ประวัติหมู่บ้าน(จากการสอบถามผู้เฒ่า ผู้แก่ บางท่าน กล่าวว่า) การก่อตั้งชุมชนบ้านวังหลวงเริ่มแรกมีชาวบ้านหัวข่วง จังหวัดแพร่ ได้มาอาศัยพื้นที่ป่าบริเวณนี้ เพราะอุดมสมบูรณ์ ประจวบกับใกล้ภูเขา (ดอยม่อนนาบ่อ) และแพะเปียง  สภาพพื้นที่ป่าเป็นป่าไม้สักทอง เต็ง รัง เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า ชาวบ้านจึงล่าสัตว์เพื่อการยังชีพ และบริเวณใกล้ฝั่งแม่น้ำยมมีดินอุดมสมบูรณ์ น้ำเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  ในอดีตแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำ ที่สะอาด และมีสัตว์น้ำนานาชนิดโดยเฉพาะบริเวณบ้านวังหลวงที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน บริเวณไหนที่มีน้ำลึก จะเรียกว่า “วัง” เช่น วังเครือบ้า  วังอีตุ  วังเคียน  วังพระเจ้า (ที่วัดร้างตลาดสด) สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “วังหลวง” นอกจากนี้หลักฐานพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมมาจากบรรพบุรุษ ที่ได้ถ่ายทอดกันมาให้ ชนรุ่นหลังได้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิต อยู่โดยพึ่งพาธรรมชาติ มาใช้ประโยชน์เพื่อการยังชีพ  เช่น เชื่อเรื่องผี  ผีบ้าน  ผีเรือน  ผีเจ้าที่  การเลี้ยงผีเจ้าบ้าน  เลี้ยงผีศาลเจ้าพ่อหลวงซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน  การสู่ขวัญ  (การเอาขวัญ)  พิธีบวชพระ  (ดาปอย)  ประเพณีถวายสลากภัตร  (กินสลาก)  เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้นำมาสู่ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ถือปฏิบัติตามบรรพบุรุษแสดงออกถึงภูมิปัญญาของชุมชน  นอกจากนี้ศิลปกรรมพื้นบ้านที่แสดงปรากฏให้เห็นถึง ความสำเร็จของภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายอายุชน  เช่น  งานจักสาน  และทอเครื่อง จักสานสำหรับดักสัตว์ กล่องข้าว ขันโตก เปลเด็ก เครื่องปั้นดินเผา งานแกะสลักการฟ้อนรำ และเพลงพื้นบ้าน จ้อย ซอ ค่าว เป็นต้น

 

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 06 •กันยายน• 2011 เวลา 21:23 น.• )