อัตลักษณ์ท้องถิ่นตำบลเหมืองหม้อ บทที่ ๑ ความเป็นมาของตำบลเหมืองหม้อ สถานที่ตั้ง ตำบลเหมืองหม้อตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองแพร่ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ตำบลเหมืองหม้อมีประวิติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่อดีตกาล ประมาณปี พ.ศ.๑๓๗๙ ได้อพยพมาจากบ้านหนองหม้อเมืองไชยบุรี เชียงแสน มาตั้งรกรากที่ริมห้วยแม่แคม บริเวณนี้มีลำธารเล็กๆแยกจากห้วยแม่แคมไปทางขวา ชาวบ้านเรียกว่าลำเหมือง จึงเอาคำว่าหนองหม้อรวมกับคำว่าเหมือง กลายเป็นเหมืองหนองหม้อ จนในที่สุดกร่อนคำกลายเป็น “เหมืองหม้อ” ซึ่งเป็นชื่อของตำบลเหมืองหม้อในปัจจุบัน สภาพทางภูมิศาสตร์ของตำบล ลักษณะภูมิประเทศของตำบลเหมืองหม้อเป็นพื้นที่ราบและที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีพื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก มีลำห้วยแม่แคมเป็นแหล่งน้ำสายใหญ่ไหลผ่านตำบลเหมืองหม้อ มีคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายของกรมชลประทานเป็นแหล่งน้ำสายหลักของตำบล อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดกับตำบลบ้านร่องฟองตำบลน้ำชำ ทิศใต้ ติดกับตำบลกาญจนาราม ตำบลนาจักร ทิศตะวันออก ติดกับตำบลบ้านถิ่น ทิศตะวันตก  ติดกับตำบลทุ่งกวาว ตำบลในเวียง

การปกครอง ตำบลเหมืองหม้อประกอบไปด้วย ๑๒ หมู่บ้าน มี ๕ ชุมชน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง แต่ละชุมชนจะมีความผูกพัน เป็นพี่เป็นน้องกันมีวัดและโรงเรียน เป็นศูนย์รวมของศรัทธา คือ ชุมชนเหมืองหม้อ ประกอบไปด้วยหมู่ที่ 1(สำเภา) หมู่ที่ ๓ (เหมืองหม้อ) หมู่ที่ ๗ (ทุ่งน้ำใส) หมู่ที่ ๘ (เหมืองหม้อ) มีวัดเหมืองหม้อและวัดสำเภา ชุมชนปทุมประกอบไปด้วยหมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๑๑ มีวัดปทุม ชุมชนกาซ้องประกอบไปด้วย หมู่ ๔ (กาซ้อง) หมู่ ๙ (แดนชล) และหมู่ ๑๒ (สันติธรรม) มีวัดกาซ้อง ชุมชนเหมืองค่า ประกอบด้วยหมู่ที่ ๕ (สะบู) และหมู่ที่ ๖ (เหมืองค่า) มีวัดเหมืองค่า ชุมชนสันติภาพชายคลอง คือหมู่ที่ ๑๐ เป็นชุมชนเมือง(จะเป็นบ้านจัดสรร มีข้าราชการ หรือคนต่างถิ่นมาซื้อ มาเช่าอยู่เป็นจำนวนมาก)

วิถีชีวิต อาชีพ สังคม ตำบลเหมืองหม้อมีลักษณะเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท มีสังคมแบบเครือญาติ ประชาชนมีความสามัคคีกัน ไม่มีความแตกแยก ความขัดแย้งกันในกลุ่มผู้นำชุมชน การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา ทำสวน ทำไร่ คิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของประชากร นอกนั้น รับราชการ รับจ้าง (โดยเฉพาะอาชีพรับเหมาก่อสร้าง) ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ ๓๐ นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมที่เป็นอาชีพทางวัฒนธรรมสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเช่นอาชีพจักสาน การแกะสลัก การทำข้าวแคบ ข้าวปัน ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกะลามะพร้าว

คำขวัญของตำบลเหมืองหม้อ “เกษตรเป็นหลัก จักสานทุกอย่าง งานช่างดีเด่น ร่มเย็นด้วยประเพณี สามัคคีเป็นเลิศ ถิ่นกำเนิดแห่งภูมิปัญญา”

