ประเพณีกินเข้าสลาก  หรือ สลากภัตรจันตา งานทำบุญ  กินเข้าสลาก  ที่เรียกหลากกันว่า กินสลาก หรือ กินกวยสลาก (อ่าน”กิ๋นกวยสลาก”) คืองานประเพณีทำบุญสลากภัตร ซึ่งนิยมทำกันในช่วงกลางพรรษา ในราวปลายเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม และจะกินกันถี่มากในเดือนกันยายน  เพราะถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่อดยากของชาวบ้าน ด้วยเหตุหลายประการ ประการสำคัญคือข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางใกล้จะหมดหรือหมดไปแล้วคนที่มีข้าวเปลือกก็จะเก็บไว้กินจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่มาใส่ในปีต่อไปซึ่งจะเป็นในราวเดือนมกราคม  คนที่ซื้อกินข้าวสารก็จะหาซื้อยากและมีราคาแพง  ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าในระหว่างเดือนเหล่านี้เป็นเดือนที่แร้งแค้นอดอยาก

เมื่อคนทั่วไปอดอยากก็พากันคิดถึงผีที่เป็นญาติพี่น้องคงจะอดอยากเช่น กัน  ห่วงว่าพ่อแม่พี่น้องที่ตายไปแล้วจะไปมีเครื่องอุปโภคบริโภค  จึงร่วมกันจัดพิธีทำบุญทานข้าวสลาก  จัดข้าวปลาอาหารกินของใช้ไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์  เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป  การทำบุญทานข้าวสลากมีพิธีการทานผิดกับการทานในโอกาสอื่นตรงที่ไม่จำเพาะเจาะจงแก่สงฆ์รูปใดองค์ใด  จึงทำเป็นสลากไปร่วมประถมกันให้ภิกษุสามเณรจับสลากหรือฉลาก  หา กวย  สลาก   หรือภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานตกที่ภิกษุหรือสามเณรรูปใดก็ยกกวยสลากถวายแก่รูปนั้น

ความเชื่อของชาวบ้าน ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า /ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี แก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์ /สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา ตามนิทานปะรัมปะรา (ขอบคุณวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และครูบ้าบอล สำหรับข้อมูลประเพณีกิ๋นสลากครับผม)

วันงานทานข้าวสลากนี้  ชาวบ้านจะนัดหมายตกลงกันว่าวันใดจะเป็นวันทานข้าวสลาก  โดยเริ่มจากวันสำคัญที่สุดในละแวกเสียก่อน  ซึ่งงานจัดนั้นจัดให้มีงาน  ๒ วัน คือ วันแต่งคา  หรือวันสุกดิบ วันหนึ่งและ  วันทาน  หรือ  วันถวายทาน  อีกวันหนึ่ง  ในวันแต่งตานั้น  ทุกหลังคาเรือนจะจัดหาวัตถุข้าวของของกินของใช้ตามกำลังศรัทธา  ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านไม่ว่าใกล้หรือไกล  เมื่อรู้ข่าวก็จะพากันมาช่วยมารอม(อ่าน “ฮอม”) คือร่วมบริจาคจตุปัจจัยสมบทในการบำเพ็ญทานตามสายญาติของตน

