ชื่อบ้านนามเมืองกับความมีตัวตนของเมืองลอง ชื่อเป็นสัญลักษณ์อันดับแรกให้คนรู้จักและจดจำตัวตน ดังนั้นชื่อจึงมีความหมายและความสำคัญต่อการสร้างและรื้อฟื้นให้คนรู้จักและจดจำตัวตนของเมืองลอง ด้วยเมืองลองเป็นเมืองโบราณมีผู้คนอาศัยสืบเนื่องมายาวนานจึงมีชื่อบ้านนามเมืองหลากหลายชื่อ  ในที่นี้จะกล่าวถึงชื่อต่างๆ ของเมืองลอง  เพื่อจะได้เข้าใจถึงการ “เลือกสรร” และ “ละเว้น” ชื่อของเมืองลอง  ที่คนเมืองลองแต่ละกลุ่ม  โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์  กลุ่มข้าราชการ  กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น  และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า  นำมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองได้ชัดเจนขึ้น

(๑) เมืองศิริกุกกุฏฎะไก่เอิ้ก(กุกกุฏฏะไก่เอิ้ก)  ปรากฏชื่อในตำนานพระธาตุแหลมลี่และตำนานพระธาตุศรีดอนคำ

(๒) เมืองเววาทะภาษิต(เววาทะภาษีต์)  ปรากฏชื่อในตำนานพระธาตุแหลมลี่  ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ และตำนานพระธาตุขวยปูหรือตำนานพระธาตุเจ้าปูคำ  ตำนานระบุว่าเป็นชื่อที่มีมาก่อนยุคหริภุญไชย  ส่วนตำนานมุขปาฐะเล่าว่า  มาจากการถกเถียงเรื่องหลงทางมาที่เมืองลองของเหล่าเสนาอามาตย์  ที่ตามเสด็จพระนางจามเทวีขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย

(๓) เมืองเชียงจืน(เชียงชืน,เจียงจืน)  ตำนานเล่าว่าเมื่อพญามังรายได้เมืองลองเข้าไว้ในพระราชอาณาเขต  ทรงประทานนามเมืองนี้ให้เพราะมีแร่จืน(ตะกั่ว,ชิน)มากในเมืองนี้

(๔) เมืองลอง  ตำนานพระธาตุศรีดอนคำอธิบายที่มาของชื่อนี้ว่า  มาจากคำตรัสของพระนางจามเทวีกับเหล่าข้าราชบริพารผู้ติดตาม และคนภายในเมืองลองก็เชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า ชื่อเมืองลองเหล่านี้ได้เรียกขานเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  ดังปรากฏจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของวัดพระธาตุศรีดอนคำในพ.ศ.๒๓๒๒ ว่า “...เมืองกุกกุฏฏะไก่เอิ้ก  เบิกชื่อเสียใหม่ว่าเววาทะภาสี  บัดนี้ว่าเมืองลอง  วันนั้นแล...”

เมื่อพิจารณาแล้วชื่อของเมืองลองสองชื่อแรก คือ “เมืองศิริกุกกฏไก่เอิ้ก” และ “เมืองเววาทะภาษิต”  ที่เป็นภาษาบาลี  มีความยาว  เรียกยาก  และมีลักษณะเป็นชื่อในตำนาน  สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่พระสงฆ์ของเมืองลองผู้แตกฉานด้านภาษาบาลี  ผูกเป็นชื่อบ้านนามเมืองลองขึ้นในยุคที่ล้านนารุ่งเรืองเป็นต้นมา  มากกว่าที่จะมีเรียกมาตั้งแต่ก่อนหรือในสมัยหริภุญไชย  เพียงแต่ตำนานต้องการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญและความเก่าแก่ของสถานที่ หรือเมืองที่ประดิษฐานสถานพระธาตุ  จึงได้ผูกชื่อเมืองเข้ากับเรื่องเล่าดังที่ปรากฏในตำนาน  รวมถึงชื่อ “เมืองเชียงจืน” ก็เป็นชื่อที่เรียกกันภายหลังเช่นกันเพราะไม่ปรากฏในหลักฐานภายนอกเลย แม้แต่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ท้องถิ่นกล่าวว่าพญามังราย  ปฐมกษัตริย์ล้านนา(เชียงใหม่)ได้ประทานนามเมืองนี้ให้  ดังนั้นทั้ง  ๓  ชื่อของเมืองลองดังกล่าวจึงเป็นชื่อที่เรียกภายหลังในยุคล้านนารุ่งเรืองเป็นต้นมา และมีการรับรู้เฉพาะในเมืองลอง  หรือเมืองต้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แอ่งเดียวกันและเป็นเมืองขึ้นของเมืองลองเท่านั้น

