งานศพในมโนทัศน์ของชาวบ้านล้านนาในอดีต ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขาและความมืดมิดยามค่ำคืนจึงถือเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล สามารถนำมาสู่ความตายหรือความหายนะให้กับทั้งตนเอง คนในครอบครัว หรือคนภายในหมู่บ้าน และบางอย่างก็ส่งผลไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ดังคัมภีร์มูลโลกหลวงได้กล่าวถึงการทำไม่ถูกต้องเกี่ยวกับศพว่า “...เปนเหตุว่าอวมงคลแล ผิว่าเอาหัวตำนั้น พ่อแม่ทังหลายจักฉิบหาย จักขึดแก่บ้าน พยาธิมักฅ่ำรามแล...” หรือคัมภีร์พิษณุถามแม่นางธรณีกล่าวว่า “...ฅนอันขึ้นกองหลัวนั้นเรียกเอาขอนผีก็บ่ควรแล มักฉิบหายต่อเท้าเช่นลูกเช่นหลานแล...”

ด้วยความน่ากลัวที่ส่งผลให้กับผู้ที่มีชีวิตอยู่ จึงมีพิธีกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นการตัดขาดกันระหว่าง “คนตาย” กับ “คนเป็น” ที่อยู่มีชีวิตอยู่ เช่น มีพิธีกรรมการตัดสายผัวสายเมียระหว่างสามีภรรยาที่ตายจากกัน เมื่อศพหามหรือเคลื่อนผ่านหน้าบ้านก็จะเอาขี้เถ้าโรยเป็นเส้นกั้นไว้ทางเข้าประตูบ้านเพื่อกันวิญญาณหลงเข้ามาในบ้าน เมื่อขบวนศพออกไปไกลหมู่บ้านผู้มีคาถาก็จะขีดเส้นกั้นบนถนนเพื่อกันผีกลับเข้าบ้าน หรือเมื่อถึงทางแยกก็จะหมุนศพเป็นวงกลมเชื่อว่าทำให้วิญญาณจะจำทางกลับบ้านไม่ได้ เป็นต้น รวมไปจนถึงมีการแบ่งแยกระหว่างข้าวของเครื่องใช้ระหว่างป่าช้ากับบ้านในอดีตไว้อย่างชัดเจน เช่น ก่อนศพออกบ้านก็ทำการสูตรถอนเพื่อตัดขาดกันระหว่างข้าวของที่จะให้ผู้ตายกับภายในบ้านเรือน ข้าวของทั้งหมดรวมถึงหมากเมี่ยงบุหรี่ถ้านำไปป่าช้าแล้วห้ามนำกลับเอามาไว้ใน บ้านเรือน “...หมากเหมี้ยงอันเอาไปนั้น ก็บ่ควรเหลือฅืนมาเรือนสักอันแล...” หรือไปถึงป่าช้าแล้วลืมข้าวของที่จะใช้ในพิธีกรรมในป่าช้าก็ห้ามกลับบ้านมาเอา เป็นต้น ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับพิธีกรรมศพจึงถือเป็นสิ่งของอัปมงคล เชื่อว่าสามารถทำให้เกิดขึดหรืออุบาทว์กับผู้ได้เกี่ยวข้องรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยมโนทัศน์เหล่านี้เกี่ยวกับพิธีกรรมงานศพ เมื่อเกิดอารมณ์โมโหจึงมีการนำเอาสิ่งที่เกี่ยวกับศพมาเป็นคำสบถหรือคำด่ากันขึ้น

ภาพพิธีกรรมตัดสายผัวสายเมียที่หน้าประตูวัดหัวดง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ พ.ศ.๒๕๕๔ (ที่มา : ภัทรพงค์ เพาะปลูก)

 

