อรรถกถาสุภสูตร การเอาเงินให้ผู้ตายมีที่มาจากพวกพราหมณ์ สุภสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- ในสุภสูตรนั้น บุตรของโตเทยยพราหมณ์ผู้อยู่ในตุทิคาม ชื่อว่าโตเทยยบุตร. คำว่า เป็นผู้ยินดี คือเป็นผู้พรั่งพร้อมบริบูรณ์. คำว่าญายธรรมคือ ธรรมอัน เป็นเหตุ. บทว่า เป็นกุศล คือ ไม่มีโทษ. บทว่า การปฏิบัติผิด คือ ข้อปฏิบัติอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นเครื่องนำออกไปจากทุกข์. บทว่า การปฏิบัติชอบ ได้แก่การปฏิบัติอัน เป็นกุศลอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์. ในบทว่า มีความต้องการมาก ดังนี้เป็นต้น มีวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้ชื่อว่า มีความต้องการมาก เพราะในฐานะนี้มีความต้องการด้วยการกระทำความขวนขวาย หรือด้วยการช่วยเหลือมาก คือมากมาย. ชื่อว่า มีกิจมากเพราะฐานะนี้มีกิจมากเช่นงานมงคลในการตั้งชื่อเป็นต้นมาก. ชื่อว่ามีเรื่องราวมากที่จะต้องจัดการ มากเพราะในฐานะนี้มีเรื่องราว คือหน้าที่การงานมากอย่างนี้ คือ วันนี้ต้องทำสิ่งนี้ พรุ่งนี้ต้องทำสิ่งนี้. ชื่อว่า มีการลงมือทำมาก เพราะในฐานะนี้มีการลงมือทำมาก คือ การบีบคั้นด้วยอำนาจการขวนขวายในการงาน ของคนมาก.

การงานของคนทางฝ่ายฆราวาส ชื่อว่า ฐานะการงานของฆราวาส.พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งปวงด้วยประการอย่างนี้. ก็ในบรรดาการทำนาและการค้าขายนี้ ในการทำนา พึงทราบความต้องการมาก ด้วยการแสวงหาเครื่องอุปกรณ์ เริ่มแต่หางไถเป็นต้น ในการค้าขาย พึงทราบความต้องการน้อยด้วยการถือเอาสินค้าตามสภาพเดิมแล้วมา จำหน่าย. บทว่า วิบัติ ความว่า กสิกรรมย่อมมีผลน้อยบ้าง ถึงการขาดทุนบ้าง เพราะฝนไม่ตกและตกมากเกินไปเป็นต้น และพณิชยกรรม มีผลน้อยบ้าง ถึงการขาดทุนบ้าง เพราะความไม่ฉลาดเป็นต้นในการดูแก้วมณีและทองเป็นต้น. โดยตรงกันข้าม ที่สมบูรณ์ย่อมมีผลมากเหมือนอันเตวาสิกของจุลลก. คำว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล ความว่าฐานะคือ กสิกรรมเมื่อวิบัติย่อมมีผลน้อยฉันใด แม้ฐานะคือการงานของฆราวาสก็ฉันนั้น . เพราะบุคคลผู้ไม่กระทำกรรมงามไว้ ตายแล้วย่อมบังเกิดในนรก ได้ยินว่า คนที่พราหมณ์เลี้ยงไว้ คนหนึ่ง ชื่อมหาทัตตเสนาบดี.

ในสมัยที่เขาจะตาย นรกปรากฏขึ้น. พวกพราหมณ์กล่าวถามว่า ท่านเห็นอะไร เขากล่าวว่า เห็นเรือนสีแดง เรือนเลือด.  พราหมณ์กล่าวว่า ผู้เจริญ นั่นแหละพรหมโลก. เขาถามว่า ท่านผู้เจริญ พรหมโลกอยู่ที่ไหน. อยู่เบื้องบน. เขาพูดว่า ปรากฏแก่ข้าพเจ้า ณ เบื้องล่าง.  ความจริง เรือนสีแดงปรากฏเบื้องล่าง มิได้ปรากฏเบื้องบน. เขาตายแล้วเกิดในนรก. พวกพราหมณ์คิดว่า นายคนนี้เห็นโทษในยัญของเรา ดังนี้จึงได้เอาทรัพย์พันหนึ่งมาให้เพื่อจะได้นำติดตัวไป.

