เมืองลองจากจดหมายเหตุ (ต่อ)

ในระหว่างเรื่องราวยังไม่ได้ตัดสินเด็ดขาด จึงให้เมืองลองขึ้นตรงต่อข้าหลวงสามหัวเมืองก่อน(อยู่มาจนถึงข้าหลวงห้าหัวเมือง) และห้ามเจ้านครลำปาง เจ้านายบุตรหลาน และพระยาท้าวแสนเมืองนครลำปางเข้าไปเกี่ยวข้องทุกๆ ประการกับเมืองลอง สรุปเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเมืองลองฟ้องเรื่องนครลำปาง และทางนครลำปางฟ้องเรื่องเมืองลอง

๑. เรื่องที่เจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาอนุญาตให้ พม่า เงี้ยว และ ตองซู เข้ามาทำป่าไม้ในเมืองลอง ก็ไม่แจ้งให้เจ้าเมืองลองทราบ คนเหล่านี้ก็เข้าไปตัดฟันไม้ในเมืองลองตามชอบใจ และเงินค่าตอไม้ก็ไม่เสียให้เจ้าเมืองลองและแสนท้าว เมื่อเจ้าเมืองลองให้แสนท้าวไปห้ามปราม ก็บอกว่าเจ้านครลำปางอนุญาตถ้าเจ้าเมืองลองไม่ให้ทำก็จะทำนั้น เรื่องคือ พระยาไชยสงคราม ออกหนังสือให้ซางยี่ เงี้ยวตัดฟันไม้ขอนสักในป่าห้วยแม่ลาน ห้วยแม่กาง และพระยาคันธรศ ออกหนังสือให้นายร้อยสุวรรณะ เงี้ยวตัดฟันไม้ในป่าห้วยแม่สิง แม่สุง นาปูน(นาพูน) แล้วไม่ได้แจ้งให้เจ้านครลำปางทราบมาทราบเมื่อได้รับศุภอักษรแจ้งเรื่องทางเมืองลองกล่าวโทษขึ้นมา เหตุการณ์ในครั้งนี้เจ้านครลำปางไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จึงมีหนังสือถึงพระเจ้านครเชียงใหม่(พระเจ้าอินทวิชยานนท์)ผู้เป็นหลาน และเปรียบเปรยเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “เหมือนจักษุเจ็บจะรักษาเองไม่ได้” กับ “ศุกรกลืนแกลบกล้องค้างคอคราง” ดังนั้นพระเจ้านครเชียงใหม่จึงปรึกษากับพระยาราชสัมภารากร ข้าหลวงสามหัวเมือง สุดท้ายก็ยึดสัญญาที่ให้ทำไม้ส่วนซางยี่หลบหนีไป

๒. เรื่องไม่จ่ายค่าช้างเมื่อนายหนานขัติยะไปฟ้องเจ้านครลำปางก็ไม่ว่าประการใดและคนในเมืองนครไปกดขี่ข่มเหงคนในเมืองลอง เจ้านครลำปางแจ้งว่าเมื่อได้ทราบเรื่องร้องทุกข์จากเมืองลองก็ได้เรียกพระยาไชยสงครามมาถาม เมื่อพระยาไชยสงครามยอมรับก็ได้จำตรวนกักขังไว้ (สังเกตได้ว่าเดิมเมื่อนายหนานขัติยะฟ้องไม่กระทำการใดๆ พึ่งมาลงโทษเมื่อมีเรื่องใหญ่ขึ้น ซึ่งโทษของพระยาไชยสงครามเจ้านครลำปางเคยสั่งประหารชีวิตมา ๓ ครั้งแล้ว แต่ก็รอดมาได้เพราะอย่างไรก็เป็นบุตรของตน) แล้วเจ้านครลำปางก็แต่งท้าวพระยานำเงินค่าช้างไปให้นายหนานขัติยะกับยาง แต่นายหนานขัติยะไม่อยู่(ลงมาฟ้องที่กรุงเทพฯ) จึงฝากเงินไว้กับท้าวขุนเมืองลอง ส่วนเรื่องของน้อยวงษ์ คนในเมืองนครลำปางออกไปกดขี่คุมเหงแย่งชิงเอาเป็ดไก่พวกท้าวขุนเมืองลอง เจ้านครลำปางได้ให้ท้าวพระยาไปจับมาถามเมื่อรับเป็นสัตย์จริงว่าทำ เจ้านครลำปางจึงสั่งให้เอาไปตัดศีรษะ