ตัวอย่างคำสบถที่เกี่ยวกับศพหรือความตาย เช่น ดักอย่างป่าเรี่ยว(ออกเสียง “ดักอย่างป่าเฮี่ยว”) คือเงียบเหมือนป่าที่ฝังศพหรือป่าช้า หน้าผากบ่ไหลละกา คือ ด่าว่าตายแล้วเพราะคนตายหน้าผากนิ่งไม่เคลื่อนไหว ร้อนปันจี่ผี(ออกเสียง “ฮ้อนปั๋นจี่ผี”)คือด่าว่าอากาศร้อนมากเหมือนไฟที่เขาเผาศพ เอาขอนผีเพิ่นมาไห้(ออกเสียง “เอาขอนผีเปิ้นมาไห้) คือ เป็นทุกข์แทนผู้อื่นเหมือนญาติผู้อื่นตายตนเองไม่เกี่ยวข้องก็ไปร่วมทุกข์โศกเสียใจด้วย หรือเยียะหน้าอย่างผีตายพากโชกหัว(ออกเสียง “เยียะหน้าอย่างผีต๋ายป้ากโจ้กหัว)คือทำหน้าไม่รับแขกเหมือนคนที่ตายแบบทรมาน ส่วนคำสบถที่เกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรมศพของล้านนานั้น ผู้เขียนได้รวบรวมไว้ ๖ คำ ดังนี้

๑. ไม้ทำเราะ ออกเสียง “ไม้ตำเฮาะ” บางท้องถิ่นก็ออกเสียงต่างกันไป เช่น “ทามเฮาะ” “ซำเฮาะ” “ซ้ำเฮาะ” “ธำเฮาะ” และ “ธ้ำเฮาะ” เป็นไม้ที่ใช้พลิกศพแทงศพเขี่ยนศพบนกองฟอนเมื่อทำการเผาศพ ในเขตเชียงใหม่ – ลำพูนบางท้องที่ก็เรียกว่า “ไม้โธวา” ทำจากไม้ไผ่รวกยาวประมาณ ๔ - ๖ เมตร หรือโบราณใช้ต้นอ้อยสีดำทั้งลำ ไม้ทำเราะเมื่อมีการใส่ปราสาทบางครั้งก็ใช้เป็นไม้ค้ำยันกันปราสาทล้มเมื่อไฟเริ่มลุกไหม้ เมื่อไฟไหม้ปราสาทแล้วก็ทำหน้าที่เป็นไม้แทงหรือเขี่ยศพเพื่อให้ไหม้ หากส่วนไหนที่ยังไม่ไหม้จริงๆ และเริ่มมืดค่ำ ก็จะเอาไม้ทำเราะแทงชิ้นเนื้อส่วนนั้นออกมาเพื่อใช้จอบหรือเสียมสับแล้วเอาใส่ในกองไฟต่อไป ด้วยเหตุนี้โบราณจึงไม่นิยมให้ญาติพี่น้องลูกหลานใกล้ชิดอยู่รอดูการเผาศพนานๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสังเวชสลดหดหู่กับภาพที่ได้เห็น ไม้ทำเราะนี้ถือเป็นไม้ที่น่ารังเกียจและอัปมงคลอย่างยิ่ง ดังปรากฏในคัมภีร์มูลโลกหลวงกล่าวว่าไม่ให้ลอดหรือเอาไม้ทำเราะนี้ข้ามศีรษะ “...ไม้ส้าวสวักแทงเมื่อเผาผีนั้น บ่ควรเอาข้ามเหนือหัวแล...”

