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ของท่าน ศรีวิไจย (โข้) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของเจ้าน้อยเทพ และนางแก้ว เทพยศ ท่านจะมีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ๘ คน เกิด ณ บ้านสีลอ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เดิม ชื่อศรีไจย แต่คำว่า โข้ แปลว่าใหญ่ อ้วน ทำนองนั้น แต่ถ้าจะพูดคุยกับตัวท่านส่วนมากจะเรียกลุงน้อยหรือ พ่อน้อย เท่านั้น ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับท่านที่อยู่ภาคกลางเสียก่อนว่าเหตุใดเขาจึงเรียกว่าน้อย ทั้งๆ ที่ เป็น โข้ แปลว่าใหญ่ทางภาคเหนือเรียกพระกับ เณร ไม่เหมือนกับทางภาคกลาง ถ้าเป็นเณรเขาเรียกว่า พระ ถ้าเป็นพระภิกษุ จะเรียกว่าตุ๊ หรือตุ๊เจ้า แต่ถ้าสึกจากการเป็นเณร เข้าเรียกกันว่าหนาน หรือภาษากลางเรียกว่า ทิด ฉะนั้นศรีวิไจย ซึ่งสึกจากเณรเขาจึงเรียกว่าน้อย ศรีจิไจย (โข้) ได้รับการยอกย่องให้เป็นกวีของจังกวัดแพร่ เพราะเป็นผู้มีพรสวรรค์ ทางด้านกวีท้องถิ่น เช่น ค่าว, ฮ่ำ, กาพย์ธรรมะ เนื่องจากตาบอดสนิททั้งสองข้างจึงจำเป็นต้องมีภรรยาที่เขียนหนังสือได้ เพื่อจะได้รับจ้างเขียนบทกวีขายเลี้ยงชีพ จนกระทั้งเสียชีวิตด้วยวัย ๘๒ ปี

นายนิมิตร คนบุญ ดูแลห้องสมุดชุมชน - ศูนย์หนังสือธรรมะ ของวัดศรีบุญเรือง โทรศัพท์ ๐๕๔ - ๕๑๑๔๑๒

 

วัดศรีบุญเรืองตั้งอยู่เลขที่ ๒๘ ถนนวิชัยราชา ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ แต่เดิมมานั้นวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๓๙ ตารางวา ในสมัยพระอธิการจำลอง รกฺขิตสีโล เป็นเจ้าอาวาส ได้มีผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินด้านทิศตะวันตกของวัดถวาย ๒ แปลง คือ อุบาสิการำพึง คงคะจันทร์ ถวาย ๒ งาน ๙๑ ตารางวา, คุณเครือวัลย์ กาญจนประดิษฐ์ และศรัทธาประชาชนซื้อถวาย ๑ งาน ๓๓ ตารางวา เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ และที่ดินทั้ง ๒ แปลงนี้พระอาจารย์จำลองได้แบ่งเป็นเขตชีทั้งหมด โดยสร้างกุฏิแม่ชีไว้ ๒๐ หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สมัยพระอธิการสมชาย สจฺจาสโก ได้มีผู้มีจิตศรัทธาประชาชนร่วมกันซื้อที่ดินทางทิศตะวันออกของวัดถวายอีก ๓ แปลง แต่ละแปลงมีเนื้อที่ดังนี้ แปลงที่ ๑ มีเนื้อที่ ๖๔ ตารางวา แปลงที่ ๒ มีเนื้อที่ ๕๗ ตารางวา แปลงที่ ๓ มีเนื้อที่ ๗๔ ตารางวา วัดศรีบุญเรืองมีเนื้อที่ทั้งหมด ๖ ไร่ ๑ งาน ๕๘ ตารางวา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 28 •มกราคม• 2012 เวลา 09:35 น.• )