วัดสูงเม่น สันนิฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องสมัยกรุงรัตน โกสินทร์ตอนต้น ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยที่พม่าปกครองล้านนาและในช่วงที่ชาว ล้านนาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินขับไล่พม่า ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมีการพลิกฟื้นอารยธรรมล้านนาให้กลับมามีบทบาทในการพัฒนา บ้านเมือง และการค้ำชูพระพุทธศาสนา ซึ่งจากหลักฐานตามประวัติของครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรซึ่งท่านเป็นเจ้า อาวาสระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๓๒-๒๔๐๙ ก็พบว่า มีวัดสูงเม่นมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

วัดสูงเม่น เดิมเรียกว่า “วัดสุ่งเม้น” โดยมีเรื่องเล่าสืบๆ กันมาว่าแต่เดิมสถานที่ตำบลสูงเม่นเป็นป่าไผ่และทุ่งหญ้า รวมถึงป่าไม้เบญจพันธุ์ มี “เม่น” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าตระกูลหมูอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากและประกอบกับสถานที่เป็นที่ ทำเลดีมีหญ้าและท่าน้ำบริบูรณ์ พวกพ่อค้าวาณิชย์และคนเดินทางในสมัยอดีตจึงมักจะมาแวะพักแรมกันในบริเวณดัง กล่าว จนเรียกพื้นที่ตำบลนี้ว่า “ป๋างสุ่งเม้น” การที่พวกสัตว์และ “เม่น” อาศัยอยู่รวมกันมากหรือมีเม่นมากในบริเวณนี้ คนจึงเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “สุ่ง” ซึ่งได้ชื่อตามนิมิตของฝูงเม่นว่า “บ้านสุ่งเม้น”    วัดสูงเม่น     ในปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ ๓  ตำบลสูงเม่น  อำเภอสูงเม่น  จังหวัดแพร่

มีอาณาเขตดังนี้

ทิศตะวันออก จดถนนยันตรกิจโกศล

ทิศใต้ จดซอยและที่ธรณีสงฆ์แปลงที่  ๓ และลำห้วยแม่มาน

ทิศตะวันตก จดลำห้วยแม่มาน

ทิศเหนือ จดซอยและที่ธรณีสงฆ์แปลงที่  ๑, ๒  และหมู่บ้าน

หลักฐานการสร้างวัด

๑. วัน เดือน ปี สร้างและผู้สร้างไม่ปรากฏ

๒. ได้รับพระราชทานวิสุงครามสีมา  เมื่อวันที่  ๑๘  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๗๖  ขนาดด้านกว้าง  ๑๘  เมตร  ด้านยาว  ๓๐   เมตร

๓. มีการดำเนินการผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตเมื่อวันที่  ๑๕ พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๗

สำหรับวัดสูงเม่นนั้น ก็เช่นกันถือว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดแพร่มีอายุไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปี ผู้คนรู้จักวัดนี้ดีในสมัยที่ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร หรือชาวบ้านมักเรียกสั้นๆ ว่า “ครูบามหาเถรเจ้า” ซึ่งเป็นพระเถระที่มีผู้คนเคารพนับถือจำนวนมากนับตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครไปจน ถึงราษฎร โดยท่านเป็นพระที่มีความรู้ความสามารถ เป็นนักปราชญ์ทางวรรณกรรมล้านนา และมีศีลาจารวัตรอันงดงาม