บทที่ ๒ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในตำบลเหมืองหม้อ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของตำบลเหมืองหม้อที่เราชาวเหมืองหม้อภูมิใจ จากข้อเขียนของคุณพ่อแก้ว ชัยวัณณคุปต์ อดีตศึกษาธิการอำเภอเมืองแพร่ ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพของคุณพ่อสกุล ชัยวรรณคุปต์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านเหมืองหม้อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เกี่ยวกับประวัติของพระครูมหาญาณสิทธิ์ หรือครูบาคันธา อดีตเจ้าอาวาสวัดเหมืองหม้อ เป็นพระเถระรูปแรกของวัดในแขวง(ตำบล)เหมืองหม้อ ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู เด็กชายคันธา เมื่ออายุ ๑๑ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร พออายุ ๑๕ ปี ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดสูงเม่น ได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของครูบากัญจนะอรัญญวาสีเถระ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระบาลีและพระปริยัติธรรม จนมีความรู้แตกฉาน เป็นที่รักใคร่ของครูบากัญจนะอย่างยิ่ง ท่านได้พาสามเณรคันธาไปเดินธุดงค์ถึงเมืองพม่า พออายุครบบวชเรียนจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุนามว่าพระคันธา ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูมหาญาณสิทธิ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดเหมืองหม้อ (ตราตั้งพระครูของจริงยังอยู่ถึงปัจจุบัน..ภาพประกอบ) ผลงานของครูบาคันธา ครูบาคันธาเป็นพระนักพัฒนาที่ทำคุณประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเหมืองหม้อเป็นอเนกประการ เป็นผู้สร้างวัดสำเภา วัดป่าแดด(ปทุม) วัดน้ำชำ เป็นพระที่มีความรู้เฉลียวฉลาดในพระพุทธศาสนา สามารถทูลตอบ พระราชปุจฉาของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างถูกต้อง ในคราวเสด็จเข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศกับเจ้าคุณมหาเมธังกร(ครูบาพรหม) และมีพระกระแสรับสั่งให้ครูบาคันธามาตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทย นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกในตำบลเหมืองหม้อ เพราะความประทับใจในความรอบรู้ของครูบาคันธา พระองค์ได้เสด็จมาเปิดโรงเรียนให้เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ และพระราชทานนามบ้านว่า “เหมืองหม้อสามัคคี”( ศึกษารายละเอียดได้ “ความเป็นมาของตำบลเหมืองหม้อ”. นพดล...เรียบเรียง)

บทที่ ๓ อัตลักษณ์ท้องถิ่น ประชาชนในตำบลเหมืองหม้อ มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองคนเหมืองหม้อ มีลักษณะเป็นคนเปิดเผย สนุกสนาน จริงใจแต่แฝงด้วยอารามณ์ขัน โดยเฉพาะภาษาพูด เช่นคำพูดว่าที่ไหน คนเหมืองหม้อจะพูด “ที่แหน่” หรือคำว่าใคร ในภาษากลาง “ไผ” คำเมืองบ้านเรา คนเหมืองหม้อจะพูดว่า “แผ่” อีกคำหนึ่งที่เป็นสำเนียงของชาวเหมืองหม้อ และเป็นที่ล้อเลียนของคนที่อื่นเสมอคือคำว่า “นะ” ในภาษากลาง ที่อื่นจะพูดคำว่า “เน๊าะ” คนเหมืองหม้อจะพูดว่า “น้อ” วิถีชีวิตที่เรียบง่ายที่ยึดถือมาจากบรรพบุรุษ หลายอาชีพที่เป็นอาชีพทางวัฒนธรรมและคนเหมืองหม้อยังสีบทอดอาชีพนี้อยู่ได้แก่ การทำข้าวแคบ ข้าวปัน การแกะสลัก การจักสาน จักสานทุกอย่างแต่ที่มีมากเป็นสินค้าหลักของหมู่บ้านคือ สานแอ๊บข้าว เป็นสินค้าประจำตำบลที่ผู้มาเยือนจะต้องแวะซื้อเป็นของที่ระลึกอยู่ประจำนอกจากนี้ยังมีฝืมือในการสร้างบ้านที่เรียกว่า “สล่า” อยู่มากมาย สล่าทำบ้าน สล่าแกะสลัก เป็นต้น อัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเพราะ เป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพร ที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน คือยาแก้หมอสีหรือยาแก้สรรพพิษหมอสี มีสรรพคุณแก้โรคภัยต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม

วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ ประเพณีวัฒนธรรมของตำบลเหมืองหม้อที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณ มีประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และประเพณีความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือนยังมีอยู่ ถึงแม้ความเจริญด้านเทคโนโลยีจะหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมมากมายก็ตาม อีกทั้งยังมีการฟื้นฟูประเพณีหลายๆอย่างเพื่ออนุชนรุ่นหลังได้รู้และปฏิบัติสืบไป ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อทำแล้วเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปหาบรรพบุรุษ ทำแล้วมีความสุข ปลอดภัยเป็นขวัญกำลังใจทำงานให้สำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ เช่น ประเพณีสืบชะตา เป็นความเชื่อทางศาสนาของชาวเหมืองหม้อจะทำบุญในการเกิด การตาย หรือตามโอกาสต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต คือการทำบุญสืบชะตาต่ออายุ โดยมีความเชื่อว่าในชีวิตนี้ เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วย เกิดโชคร้าย เกิดอุบัติเหตุหรือประสบภัยพิบัติต่างๆ จะต้องตรวจดวงชะตาแห่งชีวิตตามตำราโหราศาสตร์ อาจารย์จะเปิดตำราโบราณ(ปั๊บสา)ดูวันเดือน ปีเกิด ว่าเป็นระยะที่จะสืบชะตาต่ออายุโดยการส่งเคราะห์(สะเดาะเคราะห์)โดยมีมีอาจารย์สวดพร่ำภาวนา หรือตาข้าวกู้ปี๋โดยไปทำที่วัด หรือจะทำบุญใหญ่ที่เรียกว่า “ทำบุญสืบชะตา” คือนิมนต์พระมาสวดการมงคลโดยมีการตั้งเครื่องสืบชะตา การมีผีประจำตระกูล เป็นความเชื่อเรื่องผีปู่ ผีย่า เป็นกลุ่มญาติที่เกี่ยวดองกัน เรียกว่าผีเดียวกัน ซึ่งมาจากต้นสกุลปู่ยา ตายายเดียวกัน มีการรวมญาติแล้วแต่จะกำหนดการไหว้ผี ลูกหลานจะมาพบกันเพื่อไหว้ “ผีปู่ย่า” เพื่อให้ปกป้องรักษาลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข ประเพณีเดือนเกี๋ยง เป็นความเชื่อที่ว่าเมือทำแล้วจะทำให้อยู่ดีมีสุข มีความเจริญตามคติของสังคมในล้านนา ทำให้เห็นความเป็นระเบียบอันจะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข ประเพณีเดือนเกี๋ยง(เดือนอ้าย) เริ่มจัดงานตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (เดือน ๑๐ ใต้) จนถึงวันแรม ๑๕ ค่ำเกี๋ยงเหนือ(เดือน ๑๑ ใต้) ประเพณีเดือนนี้คือ การกิ๋นสลาก หรือตานก๋วยสลาก(สลากภัตร) หมายถึงการทำบุญโดยการไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง จะมีการให้พระจับสลากจากเส้นใบลาน ที่เขียนข้อความอุทิศการทำบุญไปให้ทายาทผู้ล่วงลับ แล้วนำไปรวมกันแบ่งเป็นมัดๆให้พระ สามเณรจับสลาก ประเพณียี่เป็ง (เดือน ๒ เหนือ เดือน 12 ใต้) ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ คือประเพณีลอยกระทง ซึ่งจะมีการฟังเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ การจุดโคมแขวน จุดประทีปตีนกา (ทำจากฝ้ายฟั่นเป็นรูปตีนกา แช่น้ำมันหรือขี้ผึ้งในภาชนะดินเผาเล็กเพื่อเป็นการบูชาเทวดาตามชาดกที่เล่าสืบกันมา นอกจากนี้ยังมีการปล่อยโคมลอยเพื่อเป็นการปล่อยความชั่วทั้งหลายออกจากตัวเรา ประเพณีเดือนสี่เหนือ คือประเพณีตานข้าวใหม่เพราะเดือนนี้จะตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวเข้ายุ้งเข้าฉาง ก็จะนำข้าวมาทำบุญกันที่วัด เรียกว่า “ประเพณีตานข้าวใหม่”และที่วัดเหมืองหม้อจะมีประเพณีทำบุญไหว้พระธาตุสะหลีปุงเมือง ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของศรัทธาวัดเหมืองหม้อ ประเพณีในเดือนหกเหนือ จะมีประเพณีทำบุญไว้พระธาตุประจำวัดคือ พระธาตุรมณีศรีปทุม พระธาตุวัดเหมืองค่า พระธาตุวัดสำเภา ประเพณีเดือนเจ็ดเหนือ เดือนนี้มีประเพณีที่สำคัญคือ “ปี๋ใหม่เมือง (วันสงกรานต์ของภาคกลาง)ประเพณีปี๋ใหม่เมืองของตำบลเหมืองหม้อก็เหมือนของชาวแพร่ทั่วไป ได้กำหนด ๖ วัน วันที่ ๑๒ เมษายน เรียกว่าวันเก็บกวาดเรือน วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่าวันจั๋งขานล่อง(สังขารล่อง)  วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่าวันเน่า(วันเนาว์)  วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่าวันพญาวัน  วันที่ ๑๖ เมษายน เรียกว่าวันปากปี  วันที่ ๑๗ เมษายน เรียกว่าวันปีใหม่(วันปากเดือน)

