การเริ่มก่อตัวมี “สำนึกท้องถิ่น” “สำนึกรักบ้านเกิด” ที่มีผลทำให้เกิดการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลอง มีปัจจัยสำคัญทั้งภายในและภายนอก ๓ ประการ คือ (๑) ประเพณี พิธีกรรม และคติความเชื่อ เป็น “เครื่องมือ” และ “กลไก” ทางวัฒนธรรมที่สามารถยึดโยงสายสัมพันธ์ของกลุ่มคนเมืองลองเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระธาตุทั้งห้าองค์(พุทธ)และผีบ้านผีเมืองที่มาจากบุคคลสำคัญและเจ้าเมือง(ผี) ที่ยังสืบทอดไว้อย่างมั่นคงโดยการนำของกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มเชื้อสายเจ้านายขุนนาง และกลุ่มปราชญ์ท้องถิ่น(เค้าผี, เจ้าเหมืองเจ้าฝาย, ผู้นำประกอบพิธีกรรม ฯลฯ) เช่น ในพิธีกรรมล่องวัดเดือนหก(ไหว้พระธาตุแหลมลี่) ยังคงรักษาให้หัววัดบ้านนาหลวงผู้เป็นข้าวัดนำขบวนก่อน หรือโครงสร้างตำแหน่งหน้าที่ผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผีเมืองลอง(บ่อเหล็ก) ทั้งตำแหน่งผู้นำเลี้ยงผีเมืองที่มีเจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง เป็นองค์ประธานแทนเจ้าผู้ครองนครลำปางในช่วงพ.ศ.๒๔๔๙ – ๒๔๙๗ ปัจจุบันหลานเขยก็ยังทำหน้าที่เป็น “พ่อเมือง” นำพลีกรรมเลี้ยงผีเมืองลองและนำเลี้ยงผีขุนน้ำแม่ลอง (หากไปไม่ได้ก็ให้หลานสาวเป็น “แม่เมือง” นำเลี้ยงผีเมืองแทน) รวมถึงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ก็ยังคงอยู่ เช่น หมื่นกลางโฮง แสนบ่อ หมอง่อน ช่างม่วน กวาน และข้าผีเมือง ฯลฯ ซึ่งพิธีกรรมความเชื่อเหล่านี้ได้มีการผลิตซ้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอในรูปประเพณี ๑๒ เดือนของเมืองลอง ประกอบกับก่อนช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ แอ่งลองมีลักษณะเป็นเมืองปิดติดต่อกับภายนอกได้ยากลำบาก จึงยังคงไว้ซึ่งพลังเครือข่ายของท้องถิ่นที่เหมือนหรือคล้ายคลึงแบบจารีต เช่น ศรัทธาหมวดหัววัด หมวดอุโบสถ กลุ่มเหมืองฝาย ระบบเครือญาติ ระบบกลุ่มลูกหลานผีปู่ย่า และกลุ่มหมวดเอามื้อเอาแรง ฯลฯ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในรูปตำนานของเมืองลองที่ผูกติดกับ คติการทานธรรม ก็ยังปรากฏมีการจารในคัมภีร์ใบลานหรือเขียนลงพับสาด้วยอักษรธรรมล้านนาจนกระทั่งถึงในช่วงของทศวรรษนี้

