เหตุการณ์ร้ายแรงหลังเงี้ยวปล้นเมือง นายร้อยเอก มาควอร์ด เย็นเซ่น เป็นชาวเดนมาร์ค เกิดในประเทศเดนมาร์คเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๗๘ (พ.ศ. ๒๔๒๑) เมื่อโตใหญ่ก็เข้ามารับราชการในประเทศสยาม คงติดตามนายพันโท พระวาสุเทพ (G. Schau) ชาวเดนมาร์ค เจ้ากรมตำรวจภูธรมา ถูกส่งไปเป็นครูฝึกตำรวจภูธรที่เชียงใหม่ เมื่อเงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพเมื่อเดือน กรกฎาคม ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ได้รับคำสั่งจากพระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ ให้คุมตำรวจจากเชียงใหม่จำนวน ๕๐ นายเดินทางไปช่วยป้องกันเมืองนครลำปาง ซึ่งเงี้ยวส่งข่าวคุกคามขู่จะปล้นเมือง อย่างที่ปล้นเมืองแพร่สำเร็จมาแล้ว

ออกเดินทางจากเชียงใหม่ทางบกโดยพาหนะม้าและคนหาบหามเสบียงสัมภาระจำนวนหนึ่ง เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๑๒๑ ใช้เวลาเดินทาง ๔ วันถึงลำปางเมื่อ ๒๙ ตุลาคม ๑๒๑ พอถึงก็รีบจัดการป้องกันเมืองให้เข้มแข็งโดยทันที โดยสร้างเครื่องกีดขวางตามถนนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากชาวอังกฤษ คือมิสเตอร์หลุย ที ลิโอโนเวนซ์ ผู้รับอนุญาตทำไม้สักที่ลำปาง ซึ่งเป็นบุตรของแหม่มแอนนา ลิโอโนเวนซ์ ครูผู้สอนหนังสืออังกฤษแด่ราชโอรส ราชธิดา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง กับมิสเตอร์ทอมปสัน จัดวางเวรยามตำรวจและชาวบ้านตามจุดต่าง ๆ และที่ถนนทุกสายมจากเมืองแพร่ พร้อมทั้งออกตรวจตราที่กลางวันและกลางคืนโดยไม่ประมาท เพราะเงี้ยวส่งข่าวข่มประสาทเข้ามาเรื่อย ๆ ทุกวัน จะเข้าโจมตีวันนั้นวันนี้ ชาวเมืองก็ประสาทเสีย ร่ำ ๆ จะอพยพเข้าป่าทุกขณะ เกือบจะรั้งไม่อยู่แล้ว มีเวลาเตรียมพร้อมเพียง ๖ วันเท่านั้นเอง พอวันที่ ๔ สิงหาคม ๑๒๑ พะก่าหม่องกับหัวหน้าเงี้ยวเมืองลองก็สำคัญคนหลาย นำพรรคพวกเงี้ยว ๒๐๐ คนจากแพร่ และเข้ามาสมทบจากเมืองสองและระหว่างทางอีก ๒๐๐ คนเป็นจำนวน ๔๐๐ คน เข้าโจมตีเมืองนครลำปางตอน ๕ น. ได้ทำการยิงต่อสู้กันตามถนนในเมืองถึง ๒ ชั่วโมง เงี้ยวต้องเสียชีวิตมากถึง ๖๐ ศพ ต้องล่าถอยไป ลำปางไม่แตกก็เพราะได้นายร้อยเอกเย็นเซนเป็นผู้นำการต่อสู้ เพิ่มขวัญกำลังใจอย่างสูง ถ้าปราศจากเสียแล้ว ชะตากรรมของลำปางจะเป็นอย่างไร เพราะคนเมืองไม่มีแก่ใจสู้ คิดหนีท่าเดียว การประสพชัยชนะครั้งนี้ ทำให้นายร้อยเอกเย็นเซ่นกลายเป็นบุคคลสำคัญวีรบุรุษของลำปางขึ้นมาทันที ชาวเมืองเลื่อมใสศรัทธามากยกย่องให้เป็นผู้กล้าหาญของเมือง