ส่วนฐานะคือ กสิกรรมที่สมบูรณ์ย่อมมีผลมาก. เพราะบุคคลผู้ทำกรรมงามไว้ ตายแล้วย่อมบังเกิดในสวรรค์. พึงแสดงคุตติลวิมานกถาทั้งหมด. เหมือนอย่างว่า ฐานะคือ พาณิชยกรรม เมื่อวิบัติย่อมมีผลน้อยฉันใด แม้ฐานะคือ บรรพชากรรมของภิกษุผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบการแสวงหาอันไม่ควร ก็ฉันนั้น . เพราะภิกษุทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมไม่ได้สุขในฌานเป็นต้น ย่อมไม่ได้สุขในสวรรค์ และนิพพาน.

ส่วนบรรพชากรรมที่สมบูรณ์ย่อมมีผลมาก. เพราะผู้ทำศีลให้บริบูรณ์เจริญวิปัสสนาย่อมบรรลุพระอรหัต.  คำว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายดังนี้ ความว่ามาณพย่อมทูลถามว่าข้าพระองค์ชื่อถามอะไร ณ ที่นี้ คือ ย่อมถามว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่า บรรพชิตชื่อว่าสามารถเพื่อบำเพ็ญธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมไม่มี คฤหัสถ์เท่านั้นบำเพ็ญได้ ส่วนพระสมณโคดมย่อมตรัสบ่อย ๆ ว่า มาณพ สำหรับคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ดังนี้ ย่อมไม่เปล่งวาจา ถึงบรรพชิตเท่านั้น เห็นจะไม่ทรงกำหนดการถาม ของข้าพระองค์ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอถามธรรม ๕ ประการ โดยมีจาคะเป็นสุดยอด (คือข้อท้าย).  คำว่าถ้าท่านไม่หนักใจ ดังนี้ ความว่า ถ้าท่านไม่มีความหนักใจเพื่อที่จะกล่าวในที่นี้โดยประการที่พวกพราหมณ์บัญญัติไว้นั้น. อธิบายว่า ถ้าไม่มีความหนักใจไร ๆ ท่านก็จงกล่าว. มาณพกล่าวว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่หนักใจเลย ดังนี้ หมายเอาอะไร. ก็การกล่าวในสำนักของบัณฑิตเทียมย่อมเป็นทุกข์. ท่านบัณฑิตเทียมเหล่านั้น ย่อมให้ เฉพาะโทษเท่านั้นในทุก ๆ บท ในทุก ๆ อักษร.

ส่วนบัณฑิตแท้ ฟังถ้อยคำแล้วย่อมสรรเสริญคำที่กล่าวถูก. เมื่อกล่าวผิด ในบรรดาบาลีบท อรรถ และพยัญชนะคำใด ๆ ผิด ย่อมให้ คำนั้น ๆ ให้ถูก. ก็ชื่อว่า บัณฑิตแท้เช่นกับพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น มาณพจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ณ ที่ที่พระองค์หรือท่านผู้เป็นเหมือนพระองค์ประทับนั่งอยู่ ข้าพระองค์ไม่มีความหนักใจเลย ดังนี้.

บทว่า สัจจะ คือ พูดจริง. บทว่า ตบะ ได้แก่การประพฤติตบะ.. บทว่า พรหมจรรย์ ได้แก่ การเว้นจากเมถุน. บทว่า การสาธยาย ได้แก่การเรียนมนต์. บทว่า จาคะ คือการบริจาคอานิส. คำว่า จักเป็นผู้ให้ถึง ความลามก คือ จักเป็นผู้ให้ถึงความไม่รู้. คำว่า ได้กล่าวคำนี้ความว่า มาณพถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข่มด้วยการเปรียบเหมือนแถวคนตาบอด เมื่อไม่อาจเพื่อตอบโต้คำนั้นได้ เมื่อจะอ้างถึงอาจารย์ เปรียบปานสุนัข อ่อนกำลัง ต้อนเนื้อให้ตรงหน้าเจ้าของแล้ว ตนเองก็อ่อนล้าไปฉะนั้น จึงได้กล่าวคำนั้นมีอาทิว่า พราหมณ์ดังนี้ . คำว่า โปกขรสาติ นี้ ในคำว่า พราหมณ์เป็นต้นนั้น เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น. เรียกว่า โปกขรัสสาติ บ้างก็มี. ได้ยินว่าร่างกายของพราหมณ์นั้นเหมือนบัวขาว งดงามเหมือนเสาระเนียดเงินที่ยกขึ้นในเทพนคร ส่วนศีรษะของพราหมณ์นั้นเหมือนทำด้วยแก้วอินทนิลสีดำ. แม้หนวดก็ปรากฏเหมือนแถวเมฆดำในดวงจันทร์ นัยน์ตาทั้งสองข้างเหมือนดอกอุบลเขียว. จมูกตั้งอยู่ดี บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนกล้องเงิน. ฝ่ามือฝ่าเท้าและปากงามเหมือนย้อมด้วยน้ำครั่ง. อัตตภาพของพราหมณ์ถึงความงามอันเลิศอย่างยิ่ง สมควรตั้งให้เป็นราชาในฐานะที่ไม่ได้ เป็นราชา เพราะเหตุนั้นชนทั้งหลายจึงรู้จักพราหมณ์นั้นว่า โปกขรสาติ ด้วยประการดังนี้ เพราะพราหมณ์นี้เป็นผู้มีความสง่าอย่างนี้นั่นแล อนึ่ง พราหมณ์นั้นเกิดในดอกบัวมิได้เกิดในต้องมารดา เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงรู้จักพราหมณ์นั้นว่าโปกขรสาติ เพราะนอนอยู่ในดอกบัวด้วยประการดังนี้. บทว่า โอปมัญญะ แปลว่า ผู้อุปมัญญโคตร.