คำว่า “ทำ” หรือ “ทาม” คือ ใกล้ชิด ติด ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคำว่า “เราะ” หมายถึงศพ หรือโบราณอาจหมายถึงที่ฝังศพอีกด้วย เหมือนคำว่าว่า “เรี่ยว” หรือ “ป่าเรี่ยว” ก็หมายถึง “ศพ” หรือ “ที่ฝังศพ” แม้ภายหลังมีการเผาไม่ใช้การฝังก็ยังเรียกว่า “ป่าเรี่ยว” อยู่ ซึ่งคำว่า “เราะ” เดิมก็หมายถึงที่ฝังศพโดยมีไม้เรียงทับไว้ด้านบนเพื่อกันสัตว์มาขุ้ยเขี่ย คือเอาไม้ไป “ทำเราะ” หรือ “ทามเราะ” เอาไปติดไว้ใกล้บนหลุมศพ ต่อมาเมื่อชาวบ้านนิยมเผาศพมากขึ้นก็ยังเรียกไม้ที่ใช้แทงหรือเขี่ยศพนี้ว่า “เราะ” หรือ “ทำเราะ” เพราะไม้นี้ใกล้หรือติดกับซากศพเมื่อมีการเผา จึงเรียกว่า “ไม้ทำเราะ” นิยมสบถว่า “ผีตำเฮาะ” หรือ “ตำเฮาะผี” หมายถึงไม้ทำเราะที่แทงผี(ศพ) “พรายตำเฮาะ” คือไม้ทำเราะที่ใช้กับผีตายพราย “ห่าตำเฮาะ” คือไม้ทำเราะที่ใช้กับผีตายด้วยห่า ตัวอย่างประโยคที่ใช้สบถ เช่น “บ้าห่าผีทำเราะมึง”(บ้าห่าผีทำเฮาะมึง) “ทำเราะผีนี้เนาะ”(ตำเฮาะผีนี้เนาะ) เป็นต้น และปรากฏมีสำนวนนิยมพูดในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ว่า “ผีตำเฮาะ ช่างเสาะหากัน” คือคนที่ไม่ดี คนที่ไม่สมประกอบ พูดในเชิงประชดประชันที่คู่นี้เหมาะสมกันมาเจอกัน สังเกตุว่าคำสบถนี้ปรากฏมีใช้ทั่วไปในล้านนา

รูปไม้ตำเฮาะใช้แทงหรือพลิกศพช่วงเผาบนกองฟอน ภาพนี้ถ่ายประมาณทศวรรษ ๒๕๐๐ (ที่มา : ชมรมคนฮักผาสาท)

 

๒. โบม หมายถึงที่ใส่ศพ อาจหมายถึงแมวควบคือไม้ใผ่จักสานเป็นรูปสามเหลี่ยมครอบศพ หรือโลงศพ คำสบถนี้มีนำมาผสมกับคำอื่นได้อีกหลายคำหลายได้แก่ “โบม” “พรายโบม” “ทามโบม” “พรายแหมะพรายโบม” “ผีโบม” “โบมผี” “กะโบม” “ผีกะโบม” “ห่าโบม” “ศพโบม” และ “โบมศพ” คำว่าโบมยังปรากฏใช้เป็นคำซ้อนคู่กับ “หีด” ที่หมายถึงโลงศพเช่นเดียวกัน ดังในคร่าวพื้นเมืองสิบสองพันนาได้กล่าวถึงคำว่า “หีดโบม” หรือ “โบม” อยู่หลายแห่ง เช่น “...ดั่งค่าหีดโบมนี้ตกลูกเจ้าแผ่นดิน...กองฟอนก่อเงื่อนดีแล้ว ค่อยเอาหีดโบมขึ้นต่างใส่เหนือกองฟอนหั้น...” ด้วยโบมเป็นที่ใส่ศพจึงถือเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างมากจึงนำเอามาเป็นคำสบถกันอีกคำหนึ่ง ดังในคัมภีร์มูลโลกหลวงกล่าวว่าโลงศพที่ใส่ไปป่าช้าแล้วห้ามนำกลับเข้ามาบ้านเพื่อใส่อีกศพ “...แปลงหล้องก็ดี หีดก็ดีใส่ศพผู้ ๑ หามไปแล้ว ผู้ ๑ จักไปเล่าก็บ่ควรเอาเข้าในบ้าน เหตุว่าไปป่าช้าแล้วบ่ควรเอาเข้าในบ้าน...” สังเกตุว่าคำสบถนี้นิยมใช้ในเขตจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง และจังหวัดอุตรดิตถ์บางส่วน(บริเวณที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเมืองน่าน คือ เมืองท่าปลา เมืองท่าแฝก และเมืองผาเลือด)

รูป “โบม” หรือ “แมวควบ” ไม้ไผ่สานเป็นรูปสามเหลี่ยมครอบอยู่บนโลงศพ โบราณหากไม่มีโลงศพก็ทำเป็นโบมครอบศพไว้เพียงอย่างเดียวภาพนี้เป็นงานศพที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ประมาณพ.ศ.๒๔๙๐ (ที่มา : ชมรมคนฮักผาสาท)