(๒) การเปลี่ยนแปลงทางการปกครองและเศรษฐกิจของเมืองลอง ได้ทำให้คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะข้าราชการและพ่อค้า กลายเป็นชนชั้นนำขึ้นแทนที่กลุ่มเจ้าเมืองลองและขุนนาง ซึ่งตั้งแต่เมืองลองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เจ้าเมืองลองและขุนนางถูกกันออกจากการเมืองการปกครอง ให้มีหน้าที่จำกัดอยู่ในส่วนของประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อตามจารีตของบ้านเมือง จึงกระทบถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งป่าไม้และแร่ธาตุของเจ้าเมืองและขุนนางก็ค่อยหมดลงตามไปด้วย และสยามได้จัดการปกครองแบบใหม่ในรูปหน่วยอำเภอพร้อมกับจัดส่งข้าราชการชาวสยามเข้ามาปกครองแทนที่ กลุ่มข้าราชการสยามจึงกลายเป็นชนชั้นนำในเมืองลอง ซึ่งในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ เป็นต้นมา คนเมืองลอง(เชื้อสายเจ้าเมือง, ขุนนาง, พ่อค้าเงี้ยว, ชาวบ้าน)ที่ผ่านการศึกษาระบบโรงเรียนได้มีโอกาสเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งพนักงานที่ว่าการอำเภอ เสมียน ครู หรือตำรวจ ดังนั้นข้าราชการคนท้องที่จึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามามีส่วนสร้างและรื้อฟื้นเมืองลองในช่วงนี้ ส่วนพ่อค้าคนจีนและพ่อค้าคนไทย(ภาคกลาง)ในเมืองลอง ที่มีการสะสมทุนจากการค้าข้าวเปลือกตั้งแต่รถไฟเข้ามาถึงในพ.ศ.๒๔๕๗ และขยายกิจการจัดตั้งโรงเลื่อยไม้ โรงสีข้าว โรงงานปลาทู ฯลฯ พร้อมกับตั้งถิ่นฐานและสมรสกับคนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มทายาทพ่อค้าเงี้ยว กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ จึงเป็นผู้ควบคุมระบบเศรษฐกิจภายในเมืองลองทั้งหมดแทนกลุ่มเจ้าเมืองขุนนาง และเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังทุนทรัพย์หนุนการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง

(๓) การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.๒๔๗๕ โดยกลุ่มรัฐบาลคณะราษฎรได้ล้มล้างระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รวมศูนย์อำนาจไว้แห่งเดียวที่กษัตริย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลและออกพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่พ.ศ.๒๔๗๖ ทำให้ “จังหวัด” กลายเป็นหน่วยการปกครองขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและรองลงมาคือ “อำเภอ” มีการจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นต่างๆ ขึ้น โดยมีส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)และส.จ.(สมาชิกสภาจังหวัด)เป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากประชาชน ให้เป็นผู้แทนของตนเองในการทำงานเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของรัฐบาลที่จะกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนตามระบบประชาธิปไตย ทำให้ส.ส.และส.จ.ทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์และเป็นผู้นำท้องถิ่นดำเนินการต่างๆ ของจังหวัดมากกว่าผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ขณะเดียวกันในส่วนที่เล็กลงไปในระดับอำเภอผู้ที่เป็นตัวแทนของท้องถิ่น ก็พยายามจัดสรรผลประโยชน์เข้าสู่อำเภอให้มากที่สุดเช่นกัน

ในอำเภอลอง กลุ่มพ่อค้าจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของท้องที่เข้าไปในสภาจังหวัดแพร่ เพราะมีการสะสมทุนทรัพย์เป็นคหบดีมีฐานะมั่นคง อยู่ในวงการการค้ารู้จักผู้คนภายนอกกว้างขวาง โดยเฉพาะพ่อค้าเชื้อสายจีนในเมืองลองจะมีเครือข่ายเชิงเครือญาติตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ตามรายทางรถไฟตั้งแต่เชียงใหม่จนถึงกรุงเทพฯ กลุ่มพ่อค้าจึงกลายเป็นชนชั้นนำสมัยใหม่เพื่อเป็นตัวแทนของการพัฒนาท้องถิ่น ดังเช่น ร.ต.ท.เจียม ภุมมะภูติ(คนกรุงเทพฯ)ได้สืบทอดกิจการโรงเลื่อยไม้จากพ่อตา(พ่อเลี้ยงแสวง เชาวรัตน์ คนลำปาง เขยอำเภอลอง) สามารถพูดภาษาอังกฤษและชำนาญทางการค้าได้เป็นส.จ.แพร่รุ่นแรก ซึ่งในตัวของร้อยตำรวจโท เจียม ภุมมะภูติ ก็พยายามแสดงความเป็นตัวตน การเป็นตัวแทนของอำเภอลองและดึงผลประโยชน์เข้ามาพัฒนาท้องที่ ดังในพ.ศ.๒๔๗๙ ได้ดึงงบประมาณจากสภาจังหวัดแพร่เข้ามาสร้าง “ถนนจรูญลองรัฐ” ในตัวอำเภอลอง หรือแสดงความเป็นเฉพาะท้องถิ่นของอำเภอลองผ่านโครงการต่างๆ และเน้นในการประชุมสภาจังหวัดแพร่ว่าตนเป็นคนในท้องที่อำเภอลอง ลงมือปฏิบัติจริง และเข้าใจปัญหาของพื้นที่ได้ถ่องแท้