วันที่ ๑๕ เมษายน ตอนเช้าจะมีการทำบุญ(ตานขันข้าว) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ หลังจากนั้นทุกครอบครัวจะพาลูกหลานไปดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณเป็นการแสดงความกตัญญูและเป็นศิริมงคลกับตัวเอง

ประเพณีปูจาต้าวตังสี่หรือท้าวจตุโลกบาล (ต้าวคือท้าวหรือเทพ) เป็นพิธีกรรมที่มีเครื่องสักการะเป็นกระทงห้ากระทงมีเครืองเซ่นไหว้คาว หวาน ดอกไม้ธูปเทียนตามแต่ตำราที่ยึดถือ เป็นการบอกกล่าวให้ท้าวจตุโลกบาลทราบเมื่อมีงานมงคลและอวมงคล

ประเพณีเฮียกขวัญ(เฮียกคือเรียกหรือร้องในภาษากลาง) คนไทยทุกคนมีความเชื่อว่าทุกคนจะมีขวัญอยู่ในตัวเอง (กลางกระหม่อม)เมื่อขวัญอยู่กับตัวจะอยู่เย็นเป็นสุข จะมีพิธีนี้ในโอกาสต่างๆเช่น ยามป่วยไข้ ผู้จะเดินทางไกล ผู้มาเยือน ได้เลื่อนยศ ตำแหน่ง และผู้ที่จะเข้าอุปสมบท

แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ

๑.หอไตรโบราณ เป็นหอไตรที่เก่าแก่ในจังหวัดแพร่มีไม่กี่แห่ง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นหอไตรทรงศิลปะล้านนา ที่หาดูได้ยากในปัจจุบันนี้ ได้รับการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ภายในหอไตรบรรจุคัมภีร์ใบลานล้านนา(ปั๊บสา) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มาสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นศิลปะโบราณล้านา ตามโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ได้รับความอุปถัมภ์จากรัฐบาลไทย-สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวบรวมคัมภีร์ใบลานล้านนา จำนวน ๒๐หมวด ถ้ามีผู้แปลหรืออ่านได้เราคงจะได้ทราบประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่อีกมากมาย