เมื่อเงี้ยวรวบรวมคนได้มีกำลังกล้าแข็งขึ้น ได้ก่อการกำเริบขึ้นอีกเมื่อ ๔ ตุลาคม ๑๒๑ ยกลงมาจากเชียงคำเข้าพะเยา และกำลังยกลงมาเมืองงาว มีจุดหมายที่จะปล้นเมืองลำปางอีกพระยาอนุชิตชาญชัยแม่ทัพที่ลำปาง จึงสั่งให้นายร้อยเอกเย็นเซ่นคุมตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ๘๐ นายยกขึ้นไปปราบเงี้ยวที่พะเยาเมื่อต้น ตุลาคม ๑๒๑ และสั่งให้เจ้าราชภาติกวงษ์คุมทหาร ๔๐๐ คนตามขึ้นไปในวันรุ่งขึ้น นายร้อยเอกเย็นเซ่นยกขึ้นไปถึงงาวเมื่อ ๑๑ ตุลาคม เดินทางต่อจากงาวไปถึงบ้านแม่กาท่าข้ามเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๑๒๑ พอข้ามน้ำแม่กาไปขึ้นฝั่งเหนือ ก็พบเงี้ยวซึ่งยกกำลังมาจากพะเยาที่ห้วยเกี๋ยงไหลลงสู่น้ำแม่กา ขุดสนามเพลาะริมฝั่งห้วยคอยรับมืออยู่แล้วอยู่แล้ว ทั้ง ๒ ฝ่ายยิงต่อสู้กัน ฝ่ายไทยยิงเงี้ยวตายประมาณ ๑๐ คน บาดเจ็บมีรอยเลือดตามรายทางอีกหลายคนเงี้ยวระดมยิงเจาะจงโดยเฉพาะนายร้อนเอกเย็นเซ่นคนเดียว กล่าวกันว่าถูกที่อกซ้าย ๓ นัดถึงแก่ความตายมันทีเพียงคนเดียว กองตำรวจภูธรก็ต้องถอนกำลังพาศพกลับข้ามน้ำแม่กามาอีกฝั่งหนึ่งสมทบกับกองทหารซึ่งติดตามมา ตั้งมั่นคอยรับมืออยู่ พร้อมกับขอกำลังเพิ่มเติมกับปืนใหญ่ไปยังแม่ทัพที่ลำปางด้วยนายร้อยเอกเซ็นเซ็นถูกยิงเสียชีวิตนั้น รัชกาลที่๕ ทรงกล่าวถึงดังนี้ “แต่ที่จริงซึ่งนายร้อยเอกเย็นเซ่นตายนี้ เห็นจะเป็นด้วยกล้าเกินไป อย่างเช่นเคยสำแดงเดชมาเสมอ คือชักดาบออกวิ่งหน้าทหารอย่างทหารฝรั่ง แต่ไอ้พวกนี้มันสนัดแอบยิง ซุ่มยิง คราวก่อนข้างฝ่ายเงี้ยวเป็นผู้มาตีอยู่ในที่แจ้ง คราวนี้อยู่ในสนามเพลาะ เราเป็นผู้ไปตีอยู่ในที่แจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายเรามีผู้ใดตาย นอกจากนายร้อยเอกเย็นเซ่นคนเดียว” ครั้นเวลาเที่ยง เงี้ยวยกกำลัง ๑๕๐ คนข้ามฟากน้ำแม่กาติดตามมา ยิงต่อสู้กับกองทหารและตำรวจภูธรอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง เงี้ยวสู้ไม่ได้ก็แตกล่าถอยข้ามน้ำกลับไป และถูกขับไล่ไปจนพ้นบ้านแม่กาท่าข้าม การสู้รบครั้งนี้ ฝ่ายไทยยิงเงี้ยวตาย ๔ คนเมือง ๑  จับแขกชาวเมืองได้ ๕ ม้า ๗ ตัวทหารและตำรวจภูธรทุกคนปลอดภัย เจ้าราชภาติกวงษ์ยกกำลังทหารและตำรวจภูธรติดตามอย่างกระชั้นชิดไปจนถึงพะเยาเวลากลางคืนในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๑๒๑ บ่าย ๒ โมงวันรุ่งขึ้น ก็ขับไล่เงี้ยวออกจากเมืองไปได้หมดเงี้ยวล่าถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านท่าฟ้า แขวงเมืองสา บริเวณน่านเหนือ คอยรับมืออยู่อีก การปราบปรามเงี้ยวที่บ้านท่าฟ้านี้ แม่ทัพหน้าไทย พระยาดัษกรปลาศต้องถูกกดดันให้ต้องโทษถึง ๑๒ ปี จากอังกฤษซึ่งเข้ามาแทรกแซงอย่างเต็มตัว เนื่องจากการรบรุกไล่ติดพันกัน