ค้นพบพระเจ้าไม้มีจารึกเก่าแก่ที่สุดของล้านนาในขณะนี้ อายุ ๓๐๐ กว่าปีที่วัดคัวะ เมืองน่าน ภูเดช แสนสา อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พระเจ้าไม้ ๒ องค์ที่สร้างเมื่อพ.ศ.๒๒๔๗ ปัจจุบันมีอายุ ๓๐๗ ปี องค์ภาพซ้ายแกะสลักจากไม้ท่อนเดียวสร้างโดย “อ้ายชุ่ม”  องค์ภาพขวาแกะสลักประกอบจาก ๒ ส่วน คือ ส่วนองค์พระกับส่วนฐาน ใต้องค์พระมีช่องสันนิษฐานว่าเจาะไว้บรรจุแผ่นดวงชะตาของผู้สร้าง คือ “แสนอินทร์” คำว่า “พระเจ้าไม้” เป็นภาษาล้านนา

หมายถึงพระพุทธรูปที่แกะสลักขึ้นมาจากไม้ มีหลากหลายขนาดตั้งแต่ประมาณหน้าตัก ๑ นิ้วจนถึงขนาด ๑ เมตรเศษ แต่ส่วนใหญ่นิยมแกะสลักให้มีหน้าตักประมาณ ๒ – ๕ นิ้ว และนิยมแกะสลักจากไม้ท่อนเดียว น้อยครั้งที่จะพบมีการสร้างประกอบขึ้นจากไม้หลายท่อน โดยเฉพาะพระเจ้าไม้ที่แกะสลักจากไม้มงคลหลากหลายชนิดแยกทำเป็นพระโมฬี พระเศียร พระพาหา(แขน) พระหัตถ์ พระชงฆ์(แข้ง) พระบาท และส่วนอื่นๆ แล้วนำมาประกอบกันเป็นองค์พระเจ้าไม้ โดยมีสลักไม้เล็กๆ ตอกตรึงไว้คล้ายกับการสร้างพระเจ้าแสนแซ่ที่เป็นโลหะ พระเจ้าไม้ชนิดนี้เป็นพระเจ้าไม้พิเศษของล้านนาที่เรียกว่า “พระเจ้าไม้ชาตา”(พระเจ้าชะตา) หรือ “พระเจ้าไม้สมฤทธี” หรือ “พระเจ้าไม้เจ็ดเยื่อง” เชื่อว่าผู้ใดสร้างหวังสิ่งใดจะสมปรารถนาทุกประการ ซึ่งจากการออกสำรวจจารึกฐานพระเจ้าไม้ของผู้เขียนในหลายจังหวัดทั้งจังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน พบว่าพระเจ้าไม้แบบพิเศษลักษณะนี้มีน้อยมาก บางวัดอาจไม่พบ บางวัดอาจพบเพียง ๒ – ๓ องค์ และเกือบทุกองค์ผู้สร้างล้วนแต่เป็นชนชั้นเจ้านายและขุนนาง

พระเจ้าไม้มีทั้งปางประทับนั่ง นอน ยืน และเดิน แต่ส่วนใหญ่นิยมสร้างประทับนั่งปางมารวิชัย ส่วนช่วงเวลาของการสร้างถวายวัด จากการอ่านจารึกใต้ฐานพระเจ้าไม้พบว่ามีการสร้างถวายได้ตลอดทั้งปี แต่ที่นิยมมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือนยี่ หรือ ช่วงยี่เป็ง (ตรงกับเดือน ๑๒ ของภาคกลาง หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน) จุดประสงค์ของผู้สร้างส่วนใหญ่เพื่อหวังผลเอาพระนิพพานและสืบทอดค้ำชูอายุพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕๐๐๐ ปี ส่วนจุดประสงค์อื่นๆ ที่พบ เช่น เพื่ออุทิศให้บิดามารดาญาติมิตรวงศาหรือสัตว์มีคุณที่ล่วงลับไป, อุทิศให้ผีปู่ย่าและผีอารักษ์ที่รักษาบ้านเมืองเหมืองฝาย, เพื่อค้ำชูดวงชะตาของผู้สร้าง หรือเพื่อให้มียศศักดิ์และทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ซึ่งในคัมภีร์อานิสงส์ของล้านนาก็ยังได้กล่าวไว้เพื่อให้ผู้คนชาวล้านนาเห็นความสำคัญของการสร้างพระเจ้าไม้ว่า การสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้ได้อานิสงส์ถึง ๒๐ กัป (วิเชียร สุรินต๊ะ และคณะ, อานิสงส์ล้านนา, ๒๕๔๔ : ๓๔๕)