๒.พิพิธภัณฑ์พระครูมหาญาณสิทธิ์(ครูบาคันธา)อดีตเจ้าอาวาสวัดเหมืองหม้อ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดเหมืองหม้อ และวัดอีกหลายวัดในตำบลเหมืองหม้อ คือวัดสำเภา วัดป่าแดด(ปทุม) วัดน้ำชำ อนุสรณ์ของท่านทีเห็นอยู่ปัจจุบัน คือรูปปั้นของท่าน ในลักษณะยืนพร้อมทั้งอุปกรณ์เดินธุดงค์ ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านเหมืองหม้อ หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือตราตั้งพระครูมหาญาณสิทธิ์ ฉบับจริง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ พิพิธภัณฑ์ครูบาคันธา กำลังริเริ่มก่อตั้งโดยใช้ชั้นล่างของหอไตร อีกที่หนึ่งที่โรงเรียนเหมืองหม้อ โดยอาคารบ้านพักครูเก่าสามหลังเชื่อมกัน จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน เป็นอนุสรณ์ให้กับครูบาคันธา

๓.พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่ชุมชนตำบลเหมืองหม้อมี ๔ แห่ง คือ

๑.พระธาตุสะหรีปุงเมืองเหมืองหม้อ วัดเหมืองหม้อสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวเหมืองหม้อ โดยการนำของเจ้าอาวาสวัดเหมืองหม้อในสมัยนั้น (อาจารย์ชูศักดิ์ เป็กทอง) ประธานการก่อสร้างคือหลวงพ่อครูบาสมจิต จิตตคุตโต เจ้าอาวาสวัดสะแล่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย สร้างเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสพระองค์มีพระชนมายุครบ ๗๕ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

๒.พระธาตุรมณีศรีปทุม วัดปทุม สร้างขี้นเมื่อ วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๗ เดิมฐานพระธาตุได้สร้างรูปจำลองหลวงพ่อพระครูถาวรชัยกิจ เจ้าอาวาส ยอดฉัตรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี ๒๕๕๔ ได้บูรณะใหม่โดยยกฐานให้สูงมีบันไดขึ้นทางทิศเหนือ ปิดทองเหลืองอร่ามเพื่อเป็นเคารพของศรัทธาวัดปทุม จะมีงานกราบไหว้พระธาตุในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี

๓.พระธาตุวัดเหมืองค่า เป็นพระธาตุเก่าแก่ดั้งเดิม ภายในพระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ สร้างมาราวปี พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นรูปทรงศิลปะล้านนาผสมศิลปะสุโขทัย กาลเวลาล่วงมาเป็นเวลาหลายร้อยปี องค์เจดีย์มีสภาพชำรุด จึงมีการบูรณะใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔และได้พบกล่องทองเหลืองซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่ง บูรณะเสร็จในสมัยพระครูจันทร์ กัลยาโณ เป็นเจ้าอาวาส นอกจากนี้ยังมีวิหารเล็กเป็นศิลปะเก่าแก่รูปทรงศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อลืออันศักดิ์สิทธิ์ มีงานนมัสการพระธาตุในวันที่ ๒ เมษายนของทุกปี

๔.พระธาตุวัดสำเภา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านสำเภา บนฝั่งห้วยแม่แคม แต่เดิมมีฐานอิฐโบราณกองเป็นเนินสูง สันนิษฐานว่าเป็นฐานของพระเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ พระครูมหาญาณสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดเหมืองหม้อ ได้มาสร้างวัด บูรณะพระเจดีย์และได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆเพื่อเป็นเคารพสักการะของบ้านสำเภา จะมีงานทำบุญกราบไหว้พระธาตุในเดือนเมษายนทุกปี

กลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรมในตำบลเหมืองหม้อ ที่มีผู้คนมาเยี่ยมชมอยู่เสมอโดยเฉาะชาวต่างชาติคือ

๑.กลุ่มจักสานแอ๊บข้าว หมู่ที่ ๑ บ้านสำเภา หมู่ที่ ๓ บ้านเหมืองหม้อ และหมู่ที่ ๗ บ้านทุ่งน้ำใส

๒.กลุ่มแกะสลัก หมู่ที่ ๑ (หน้าฌาปนสถานเหมืองหม้อ) นายโชติ อินแสน หมู่ที่ ๘ บ้านนายสาย ศรีใจ บ้านนายวน กาพิยะ