การที่จะนับอายุวัดสูงเม่นจำเป็นต้องอาศัยบริบทหลายๆ ด้าน ทั้งหลักฐานทางประวัติ และจากตำนานต่างๆ โดยเฉพาะหลักฐานทางวรรณกรรมสำคัญเรื่อง “ตำนานธรรมครูบามหาเถรเจ้า”  ซึ่งเจ้าหลวงอินทวิชัยราชาเจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้มอบหมายให้หนานจันทร์ติ๊บและหมื่นวัดเขียนไว้เมื่อ จ.ศ. ๑๒๐๐ (พ.ศ.๒๓๘๑) โดยเป็นใบลานหนา ๔๕ ใบ ใบละ ๔ บรรทัดเรียกว่าลานสี่ ค้นพบและเก็บรักษาไว้ที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงประวัติพระครูบามหาเถรเจ้าว่าเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดสูงเม่นซึ่งเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนแล้วในหมู่บ้านสูงเม่นในสมัยนั้นและ กล่าวถึงการสร้างคัมภีร์ธรรมของครูบามหาเถรเจ้า  (ดูใน ประวัติวัดสูงเม่น, ๒๕๓๙ และสัมภาษณ์พ่อหนานพรหมา  กาศมณี) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“...ถึงยามดีรุ่งเจ๊า พ่อเจ้าอินทราชราจา ก็นำครูบามหาเถรเจ้าเข้าสู่เวียงโกศัย คนทั้งหลายก็เข้ามากราบไหว้บูชาครูบาต๋นยศใหญ่ที่วัดข่วงแก้วศรีจุม เป็นปี จ.ศ. ๑๑๔๑ ดับเม็ด พ.ศ.๒๓๒๒ ยามนั้นพ่อเจ้ามักใคร่สร้างยังมณฑปไว้ประดิษฐานพระถะรัยปิฏกะที่วัดสุ่งเม้น เมืองมานด่านใต้ จิ่งมีราชอาญาวางหื้อแก่ต้าวแสนจิตตะปัญญารับราชโองการกับด้วยหมื่นวัด ออกไปจั๊กจวน (ชักชวน) ป่าวร้องเอากั๋นเข้าป่าตัดไม้ มาแป๋งมณฑป (มาสร้างมณฑป)แล้วเกณฑ์เอาพวกสล่าตาแสงใน และสล่าตาแสงนอก (ช่างสาขาต่างๆ) หื้อมาวัดมอกศอกวา ยามนั้นเข้าก็เอากั๋นไปจัดแจงตามราชโองการสร้างแป๋งมณฑปไว้ที่วัดสุ่งเม้น มีขนาดกว้าง ๕ วา ยาว ๗ วา ติดทาน้ำฮักน้ำหาง แป๋งฮางเฮือใส่น้ำฮองติ๋น (รางน้ำที่โคนเสา) เส่ากู่ต้น (ทุกต้น) กั๋นมดปวก ลำเสาสลักด้วยลายเถาวัลย์หวันเสาเกี้ยวขึ้นไปเถิงคอเสากู่ต้น ฝาผนังทึบเขียนรูปชาดกปางเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรไว้ด้านเหนือและด้านใต้ ส่วนด้านหน้าทางตะวันออก เขียนปางเสด็จออกบวชของเจ้าสิถธารถ (พระสิทธัตถะกุมาร) ปายบนหน้าจั่วขจิตด้วยดวงดอกรูปเทพนมทาด้วยน้ำฮัก น้ำหาง และคำแดงดูเรืองเรื่อ เพื่อหื้อเป็นที่จำเริญตาแล้วสร้างมณฑปครอบไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นมณฑปสองชั้น ชั้นนอกก่อด้วยอิฐถือปูนมาขึ้นมาประมาณ ๒ ศอกแล้วบุซี่ลูกกรง มองเห็นรูปจิตรกรรมฝาผนังได้ดี งานก่อสร้างได้ทำประมาณเดือนเศษๆ...”

และความว่าจากตำนานการสร้างธรรมดังกล่าว ยังระบุอีกว่า

“...เมื่อ สมคนิงแล้วต้าวแสนปิงผู้ใหญ่อันท่านใส่ไว้ต๋างต๋ากับต่านแสนจิตตะปัญญาจ๋า กั๋นว่า สองเราก็มาสร้างพระมณฑปก็ครบบรมวลแล้ว ยังค้างเต่ามัคกาตางไต่เต้ายังไป่ตันแล้วเตื่อ (คงค้างแต่ถนนหนทางที่ยังสร้างไม่เสร็จ) จิ่งป่าวร้องไพร่ราษฎรว่าจักสร้างตางเพื่อพ่อเจ้าจักเสด็จผ่านมานี้ หื้อมาจ่วยกั่นแป๋งตางดีเส้นใหม่ตั้งหม้อน้ำและปักจ่อน้อยตุงใจปลูกกล้วย อ้อย ยายเป็นถ้อยดีงาม ที่ไหนต่ำถมหื้อสูง ที่ใดเป็นท่าหื้อแป๋งขั๋ว (สะพาน)...”