๓. ส่วนเมืองนครลำปางก็ฟ้องเมืองลองว่า แสนหลวงเจ้าเมืองลองไม่มาถือน้ำพระพิพัฒสัจจาที่เมืองนครลำปาง เมืองลองปฏิบัติอย่างเป็นเมืองเอก และแต่งตั้งแสนท้าวในเมืองลองตามอำเภอใจ

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เมื่อมีเรื่องอริวิวาทกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๖ เจ้าเมืองลองก็ไม่ไปถือน้ำพระพิพัฒสัจจาที่เมืองนครลำปาง เนื่องจากกลัวเจ้านครลำปางและเจ้านายบุตรหลาน และอ้างว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองลองขึ้นกับข้าหลวงสามหัวเมือง ณ เมืองนครเชียงใหม่ก่อนที่จะตัดสินเรื่องราวให้เด็ดขาดจึงไม่ไปถือน้ำที่นครลำปาง จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๓๑ เมื่อทราบเรื่องถึงข้าหลวงเมืองนครเชียงใหม่ พระยาเพชรพิไชยจึงมีหนังสือมาหาตัวเจ้าเมืองลองให้ไปถือน้ำที่เมืองนครเชียงใหม่ แต่แสนหลวงเจ้าเมืองลองก็อ้างว่าชรามากแล้ว และอ้างว่าพระยามนตรีสุริยวงศ์อนุญาตให้ถือน้ำพระพิพัฒสัจจาที่เมืองลองได้ ดังนั้นจึงแต่งให้นายหนานขัติยะและแสนท้าวเมืองลองไปรับน้ำพระพิพัฒสัจจามาถือที่เมืองลอง (วัดหลวงร่องอ้อ หรือวัดพระธาตุศรีดอนคำปัจจบัน) พร้อมกับแสนท้าวเมืองลองทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง

โดยเจ้านครลำปางรายงานรายชื่อแสนท้าวเมืองลองที่ไม่ไปถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ณ อุโบสถวัดหลวงเมืองนครลำปาง (วัดบุญวาทย์ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ดังนี้คือ

(๑) แสนหลวงเจ้าเมืองลอง

(๒) แสนหลวงธาณี

(๓) แสนเมืองชื่น

(๔) แสนเขื่อนแก้ว

(๕) แสนอินทะ

(๖) แสนเขื่อนคำ

(๗) แสนเมืองคำ

(๘) หมื่นพองคำ

(๙) แสนคำเมืองมูล

(๑๐) หมื่นพลหาร

(๑๑) หมื่นต่างใจ

แต่เจ้าเมืองต้า (สันนิษฐานว่าตรงกับสมัยแสนประจัญ เป็นเจ้าเมืองต้า)ได้ไปร่วมถือน้ำที่นครลำปางครั้งนี้ด้วย เนื่องจากเมืองต้าเป็นเมืองเล็กถ้าเมืองลองว่าอย่างไรเมืองต้าก็ว่าตาม แต่ก็จะไม่ให้ขัดแย้งกับเมืองนครลำปางเหมือนกัน