ส่วนชื่อ “เมืองลอง” เป็นเพียงชื่อเดียวที่ภายนอกรับรู้อย่างกว้างขวาง  ซึ่งปรากฏทั้งในจารึก ตำนาน และวรรณกรรม  มาตั้งแต่ยุคจารีตและใช้ต่อมาเป็นชื่อของ “อำเภอลอง” จนถึงปัจจุบัน  สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเก่าแก่ดังเดิมที่สุดของเมืองลอง  ที่เรียกขานตามชื่อ “น้ำแม่ลอง” อันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมและเป็นบริเวณที่ตั้งของเวียงลองยุคแรก(บ้านไฮสร้อย) เหมือนกับเมืองต่างๆ ที่นิยมตั้งชื่อบ้านนามเมืองตามแม่น้ำ  เช่น  เมืองสอง(น้ำแม่สอง),  เมืองมาน(น้ำแม่มาน),  เมืองงาว(น้ำแม่งาว),  เมืองเมาะ(น้ำแม่เมาะ),  เมืองจาง(น้ำแม่จาง)  และเมืองตรอกสลอบ(น้ำแม่สลอบหรือน้ำแม่สลก) เป็นต้น  เพียงแต่ภายหลังพระมหาเถระนักปราชญ์ในเมืองลองได้มีการแต่งตำนานขึ้น  เพื่ออธิบายเชื่อมโยงชื่อเมืองลองเข้ากับพระนางจามเทวี  ดังตำนานกล่าวว่า “...ทีนั้น  ยังขานเมื่อนั้นประเทสนิคมอันนี้ปรากฏชื่อว่า  เววาทะภาสิต  นางก็หันช่องน้ำขึ้นมาดั่งอั้น จิ่งคระนิงใจว่าเรามานี้รอยบ่หล้างผิดกระแสแม่น้ำเสียเพิงมีชะแล  เราลองขึ้นไปก่อนเทอะว่าอั้น   เหตุดั่งอั้น  แต่นั้นมาจิ่งได้ชื่อว่า  เมืองลอง  เพื่ออั้นแล...”