อุปกรณ์สำคัญในการทำบุญกินข้าวสลาก  ประกอบด้วย
๑. ต้นสลาก  คือเครื่องไทยทานที่จัดเป็นพุ่ม  ตามแนวของต้นกัลปพฤษ์  ต้นสลากแบ่งออกเป็น  ๓  ระดับฉลากใหญ่เรียกว่า  สลากโชค  หรือ  กวยโชค  (อ่าน”โก๋ยโจ้ค”) ต้นสลากขนาดปานกลางเรียกว่า กวยสำรับ ต้นสลากขนาดเล็กเรียกว่า  กวยซอง  คือตะกร้าที่สานอย่างง่าย ๆ  อย่างหนึ่งส่วนตัดสลากพิเศษเรียกว่า  สลากย้อม
กวยโชค นี้เป็นค่าไทยทานที่ทำอย่างวิจิตรและมีขนาดใหญ่  บางที่อาจทำเป็นซองอ้อยหรือกระยะมีขาสูงแต่เอวมีกำฟางประดับด้วยดอกไม้  หรือกิ่งไม้แขวนด้วยเครื่องใช้ต่าง ๆ บางแห่งใช้ไม้ไผ่รวกทั้งลำเสียบปักของกินของใช้ตั้งแต่ต้นถึงปลายบางครั้งก็ใช้กระบุงขนาดใหญ่ปักด้วยต้นตาหรือหญ้าคาทำเป็นกำยาวแล้วแขวนด้วยวัตถุข้าวของต่าง ๆ บางท้องถิ่นสร้างเป็นบ้านจำลอง  ใส่ด้วยข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนจนครบทุกอย่างบางท้องถิ่นสร้างเป็นรูปปราสาท  รูปเรือ  รูปช้าง  ม้า  วัว  ควาย  ข้างในใส่ข้าวของเครื่องใช้บริโภคยอดหรือปัจจัยของกวยโชคจะมีจำนวนเงินมากกว่ากวยชนิดอื่น
ถ้าเป็นต้นสลากย้อมซึ่งเป็นสลากพิเศษของหญิงสาวในบางท้องที่โดยเฉพาะในกลุ่มไทยเองก็จะมีข้าวของเครื่องใช้เพิ่มจำนวนขึ้นจนรวมไปถึงกระจก  หวี  แป้ง  ผ้าเช็ดตัว  จำพวกของเครื่องใช้ของผู้หญิงจะนำมาใส่จนครบแล้วกางร่มไว้บนยอดสุด  หญิงสาวนิยมทำต้นสลากย้อมถวาย  เพราะเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข
กวยสำคัญ  ใช้กวยหรือตะกร้าภาชนะเป็นที่บรรจุข้าวของเครื่องใช้ เช่น กวยตีนช้าง กระบุง พ้อม กะละมัง ถังน้ำ เป็นต้น  เครื่องที่ใส่ข้างในพร้อมทุกอย่าง  ยอดหรือปัจจัยเงินที่ใส่ทำบุญอาจมีจำนวนน้อยกว่ากวยโชค
กวยซอง  เป็น  “ซอง” หรือภาชนะสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นรูปตะกร้าโปร่งทรงสูง  ปล่อยตอกให้พ้นจากตัวตะกร้าขึ้นไปรองด้วยใบตองแล้วใส่ข้าวปลาอาหารครบทุกอย่าง  แล้วจึงรอบตอกที่พ้นขึ้นนั้นไปผูกติดกันเพื่อปิดปากกวย
เครื่องกินของใช้ที่ใส่ในกวย  มีข้าวสุก  ข้าวสาร  อาหารสุก  ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง อย่างแคบหมู  ชิ้นส้ม ไส้อั่ว  ชิ้นหนึ้ง  ปลาปิ้ง พริก เกลือ หอม กระเทียม หมาก ปูน พลู อ้อยยาสูบ ขนมต้ม ขนมหวานต่าง ๆ ลูกไม้ผลไม้ เช่น ส้มโอ กล้วย อ้อย มะพร้าว น้ำตาล ถ้าเป็นกวยซองจะมีเนื้อที่ให้ใส่ของเหล่านี้อย่างละไม่มาก  กล้วยจะแบ่งใส่ ๑-๒ ลูก ส้มโอก็ผ่าใส่ ๑ กลีบ อ้อยก็ตัดยาขนาด ๑ คืบ ใส่ไว้ ๑ ท่อน ถ้าเป็นกวยสำหรับ และกวยโชค ของเหล่านี้จะใส่ทั้งลูกทั้งหวี กวยซอง นิยมทำถวายอุทิศส่วนบุญให้แก่คนตาย มีบิดารมารดา เป็นต้น



ในการไปฮอมปอยหรือการที่มีญาติมิตรนำเอาสิ่งของมารอมหรือสมบททำบุญกับเจ้าของต้นสลากนั้น ข้าวของที่พี่น้องนำมารอม อาจเป็นดอกไม้พื้นเมืองที่หาได้หรือดอกที่สวยงามหรือมีกลิ่นหอม เช่น ดอกจำปลา ดอกเก็ดถะหวา ดอกพุด ดอกสะบันงา ดอกกาแกด เป็นต้น และก็มีกล้วย อ้อย หมากพลูนอกจากจะเอาของมารอมแล้วยังช่วยแต่งช่วยดา เครื่องสลากจนเสร็จอีกด้วย ผู้เป็นเจ้าของต้นสลากหรือเจ้าของเรือน ก็จะนำข้าวปลาอาหารเลี้ยงพี่เลี้ยงน้องที่มารอม แล้วยังทำขนมพื้นเมือง อย่างข้าวต้มกะทิ ข้าวต้มกล้วย ข้าวต้มถั่ว ที่นิยมทำและชอบกินกันคือ เข้าขนมจ็อก หรืขนมเทียนแบบล้านนา ในตอนเย็นเมื่อพี่น้องจะกลับเจ้าของเรือนจะห่อเอาเข้าขนมจ็อกเป็นของฝากให้แก่พี่น้องทุกคนเพื่อนำไปให้หลานที่อยู่บ้านได้กินกัน  การแต่งดาต้นสลากใช้เวลาทั้งวันจนจะเสร็จ เพราะคนสมัยก่อนต้องทำด้วยมือเองทั้งหมด ไม่ได้ซื้อหาเอาได้ง่ายอย่างกับปัจจุบัน

จำนวนกวยที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต้องแต่งดา ในสมัยก่อนนั้น แต่ละหลังคาเรือนให้เตรียมกวยซองไว้ตั้งแต่ ๑๐ กวยขึ้นไป เพราะจะต้องนำไปถวายพระพุทธ พระธรรม พระธาตุคือองค์เจดีย์ (ถ้าวัดนั้นมี) ถวายเจ้าอาวาส และมอบให้แก่อาจารย์วัด  รวมเป็น ๕ กวยและกวยทั้งห้านี้ไม่ต้องมีเส้นสลากหรือรายชื่อเจ้าของและคำอุทิศ นอกนั้นจะเป็นกวยซองที่มีเส้นเพื่ออุทิศให้แก่ญาติที่ตายไปคนละ ๑ กวย อุทิศไปถึงเทวดา อุทิศถึงสัตว์เลี้ยงใช้งานที่ตายไป กวยสำหรับจะแต่งตามจำนวนคนที่อยู่ในครอบครัวนั้น ๆ คือพ่อแม่ ๑ สำหรับ ลูก ๆ อีกคนละ ๑ สำหรรับ กวยสำหรรับทำเพื่ออุทิศถึงคนตายและอุทิศไว้เสวยภายหน้าด้วย ส่วนกวยโชคนั้น แต่ละบ้านจะมี ๑ ต้น ถ้ามีลูกบ่าวลูกสาวอาจจะมี ๒ ต้นก็ได้