ส่วนต้นเหตุสำคัญของเรื่องนี้ที่ทำให้ราษฎรในเมืองลองและเมืองต้าเดือดร้อนคือการเก็บภาษี ๑๒ สิ่ง ซึ่งเจ้าเมืองลองถือว่าไม่เคยมีธรรมเนียมในเมืองลองและเมืองต้า แต่ก็กลัวอาญาจึงให้เก็บเงินเรือนละ ๒ หวิ้น ๑ เฟื้อง จนราษฎรเดือดร้อนจะอพยพไปอยู่เมืองแพร่เมืองน่าน ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องขัดผลประโยชน์กันระหว่างเจ้านครลำปางกับเจ้าเมืองลองมากกว่า ซึ่งเรื่องการเก็บภาษีนี้ได้บีบให้เจ้าเมืองลองหาทางที่จะทำให้ราษฎรไม่อพยพจากเมือง และไม่ถูกลดผลประโยชน์จากเจ้านครลำปาง ประกอบกับนายขำ คนบ้านหนองโรง แขวงเมืองสวรรคโลก เข้าทุนทำป่าไม้ล่องไปขายที่กรุงเทพฯ กับนายหนานขัติยะ ผู้บุตรเจ้าเมืองลองอยู่เป็นประจำ อีกทั้งนายขำอ้างว่าเป็นคนของหม่อมเจ้าอลังการ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ์ จึงเป็นผู้นำแสนหลวงเจ้าเมืองลองลงไปถวายเรื่องและขอขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ โดยเมืองลองได้ทำบัญชีจำนวนหลังคาเรือนเมืองลองและเมืองต้าที่เป็นเมืองขึ้นไปถวายด้วย คือ เมืองลองมีบ้านลาว ๑,๕๐๐ หลังคาเรือน บ้านยาง ๑,๕๐๐ หลังคาเรือน รวมเป็น ๓,๐๐๐ หลังคาเรือน เมืองต้า มีบ้านลาว ๕๐๐ หลังคาเรือน บ้านเงี้ยว ๕๐ หลังคาเรือน รวมทั้งเมืองลองและเมืองต้าที่จะขอขึ้นกรุงเทพฯ จำนวน ๓,๕๕๐ หลังคาเรือน

และในปี พ.ศ.๒๔๒๖ นี้แสนหลวงเจ้าเมืองลองจะนำไม้ขอนสักยาว ๘ วา ใหญ่ ๒๒ กำล่องลงไปถวาย ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดมากเพราะเป็นของแปลกประหลาดและหาได้ยาก จึงให้จัดส่งลงไปกรุงเทพฯ ภายในเดือน ๗ เดือน ๘ เพื่อที่ “แสนหลวงเจ้าเมืองลอง แลบุตรหลานก็จะได้มีชื่อเสียงปรากฏต่อไป” ดังนั้นจึงให้นายขำ ขุนราชอาญา และนายชื่น(บุตรนายขำ) ขึ้นมาล่องไม้ลงไปถวาย ซึ่งประจวบเหมาะกับทางเจ้านครลำปางจะจับนายขำ เนื่องจากเจ้านครลำปางและเจ้านายรู้กันชัดว่านายขำเป็นตัวการพาเจ้าเมืองลองลงไปฟ้องที่กรุงเทพฯ พอนายขำและพวกมาพักที่บ้านหองออ(ร่องอ้อ หรือห้วยอ้อในปัจจุบัน) เรือนเจ้าเมืองลอง เจ้านครลำปางจึงให้แสนเมืองคำ และไพร่ ๓๐ กว่าคนมาจับตัวไปนครลำปาง โดยตอนแรกจะทำโทษว่าเข้ามาขโมยไม้ในเมืองลอง แต่เมื่อนายขำขึ้นมาถึงเมืองลองได้บังคับให้แสนท้าวในเมืองลองที่เป็นข้าเจ้าเมืองลองล่องไม้ไป แต่แสนท้าวในเมืองลองบอกว่าเป็นข้าเมืองนคร ดังนั้นนายขำจึงเฆี่ยนแสนสุทธะและอ้ายปก บุตรชาย ท้าวพระยาจึงใช้เป็นเหตุจับตัวไปแทน เดิมเจ้านครจะฆ่าทั้ง ๓ คนเมื่อเจ้าเมืองลองขึ้นมาถึงเมืองก็จะฆ่าทั้งคนไทยและคนลาว แต่พระพรหมบริรักษ์ได้ขอรอไว้ก่อนและประกอบกับมีศุภอักษรขึ้นมาไม่ให้กดขี่คุมเหงแสนหลวงเจ้าเมืองและแสนท้าวในเมืองลอง จึงไม่ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้น