พระเจ้าไม้เมื่อแกะสลักและลงรักปิดทองหรือประดับด้วยแก้วจืนหรือแก้วอังวะเสร็จแล้ว ก็จะนำไปถวายที่วัดเพื่อประกอบพิธีกรรม “เป็กข์พระเจ้า” หรือ พิธีอบรมสมโภชพุทธาภิเษกที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อประกอบพิธีกรรมเสร็จแล้วก็จะนำเอาประดิษฐานไว้บนแท่นแก้ว(ฐานพระประธาน) ไว้ตามขื่อ แป หรือบนสันขอบกำแพงผนังของพระวิหารและพระอุโบสถเพื่อไว้เป็นที่สักการะต่อไป ด้วยพระเจ้าไม้สร้างขึ้นจากไม้ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายทั่วไป จึงเป็นพระพุทธรูปที่คนทุกชนชั้นในสังคมล้านนาสามารถสร้างได้ และกระทำสืบทอดกันมาจนกระทั่งค่อยๆ หมดลงไปในช่วงประมาณทศวรรษ ๒๔๗๐ – ๒๔๘๐ เพราะจากการสำรวจจารึกฐานพระเจ้าไม้ที่มีการสร้างในช่วงนี้เป็นต้นมาพบน้อยมาก ส่วนสาเหตุที่ผู้คนในวัฒนธรรมล้านนาหยุดสร้างพระเจ้าไม้เพื่อถวายวัด นอกจากสมัยนี้สามารถหาเช่าบูชาพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองเหลืองหรือแก้วได้ง่ายตามร้านค้า (ในคัมภีร์อานิสงส์ของล้านนาได้กล่าวว่าการสร้างพระพุทธรูปด้วยทองเหลืองได้อานิสงส์ ๔๕ กัป สร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมณีได้อานิสงส์มากถึง ๖๕ กัป) ยังต้องคงวิเคราะห์ให้ลุ่มลึกในโอกาสต่อไป

เมื่อผู้คนทุกชนชั้นสามารถสร้างพระเจ้าไม้ได้และมีการสร้างขึ้นถวายวัดเป็นประจำทุกปี จึงปรากฏการสร้างพระเจ้าไม้มีมาแต่โบราณไม่ขาดสาย แต่ทว่าพระพุทธรูปชนิดนี้มีข้อจำกัดว่าสร้างขึ้นด้วยไม้จึงได้ผุพังไปตามกาลเวลา จึงทำให้ที่ผ่านมาค้นพบพระเจ้าไม้มีอายุการสร้างประมาณ ๑๐๐ – ๒๐๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ จากการสำรวจในช่วงพ.ศ.๒๕๑๗ ของ ดร. ฮันส์ เพนธ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบพระเจ้าไม้ในล้านนาเก่าที่สุดในขณะนั้นของวัดดอกคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อจ.ศ.๑๑๔๕ (พ.ศ.๒๓๒๖, ปัจจุบันอายุ ๒๒๘ ปี) โดย “ท้าวบุญเรือง” (ฮันส์ เพนธ์, คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในนครเชียงใหม่, ๒๕๑๗ : ๑๐) และต่อมาในช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๕ จากการสำรวจของรองศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบพระเจ้าไม้ล้านนาเก่าที่สุดในขณะนั้นของวัดนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน สร้างเมื่อจ.ศ.๑๑๐๙ (พ.ศ.๒๒๙๐, ปัจจุบันอายุ ๒๖๔ ปี) รองลงมาพบที่วัดเดียวกันสร้างเมื่อจ.ศ.๑๑๑๒ (พ.ศ.๒๒๙๓, ปัจจุบันอายุ ๒๖๑ ปี) (สายันต์ ไพรชาญจิตร์, การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณีการทำบุญด้วยการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดน่าน, ๒๕๔๕ : ๔๐) ต่อมามีการสำรวจของปราชญ์ชุมชนที่วัดน้ำล้อม อำเภอเมือง จังหวัดน่าน พบพระเจ้าไม้เก่าแก่ที่สุดของล้านนาในขณะนั้นสร้างเมื่อจ.ศ.๑๑๐๐ (พ.ศ.๒๒๘๑, ปัจจุบันอายุ ๒๗๓ ปี) รองลงมาสร้างเมื่อจ.ศ.๑๑๐๙ (พ.ศ.๒๒๙๐, ปัจจุบันอายุ ๒๖๔ ปี) โดย “พญาสุกรินทร์” (เอกสารสำรวจจารึกฐานพระเจ้าไม้ของวัดน้ำล้อม)