“...พอสำเร็จบรมวลแล้ว ก็เข้าไปกราบทูลว่า งานเสร็จแล้วสมควรยาตราได้ ยามนั้นพระปิ่นแก้วก็ได้ปกป่าวแก่ขุนหาญน้อยใหญ่หื้อห้างไพร่พลโยธาทั้งเสนา ๔ หมู่ หื้อตี๋ตุ๊บไปก่อนหน้าพวกหอกดาบหาบกอนไปเติ๋มหลัง เสียงนันเสียงเกิดก้องเสียงจ้างม้าฮ้องอึงดังไปรอดร่องกาศหน้าดอนตัน (ตลาดหน้าบ้านดอนตัน) มีฝูงคนเอากั๋นมาต้อนรับ พ่องก็คำนับจ๋าขาน พ่องยกของมาตานจิ่มเจ้าครูบา ยามตาวันกาล่วงบ่าย จึ่งด้วยออกจากบ้านดอนตันเอากั๋นลัดโต่งกว้าง (ทุ่งกว้าง) สู่บ้านหลวงคนทั้งปวงออกมาต้อนรับเนืองนอง ถวายของต่อหน้าสมเด็จเจ้าฟ้าและต๋นครูบามหาเถรเจ้า ยามนั้นเขาอาราธนาตํนครูบายศใหญ่ต่านได้เตสนาธรรม เสร็จแล้วเขาก็นำเอาแผ่นผ้าแป๋งเป็นกั๋มปีธรรม (ผ้าห่อพระคัมภีร์) ถวายนำตามแต่ได้มหาเถรต่านไท้ก็ได้ไขวาจ๋าสมควรแก่เวลาตาวันกาล่วงบ่ายลงแลง อดใจแข็งยกออกมีวัดสุ่งเม้นเป็นม๋อกป๋ายตาง ลางพ่องขอแบกกั๋มปีธรรมนำไปก่อน พวกเด็กอ่อนจุมสาวชาวบ้านเดินติดตามขบวนยศใหญ่ไต่ตางไปตามโต่ง แล้วเถิงฮอดกลางข่วงแก้วอารามวัดสุ่งเม้นยามตาวันแดงๆ เขาห้างแป๋งตี๋ไว้ในวิหารหลังงามใหญ่ แล้วนั้นเป็นกองจิ่งได้จ๊ะหลองอึ๊ดเอ๊า กับสมเด็จเจ้าเมือง และไพร่ราษฎรถ้วน ๗ วัน ๗ คืน...”

ตำนานดังกล่าวได้ระบุถึงคัมภีร์ธรรมที่เจ้าหลวงอินทราชาและราษฎรได้ร่วมการสร้างว่ามีจำนวนมากมาย ดังนี้

“...กั๋มปีธรรมนำมาหนนี้นับได้มีวินัยอังคุตระนิกาย ๔๘๖ ผูก เป็นมัดมี๘๙ มัด จัดเป็นใบลานได้ ๑๔,๘๐๐ ใบลาน ส่วนที่เป็นบาลีอรรถกถามี ๒๕๖๗ มัด จัดเป็นผูกได้ ๘๘๔๕ ผูก เป็นใบลานได้ ๘๕,๐๐๐ ใบลาน มีมูลกัจจายนะและบาลีศัพท์สูตร บาลีสังขยา บาลีสนธิและบาลีสมาส ขยาด กิตต์ สนธิ และธัมมะปาต๊ะ...”

จากตำนานการสร้างธรรมของครูบามหาเถรดังกล่าว แสดงถึงประวัติ ความเป็นมา และความสำคัญของวัดสูงเม่นเป็นอย่างดี

เสนาสนะ และปูชนียวัตถุ/โบราณวัตถุวัดสูงเม่น

วัด สูงเม่นได้รับพระราชวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๗๖ มีขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๐ เมตร และมีปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน และโบราณวัตถุ ที่สำคัญ ได้แก่

๑. อุโบสถ อุโสถวัดสูงเม่นเป็นอุโบสถเก่าแก่ศิลปะล้านนาหลังหนึ่งที่มีความงดงาม สันนิฐานว่ามีอายุไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปี โดยมีขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๗ เมตร ลักษณะทั่วไป โครงสร้างเป็นแบบทรงล้านนาพื้นเมือง มีลวดลายล้านนาพื้นเมืองปนศิลปะพม่า มีเสาไม้สักจำนวน ๑๖ ต้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘๐  ซม. สูง ๗ วาลงรักสีดำเขียนลายเถาว์ด้วยสีทอง เพดานอุโบสถขจิตด้วยลวดลายแบบศิลปะพม่าและล้านนา หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา หน้าบันสลักรูปนาคีเกี้ยวพันกัน อุโบสถได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อๆ กันมาหลายสมัย แต่ตัวโครงสร้างอุโบสถเป็นของเก่า ไม่มีการขยายหรือรื้อสร้างใหม่แต่อย่างใด อุโบสถ์หลังนี้เดิมเป็นวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ๓ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ สมัยครูบากัญจนอรัญญสีมหาเถร บูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๔ มีการเปลี่ยนแปลงหลังคาจากหญ้าคาเป็นไม้สัก โดยการตีระแนงมุงแป้นเกล็ด (แผ่นไม้สัก) ยกพื้นให้สูงขึ้น

ครั้งที่ ๒ สมัยพระครูปัญญาวุฒิกร บูรณะเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ มีการเทพื้นด้วยคอนกรีต ต่อมุข มุงบันไดด้านหน้า เมื่อจ.ศ. ๑๒๘๘ หรือปีพ.ศ. ๒๔๖๙ เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องซีเมนต์ แต่งแท่นพระประทานเป็นกระจกสีต่างๆ และได้ทำการผูกพัทธสีมา พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงเรียกวิหารหลังนี้เป็นอุโบสถตลอดมา