ทั้งในเมืองลองและเมืองนครลำปางในขณะนั้นก็มีการแบ่งเป็น ๒ พรรค ๒ ฝ่าย ทางเมืองนครลำปางก็แบ่งเป็นฝ่ายเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าราชวงษ์ เจ้าสุริยะจางวาง พระยาวังซ้าย กับฝ่ายเจ้าอุปราช กับเจ้าราชสัมพันธวงษ์ (ต่อมาคือเจ้านรนันทไชยชวลิต)

ส่วนในเมืองลองก็เป็นฝ่ายแสนหลวงเจ้าเมืองลอง แสนอินทจักร แสนอำนาจ แสนบ่อ ฯลฯ ซึ่งฝ่ายนี้จะยกเมืองลองไปขึ้นกับกรุงเทพฯ ส่วนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังจะคงขึ้นเมืองนครลำปางคือ แสนหลวงธาณี แสนเขื่อนแก้ว และท้าวอุตมะ เรื่องนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าเมืองลอง ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๓๓ กรมการเมืองลองจึงให้แสนท้าวเกณฑ์ไพร่ไปจับคนร้าย และบอกว่าถ้าใครไปไม่ได้ก็ให้รออยู่ ดังนั้นพวกแสนหลวงธาณีจึงไม่ไป ต่อมาในภายหลังเจ้าเมืองลองและกรมการกลับบอกว่าพวกแสนหลวงธานีดื้อดึงขัดขืน จึงสั่งจับเป็นให้ได้ถ้าไม่ได้ก็จับตายจนต้องหนีไปหาเจ้านครลำปาง

การตัดสินคดีที่ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่ยืดเยื้อมาหลายปี โดยผู้ที่ต้องขึ้นศาลบางคนก็ถึงแก่กรรมไปบ้าง ฝ่ายเมืองลองมีนายหนานขัติยะเป็นโจทย์ ส่วนฝ่ายนครลำปางได้แต่งทนายมาต่างตัว คือ

เจ้าพรหมาพิพงษ์ธาดา เจ้านครลำปาง ให้นายน้อยมหาอิน เป็นทนายต่างตัว

พระยาไชยสงครามป่วย ให้หนานยศ นายกลิ้ง มาต่างตัว

เจ้าบุรีรัตน์ถึงแก่กรรม เมื่อเดือน ๕ เหนือ ปี พ.ศ.๒๔๒๖ ให้แสนเมืองคำ เป็นทนายต่างตัว

เจ้าราชบุตร ให้ท้าวคำฟู เป็นทนายต่างตัว

ตัดสินเรื่องราวความอริวิวาท

เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าทางสยามต้องการประนีประนอมไม่อยากให้ขัดแย้งกัน และต้องไม่ให้ขัดแย้งกับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าพรหมาพิพงษ์ธาดา เจ้านครลำปาง และเจ้าเหมพินธุ์ไพจิตร เจ้านครลำพูน ต่อมาเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เสด็จขึ้นมาจัดราชการ ณ เมืองเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชโชวาทในข้อที่ ๒๖ ตัดสินเรื่องเมืองลองว่าที่เคยให้เมืองลองขึ้นกับข้าหลวงเมืองเชียงใหม่นั้น เจ้านครลำปางมีศุภอักษรลุแก่โทษยอมรับผิด และพระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้านครลำพูน มีศุภอักษรรับประกันมั่นคงว่าเมืองนครลำปางจะไม่คุมเหงเมืองลองต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองลองคงขึ้นเมืองนครลำปางต่อไปตามเดิม โดยให้ว่ากล่าวกันเป็นขั้นตอนคือ