๓. ท้องแค้ว หรือ “ท้องแค้วแมวควบ” หมายถึงที่ใส่ศพจักสานด้วยไม้ไผ่ทำเป็นฐานคล้ายบัวคว่ำบัวหงาย และด้านบนสานเป็นฝารูปโค้งเพื่อปิดบังศพ ด้านบนประดับด้วยดอกไม้ปักบนกาบกล้วย ลักษณะของท้องแค้วแมวควบนี้ สันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบที่พัฒนามาทำเป็น “หีดแอว” แบบที่นิยมใช้ในจังหวัดแพร่ปัจจุบัน ท้องแค้วนี้ปรากฏความนิยมทำในเขตจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน(บางส่วน) โดยเฉพาะบริเวณอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ด้วยเป็นสิ่งที่ใส่ศพผู้คนจึงถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล จึงนำมาเป็นคำสบถว่า “แค้วผี” หรือบางครั้งก็สบถว่า “แค้วผีโบมผี”

รูปภาพวาดท้องแค้ว (วาดโดย : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๕)

 

รูป“หีดแอว” หรือโลงศพที่นิยมใช้ในจังหวัดแพร่มีรูปทรงเดียวกันกับ “ท้องแค้ว” (ที่มา : ชมรมคนฮักผาสาท)

 

๔. โลง หมายถึงที่ใส่ศพ บางแห่งเรียกชื่อต่างกันไป เช่น โบม หีด และหล้อง โบราณถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็จะเอาเสื่อสานพันศพหรือสานไม้ไผ่เป็นแมวควบครอบศพ หากเก็บศพไว้หลายวันก็จะใช้ต้นงิ้วขุดเป็นโลงศพ ขุดจากด้านบนทะลุด้านล่างทำเป็นเหงือกไว้วางไม้ระแนงที่ทำด้วยไม้ไผ่ ด้วยเหตุนี้บางท้องที่จึงเรียกว่า “หล้อง” เพราะเจาะลงไปเป็นร่องจากบนทะลุลงล่าง จึงทำให้คนโบราณเชื่อว่าจะไม่ปลูกต้นงิ้วไว้ภายในเขตรั้วบ้าน เชื่อว่าเมื่อต้นไม้งิ้วโตขนาดพอทำโลงศพเจ้าของบ้านจะตาย ด้วยเป็นเครื่องใช้ที่ใกล้ชิดกับศพมากจึงถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล ดังในตำนานเชียงใหม่กล่าวว่าโลงศพที่ใส่ศพไปป่าช้าแล้วหากเอากลับเข้ามาไว้ในหมู่บ้านในเมืองถือว่าขึด(อุบาทว์) “...ไม้โลงผีนั้นเอาไปทุมแล้ว พ้อยว่าเก็บเอาเข้ามาบ้านมาเมืองนั้น บ่ดีขึดแล...” คำว่าโลงนี้ไม่ปรากฏนำมาใช้เป็นคำสบถโดยตรง แต่นิยมกล่าวเป็นคำซ้อนว่า “ทำเราะทำโลง”(ออกเสียงว่า “ตำเฮาะตำโลง”) นิยมใช้ในจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

รูป“โลง” ในภาพนี้กำลังทำพิธีฝังศพที่จังหวัดลำพูน พ.ศ.๒๕๑๐ (ที่มา : พิพิธภัณชุมชนเทศบาลลำพูน)

 

๕. ฝ้ายจูง (ออกเสียงว่า “ฝ้ายจู๋ง”) หมายถึงเส้นฝ้ายที่ใช้จูงปราสาทศพหรือโลงศพไปป่าช้า ส่วนที่เป็นเส้นฝ้ายส่วนใหญ่แล้วจะให้พระสงฆ์สามเณรจูง ส่วนชาวบ้านจะจูงตรงเส้นเชือกที่ต่อมาจากเส้นฝ้ายเข้าไปหาปราสาทศพหรือโลงศพ แต่ก็เรียกโดยรวมว่า “ฝ้ายจูง” คำสบถนี้นิยมกล่าวในกลุ่มสตรีที่ทอผ้าหรือผู้ชายที่ถักแหหรือทำเกี่ยวกับเส้นด้าย เมื่อด้ายยุ่งพันกันจนแกะยากก็จะสบถออกมาว่า “ฝ้ายจูง” นิยมสบถในเขตจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่(ก่อนพ.ศ.๒๔๗๔ อำเภอลองขึ้นอยู่กับจังหวัดลำปาง)