บทว่า ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน คือเป็นใหญ่ในสุภควันโดยอุกฤษฏ์. บทว่า น่าหัวเราะทีเดียว คือ ควรหัวเราะทีเทียว. บทว่า เลวทรามทีเดียว ได้แก่ ลามกทีเดียว. ภาษิตนั้น ๆ เท่านั้นชื่อว่าว่างเพราะไม่มีประโยชน์และ ชื่อว่าเปล่าเพราะเป็นภาษิตว่าง.  บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะข่มสุภมาณพนั้นพร้อมทั้งอาจารย์จึงตรัสคำว่า มาณพก็...หรือ ดังนี้เป็นต้น . บรรดาคำเหล่านั้น คำว่าวาจาเหล่าไหนของสมณพราหมณ์เหล่านั้นประเสริฐกว่า ดังนี้ ความว่า วาจาเหล่าไหนของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่า อธิบายว่าเป็นวาจาน่าสรรเสริญ ดีกว่า. บทว่า สํมุจฺฉา แปลว่า ตามสมมติคือ ตามโวหารของชาวโลก. บทว่า รู้แล้ว คือ ไตร่ตรองแล้ว. บทว่าพิจารณาแล้ว ได้แก่ รู้แล้ว. บทว่า ประกอบด้วยประโยชน์ คือ อาศัยเหตุ. คำว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ความว่าเมื่อความที่วาจาอันบุคคลไม่ละโวหารของชาวโลก ใคร่ครวญแล้ว รู้แล้ว กล่าวทำเหตุให้เป็นที่อาศัย เป็นวาจาประเสริฐมีอยู่. บทว่า อาวุโต สอดแล้ว แปลว่า ร้อยไว้แล้ว. บทว่า นิวุโต นุ่งแล้ว แปลว่า รัดไว้แล้ว. บทว่า โอผุโฏ ถูกต้องแล้ว แปลว่าปกคลุมแล้ว. บทว่า ปริโยนทฺโธ รวบรัดแล้ว แปลว่า หุ้มห่อแล้ว. บททั้งหลายมีอาทิว่า คธิโต ผูกมัดแล้ว ดังนี้. มีเนื้อความกล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.

คำว่า พระโคดมผู้เจริญ ถ้าฐานะมีอยู่ ความว่า ถ้าเหตุนั้นมีอยู่. บทว่าสฺวาสฺส ไฟนั้น...พึงเป็น ความว่า เพราะไม่มีควันและขี้เถ้าเป็นต้น ไฟนั้นพึงมีเปลว มีสี และมีแสง. คำว่า ตถูปมาหํ มาณว มาณพเราเปรียบเหมือนอย่างนั้น ความว่า เรากล่าวเปรียบปีติอันอาศัยกามคุณนั้น. อธิบายว่า เปรียบเหมือนไฟที่อาศัยหญ้าและไม้เป็นเชื้อติดโพลงอยู่ ย่อมเป็นไฟที่มีโทษ เพราะมีควันขี้เถ้า และถ่าน ฉันใด ปีติอันอาศัยกามคุณ ๕ เกิดขึ้น ย่อมมีโทษ เพราะมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ และโสกะเป็นต้นฉันนั้น. อธิบายว่า ไฟชื่อว่าเป็นของบริสุทธิ์ เพราะไม่มีควันเป็นต้น ซึ่งปราศจากเชื้อ คือ หญ้าและไม้ฉันใด ปีติอันประกอบด้วยโลกุตตรและฌานทั้งสอง ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีชาติเป็นต้นฉันนั้น.