จึงต้องนำกลับลำปางโดยนายเย็นเซ่นขึ้นไปกับกองทหารและตำรวจภูธรไปฝากไว้ที่วัดพะเยาด้วย แล้วจึงนำกลับลำปางโดยนายร้อยเอกทอลเล่ ศพได้เก็บไว้ที่ลำปางเป็นเวลา ๓ เดือน จึงได้ประกอบพิธีปลงศพอย่างใหญ่โตสมเกียรติยิ่งในฐานะวีรบุรุษผู้กู้เมืองลำปางให้รอดพ้นเงื้อมมือเงี้ยวได้ ทั้งทางพุทธและคริสต์ศาสนาในเวลาเดียว พิธีทางพุทธศาสนามีดังนี้ “เจ้าพนักงานได้จัดตกแต่งที่ศาลาวังธารเป็นที่ตั้งศพ ประดับประดาด้วยผ้าขาว ผ้าดำแลในไม้สด ครั้นถึงวันที่ ๑๗ มกราคม ๑๒๒ ได้ชักศพนายร้อยเอกมิสเตอร์เย็นเซ่นมาตั้งที่ศาลาวังธาร รุ่งขึ้นวันที่ ๑๘ มกราคม ศก ๑๒๒ แต่เวลาเช้าจนเที่ยง เจ้าบุญวาทวงษ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง พร้อมด้วยเจ้านายแลข้าราชการได้แต่งตัวไว้ทุกข์ แลได้จัดพวงมาลาไปเยี่ยมศพนายร้อยเอกมิสเตอร์เย็นเซ่น ณ ที่ศาลาวังธาร ครั้นบ่าย ๑ โมง เจ้านายข้าราชการพร้อมกับแล้ว เจ้าบุญวาทวงษ์มานิตย์ เจ้าครองนครลำปาง ได้จัดให้มีเทศนาหน้าศพ ๒ กัณฑ์ แลมีพระสงฆ์บังสุกุล ๕๐ รูป ถวายเครื่องไทยธรรมตามสมควร ครั้นเสร็จการทำบุญแล้ว เจ้านายราชการไปพักที่เต้นท์หน้าศาล แลมีการเลี้ยงรับรองเวลากลางวันด้วย เวลาบ่าย ๔ โมง มี... ศาลา ๒๕ คู่ แลเวลาค่ำได้มีการเล่นคือสวดคฤหัสถ์ที่บนศาลาวังธาร ๑ สำหรับมีหนังตุลุง ๑ โรง มีซอเมืองที่เต็นท์รับแขก ๑ วง รุ่งขึ้น วันที่ ๑๙ มกราคม ศก ๑๒๒ เวลาเช้า ๓ โมง ได้เลื่อนศพนายร้อยเอกมิสเตอร์เย็นเซ่น ลงจากศาลาวังธาร ตั้งบนคานหาม มีพลตำรวจหาม ๑๒คน นายพันตรีเจ้าราชภาติกวงษ์ แล นายร้อยนายสิบตำรวจภูธร พากันเดินตามศพ แลมีทหารเดินนำหน้าศพตามเกียรติยศ เจ้านาย ข้าราชการ ชาวต่างประเทศพากันไปคอยศพอยู่หน้าโบสถ์ฝรั่งเป็นอันมาก ครั้นศพถึงหน้าโบสถ์แล้ว เจ้าบุญวาทวงษ์มานิตย์ เจ้าครองนครลำปาง แลเจ้านายข้าราชการซึ่งคอยรับอยู่ที่นั้น ช่วยยกศพเข้าตั้งในโบสถ์ ครูชาวอังกฤษแลเมริกันเทศน์แลสวดอยู่ประมาณ ๒ ชั่วโมงก็พาศพออกจากโบสถ์ ไป ณ ที่ฝัง เจ้าบุญวาทวงษ์มานิตย์แลเจ้านายข้าราชการชาวต่างประเทศไปช่วยฝังตามประเพณีของชาวต่างประเทศ แลได้ปักป้ายชื่อไว้ ณ ที่ฝังดังนี้ “นายร้อยเอก เย็นเซ่น ชาติเดนมาร์ค อายุ ๒๔ ปี เป็นพลตำรวจภูธรมณฑลพายัพถึงแก่กรรมในเวลาต่อสู้ผู้ร้าย เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ศก ๑๒๑ ที่ตำบลบ้านแม่กา แขวงเมืองพะเยา” ในการจัดการศพนายร้อยเอกมิสเตอร์ เย็นเซ่น คราวนี้ มีนายข้าราชการแลจีนลูกค้าได้มีความยินดีออกช่วยในงานศพ นายร้อยเอกมิสเตอร์ เย็นเซ่น รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๖๓๒ บาท ๓๒ อัฐ” ทางศาสนาคริสต์ ศพนายร้อยเอก เย็นเซ่น ได้ฝังไว้ที่สุสานอเมริกัน ลำปาง