พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงศาสดา , หลักธรรมคำสอนและสาวก แบ่งออกเป็นประเภทดังนี้

๑. ศาสดาไม่ดี , หลักธรรมไม่ดี , สาวกไม่ดี , ก็เป็นที่ติเตียนทั้งสามฝ่าย ใครปฏิบัติตาม ก็ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก.

๒. ศาสดาไม่ดี , หลักธรรมไม่ดี แม้สาวกจะดี คือปฏิบัติตาม ก็เป็นที่ติเตียนทั้งสามฝ่าย ใครทำความเพียรตาม ก็ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก.

๓. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกไม่ดี ศาสดาและหลักธรรมย่อมได้รับสรรเสริญ แต่สาวกถูกติเตียน. ใครปฏิบัติตาม ก็ได้ประสบบุญเป็นอันมาก.

๔. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกดี ย่อมได้รับสรรเสริญทั้งสามฝ่าย ใครทำความเพียรตาม ก็ได้ประสบบุญเป็นอันมาก.

๕. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกไม่เข้าใจเนื้อความ ( แห่งธรรม ) แจ่มแจ้ง. เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็เดือดร้อนภายหลัง.

๖. ศาสดาดี , หลักธรรมดี , สาวกเข้าใจเนื้อความ ( แห่งธรรม ) แจ่มแจ้ง . เมื่อศาสดาตายแล้ว สาวกก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง.

ศาสดา ๓ ประเภท

ทรงแสดงถึงศาสดา (ผู้สอนศาสนา) ๓ ประเภทที่ควรโจทท้วง และคำโจทท้วงก็ถูกต้องตามธรรมคือ

๑. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะด้วยตนเอง ได้แต่แสดงธรรมสอนผู้อื่น (ดีแต่สอนผู้อื่น ตนเองปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่ได้ผล) สาวกจึงไม่ตั้งใจฟัง พากันเลี่ยงหนี.

๒. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะด้วยตนเอง ได้แต่แสดงธรรมสอนผู้อื่น แต่สาวกตั้งใจฟังคำสอน ไม่พากันเลี่ยงหนี.

๓. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะและแสดงธรรมสั่งสอน แต่สาวกไม่ตั้งใจฟังคำสอน พากันเลี่ยงหนี.

ศาสดาที่ไม่ควรติ

พระองค์ได้ตรัสว่า ศาสดามีคุณสมบัติสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งมีสาวกที่ออกบวชแล้วตั้งอยู่ในศีลได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึง ๔ และได้วิชชา ๘ ประการ (ตามที่กล่าวแล้วในสามัญผลสูตร)  ศาสดาประเภทนี้ไม่ควรถูกติ (เพราะสั่งสอนได้ผลสมบูรณ์ คือ ตนเองก็ได้บรรลุธรรม สาวกก็ได้บรรลุธรรม)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 19 •มกราคม• 2013 เวลา 21:27 น.• )