ชนชั้นนำของอำเภอลองทั้งกลุ่มข้าราชการและกลุ่มพ่อค้า โดยเฉพาะพ่อค้าที่เข้าไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่น จึงได้แสดงออกทางความคิดในการพัฒนาท้องถิ่นของตน และก่อตัวสำนึกในรูปของ “เมืองลอง” ที่มีการสนองตอบจากคนหลายกลุ่มในอำเภอลอง เพื่อตอบรับกับการพัฒนาและเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้รับกับสิ่งที่เป็นอยู่ในท้องถิ่นว่าเหมาะสมหรือไม่เข้าสู่ท้องที่ตน นำมาสู่การแสดงออกของเครือข่ายของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีพื้นฐานความสัมพันธ์ผูกโยงกับกลุ่มเครือข่ายแบบจารีตขึ้น(หมวดศรัทธาหัววัด,อุโบสถ,เหมืองฝาย ฯลฯ) คือ (๑) กลุ่มพระสงฆ์ (๒) กลุ่มข้าราชการ (๓) กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น (๔) กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า (๕) กลุ่มปราชญ์ท้องถิ่น และ(๖) กลุ่มประชาชนทั่วไป ที่มีสำนึกท้องถิ่นในฐานะเจ้าของพื้นที่ เจ้าของทรัพยากรในเมืองลอง ได้เริ่มค้นหาและเห็นความสำคัญของมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้อันเป็นรากเหง้าของตนเอง มีการรื้อฟื้นอดีตของ “เมืองลอง” เพื่ออธิบายถึงการมีอยู่และตัวตนของ “เมืองลอง” ที่แยกออกจากหน่วยของจังหวัดแพร่ และผูกพันเชื่อมต่ออดีตอันยาวนานเข้ากับปัจจุบัน ตลอดจนอธิบายถึงสิทธิของตนบนพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ โดยพยายามแสดงออกทางกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่สะท้อนสำนึกร่วมกันที่มีมาแต่อดีตของกลุ่มตนเอง ซึ่งการรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลอง ก็ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และลักษณะของกิจกรรม ว่าบุคคลใดหรือกลุ่มใดจะเป็น “ผู้นำ” ในการสร้างและรื้อฟื้น

การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนในช่วงแรก(พ.ศ.๒๔๙๕ - ๒๕๓๘) กลุ่มพระสงฆ์จะเป็นแกนนำหลักและเครือข่ายในการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลอง เนื่องจากผู้คนยังคงทัศนคติว่าพระสงฆ์เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชุมชน มีลักษณะเป็นผู้รู้หรือปราชญ์ของท้องถิ่นที่จรรโลงรักษาทางด้านจารีตประเพณี ส่วนในช่วงที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๓๘ - ๒๕๕๐) มีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับประเพณีศิลปวัฒนธรรมของเมืองลองโดยตรง กลุ่มสภาวัฒนธรรมอำเภอลองจึงเป็นผู้นำหลักและมีคนแต่ละกลุ่มเข้าร่วม ทั้งกลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มปราชญ์ท้องถิ่นที่เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการสร้างและรื้อฟื้นตัวตน กลุ่มข้าราชการที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการหรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งในจังหวัดแพร่และต่างจังหวัด กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณและช่วยติดต่อภายในเครือข่ายกลุ่มนักการเมืองในระดับจังหวัดและประเทศ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและกลุ่มประชาชนทั่วไป ให้การสนับสนุนการรื้อฟื้นทั้งด้านทุนทรัพย์และกำลังแรงใจแรงกาย โดยแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าต้องมีสถานะเป็นข้าราชการ พระสงฆ์ หรือปราชญ์ท้องถิ่น แต่ยังมีสถานะอื่นๆ อยู่ภายในตัวเอง เช่น เป็นเชื้อสายเจ้านาย เชื้อสายขุนนาง หรือผู้นำประกอบพิธีกรรม ฯลฯ

การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลอง จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือมีสถานะใดสถานะหนึ่ง แต่เมื่อมีการสร้างและรื้อฟื้นแต่ละครั้งจะมาจากการร่วมมือกัน และในตัวบุคคลเดียวกันที่เป็นผู้นำหรือเข้าร่วมรื้อฟื้นก็มีหลากหลายสถานะอยู่ภายในตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็จำเป็นต้องดึงคนจากภายนอก(อำเภอลอง)ที่มีอำนาจบารมี หรือกำลังทรัพย์เข้ามาร่วมด้วย