ไม้เสียบกวย  กวยซอง ส่วนบนจะทำไม้ ๓ ง่ามปักไว้ไม้อันกลางจะยาวกว่า ๒ ข้าง ตรงกลาเป็นที่เสียบไม้ขีดไฟและยอกเงิน ๒ ข้างจะเสียบด้วยบุหรี่ข้างละ ๑ มวน บางท้องถิ่นใบตาลหรือใบลานมาพับทำเป็นรูปหงส์ ปากคาบเงินยอดทานปักไว้ที่ส่วนบนของ  กวยซอง

เส้นสลาก  หรือชื่อเจ้าศรัทธาและคำอุทิศ  สมัยก่อนทำด้วยใบตาลหรือใบลาน  นำมาตากให้แห้งแล้วตัดแต่ง  กว้างประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร แหลมหัวและท้าย  แต่งขยักหัวให้สวยงานเพื่อเขียนชื่อผู้เป็นเจ้าของและความปรารถนาของผู้ถวาย ในตอนกลางวันจะแต่งดาต้นสลากจนเสร็จ  พอถึงกลางคืนก็ยังจะมีพี่น้องหรือบ่าวมาเที่ยวอีกครั้ง  เพราะต้นสลากย้อมของหญิงสาวที่ยังแต่งไม่เสร็จก็จะแต่งให้เสร็จในตอนกลางคืน  พวกบ่าวหนุ่มก็จะมาช่วยหญิงสาวแต่งก็ถือเป็นโอกาสได้ อู้สาวคือพูดคุยกับสาวเจ้าไปในตัว ในจำนวนบ่าวที่มาเที่ยวนั้น ถ้าเป็นคนที่เคยบวชเคยเรียนหนังสือรู้ตัวเมืองดีก็จะมาช่วยเขียนเส้นสลากให้แก่เจ้าของเรือน  สมัยก่อนการจารชื่อเจ้าของสลากและคำปรารถนาจะจารด้วยอักษรตัวเมืองหรืออักษรธรรมล้านนาทั้งสิ้น

คำเขียนเส้นสลาก ภาษาคำที่จารลงบนใบตาลหรือใบลานที่เรียกว่าเส้นสลากเป็นแบบที่เขียนต่อกันมานาน ดังนั้นคำในเส้นสลากจึงจะมีถ้อยคำคล้ายคลึงกับทุกที่ทุกท้องถิ่นในเขตล้านนา ถ้าเป็นกวยโชค มักจะจารว่า “อิมินา  สลากภตฺตทานํ สพฺพปริวารทานํภณฺฑโอทานภิกฺขหารทานํ หมายทานสลากต้นนี้ หมายศรัทธา...พร้อมทั้งภริยาลูกหลานซู่ตน ขออุทิศไว้เสวยในพายหน้าของเถิงสุข ๓ ประการ มีพระนิพาน เป็นยอด นิพฺพานปจฺจโยโหตุเม นิจฺจํ ธุวํ ธุวํ”

ถ้าเป็นกวยสำหรับมักเขียนว่า”สุทินฺนํ วตเมทานํ หมายทานสำรัยนี้ศรัทธา...พร้อมด้วยลูกหลานคน ทานไพหา...ผู้ที่ล่วงรับขอหื้อไพเถิง  จิ่มเทอะ”

ถ้าเป็นกวยซองมักเขียนว่า “หมายทานสลากเข้าซองนี้ศรัทธา...ขออุทิศไพหา เทวดาบุตรเทวดา อินทร์พรหม ครุฑนาคน้ำปรไมไอศวร” หรือ ขออุทิศไพหาพ่อแม่ผู้ทีชื่อว่า...ขอไพหารอดไพเถิ่งจิ่ม” หรือ “อุทิศไพเถิ่งสัตต์พพะว่าสัตว์ที่ดีข้าได้บุบได้ตี” หรือ “”อทิศไพหา เจ้ากัมม์นายเวรทังหลาย” หรืบางคนก็อุทิศไปหาวัวควายช้างม้าที่เจ้าของรักและได้ตายจากไป เช่น “ขออุทิศไพหาความแม่ว้อง” เป็นต้น

เมื่อถึงวันที่มีงานทำบุญกินข้าวสลาก เจ้าของเรือนหรือเจ้าของสลากจะตื้นแต่เช้ามืดเข้าครัวนึ่งข้าว ทำอาหารเมื่อข้าวสุกแล้วก็จะจัดข้าวและอาหารเล็กน้อยไปใส่เข้าพระเจ้าหรือถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้าที่หิ้งพระ จากนั้นก็จะห่อข้าวสุกใส่กวยสลากทุกอัน และห่ออาหารแห้งใส่ทุก กวย ด้วย

