คำกล่าวนี้ได้ยินเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว ไม่ใช่พึ่งเกิดพูดต่อ ๆ กันมา เมื่องแป้แห่ระเบิด, เมือง...กิ๋นขี้ไก่ต๋างฮ้า, เมือง...กิ๋นขี้ม้าต๋างเมี้ยง, เมือง...ห้องแถวไหล, เมือง...ข้าวหลามแจ้ง อีกหลาย ๆ คำ แต่วันนี้เรามากล่าวเรื่องเมืองแพร่กันก่อน เหตุเกิดขึ้นในท้องที่ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ หลังสงครามโลกทั้งที่ ๒ ได้สงบ เริ่มแรกนายหลง มโนมูล คนงานรถไฟสถานีแก่งหลวงได้ไปพบลูกระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรจุดประสงค์เพื่อระเบิดทำลายสะพานรถไฟข้ามน้ำห้วยแม่ต้า (อยู่ระหว่างสถานีรถไฟเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ กับสถานีรถไฟบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่)

เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พุทธศักราช ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘) เป็นคนแรก ซึ่งเป็นระเบิดด้าน(ไม่ระเบิด) จึงได้มาบอกนายสมาน หมื่นขัน จึงได้ไปดูและขอความช่วยเหลือจากคนงานรถไฟสถานีรถไฟแก่งหลวงที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ นายชุม ขันแก้ว นายชัยวัฒน์ พึ่งพอง นายพินิจ สุทธิสุข นายย้ายปัญญาทอง และได้ช่วยกันขุดขึ้นมาจากหลุมทรายที่ทับถมอยู่มีจำนวน ๒ ลูก (มีขนาดใหญ่กว่าถังแก๊สชนิดยาว)และทำการถอดฉนวนระเบิดออก แล้วใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดส่วนหางของลูกระเบิดล้วงเอาดินระเบิดออก เอาดินระเบิดที่ล้วงออกมาได้นำไปประกอบสร้างลูกระเบิดขนาดเล็ก ขึ้นมาใหม่จำนวนหลายลูก เพื่อใช้ในการระเบิดปลาที่น้ำยม (ห้วยแม่ต้าไหลลงสู่แม่น้ำยมใกล้แก่งหลวง) ส่วนตัวระเบิดนั้นได้ใช้ล้อเกวียนในการเคลื่อนย้าย พักไว้ที่บ้านแม่ลู้ ตำบนบ้านปิน ความหนักของระเบิดทำให้คานเกวียน(ซ้าวล้อ) หัก (และในวันที่เปิดพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ ทางพิพิธภัณฑ์ได้ขอยืมลูกระเบิดของจริงจากวัดนาตุ้ม นำมาแสดงโชว์ต้องใช้คนงานถึง ๖ คน ในการยก) ส่วนลูกที่ ๓ ช่วยกันขุดด้วยแรงคนไม่ได้เพราะจมอยู่ในหลุมทรายซึ่งมีความลึกจึงได้ตามนายบุญมา อินปันตี ซึ่งเป็นเจ้าของช้างลากไม้อยู่ในป่าบริเวณใกล้เคียง ให้นำช้างมาลากลูกระเบิดขึ้นจากหลุมทราย แล้วนำมาสมทบกับอีก ๒ ลูก จากนั้นจึงลากระเบิดมุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านสองข้างทางทราบข่าว และได้เห็นล้อเกวียนบรรทุกลูกระเบิดตามกันมา ๓ คันต่างก็เดินตามกันเป็นขบวนยาว ผ่านหน้าบ้านผู้ใด ต่างก็เข้ามาสมทบเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงบ้านแม่ลานเหนือใกล้วัด ชาวบ้านยิ่งออกมาดูกันมากขึ้น ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้วัดได้นำฆ้อง กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ ออกมาต้อนรับขบวนแห่ เหมือนกับการต้อนรับขบวนกฐิน หรือผ้าป่าทำนองนั้น แล้วแห่เข้าวัดทำการถวายลูกระเบิดให้เป็นสมบัติของวัดเพื่อใช้ทำเป็นระฆัง ส่วนระเบิดลูกที่ ๒ ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ สำหรับลูกที่ ๓ ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อทองลอง ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๓) ระเบิดลูกที่ ๑ เก็บไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ ระเบิดลูกที่ ๒ เก็บไว้ที่วัดวัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ ระเบิดลูกที่ ๓ เก็บไว้ที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อทองลอง ทางวัดได้จัดสร้าหอระฆังสูงไว้รองรับ ส่วนลูกที่สองทางวัดยังไม่ได้สร้าหอระฆัง ไว้รองรับ ส่วนลูกที่ ๑ เก็บไว้ใต้ถุนกุฏิ แต่หลังจากมีผู้นิยมเล่นของเก่าหายาก ได้เสนอราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทชาวบ้านเห็นว่าของมีคนต้องการและให้ราคาสูงและไม่ต้องการขายจึงได้สร้างกรงเหล็กดัดรอบไว้ เรื่องราวเป็นที่มาของคำว่า "เมืองแพร่แห่ระเบิด"

 

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 23 •กุมภาพันธ์• 2011 เวลา 13:25 น.• )