ซึ่งเมืองต้าก็สร้างเวียงขึ้นริมน้ำแม่ต้า  จึงได้ชื่อว่า “เมืองต้า”  ที่เรียกตามชื่อแม่น้ำ  แต่ก็มีตำนานอธิบายว่ามาจากเจ้าเมืองลำปางกับเจ้าเมืองแพร่กำหนดแบ่งปันเขตแดนกัน  โดยตกลงกันว่าหากเดินทางมาพบกันที่ตรงไหนก็แบ่งเขตที่ตรงนั้น  เจ้าเมืองลำปางเดินทางมาด้วยม้าจึงไวกว่าเจ้าเมืองแพร่ที่ขี่ควายเฒ่า  ซึ่งเจ้าเมืองลำปางเห็นว่าได้เขตกว้างมากแล้วจึงพักรอ(ถ้า)เจ้าเมืองแพร่ที่เมืองต้า  เมื่อตั้งเมืองจึงได้ว่า “เมืองถ้า” ภายหลังกลายเป็น “เมืองต้า”  ดังตำนานบอกเล่าของเมืองต้าว่า “เมื่อเมืองลำปางกับเมืองแพร่ยังบ่ได้ปั๋นแดนกั๋นเตื้อ  พญาลำปางกับพญาแพร่นัดหมายกั๋นว่า  ถ้านกแซวตี๋แขด(ร้อง)เมื่อใดหื้อออกเดินทาง  ปะกั๋นตี้ไหนปั๋นแดนเมืองกั๋นตี้หั้น  พญาลำปางเข้าใจ๋ว่านกแซวตี๋แขดเมื่อเจ๊า  เมื่อนกแซวตีแขดเมื่อเจ๊าพญาลำปางก็ขี่ม้ามา  ส่วนพญาแพร่เข้าใจ๋ว่านกแซวตี๋เมื่อแลง  ถ้าจนเถิงนกแซวตี๋แขดเมื่อแลงก็ขี่ควายเฒ่ามา  พญาลำปางป๊บม้ามาเถิงเมืองต้าบะเดี่ยวนี้บ่ปะพญาแพร่เลยลงม้ามานั่งถ้า  ตี้นี้เลยได้ชื่อว่า “เมืองถ้า”  เมื่อลูนมาฮ้องกล๋ายเป๋น “เมืองต้า”  พญาลำปางถ้าก้ายแล้วก็ป๊บม้าไปแหมไปเถิงห้วยผาคำ  พญาแพร่มาปะใส่กั๋นตี้นี้ก็บ่ยอมย้อนว่าได้เขตแดนเมืองน้อยเดียว  ก็เลยขอพญาลำปางถอย  ๓  บาทย่าง  ห้วยตี้นั้นเลยได้ชื่อว่า  “ห้วยสามย่าง”  แล้วถอยมาปั๋นแดนกั๋นตี้ดอยผาบ่อง(ผาผง)  มะผาดอยนี้เป๋นฮูกู้ก้อน  เลยปักหลักไม้ปั๋นเขตแดนเมืองไว้ฮูมะผาตี้หั้น(คือบริเวณศาลเจ้าพ่อพญามือเหล็กในปัจจุบัน)”

แต่ทว่าชื่อเหล่านี้แม้จะมีที่มาที่ไปแท้จริงตามตำนานหรือไม่ไม่สำคัญ แต่คนในท้องถิ่นเชื่อว่าจริงตามตำนาน และรับรู้มาจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคนว่าชื่อเหล่านี้ใช้เรียกและหมายถึงเมืองลอง  ด้วย “ชื่อ” เป็นดั่งดัชนีบ่งชี้ตัวตน  จึงมีการใช้ชื่อต่างๆ  ของเมืองลองมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองอีกครั้ง  โดยเฉพาะชื่อ “เมืองเชียงชื่น”  ที่มีต้นเค้ามาจากชื่อเมืองเชียงจืน  ซึ่งในอดีตแม้ชื่อนี้จะใช้ไม่แพร่หลายเท่าชื่ออื่น  แต่เมื่อนำเอาชื่อเมืองและประวัติบางส่วนของเมืองเชียงชื่นที่ปรากฏในวรรณคดีลิลิตยวนพ่ายเข้ามาสวมทับ  จึงกลับกลายเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองลองที่ได้รับความนิยมภายในท้องถิ่นช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐  เป็นต้นมา  ซึ่งแรกเริ่มที่มาของเมืองเชียงชื่นคือเมืองลอง  เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย  ว่าเมืองเชียงชื่นน่าจะอยู่ตรงบริเวณ “เมืองลอง” หรือ “เมืองเถิน” ที่เป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนา ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองลองจึงนำความคิดนี้ว่าเดิมเมืองลองก็เคยเรียกว่า “เมืองเชียงจืน(เชียงชืน)” จึงคงต้องเป็นเมืองเดียวกับ “เมืองเชียงชื่น” ที่มีการสันนิษฐานเอาไว้