หากเมืองลองมีเรื่องราวอะไร ให้ยื่นต่อเจ้านครลำปาง เมื่อเจ้านครลำปาง เจ้านาย พระยาท้าวแสนเมืองนครลำปางติดสินไม่ยุติธรรมก็ให้ยื่นต่อพระเจ้านครเชียงใหม่และเจ้านครลำพูน ถ้าหากชำระว่ากล่าวไม่ตกลงกัน ก็ให้ทำเรื่องราวไปร้องต่อข้าหลวง ณ เมืองนครเชียงใหม่

แต่แสนหลวงเจ้าเมืองลองไม่ยอมโดยให้เหตุผลว่า ที่พระยาเพชรพิไชยมีหนังสือให้เมืองลองขึ้นเมืองนครลำปางตามเดิมนั้น แสนหลวงและกรมการเมืองลองปรึกษาพร้อมกันว่าไม่ยอม เพราะเป็นที่เดือดร้อนมาก และไม่ถูกกับสุภอักษรและท้องตราที่มีมาแต่ก่อน และสันนิษฐานว่าแสนหลวงเจ้าเมืองลองก็ชรามากแล้ว(ปีพ.ศ.๒๔๓๓ อายุ ๗๘ ปี) กลัวว่าเจ้านครลำปางจะไม่รับรองแต่งตั้งนายหนานขัติยะบุตรตนเองเป็นเจ้าเมืองลอง เนื่องจากมีเรื่องวิวาทกันมานานหลายปี ดังนั้นในต้นปี พ.ศ.๒๔๓๓ แสนหลวงเจ้าเมืองลอง จึงให้นายหนานคันธิยะ กับแสนไชยมงคล แสนบ่อ แสนอำนาจ ลงมาฟ้องร้องเรื่องมิศเตอร์หลุยให้ส่างหนุ่มมาตีตราไม่ให้เคลื่อนย้ายไม้ที่เกณฑ์เมืองลองไว้ ๕๐ ต้นลงมาถวาย และพร้อมกันนั้นก็ได้นำเงินจำนวน ๕ ชั่งแทนเหล็กหนัก ๔๐ หาบ นอซู่ ๑ นอ ศิลาประหลาดรูปเหมือนศร ๑ ชิ้นลงไปถวาย พร้อมกับขอให้แต่งตั้งนายหนานคันธิยะเป็นเจ้าเมืองลองแทน (แต่ไม่ปรากฏว่าแต่งตั้งแต่อย่างใด แต่ในปลายปีพ.ศ.๒๔๓๓ นายหนานคันธิยะ ได้เป็นแสนหลวงคันธิยะแล้ว สันนิษฐานว่าเจ้าเมืองลองเป็นผู้แต่งตั้งเอง เพราะภายหลังมีหลักฐานว่ารัชกาลที่ ๕ ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๓ เจ้าเมืองลองจึงให้ แสนหลวงคันธิยะ แสนอำนาจ แสนอินทจักร แสนบ่อ ท้าวจัน หมื่นกลางสาร หมื่นคันทสีมา กับไพร่ ๒๔ คน ลงไปกรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยนำเอาของลงไปทูลถวายด้วยดังนี้

ไม้ขอนสัก ยาว ๑๑ วา ใหญ่ ๖ กำ จำนวน ๑ ต้น

ไม้ขอนสัก ยาว ๑๑ วา ใหญ่ ๑๑ กำ จำนวน ๑ ต้น

นอรมาต ๒ ศีรษะ

งา ๑ กิ่ง

เขากวาง ๑ ศีรษะ มียอด ๖ ยอด

เงินค่าตอไม้ขอนเจ้า ๑๐ ชั่ง

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 01 •มิถุนายน• 2014 เวลา 11:38 น.• )