เมื่อกินข้าวมือเช้าแล้วก็จะพากันอาบน้ำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาน โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวจะใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันซื้อหามาไว้ เพราะตามธรรมดาถ้าไม่มีงานมีการจะไม่ให้โอกาสได้ใส่เสื้อผ้าใหม่เลย เนื่องจากหากไม่มีงานมีการบุญแล้วเอาเสื้อผ้าใหม่ใส่  ชาวบ้านก็จะนินทาเอา ดังนั้นเมื่อมีงานอย่างนี้จึงตื้นเต้นที่จะได้ใส่ผ้าสวยอวดกัน แล้วช่วยกันนำเอาต้นสลากกวยสลาก ไปตั้งไว้ในศาลาบาตร  ซึ่งวัดในสมัยก่อนจะมีศาลาบาตร ซึ่งวัดในสมัยก่อนจะมีศาลาบาตรใกล้วิหารเกือบทุกวัด แล้วเอาเส้นสลากขึ้นไปวางกองรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหารสำหรับกวยสลากที่ไม่มีเส้น ๕  กวย  นั้น  จะยกไปประเคนถวายพระพุทธที่ฐานแท่นแก้วหรือพระประธานในวิหาร ๑ กวย ยกไปประเดนพระธรรมที่ฐานธรรมาสน์ทรงปราสาทอันเป็นที่สำหรับแสดงพระธรรมเทศนา  ๑ กวยยกไปประเคนที่เจดีย์เรียกว่า พระธาตุ ๑ กวย  ยกไปประเคนรับพรจากเจ้าวัดคือเจ้าอาวาส ๑ กวย ร้านข้าวต้ม

ในระหว่างทางที่ชาวบ้านจะเดินทางนำเอากวยไปรวมกันที่วัด  ข้างทางจะมีเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายช่วยกันทำร้านเล็ก ๆ  สร้างด้วยไม้ไผ่แบบหยาบ ๆ กว้างประมาณ  ๕๐ เมตร  สูงประมาณ ๑ เมตร เส้นทางหนึ่งอาจจะมีเด็กสร้างไว้อย่างน้อย  ๑ ร้านเมื่อศรัทธาเดินผ่านและเห็นร้านนี้แล้วจะเอาข้าวต้มมัดที่เตรียมไว้แล้วไปวางไว้บนร้าน  ในตอนกลางวันพวกเด็กเลี้ยงควายที่หิวจะมาดูและแบ่งข้าวต้มนั้นสู่กันกิน

แม่หาบ
ในกรณีที่พระภิกษุสามเณรทีได้รับนิมนต์ไปกิน  กวยสลาก  ที่วัดอื่น  สมัยก่อนบางท้องถิ่น บางจังหวัด บางอำเภอ จะมีแม่หาบตามพระภิกษุสามเณรไปด้วยรุปละ  ๑  คน  ผู้ที่เป็นแม่หาบจะแต่งดากวยสลาก ไปร่วมทำบุญกับวัดอื่น คนละ ๑ กวย  มักจะจัดเป็น  กวยสำหรับและดาตกแต่งอย่างสวยงามบางคนเอาใบตาลมาพับเป็นหงส์คาบปัจจัย  แล้วเขียนชื่อและคำอุทิศใส่ใบลานเป็นเส้นสลาก  ๑  เส้น  และกวยสลากของแม่หาบ ยังมีใบลานอีกอันหนึ่งหรือพระภิกษุหรือคนที่เคยบวชเรียนมาแล้วที่เรียกว่า  น้อย  หรือ  หนาน   เป็นผู้เขียนให้โดยเขียนเป็นคำโคลงหรือกระโลงเขียนเป็นคำร่ำ  เขียนเป็น  คร่าว  บางแห่งเรียกว่า  ส้อยสลาก  เป็นสำนวนการเขียนที่ไพเราะกล่าวถึงคำปรารถนาถึงแม่แบบจะเอาภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น  กระบุง  หรือตะกร้า  สมัยต่อมาเอากะละมังใส่สาแทรก  เอากวยของนางใส่ให้หาบแล้วหาบตาพระภิกษุสามเณรไป

ในวันที่มีการกินกวยสลากนั้น  พระภิกษุสามเณรโดยเฉพาะสมเณรองค์น้อย ๆ จะตื่นเต้นเป็นพิเศษ  เพราะอยากจะได้กวยโชคกัน  มีการจุดเทียนเอาโชค  เอา “น้ำหม้อหนึ้ง” ลูบหัว เอา “เตี๋ยวหม้อหนึ่ง” (คือผ้าชุบน้ำให้เปียกเอาเวียนรอบรอยต่อระหว่าง  “หม้อหนึ่ง”  กับไหข้าว  ป้องกันไอน้ำออก)  ผูกเอวไปเพราะเชื่อว่าทำอย่างนี้จะทำให้เกิดโชค  วัด ๆ หนึ่งจะเดินทางไปร่วมงานกินกวยสลากเป็นขบวน  มีพระภิกษุนำ  ตามด้วยสามเณร  ตามด้วยแม่หาบ  ตามโดยขโมย  เมื่อไปถึงวัดที่กินกวยสลาก  แม่หาบจะนำเอาหาบและกวยของนางไปตั้งเรียงกันในศาลาหรือที่ทางวัดจัดไว้ให้แล้วนางจะเอาเส้นสลาก (บัญชีรายชื่อสลาก) ขึ้นไปรวมที่ในวิหาร