รูปพระสงฆ์สามเณรและชาวบ้านถือฝ้ายจูงขบวนปราสาทศพ (ที่มา : ชมรมคนฮักผาสาท)

 

๖. ถงแพ้ว (ออกเสียงว่า “ถงแป้ว”) หมายถึงถุงย่ามที่ใส่ห่อข้าวให้คนตาย แต่ละท้องที่เรียกต่างกัน เช่น “ถงหมะจับ”(อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน) “ถงห่อข้าว” “ถุงห่อข้าวด่วน”(จังหวัดเชียงใหม่) หรือ “ถงห่อข้าวร้อยห่อ”(อำเภอเมือง จังหวัดแพร่) ส่วนคำว่า “ถงแพ้ว” ใช้เรียกบริเวณพื้นที่อำเภอปัวและอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ถุงย่ามนี้จะทอจากเส้นฝ้ายใช้ใส่ห่อข้าวที่ลูกหลานช่วยกันห่อให้ พร้อมกับหมาก เมี่ยง บุหรี่ เข็มเย็บผ้า ด้าย บางแห่งจะห่อ ๑๐๐ ห่อ บางแห่งให้ลูกหลานห่อใส่คนละ ๑ ห่อใส่ทุกวันจนกว่าจะนำไปป่าช้า ใบตองที่ห่อก็จะกลับด้าน เพื่อให้คนตายเอาไปเป็นเสบียงใช้ในภพหน้าและให้เอาไปแบ่งให้ผีที่ป่าช้า บางแห่งก็ใส่ไข่เป็ดในถุงห่อข้าวเพราะเชื่อว่าเมื่อไปถึงฝั่งน้ำผู้ตายจะเอาไข่เป็ดฟักแล้วเป็ดจะพาดวงวิญญาณข้ามฝั่งแม่น้ำไปฝั่งหน้า บางท้องที่ก็เย็บเป็นถุงย่ามสี่เหลี่ยมแบบธรรมดา แต่บางแห่งเช่นที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายจะเย็บเป็นถุงสามเหลี่ยมและเชื่อว่าต้องให้แม่หม้ายเป็นผู้เย็บถุงใบนี้(นายดนัย สมบัติใหม่)

ด้วยเป็นเครื่องใช้ในงานศพก็จะมีคำสบถว่า “ถงแพ้ว” ตัวอย่างเช่น เด็กสะพายย่ามไปมาจนผู้ใหญ่รำคาญก็จะทัก “พายถงแพ้วไปไหน”(ปายถงแป้วไปไหน) หรือทิ้งถุงย่ามวางไว้ไม่ถูกที่ก็จะโดนด่าว่า “ถงแพ้วไหนมายองอยู่หั้น”(ถงแป้วไหนมายองอยู่หั้น) คำสบถนี้นิยมใช้ในจังหวัดน่าน โดยเฉพาะเขตพื้นที่อำเภอปัวและอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

รูป“ถุงแพ้ว” หรือ “ถุงห่อข้าว” คนถือตุงจะสะพายถุงนำหน้าขบวนศพ ภาพนี้ที่จังหวัดลำปาง พ.ศ.๒๕๑๕ (ที่มา : ชมรมคนฮักผาสาท)

 

สังเกตจากที่ผู้เขียนได้สำรวจได้ในขณะนี้พบทั้งหมดจำนวน ๖ คำ ส่วนใหญ่คำสบถจะมาจากที่ใส่ศพอาจเรียกหลายชื่อว่า “โบม” “ท้องแค้ว” หรือ “โลง” ส่วนนอกนั้นก็เป็นเครื่องใช้ที่อยู่ห่างออกมาจากศพ ได้แก่ “ไม้ทำเราะ” “ฝ้ายจูง” และ “ถุงแพ้ว” และคำเหล่านี้นิยมใช้ในเขตจังหวัดน่าน แพร่ เชียงราย พะเยา ลำปาง และอุตรดิตถ์บางส่วน(บริเวณที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเมืองน่าน คือ เมืองท่าปลา เมืองท่าแฝก และเมืองผาเลือด) แต่ไม่พบในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งหมดนี้มีเพียงคำว่า “ทำเราะ” เท่านั้นที่ใช้หลายจังหวัดมากกว่าคำอื่น อาจด้วยเป็นคำศัพท์โบราณจึงรับรู้และใช้คำนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนคำว่า “โบม” และ “ถ้งแพ้ว” นั้นพบน้อย โดยเฉพาะจะพูดในกลุ่มชาวไทลื้อ ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองของสิบสองพันนาแต่กลับไม่พบในตำนานของล้านนาแต่อย่างใด สันนิษฐานว่าคำเหล่านี้มาจากของไทลื้อ