ดังนั้นด้วยเมืองลองคงรักษาทรัพยากร เครือข่ายทางสังคม ระบบความรู้ วัฒนธรรมและความเชื่อไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จึงเป็นรากฐานสำคัญของพลังท้องถิ่นในการกลับมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง ขณะเดียวกันการสร้างและรื้อฟื้นนี้ ก็ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสถานะใดสถานะหนึ่ง หรือผูกขาดการสร้างและรื้อฟื้นเฉพาะภายในเมืองลอง แต่มีการติดต่อประสานงานกับภายนอกอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับภาครัฐที่นำความเป็นชาติไทยส่งผ่านมาพร้อมกับข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น ความเป็น “เมืองลองแบบใหม่” จึงไม่ได้เป็นอิสระจากประวัติศาสตร์ชาติ แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบสำนึกว่าอำเภอลองเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย ส่งผลให้ปรากฏการณ์การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลองตั้งแต่แรกเริ่มจนถึง ณ ปัจจุบันยังคงผูกติดกับความเป็นชาติไทย ที่เป็น “สำนึกท้องถิ่นชาตินิยม” และเป็น “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายใต้ร่มธงไทย” เสมอมา

กอปรกับการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลอง ได้หยิบยกมาจากหัวใจของความเป็นเมืองลองทั้ง ๓ (เจ้า, พุทธ, ผี) ที่ส่งผ่านมากับประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ ก็มีขั้นตอนกระบวนการการนำเอาทุนวัฒนธรรมกลับขึ้นมาใช้ โดยผูกติดกับบริบทของสังคมภาค เหนือ(ล้านนา)และสังคมไทยด้วย ดังเห็นได้จากคนเมืองลองเลือกเอาพุทธศาสนา(พระธาตุ,พระพุทธรูป,ครูบามหาเถระ,ตำนาน)ที่มีการนับถือเป็นศาสนาสากลของไทย เป็นสิ่งแรกและกลุ่มแรกที่รื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๙๐ ส่วนอีก ๒ อย่างคือ “ผี” และ “เจ้า” ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะขณะนั้นคนในพื้นที่มองว่าสังคมไทยยังไม่เปิดรับความเชื่อเรื่องผีของท้องถิ่น และ “เจ้า” ของท้องถิ่นก็ถูกทำลายสถานภาพลงไปแล้ว

กระทั่งในทศวรรษ ๒๕๔๐ เป็นต้นมาเมื่อสังคมไทยเปิดกว้างให้ท้องถิ่นได้แสดงตัวตนมากขึ้น ผ่านทั้งทางออกกฎหมายรองรับ และสนับสนุนให้จัดตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงส่งผลให้หัวใจความเป็นเมืองลองทั้ง “ผี” และตามติดมาด้วย “เจ้า” ที่ถูกรักษาแช่แข็งอยู่ในรูปของประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ สามารถแสดงตัวตนได้มากขึ้น พร้อมกับถูกกลุ่มคนโดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองลองและกลุ่มพระสงฆ์ ได้หยิบยกกลับขึ้นมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในช่วงนี้ร่วมกับพุทธศาสนา

จากเงื่อนไขการหยิบยกเอาทรัพยากรหรือทุนทางวัฒนธรรม การจัดตั้งหน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงด้านศิลปวัฒนธรรม ความหลากหลายของกลุ่มคน และความหลากหลายลักษณะวิถีของการสร้างและรื้อฟื้น สามารถจัดแบ่งการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลองได้เป็น ๒ ช่วง คือ

(๑) “พุทธศาสนา” ส่วนหนึ่งในความเป็นเมืองลองยุคจารีต กับการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองระยะเริ่มต้น ช่วงพ.ศ.๒๔๙๕ - พ.ศ.๒๕๓๘

(๒) “พุทธศาสนา” “ผีบ้านผีเมือง” และ”เจ้าเมือง” หัวใจความเป็นเมืองลองในยุคจารีต กับการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองอย่างเข้มข้น ช่วงพ.ศ.๒๕๓๘ - พ.ศ.๒๕๕๐

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 02 •เมษายน• 2013 เวลา 06:48 น.• )