ใส่บาตรยาจก
งานกินกวยสลากทุกงานจะมียาจกวณิพกคนขอทานเดินมาจากใกล้และไกล  เพื่อมาขอกินข้าวกวยสลาก  ในช่วงเช้านี้คณะกรรมการจะจัดให้พวกยาจกนั่งเรียงแถวกันที่หน้าวิหาร  จากนั้นศรัทธาชาวบ้านก็จะนำเอาเข้าสานใส่ถานชานะมาแจกทานให้กับยาจกให้ทั่วกันทุกคน โดยเฉพาะพวกหนุ่มสาวจะชอบการทำบุญแจกข้าวสานแก่พวกยาจกที่ยากจนและตั้งคำปราถนาขออย่าได้อดอยาก  ให้มีข้าวปลากินตลอดชีวิต  (ดูประกอบที่  อ้ายร้อยขอด)

สูนเส้น
เมื่อเห็นว่าทุกคนทุกกหลังคาเรือนนำเข้าเส้นสลากมาวางรวมกันหมดแล้ว  ทาคณะกรรมการผู้เฒ่าผู้แก่จึงทำการสูนเส้นสลาก  คือทำบัญชีรายชื่อสลากทั้งหลายให้ปนกัน  โดยทุกคนนั้งหรือยืนรอบ ๆ  กองเส้นสลาก  ต่างคนต่างหอบเอาเส้นขึ้นโปรยไปรอบกอง  บางครั้งก็จะเอาโปรงลงบนหัวของกรรมการเป็นที่สนุกสนาน  เมื่อเห็นว่าคละเคล้าปะปนกันแล้วจึงช่วยกันเอาตอกผูกเส้นสลากทำเป็นมัด ๆ ละ ๑๐ เส้น  ถึงตอนรู้ก็จะรู้จำนวนของเส้นสลากแล้วว่าได้จำนวนเท่าใดแล้วจึงคำนวณกับจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มา  ในสมัยโบราณมีสูตรในการแบ่งเส้นสลาก ดังปราฏกในพับสาของวัดสันป่าเลียง  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  จำนวนพระภิกษุมีเท่าใดเอาเป็นเลขตั้งไว้  เอา ๒  คูณ  ได้เท่าใดเอาจำนวนของสามเณรมาบวก  ได้เท่าไรก็เอามาหารกับเส้นสลากออกมาเท่าใดก็แบ่งตามจำนวนเส้นของสามเณรที่จะรับสลากเส้นเหลือจากนั้นก็เอาจำนวนพระภิกษุได้เท่าใดก็เท่านั้นก็คงจะเป็นพระภิกษุได้เส้นสลากมากว่าสามเณรครึ่งหนึ่งนั้นเอง  สมัยต่อมาวัดได้กินสลากต้องการเงินเข้าบำรุงวัดจึงจัดแบ่งโดยวิธีใหม่  ถ้าได้เส้นสลากมาก  จะแบ่งเส้นออกเป็นครึ่งหนึ่งเอามาหารกับจำนวนพระภิกษุสามเณร  ถ้าได้เส้นน้อยก็จะแบ่งเป็น  ๓  ส่วน  เอาเป็นของพระเจ้าส่วนหนึ่ง  เหลือ  ๒  ส่วนนำมาแบ่งให้ภิกษุสามเณร  ถ้าพระภิกษุได้  ๑๐  เส้น  สามเฌรก็จะได้  ๕  เส้นเมื่อจัดเรื่อองเส้นสลากเรียบร้อยแล้ว  จะนิมนต์พระภิกษุสาเณรขึ้นไปบนวิหาร  ทำพิธีไหว้พระรับศีลแล้วจึงมีการเทศน์จากธรรมหรือคัมภีร์ใบลานเรื่อง  อานิสงส์เข้าสลาก  โดยสามเณรที่เป็นองค์ธรรมกถูกหรือผู้เทศนั้น  เจ้าอาวาสจะให้สามเณรที่พ่อแม่ยากจนกว่าองค์อื่นเป็นผู้เทศน์  ถ้าเป็นสามเณรองค์เล็ก ๆ ก็จะยิ่งดี  สามเณรจะขึ้นเทศน์ธรรมบนธรรมาสน์รูปทรงปราสาทที่เรียกว่า  ปราสาทธัมมาสน์  ธรรมอานิสงค์จะกล่าวถึงอานิสงค์หรือผลดีในการได้ทำบุญข้าวสลากเพื่อเป็นได้เป็นการเพิ่มพูนศรัทธคาความเชื่อของศรัทธาชาวบ้านได้เป็นอย่างดี  เมื่อการเทศน์จบแล้วสามเณรผู้แสดงธรรมเทศนาจะได้รับกัณฑ์จากกวยที่ศรัทธาทั้งบ้านนำมาถวายพระธรรมทั้งหมด  แต่จะไม่ได้รับการแจกเส้นสลาก  อีก