ในอนาคตอาจพบคำสบถที่มาจากเครื่องใช้ในพิธีกรรมศพอีกหลายคำ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเสนอต่อไป ทั้งนี้คำสบถเหล่านี้บางครั้งอาจเกิดขึ้นด้วยความโกรธ ความโมโห และความเกลียดชัง แต่หลายต่อหลายครั้งก็เกิดขึ้นด้วยความหวังดี เพื่อด่าห้ามปรามไม่ให้บุตรหลานหรือผู้อันเป็นที่รักได้กระทำในสิ่งที่ผิด และหลายต่อหลายครั้งเมื่อลูกหลานเผลอพูดคำเหล่านี้ออกมา พ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่จะรีบห้ามหรือเงื้อมือขึ้นคล้ายจะตีปรามไม่ให้พูด เพื่อสร้างนิสัยที่ดีและไม่ให้สิ่งอัปมงคลจากสิ่งที่กำลังจะกล่าวสบถออกมาจากปากเกิดขึ้นกับบุตรหลานผู้เป็นแก้วตาดวงใจของตนเองนั่นเอง

ภูเดช แสนสา

บรรณานุกรม

คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช, ขึด ข้อห้ามในล้านนา, พิมพ์ครั้งที่ ๓,(เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๔),

นคร ปญฺญาวชิโร(พระ, บรรณาธิการ). วิถีไทลื้อสิบสองพันนา. เชียงใหม่ : แม็กซ์พริ้นติ้ง, ๒๕๕๔.

ศรีเลา เกษพรหม. ประเพณีชีวิตคนเมือง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. เชียงใหม่ : นพบุรี, ๒๕๔๔.

อุดม รุ่งเรืองศรี(รวบรวม). พจนานุกรมล้านนา – ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๔๗.

สัมภาษณ์นางบุญเรือง มารยาทประเสริฐ อายุ ๗๕ ปี บ้านเลขที่ ๔๔/๒ หมู่ ๒ บ้านนาตุ้ม

ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล อายุ ๖๐ ปี สาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นางสุพรรณ แสนสา อายุ ๔๙ ปี บ้านเลขที่ ๔๔/๔ หมู่ ๒ บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์อาจารย์ศราวุธ รูปิน อาจารย์พิเศษสาขาศิลปะไทย ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นายศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว อายุ ๓๒ ปี บ้านนางิ้ว ตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว จังหวัดน่าน วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นายดนัย สมบัติใหม่ อายุ ๒๘ ปี เลขที่ ๓๘๕ หมู่ ๑๔ บ้านแม่คำสบเปิน ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นางสาวเจนจิรา วงศ์ละม่อม อายุ ๒๖ ปี บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ ๖ บ้านต้นนอด ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นายอภิรักษ์ ตาเสน อายุ ๒๓ ปี บ้านเลขที่ ๗๘ หมู่ ๑๐ บ้านนาดอย ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นายภัทรพงค์ เพาะปลูก อายุ ๒๒ ปี บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ ๖ บ้านเหมืองค่า ตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นายฉัตรชัย ขันธบุตร อายุ ๒๒ ปี ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นางสาววันวิสา มูลจันทร์ทรง อายุ ๒๐ ปี ๙๘/๑ หมู่ที่ ๖ บ้านน้ำลี้ ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นายอุกฤษ อินต๊ะสาร อายุ ๑๙ ปี บ้านถ้ำ ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

สัมภาษณ์นางสาวกานติมา สุดจะตา อายุ ๑๘ ปี ๑๖๙ หมู่ ๑๒ ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 01 •กันยายน• 2013 เวลา 22:40 น.• )