บัดนี้ ธรรม ๕ ประการ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติด้วยจาคะอันเป็นหัวข้อแม้นั้น เพราะเหตุที่ไม่คงอยู่เพียง ๕ ประการเท่านั้น เป็นธรรมไม่หวั่นไหวตั้งอยู่ หามิได้ คือย่อมไม่ถึงพร้อมกับความอนุเคราะห์ เพราะเหตุนั้นเพื่อจะแสดงโทษนั้น จึงตรัสคำว่า มาณพ ธรรมเท่านั้นฉันใด ดังนี้ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า (ทาน) อันเป็นยารอนุเคราะห์ คือ มีความอนุเคราะห์เป็นสภาวะ. คำว่า ท่านเห็นมีมากในที่ไหน นี้ เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บรรพชิตนี้ชื่อว่า ผู้สามารถเพื่อบำเพ็ญธรรม ๕ ประการนี้ให้บริบูรณ์ ย่อมไม่มี คฤหัสถ์บำเพ็ญให้บริบูรณ์ได้ เพราะเหตุนั้นบรรพชิตเท่านั้นบำเพ็ญธรรม ๕ ประการนี้ให้บริบูรณ์ไม่ได้ คฤหัสถ์ชื่อว่าสามารถเพื่อบำเพ็ญให้บริบูรณ์ได้ ย่อมไม่มี จึงตรัสถามเมื่อให้มาณพกล่าว ตามแนวทางนั้นนั่นแหละ. ในคำว่า เป็นผู้พูดจริง สม่ำเสมอร่ำไป หามิได้ดังนี้ เป็นต้น พึงเห็นความหมายอย่างนี้ว่า คฤหัสถ์ เมื่อเหตุอื่นไม่มีก็กระทำแม้มุสาวาทของผู้หลอกลวง. พวกบรรพชิตแม้เมื่อจะถูกตัดศีรษะด้วยดาบก็ไม่กล่าวกลับคำ. อนึ่ง คฤหัสถ์ไม่อาจรักษาสิกขาบทแม้สักว่าตลอดภายในสามเดือน. บรรพชิตเป็นผู้มีตบะ มีศีล มีตบะเป็นที่อาศัย ตลอดกาลเป็นนิจทีเดียว.