เวนทาน
จากนั้นเป็นหน้าที่ของอาจารย์วัดที่กล่าวคำโอกาสเวนทานเป็นคำประพันธ์แบบร่านยาว  ซึ่งจะมีการวานอินทร์  วานพรหมให้ลงมาเป็นสักขีพยานในการทำบุญครั้งนี้  บอกประวัติความเป็นมาของการกินกวยสลากและกล่าวถึงความพร้อมเพรียงของศรัทธาชาวบ้าน  สุดท้ายก็บุญให้กับเทวดา  อินทร์พรหมแก่สัตว์  แก่เปรต  แก่ผีทั้งหลาย  ให้มารับเอาของทานในวันนี้อาจารย์จะโอกาสยาวเป็นพิเศษ  เพราะได้รับ  กวยสลาก  เท่ากับพระที่เป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

อุปโลกน์เส้นสลาก
เมื่อจบการโอกาสเวนทาน  ทางคณะกรรมการจะนิมนต์พระภิกษุจำนวน  ๔  รูป  มากล่าวคำอุปโลกน์  โดยพระสงฆ์นั่งล้อมกลองเส้นสลากหรือนั่ง  ๔  มุม  ศรัทธาจะเอาเส้นสลากใส่ในภาชนะยกขึ้นให้พระภิกษุจับทั้ง ๔ รูป   พระภิกษุรูปนึ่งจะเป็นผุ้กล่าวคำอุปโลกน์นืว่า อย  ปฐมภาโค สงฆเถรสส ปาปุนนติ อวเสสาภาคา อวเสสานํ ภิกขุนํ ยถาสุขํ  ปริภุญชนติ สงโฆรุจจติ สงโฆรุจจติ สงโฆรุจจติ ถือกันว่าถ้าพระสงฆ์ได้อุปโลกน์สิ่งของเคื่รองทานแล้ว อาหารที่เหลือชาวบ้านนำไปกินไปใช้จะไม่เป็นบาป

ถวายเส้นสลาก
หลังจากนั้นกรรมการจะเอาเส้นสลากใส่ในภาชนะยกไปถวายให้พระภิกษุสามเณรเป็นผู้หยิบเอา  พระสงฆ์ให้พรศรัทธากล่าวคำกรวดน้ำ กล่าวคำลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธีบนวิหาร

ขานเส้นสลาก
ถ้เป็นวิธีที่ให้ศรัทธานำกวยไปให้เอาเส้น พระภิกษุสามเณรจะยืนเรียงกันรอบฐานวิหารเอาเส้นสลากวางไว้ ศรัทธาชาวบ้านจะถือกวยซองเดินหาเส้นสลากของตัวเองรอบไปหลายเที่ยว คนหนุ่มก็จะถือโอกาสทำความคุ้นเคยหยอกล้อสาวบางคนบางคนก็พูดเกี้ยวด้วยค่าว เช่น กล่าวว่า บุญเพิ่นนักเพิ่นได้ทานกวย อ้ายขอทานทวย มอกกวยขี้เปี้ย   กวยยขี้เปี้ยก็คือกวยชอง ขนาดเล็ก  พวกขะโยมหรือศรัทธาที่ไปกับพระก็จะได้นำเอากรยมาประเคน  เรียกว่า  ร้องเส้น  สลากดังกล่าวอ่านว่า หมายทานสลากเข้าซองนี้เป็นของพ่อแก้ว แม่คำ ทานไปหาพ่อสุก บ่เอาเทื่อคาทา เมื่อ เส้นสลากที่กวยซองหมดแล้ว พระรูปใดที่ได้เส้นกวยโชคนั้น ศรัทธาที่เป็นเจ้าของจะนิมนไปรับและให้พร  ณ  ที่ตั้งต้นสลาก ก่อนที่จะให้พรก็ให้เด็กวัดหรือขโยม อ่านเส้นให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่าถูกต้องหรือไม่ และเพื่อให้ดวงวิญญาญของคนตายได้ยิน จะด้มารับเอาเครื่องไทยทานนั้น

เมื่อศรัทธาพากันหาจนทั่วแล้วไม่พบเส้นสลากของตนก็จะเข้าใจได้ว่าสลากของตนนั้นได้จัดไปถวายพระเจ้าหรือถวายพระ(พุทธเจ้า) ก็จะนำเอากวยนั้นขึ้นไปหาเอาเส้นบนวิหารที่เป็นเส้นพระเจ้า สมัยก่อนเส้นสลากไม่มากนัก จำนวนคนก็ไม่มาก จึงสะดวกสบายในการหาเส้นพระเจ้า ปัจจุบันคนมากขึ้น เส้นสลากก็มีจำนวนมากขึ้น ถ้าจะให้ศรัทธายกกวยขึ้นไปหาเส้นบนวิหารเป็นสิ่งที่ยุ่งยากวุ่นวายจึงใช้วีธีถ้าหาเส้นสลากจาก  สามเณรไม่พบ ถือว่าเส้นจะต้องตกเป็นของพระเจ้า ไม่จำเป็นต้องหาเส้นสลากนั้นอีก เมื่อเสร็จแล้วจึงนิมนตืให้เจ้าอาวาสของวัดนั้นไปให้พรเป็นกลุ่มๆไป กวยสลากทั้งหมดจึงตกเป็นของวัดนั้น