ดังนั้นจึงมีการนำเอาประวัติของเมืองเชียงชื่น  มาเขียนรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือประวัติเมืองลองเมื่อพ.ศ.๒๔๙๕  และเรื่องราวส่วนนี้ก็ได้ถูกนำไปผลิตซ้ำเผยแพร่ในหนังสือต่างๆ  ทั้งในจังหวัดแพร่และต่างจังหวัด  เช่น ตำนานเมืองเหนือ, เมืองแพร่ ๘๐๐ ปี และประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่   ฯลฯ

ต่อแต่นั้นมาชื่อเมืองเชียงชื่น ก็ถูกคนเมืองลองหลายกลุ่มนำมาใช้สร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองอีกอย่างกว้างขวาง  เพราะเป็นชื่อที่คนภายนอกในยุคนี้รับรู้มากกว่าชื่อเมืองลองที่เป็นอำเภอในชนบท  หรือชื่อเมืองกุกกุฏไก่เอิ้กและเมืองเววาทะภาษีต์ที่เป็นชื่อภาษาบาลี  เรียกลำบากยากแก่การจดจำ อีกทั้งยังถือว่าเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ เพราะอดีตมีการนำไปตั้งเป็นนามของพระพุทธรูปหรือนามศักดิ์ของเจ้าเมืองลอง ทั้งสองชื่อนี้จึงใช้ในลักษณะเฉพาะหรือมีวงจำกัดของการนำมาใช้  ดังเช่น  ใช้สร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองเฉพาะในกลุ่มพระสงฆ์  ที่นำมาตั้งเป็นชื่อพระเครื่องของเมืองลอง  ดังกล่าวรายละเอียดมาแล้วก่อนหน้านี้

กอปรกับเมืองเชียงชื่นได้ปรากฏชื่อและเรื่องราวอยู่ในลิลิตยวนพ่าย  อันเป็นวรรณคดีของชาติไทยที่ใช้สอนในโรงเรียนมีการรับรู้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นแม้ชื่อเมืองเชียงจืนเคยใช้เรียกเมืองลองในอดีตและไม่เป็นที่นิยม แต่มาถึงยุคนี้หากใครเอ่ยถึงชื่อ “เมืองเชียงชื่น”  ส่วนใหญ่ต้องนึกถึง  “เมืองลอง”  แม้ว่าปัจจุบันนักวิชาการได้พิสูจน์เป็นที่ยอมรับแล้วว่า “เมืองเชียงชื่น”  คือ  เมืองศรีสัชนาลัยหรือเมืองเชลียง(บริเวณ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย)ไม่ใช่ “เมืองลอง” แต่การรับรู้ว่าเมืองลองคือเมืองเชียงชื่นที่ถูกปลูกฝังมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ  ที่ผ่านทั้งพิธีกรรม  หนังสือ  และการบอกเล่า  ปัจจุบันคนในพื้นที่แทบทั้งหมดจึงยังคงเชื่อว่า “เมืองเชียงชื่น” คือ “เมืองลอง” และภูมิใจจะใช้    “เมืองเชียงชื่น” อันเป็นเมืองที่ปรากฏชื่อเสียงในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย  มากกว่าจะกลับไปใช้  “เมืองเชียงจืน”  ชื่อเมืองเล็กๆ ที่ปรากฏอยู่เฉพาะในความทรงจำของท้องถิ่น

ขณะเดียวกันชื่อเมืองลอง ก็ได้ถูกนำขึ้นมาสร้างความเป็นตัวตนของท้องถิ่นไม่ด้อยไปกว่าชื่อเมืองเชียงชื่น มีการใช้ควบคู่กันไปอยู่เสมอและแบ่งหน้าที่กัน  ซึ่งชื่อเมืองเชียงชื่นจะนิยมนำมาใช้ในลักษณะของงานน่าท่องเที่ยวชวนฝันและเน้นความมีลักษณะพิเศษ  ที่ส่วนใหญ่จะถูกหยิบยกนำมาใช้โดยกลุ่มข้าราชการ  นักการเมืองท้องถิ่น  และพ่อค้าแม่ค้า  เช่น  นำมาตั้งชื่อการประกวดสาวงามในงานฤดูหนาวอำเภอลองประจำปีว่า “ประกวดธิดาเชียงชื่น” ของกลุ่มข้าราชการอำเภอลองและนักการเมืองท้องถิ่น,  กลุ่มคณะนักดนตรีตั้งชื่อวงดนตรี “เพชรเชียงชื่น” หรือ กลุ่ม  ผู้นิยมพระเครื่องในอำเภอลองรวมกลุ่มตั้ง “ชมรมพระเครื่องเวียงเชียงชื่น” ฯลฯ