ครั้งที่ ๓ พระครูธรรมานุรักษ์ บูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๐ โดยการขยายหน้าต่างให้กว้างเปลี่ยนหลังคาจากมุงกระเบื้องซีเมนต์มาเป็น กระเบื้องเคลือบดินเผา ลวดลาย และดอกดวงต่างๆ คงสภาพไว้ตามเดิม มีแต่เพิ่มซุ้มเหนือหน้าต่าง ให้เป็นลายไทยและประตูอุโบสถ ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก ได้แกะสลักเป็นรูปดอกบัว ๔ เหล่า ที่บานหน้าต่างได้แกะสลักเป็นลายไทย

๒. หอพระไตรปิฎก เป็นตึกชั้นเดียว พื้นเทคอนกรตี หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ มีขนาดกว้าง ๔.๘ เมตร ยาว ๖.๕ เมตร มีรางน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันมด ปลวก และแมลงต่างๆ หอไตรบรรจุพระไตรปิฎกฉบับพื้นเมืองและคัมภีร์ธรรม วรรณกรรมล้านนาที่ครูบามหาเถรเจ้านำมาไว้ หอไตรดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวรรณกรรมภาษาล้านนามากที่สุด ในประเทศไทย ต่อมาพระครูปัญญาวุฒิกรสร้างขึ้นแทนหอพระไตรปิฎกหลังเก่าที่ครูบามหา เถรสร้างไว้ หอพระไตรปิฎกหลังใหม่นี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙

๓. พระประธานในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารพิชัยก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ไม่ปรากฏผู้สร้างมาก่อนได้รับปฏิสังขรณ์สืบกันมาหลายชั่วอายุคน ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ สมัยพระครูปัญญาวุฒิกรเป็นเจ้าอาวาส มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก สูงจากฐานถึงพระโมลี ๖ ศอก ๑๐ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงาม วงพักต์ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม

๔. พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปของวัดสูงเม่นมีจำนวนหลายองค์แต่ที่สำคัญมีจำนวน ๓ องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารพิชัยศิลปะสมัยเชียงแสน พบว่า เป็นของเก่ามีมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยมีขนาดต่างกันคือ

องค์ที่ ๑ หน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว สูง ๓ ศอก

องค์ที่ ๒ หน้าตักกว้าง ๒ ศอก สูง ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว ฐานเป็นขา ๓ เส้า

๕. พระพุทธรูปปางทรงเครื่อง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ลวดลายสวยงามมากขนาดหน้าตัก กว้าง ๑๕ นิ้ว สูง ๑๘ นิ้ว ประดับด้วยกระจกสีขาว มุกสีขาว พระพักตร์ และพระหัตถ์สีขาว เป็นของมีมาแต่เดิม จำนวน ๒ องค์

๖. พระพุทธรูปสานด้วยไม้ เป็นพระพุทธรูปปางมารพิชัย ฉาบทาด้วยน้ำรักผสมปูนผนึกแบบโบราณ เป็นพระพุทธรูปศิลปแบบพม่า ขจิตด้วยกระจกสีขาว และฉาบทาด้วยสีทอง เป็นของเก่ามีมาแต่เดิม

๗. พระพุทธรูปสลักด้วยไม้ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว สูงจากฐาน ๗ นิ้ว ฉาบทาด้วยทองเหลืองมีพุทธลักษณะสวยงามมาก มีฐานบุด้วยมุกและกระจกสีขาวมีลายจารึกเป็นอักษรพื้นเมืองเป็นพระพุทธรูปที่ ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร สร้างไว้เมื่อจุลศักราชได้ ๑๒๑๗

๘. พระพุทธรูปสลักด้วยไม้ มีลักษณะเป็นพระปางมารพิชัยสีหน้าพระปฤษฎางค์พิงกัน ฉาบทาด้วยสีทอง สวยงามมาก เป็นพระพุทธรูปทรงกลมสูง ๕ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่ครูบามหาเถรเจ้า ได้สร้าง เมื่อ จ.ศ. ๑๒๑๗

๙. เจดีย์วัดสูงเม่น  เป็นเจดีย์ทรงหกเหลี่ยม ๑๗ ฐานกว้าง ๖ วา ๓ ศอก สูง ๙ วา ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว บรรจุพระบรมธาตุและสารีริกธาตุ ซึ่งครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร นำมาแต่ประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๓  จำนวน ๑๓ ดวง ที่ฐานเจดีย์ด้านใต้ ทำเป็นซุ้มประดิษฐานรูปจำลองของครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘  สมัยพระพรหมา โชติวโร เป็นเจ้าอาวาสมีงานนมัสการ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ใต้ (เดือน ๘ เหนือ) ทุกปี

ขอบคุณข้อมูลจาก ข้าวแคบ ขนมจ๊อก (นามปากกา Facebook)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 07 •กุมภาพันธ์• 2012 เวลา 13:44 น.• )