ถ้าเป็นวิธี”เส้นไปหากวย”คือภิกษุสามเณรเป็นฝ่ายเดืนไปหาเอากวยตามเส้นสลากที่กำหนด ก็จะให้ชาวบ้านที่ไปป็นขะโยมอ่านชื่อเจ้าของสลาก เมื่อเจ้าของได้ยินจะทักและนิมนต์ไปรับเอากวยสลากตรงที่ตั้ไว้ ถ้าภิกษุรูปใดหรือสามเณรองค์ใดได้เส้นสลากของแม่หาบหญิง แม่หาบจะขอให้อ่านคำร่ำ คำกะดลง คำคร่าว หรือคำสร้าย ที่ใส่ไว้
หงส์เหิยหงส์   บินบนแอ่นฟ้า        ปางนี้ม่อนข้า  ยกยื่นยอสาน
จักยอยื่นหยก    นมัสการ            ถวายหื้อเปนทาน  พระสงฆะเจ้า
ขอหื้อหงสา แห่งข้าน้องเหน้า        กลายเป็นหงส์ทองเทพทิพ       
มีรัศมี รังศีเดชฤทธิ์                เหาะเหินแอ่นผ้ายบินซาน
ไพเถิงชั้นฟ้า เมืองบนสวัรค์        บุญกินบุญทาน  น้องดาแต่งส้าง
สัพพของกิน มีหลายมากกว้าง        น้องได้ดามาพร่ำพร้อม
เก็บเอาใส่ถวายใส่ถ้วยใส่พร้อม        ทังสุบหมากส้อมยาพัน
หมากพลูหมากหล้าว กล้วยอ้อยของหวาน    ยกยื้อยอทาน  ในกลางข่วงแก้ว
กับหงส์คอคำ ตัวงามผ่องแผ้ว        ขอถวายยอทานยื่นน้อม
สลากภัตตัง ทานังแห่งน้อง            ได้ยอยื้อหื้อยอเคน
แก่พระสังฆะ แลมทาเร้น            พระสงฆ์องค์เณร  ชู่องค์หนุ่มเถ้า
ขอหงศ์คอคำ ตัวงามบ่เส้า            สยองบินบนแอ่นฟ้า
นำเอาขอทาน น้องไผ่อย่าช้า        รักษาอยู่ถ้าหญิงแพง
ที่ปราสาททิพ นิเวศน์เวสน            รักษาหญิงแพง  อยู่ในโลกหล้า
ที่องค์สัตถา อินทาอยุ่สร้าง            ขอหงส์ตอตำอยู่ฟ้า
ขอหงส์พาทังตัวงามวาดว้า            ไพเถิงเขตห้องเมืองบน
สลากดวงนี้ ขอเปนดวงแสง        มหามงคล  ปราสาทหลังกว้าง
อายุสังขาร ได้ร้อยซาวห้า            สนุกชมบานชื้อช้อย
มานำเอาตัว  ญิงไพอย่าช้า            ขอจบเพียงเท่าอี้เด้อนาย  ก่อนแหล่นายเหย

อีกบทหนึ่งว่าดังนี้
สลากภัตตัง  ทานังแห่งน้อง        ได้ตกแต่งพร้อม  สลากกวยสาร
จักยอยื้อยก  มนัสการ            ถวายหื้อยอทาน  พระสังฆะเจ้า
มีทังบุปผา  ดวงงามบ่เส้า            ทังขุนหลิวโอพร้อมพรัก
สุบหมากมูลี  สีส้อมสะสัก            พล้าวตาลกล้วยอ้อยหนมคราน
น้องดาใส่พร้อม  เข้าต้มหนกหวาน    ขอถวายยอทาน  ในกลางข่วงแก้ว
มีทังบุปผา  บานงามผ่องแผ้ว        ทังของภุญชาพร่ำพร้อม
สลากกวยสาร  น้องดาใส่พร้อม        ขอถวายยื้อหื้อยอทาน
ภิกขุสังฆะ  องค์พระสัณฐาน        ในกลางอาราม  ทังสามข่วงแก้ว
ขอหื้อกลายเปน  สะเพาเล้าแก้ว        มหานาวาย่ยศ
ขี่ข้ามคงคา  สาครย่านเลิ๊ก            สมุทรใหย่กว้างยาวนาน
หื้อพ้นที่ร้าย  ในโลกสงสาร        เถิงนิพพานัง  คือฝั่งกล่ำหน้า
สลากกวยสาร  ของทานแห่งข้า        จัดแจ้งดามาสู่วัด
ขอถวายยอทาน  ในห้องสำนัก        ในกลางข่วงแก้วอาราม
ขอเชิญพี่น้อย  พี่อ้ายนายหนาน        โมทนาทาน  อ่านหื้อน้องเผี้ยน
เพื่อนฝูงมีไหน  หื้อชวนมาเลี้ยง        ไผไหนคนใดช่างช้อย  ก่อนแหล่