จนกระทั่งเมื่อระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมกับคณะทีมงานสำรวจจารึกและทำทะเบียนพระเจ้าไม้ในอำเภอเมือง และอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านจำนวนหลายวัด คณะสำรวจประกอบด้วยอาจารย์สราวุธ รูปิน อาจารย์พิเศษสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์อนุสรณ์ บุญเรือง อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์ นักศึกษาปริญญาโทคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผู้เขียนได้ทำหน้าที่อ่านจารึกอักษรธรรมล้านนาที่ฐานพระเจ้าไม้ตามวัดที่ออกสำรวจ พบว่าที่วัดคัวะ หรือ วัดพุ่มมาลา ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีพระเจ้าไม้ที่มีจารึกเก่าแก่ที่สุดในล้านนาเท่าที่สำรวจพบในขณะนี้คือสร้างเมื่อจ.ศ.๑๐๖๖ (พ.ศ.๒๒๔๗, ปัจจุบันอายุ ๓๐๗ ปี) อยู่ในสมัยพระเมืองราชาเป็นผู้ครองเมืองน่าน(พ.ศ.๒๒๓๒ – ๒๒๔๗) มีจำนวน ๓ องค์ องค์แรกสร้างถวายโดย “แสนอินทร์” ดังจารึกว่า “...สกราชได้ ๑๐๖๖ ตัว ปีกาบสี เดือน ๕ เพง มูลสัทธาหมายมีแสนอินท์เปนเค้ากว่าภริยาลูกเต้าชู่ฅน...” องค์ที่สองสร้างถวายโดย “อ้ายชุ่ม”(ออกเสียงว่า “อ้ายจุ้ม) ดังมีจารึกว่า “...สกราชได้ ๑๐๖๖ ตัว ปีกาบสี...หมายมีอ้ายชุ่มเปนเค้า...” และองค์ที่สามไม่จารึกชื่อผู้สร้างปรากฏเพียงศักราชดังจารึกว่า “...สกราชได้ ๑๐๖๖ ตัว ปีกาบสี...” ส่วนพระเจ้าไม้ที่มีอายุรองลงมาเป็นลำดับสองพบที่วัดเดียวกันนี้มีจำนวน ๑ องค์สร้างเมื่อจ.ศ.๑๐๗๐ (พ.ศ.๒๒๕๑, ปัจจุบันอายุ ๓๐๓ ปี) โดย “อุปละ” และ “แม่ทิพย์”(ออกเสียงว่า “แม่ติ๊บ”) และพระเจ้าไม้ที่มีอายุรองลงมาเป็นลำดับสามพบที่วัดเดียวกันนี้อีกเช่นกันมีจำนวน ๒ องค์ สร้างเมื่อจ.ศ.๑๐๘๕ (พ.ศ.๒๒๖๖, ปัจจุบันอายุ ๒๘๘ ปี) องค์แรกสร้างถวายโดย “พ่อทุกัญจนะ”(ออกเสียงว่า “ป้อตุ๊กั๋นจะนะ”) กับองค์ที่สองสร้างถวายโดย “แม่ทุกัญจนะ”(ออกเสียงว่า “แม่ตุ๊กั๋นจะนะ) จากการออกสำรวจครั้งนี้จึงน่ายินดียิ่งที่ได้ค้นพบพระเจ้าไม้เก่าแก่ที่สุดของล้านนาในขณะนี้ คือ มีอายุถึง ๓๐๗ ปี เก่ากว่าค้นพบครั้งก่อนที่วัดน้ำล้อมถึง ๓๔ ปี

ในปัจจุบันบนผืนแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ ยังมีพระเจ้าไม้ที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นด้วยความเคารพศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และเหลือทิ้งไว้ให้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอีกจำนวนมากมายมหาศาล กำลังรอให้ลูกหลานรุ่นปัจจุบันได้เห็นคุณค่าดูแลรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรที่จะเข้าทำการสำรวจจารึกและทำทะเบียนของแต่ละหัววัด ซึ่งถ้าหากปล่อยให้ทำโดยเพียงลำพังของคณะนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ คงไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดในช่วงชีวิตนี้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยปราชญ์ชุมชน “พ่อน้อย” “พ่อหนาน” คณะศรัทธาในแต่ละหัววัดหรือแต่ละท้องที่ช่วยกันทำการสำรวจจารึกและทำทะเบียนอย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะทำให้เราทราบถึงความเก่าแก่ของชุมชน ช่วยเติมเต็มประวัติความเป็นมาของชุมชน เติมเต็มประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นการป้องกันการถูกโจรกรรมพระเจ้าไม้ออกสู่ตลาดพระเครื่องที่กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งอยู่ในขณะนี้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ชุมชนใดก็ชุมชนหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ต้องพบพระเจ้าไม้ที่มีจารึกเก่าแก่กว่าที่คณะผู้เขียนสำรวจพบอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 02 •กันยายน• 2013 เวลา 23:23 น.• )