ส่วนชื่อเมืองลองนั้น จะถูกหยิบยกขึ้นมาในลักษณะของงานแบบทางราชการหรือนำมาใช้เพื่อตอบโต้กับโครงการพัฒนาอันไม่พึงประสงค์ของทางจังหวัดแพร่  ดังนั้นจึงมักพบว่าหากในแถบอำเภอลองจะตอบโต้กับสิ่งที่ไม่พึงชอบ  จะนิยามตนเองว่า “เมืองลอง”  ที่เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง  แทนอำเภอลองที่เป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดแพร่  เพื่อแบ่งให้เห็น “คนใน” กับ “คนนอก” หรือ “เรา” กับ “เขา”  ดังการประท้วงไม่ให้ย้ายสำนักเขตพื้นที่การศึกษาแพร่  เขต ๒    จากอำเภอลองไปไว้อำเภอสูงเม่นที่ใกล้ตัวจังหวัดแพร่ในปีพ.ศ.๒๕๕๑  ก็มีการร่างในหนังสือคัดค้านจากคณะครู  หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น  คณะผู้ปกครองนักเรียน  และพระสงฆ์  โดยใช้  คำว่า  “เมืองลอง”  แทนอำเภอลอง

ขณะที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหรือกลุ่มเกษตรกรที่ผูกติดกับเศรษฐกิจ ก็นำชื่อเมืองลองมาใส่ป้ายกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตร เพื่อแสดงถึงการเป็นแหล่งดั้งเดิม มีความเป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น  เช่น  ซิ่นตีนจกเมืองลอง,  ผ้าตุ้ม(ผ้าห่ม)เมืองลอง,  ส้มเมืองลอง,  หม่าตัน(พุทรา)เมืองลอง,  ขนมเส้น(ขนมจีน)เมืองลอง,  ข้าวแคบเมืองลอง  และแคบหมูเมืองลอง ฯลฯ  ซึ่งชื่อ “เมืองลอง” จะได้รับความนิยมเลือกขึ้นมาสร้างมากขึ้นในทศวรรษ ๒๕๔๐  เมื่อคนภายนอกรับรู้ตนตนของเมืองลองผ่านหน่วยอำเภอลองมากขึ้น  ดังมีการผลิตซ้ำนำชื่อเมืองลองมาตั้งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์สินค้า  ชื่อกลุ่มหรือชมรมต่างๆ  หรือแม้แต่นำมาตั้งเป็นชื่อของพระเจดีย์ว่า “พระเจดีย์ศรีเมืองลอง”  ในพ.ศ.๒๕๔๙  ของวัดเชตวัน(หัวทุ่ง)  ตำบลหัวทุ่ง  ที่นำก่อสร้างโดยพระครูบุญสารประสิทธิ์(บุญยัง  ชัยมงคล, ศิษย์พระครูเกษมรัตนคุณ)  เจ้าอาวาสวัดเชตวันและรองเจ้าคณะอำเภอลอง

ดังนั้นชื่อบ้านนามเมืองของเมืองลอง  จึงเป็นทุนวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลอง  ซึ่งบางกลุ่มคนหรือบางกิจกรรมดังได้กล่าวมาข้างต้น  มีการนำเอาทุนวัฒนธรรมผ่านชื่อบ้านนามเมืองผูกติดกับเศรษฐกิจ  จึงมีการคัดสรรชื่อที่ให้ดูแปลกใหม่หรือสะดุดใจแก่ผู้ได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังให้อยากเข้ามาสัมผัส

การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลองในช่วงแรก(พ.ศ.๒๔๙๕ – ๒๕๓๘)  ได้อาศัยทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลัก  และมีทุนวัฒนธรรมของผีเมืองและเจ้าเมืองเข้าร่วมด้วยในกรณีที่เกี่ยวโยงถึง พระสงฆ์โดยเฉพาะเจ้าคณะอำเภอจะเป็นผู้นำหลักที่เชื่อมประสานคนกลุ่มต่างๆ  เข้ามาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองร่วมกัน  โดยปราชญ์ท้องถิ่นเป็นฐานกำลังด้านข้อมูล  ผลิตซ้ำด้านประเพณี  พิธีกรรม   มีข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นให้การสนับสนุนการจัดงานและเป็นผู้ประสานงานกับข้าราชการ  หน่วยงาน  หรือกลุ่มนักการเมืองภายนอก  ด้วยการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองที่ผู้นำแต่ละกลุ่มได้สร้างหรือเข้าร่วม ได้นำมาแอบอิงกับประเพณี  พิธีกรรม  และความเชื่อที่เคยปฏิบัติยอมรับอยู่แล้วในท้องถิ่น  ไม่ได้สร้างหรือผลิตตัวตนรูปแบบใหม่ที่หลุดลอยไปจากฐานทุนวัฒนธรรมเดิม  จึงทำให้ไม่ปรากฏความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการแย่งพื้นที่ของการสร้างความเป็นตัวตนความเป็นเมืองลองโดยตรง

แต่ทว่าก็มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในด้านสำนึกร่วมของคนบางกลุ่ม ดังในช่วงพ.ศ.๒๕๐๖  มีนายทุนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน  โดยการเช่าพื้นที่ธรณีสงฆ์ของวัดพระธาตุศรีดอนคำเพื่ออยู่อาศัยและประกอบการ  ได้ฟ้องร้องเอาที่ดินผืนนี้(พญาศรีสองเมือง  เจ้าเมืองลำปางกัลปนาถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำพ.ศ.๒๑๖๙)  ซึ่งมีการยืดเยื้ออยู่ในศาลกว่าสิบปีจึงตัดสินให้ทางวัดพระธาตุศรีดอนคำชนะคดีความ เพราะกลุ่มพระสงฆ์และปราชญ์ท้องถิ่น ได้นำตำนานพระธาตุศรีดอนคำจากต้นฉบับไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล  ซึ่งเป็นการหยิบยกเอาทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาขึ้นมายืนยันความชอบธรรม   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจัยหนึ่งมาจากการไม่ได้มีความทรงจำร่วมกันมาแต่เดิม  มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธาตุศรีดอนคำกับคนกลุ่มนี้อยู่ในแง่ลบ  สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในช่วงแรกนี้  ก็ไม่ได้ราบเรียบหรือได้รับความร่วมมือจากคนทุกกลุ่ม

น้ำแม่ลองช่วงที่ผ่านบ้านนาตุ้มก่อนถึงเวียงลองที่บ้านไฮสร้อย (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๔๘)

 

น้ำแม่ต้าช่วงที่ไหลผ่านบ้านเกี๋ยงพา (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

พระเจดีย์ศรีเมืองลอง  วัดเชตวัน (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

ผ้าตุ้ม(ผ้าห่ม)เมืองลอง

 

แคบหมูสามชั้นเมืองลอง

 

หม่าตัน(พุทรา)เมืองลอง

 

พระประธานในวิหารวัดนาตุ้มและวิหาร(หลังเดิม)วัดพระธาตุแหลมลี่ ที่มีการเรียกนามว่า “พระเจ้าเววาทะภาษีต์”  มาแต่โบราณ (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๔๘  และ  ๒๕๔๖)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 05 •พฤษภาคม• 2013 เวลา 22:11 น.• )