คฤหัสถ์ย่อมไม่อาจกระทำอุโบสถกรรมสักว่า ๘ วันต่อเดือนบรรพชิตทั้งหลายเป็นผู้พระพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิต. คฤหัสถ์เขียนแม้เพียงรัตนสูตร และมงคลสูตรไว้ในสมุดแล้วก็วางไว้. บรรพชิตทั้งหลายท่องบ่นเป็นนิจ. คฤหัสถ์ไม่อาจให้แม้สลากภัต (ให้เสมอไป) ไม่ให้ขาดตอน. บรรพชิตทั้งหลายเมื่อของอื่นไม่มี ก็ให้ก้อนข้าวแก่พวกกา และสุนัขเป็นต้น ย่อมใส่ในบาตรแม้ของภิกษุหนุ่มผู้รับบาตรนั่นเอง. คำว่า เรากล่าวธรรมเท่านั้น (ว่าเป็นบริขาร) ของจิต ความว่า เรากล่าวธรรม ๕ ประการเหล่านั้นว่าเป็นบริวารของเมตตาจิต. บทว่า ชาตวฑฺโฒ เกิดแล้ว เจริญแล้ว แปลว่า ทั้งเกิดแล้วและเจริญแล้ว. ก็บุคคลใดเกิดในที่นั้น อย่างเดียวเท่านั้น (แต่) เติบโตที่บ้านอื่น หนทางในบ้านรอบ ๆ ย่อมไม่ประจักษ์อย่างถ้วนทั่วแก่บุคคลนั้นเพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ทั้งเกิดทั้งเติบโตแล้ว ดังนี้. ก็บุคคลใดแม้เกิดแล้วเติบโตแล้ว แต่ออกไปเสียนาน หนทางก็ย่อมไม่ประจักษ์แจ้งโดยถ้วนทั่วแก่บุคคลนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ตาวเทว อปสกฺกํ (ผู้ออกไปในขณะนั้น). อธิบายว่า ออกไปในขณะนั้นทันที. บทว่า ชักช้า ความว่า ชักช้าด้วยความสงสัยว่า ทางนี้หรือ ๆ ทางนี้. บทว่า ตกประหม่า ความว่า สรีระของใคร ๆ ผู้ถูกคนตั้งพันถามถึงอรรถอันสุขุม ย่อมถึงภาวะอันกระด้าง (คือตัวแข็ง) ฉันใด การถึงภาวะอันแข็งกระด้างฉันนั้น ย่อมไม่มีเลย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่พระสัพพัญญุตญาณอันอะไร ๆ ไม่กระทบ กระทั่งได้ด้วยบทว่า วิตฺถายิตตฺตํ นี้. ก็ความกระทบกระทั่ง ความรู้พึงมีแก่บุรุษนั้นด้วยอำนาจมารดลใจเป็นต้น เพราะเหตุนั้น บุรุษนั้น พึงชักช้าหรือพึงตกประหม่า. แต่พระสัพพัญญุตญาณไม่มีอะไรกระทบกระทั่งได้ ท่านแสดงว่า ใคร ๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระสัพพัญญุตญาณนั้น.  บทว่า มีกำลัง ในคำนี้ว่า มาณพ คนเป่าสังข์ผู้มีกำลังแม้ฉันใด ดังนี้ ความว่า สมบูรณ์ด้วยกำลัง. บทว่า สงฺขธโม แปลว่า คนเป่าสังข์. บทว่า อปฺปกสิเรน ได้แก่ โดยไม่ยาก คือ โดยไม่ลำบาก ก็คนเป่าสังข์ผู้อ่อนแอ แม้เป่าสังข์อยู่ ก็ไม่อาจจะให้เสียงดังไปยังทิศทั้ง ๔ ได้ เสียงสังข์ของเขาไม่แผ่ไปโดยประการทั้งปวง. ส่วนของผู้มีกำลังย่อมแผ่ไป เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่าผู้มีกำลัง. เมื่อกล่าวว่า ด้วยเมตตา ดังนี้ ในคำว่าด้วยเมตตาอันเป็นเจโตวิมุตติ นี้ ย่อมควรทั้งอุปจาร ทั้งอัปปนา. แต่เมื่อกล่าวว่า เจโตวิมุตฺติยา ย่อมควรเฉพาะอัปปนาเท่านั้น. คำว่ายํ ปมาณกตํ กมฺมํ กรรมที่ทำไว้ประมาณเท่าใด ความว่า ชื่อว่ากรรมที่ทำประมาณได้ เรียกว่า กามาวจร. ชื่อว่ากรรมที่ทำประมาณไม่ได้เรียกว่ารูปาวจรและอรูปาวจร. ในกรรมที่เป็นกามาวจร รูปาวจรและอรูปาวจรแม้เหล่านั้น กรรมคือ พรหมวิหารเท่านั้น ทรงประสงค์เอาในที่นี้ . ก็พรหมวิหารกรรมนั้นเรียกว่ากระทำหาประมาณมิได้ เพราะกระทำให้เจริญไปด้วยการแผ่ล่วงพ้นประมาณไปยังทิศที่เจาะจงและไม่เจาะจง. คำว่า กามาวจรกรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่จักไม่คงอยู่ในรูปาวจรกรรมนั้น ความว่า กามาวจรกรรมนั้น ย่อมไม่ติดคือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจรกรรมนั้น. ท่านอธิบายไว้อย่างไร. ท่านอธิบายไว้ว่ากามาวจรกรรมนั่นย่อมไม่เกี่ยวข้องหรือตั้งอยู่ในระหว่าง แห่งรูปาวจรและอรูปาวจรกรรมนั้นหรือแผ่ไปยังรูปาวจรกรรม และอรูปาวจรกรรมแล้ว ครอบงำถือเอาโอกาสสำหรับตนตั้งอยู่. โดยที่แท้ รูปาวจรกรรมเท่านั้น แผ่ไปยังกามาวจรกรรมเหมือนน้ำมากเอ่อท่วมน้ำน้อย ครอบงำถือเอาโอกาสสำหรับตนแล้วคงอยู่. รูปาวจรกรรมห้ามวิบากของกามาวจรกรรมนั้นแล้ว เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมด้วยตนเอง. คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถาสุภสูตร ที่ ๙

แหล่งที่มา พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณสาก์ เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๒ หน้าที่ ๔๔๓ - ๔๕๐

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 07 •มกราคม• 2014 เวลา 19:29 น.• )