สุสานนี้ถูกปิดไปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๖ พื้นที่ถูกใช้ประโยชน์อย่างอื่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ มิสเตอร์ อี ดับบริว ฮัตจินสัน ได้เคลื่อนย้ายเฉพาะแท่งศิลาเหนือหลุมศพไปยังสุสานต่างประเทศที่เชียงใหม่ มีคำจารึกเป็นภาษาอังกฤษว่า “อนุสาวรีย์ ของ แฮนส์ มาควอร์ด เย็นเซ่น นายร้อยเอกในกองตำรวจภูธร เกิดในเดนมาร์ค ๑๘๗๘ เสียชีวิตโดยโจร ที่บ้านแม่กา พะเยา เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๑๙๐๒” ส่วนศพยังคงฝังไว้ที่ลำปาง มารดาของนายร้อยเอก เย็นเซ่น อยู่ที่เดนมาร์ค ได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพปีละ ๓,๐๐๐ บาท จนกระทั้งถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๘ สถานที่ที่นายร้อยมาควอร์ด เอกเย็นเซ่น วีรบุรุษของลำปางเสียชีวิตที่ห้วยเกี๋ยงบ้านแม่กาใต้พะเยาลงมา ๑๑ กิโลเมตร ตรงหลัก กิโลเมตร ๗๒๕.๖ จากกรุงเทพ ฯ ห่างจากถนนไปทางตะวันออก ๑๐๐ เมตร มีอนุสาวรีย์และแผ่นจารึกเป็นภาษาอังกฤษทำครั้งนั้น และภาษาไทยเพิ่งทำใหม่ภายหลัง มีข้อความดังนี้ “อนุสาวรีย์แด่ ร.อ. แฮนส์ มาควอร์ด เย็นเซ่น นายตำรวจไทยเชื้อชาติเดนมาร์ค เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ติดตามปราบปรามโจรเงี้ยวซึ่งพยายามปล้นยึดเมืองลำปาง ณ บ้านแม่กา ห้วยเกี๋ยง แขวงเมืองพะเยา เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)” พลตำรวจชวรวย ปริยานนท์ ผู้บังคับตำรวจภูธรเขต ๕ และตำรวจบูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ใกล้อนุสาวรีย์ต้นไม้ ๓ ต้น ต้นใหญ่ที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๐ เซนติเมตร เป็นที่หมายใกล้กันมีรั้วยาว ๓ เมตร ล้อมรอบบริเวณสี่เหลี่ยมจัตุรัส  เป็นสถานที่นายร้อยเอกเย็นเซ่นปักหลักยิงต่อสู้กับเงี้ยวพบจุดจบ มีระยะทางห่างจากสะพานข้ามห้วยเกี่ยงราว ๓๐๐ เมตร เงี้ยวคงจะคืบคลานมาตามพงหญ้าในลำห้วยเกี๋ยง ทางด้านตะวันออกของถนน แล้วลอบยิงปลิดชีพเขา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ผ่านสถานที่นี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลง ๔ สุภาพ ๒ บท ในลิลิตพายัพ สดุดีนายร้อยเอกเย็นเซ่น ดังนี้

ตอนบ่ายขับม้าผ่าน แลเห็น : ที่ตำรวจร้อยเอกเย็น เซ่นม้วย : เพราะไล่รุกเงี้ยวเป็น สามารถ : สนองเดชภูเบศวร์ด้วย ชีพครั้งจำเป็น : เย็นเซ่นเดนมาร์คเชื้อ ชาติไฉน : สวามิภักดิ์ตราบบรรลัย ชีพได้ : ควรเราที่เป็นไทย จำเยี่ยง : ผิวะเหตุโอกาสไซร้ เกิดแล้วไป่สยอง

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 12 •มกราคม• 2012 เวลา 11:41 น.• )