การหาเส้นสลากและการกินสลากจะเสร็จสิ้นประมาณเวลา  ๑๑.๐๐-๑๑.๓๐  นาฬิกา  พระภิกษุสามเณรก็จะรื้อกวยสลากนำเอาข้าวและอาหารในกวยออกมาฉันกัน  ซึ่งปัจจุบันเห็นว่าเป็นการไม่เรียบร้อยที่ภิกษุสามเณรต่างองค์ต่างฉัน  ทั้งกิริยาที่ฉันก็ไม่เรียบร้อยโดนเฉพาะสารเณรที่เล็ก ๆ ดังนั้นจึงจัดเลี้ยงอาหารเพลแด่พระสงฆ์ หากมีขะโยม และชาวบ้านไปในงานกินสลากกับพระภิกษุสามเณร  ขะโยมหรือชาวบ้านจะเอาไม้รวกเป็นคานหาบยาวกวยซองทั้งหมดหาบกับวัดของตน  ในระหว่างที่เดินทางกลับหากหิวข้าวก็จะหยุดพักตามร่มไม้แล้วเทกวย  เอาข้าวปลาอาหารสู่กันกิน  ในกรณีที่มีแม่หาบไปด้วยพวกแม่หาบก็จะพากันเทกวยเลือกเอาเฉพาะของกินของใช้เอาใส่ภาชนะที่หาบมาจากบ้าน  แล้วหายตามพระภิกษุสามเณรกลับวัด  เมื่อไปถึงวัด  กวยที่เป็นของเจ้าอาวาสก็จะมีศรัทธาชาวบ้านมาช่วยกันรื้อเก็บข้าวของรวมกันเป็นอย่าง ๆ แล้วเจ้าอาวาสก็จะแบ่งของกินของใช้ให้แก่ชาวบ้านไปกินกันกวยที่เป็นส่วนของสามเณรก็นำไปให้พ่อแม่หรือญาติพี่น้องเก็บวัตถุของกินเครื่องใช้ไว้ที่บ้านของสามเณรแต่ละองค์

สำหรับวัดที่จัดงานกินข้าวสลากนั้น   เมื่อพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่นกลับหมดแล้วก็จะให้ศรัทธาขึ้นไปหาเส้นสลากในวิหาร  ซึ่งก็จะมีความสนุกและวุ้นวายอีกครั้งหนึ่งเพราะเจ้าหรือของพระพุทธรูป  ต้น  หรือเครื่องไทยทานใดที่เป็นต้นสลากโชคทางคณะกรรมการก็จะจัดให้เป็นของบูชาแด่พระพุทธรูปประธานถ้าเป็นของใช้ในวัดเป็นส่วนรวม  ที่เป็นกวยซองส่วนหนึ่งจะบริจาคให้แก่ยาจก  อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นของข้าวัดหรือเลกวัด  ต่อมาเมื่อข้าวัดหมดไปแล้ว  ส่วนดังกล่าวจึงตกเป็นของขะโยมวัด

สลากเทวดา
หรือบางแห่งเรียกว่า  สลากเบอร์  คือพิธีกินข้าวสลากขนาดเล็ก  จัดขึ้นเฉพาะหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น  ไม่มีการสมทบการทำบุญจากญาติพี่น้องต่างบ้าน  พระภิกษุสามเณรผู้ร่วมพิธีก็จะนิมนต์เอาเฉพาะที่อยู่ในวัดนั้น ๆ เมื่อศรัทธาชาวบ้านนำเอา  กวยมาสมทบกันที่วัดแล้ว  ก็จะจัดรวมกันเป็นกอง ๆ ตามจำนวนของภิกษุสามเณรของสัดนั้น  และจัดกองหนึ่งเป็นเครื่องถวายบูชาพระพุทธรูป  กองหนึ่งถวายบูชาพระธรรม  กองหนึ่งถวายบูชาพระธาตุเจดีย์  กองหนึ่งมอบเป็นของอาจารย์วัดกองที่จัดไว้ถวายแด่พระและสามเณรจะคิดหมายเลขไว้ที่กองตั้งแต่เบอร์  ๑  ไปจนครบจำนวนของพระเณร  แล้วเขียนตัวเลขใส่แผ่นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ  ม้วนเป็นสลากใส่ในบาตรให้พระเณรจับเอาองค์เบอร์ละ  ๑  เบอร์  ถ้าได้เบอร์ที่ตรงกับกองไหน   ก็ยกกองนั้นถวายแก่รูปนั้นไป เงินทำบุญกินข้าวสลากปัจจุบันในบางวัดเป็นการจัดเพื่อหารายได้ไป  หากวัดต้องการเงินไปบำรุงวัดก็จะจัดให้มีพิธีกินข้าวสลากขึ้น  แล้วก็แบ่งเส้นสลากเข้าวัดเป็นครึ่งหนึ่งงานกินข้าวสลากจึงไม่เป็นงานประเพณีไปแล้ว  แล้วสลากที่เคยใช้ใบตาลจารด้วยตัวเมือง  คือลายเป็นกระดาษเขียนด้วยอักษรไทย  แล้วบางวัดทำเป็นแบบโรเนียวหรือถ่ายสำเนาแจกให้ศรัทธา  ต้นสลากที่เคยสานเอาทำเองด้วยมือของศรัทธาชาวบ้าน  ก็กลายเป็นของที่ถูกจัดหาซื้อเอาจากท้องตลาด  เช่น  เครื่องใช้พลาสติก  จึงดูแล้วเกือบจะไม่เห็นประเพณีดั้งเดิมของล้านนา  แต่กระนั้นก็ยังมีบางวัดที่ชี้แจงให้ศรัทธาชาวบ้านทำพิธีกินข้าวสลากโดยให้ใช้ของเก่าดั้งเดิมให้มากเท่าที่จะมากได้

ประมวลภาพประเพณีกิ๋นสลาก หมู่บ้านวังฟ่อนวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 25 •ตุลาคม• 2011 เวลา 18:01 น.• )