๓.กลุ่มข้าวแคบ ข้าวปัน(อาหารพื้นบ้าน) บ้านแดนชล หมู่ที่ ๙

๔.กลุ่มกล้วยฉาบ หมู่ที่ ๕ กลุ่มพรมเช็ดเท้า หมู่ที่ ๖

๕.แหล่งเรียนด้านปศุสัตว์ วัวชน วัวดำสู่อาเซียน บ้านหมู่ที่ ๑๒ บ้านสันติธรรม ของนายพจน์ ปัญญานะ

๕.อาศรมศิลปะของศิลปินอิสระ นายสุภร พรินทรากูล บ้านหมู่ที่ ๘ บ้านเหมืองหม้อ

๖.แหล่งน้ำธรรมชาติลำห้วยแม่แคมทั้งสองฟากฝั่ง จะมีวิถีชีวิตเกษตรแบบพอเพียงบ้านปทุมหมู่ที่ ๒ และ บ้านกาซ้องหมู่ที่ ๔ มีศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรขององค์บริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานขององค์กรต่างๆทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด

บทที่ ๔ ปราชญ์ชาวบ้าน ตำบลเหมืองหม้อ เป็นตำบลที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ดังนั้นจึงมีปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในหลายด้าน ดังนี้ ด้านคุณธรรมและจริยธรรม

๑.พระครูอดุลพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดปทุม เจ้าคณะตำบลเหมืองหม้อเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีจริยาวัตรที่งดงาม สมถะ เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวเหมืองหม้อ

๒.พันเอกบุญหลง วิภาษา ข้าราชการบำนาญทหาร บ้านทุ่งน้ำใสหมู่ที่ ๗ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างสังคมทั่วไป เป็นวิทยากรด้านการฝึกสมาธิวิปัสสนากัมมัฎฐาน ของจังหวัดแพร่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ได้เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ ด้านคลังสมอง

๑.นายเหรียญ คนธรรพ์ บ้านกาซ้อง หมู่ที ๔ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองแพร่ ตำบลป่าแดง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิขององค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อ ไดรับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่

๒.นายเนาวรัตน์ คณะนัย บ้านทุ่งน้ำใส หมู่ที่ ๗ อดีตผู้อำนวยโรงเรียนระดับ ๙ โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จังหวัดสุโขทัย กรรมการสภาสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ คณะกรรมการตำรวจ สภ.เมืองแพร่ ประธานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก จังหวัดแพร่ กระทรวงยุติธรรม

ด้านศิลปะพื้นบ้าน นายคราม เหมืองทอง บ้านปทุม หมู่ที่ ๑๑ เป็นช่างซอตั้งแต่ยังหนุ่ม ปัจจุบันเป็นพ่อครูการขับซอให้กับอนุชนรุ่นหลังที่สนใจ นอกจากนี้ท่านยังมีภูมิปัญญาด้านสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เป็นอาจารย์พิธีกรทางศาสนาวัดปทุมได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติจากสภาวัฒนธรรมตำบลเหมืองหม้อ

ด้านแกะสลักและปั้นปูน

๑.นายอินทร์ เป็กทอง บ้านสำเภาหมู่ที่ ๑ เป็นบรมครูในด้านการแกะสลักของหมู่บ้าน มีลูกศิษย์มากมายที่นำความรู้ที่ได้รับยึดเป็นอาชีพและประสบความสำเร็จในชีวิต

๒.นายโชติ อินแสน บ้านสำเภาหมู่ที่ ๑ เป็นประธานกลุ่มแกะสลัก ปั้นปูนของหมู่บ้านมีผลงานในการสร้างโบสถ์ วิหาร หอระฆัง มากมาย เช่นวัดสำเภา วัดพระธาตุช่อแฮ และอีหลายวัดในจังหวัดแพร่และต่างจังหวัด

๓.นายสาย ศรีใจ บ้านเหมืองหม้อ หมู่ที่ ๘ เป็นช่างแกะสลักประจำหมู่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาของโรงเรียนชุมชนบ้านเหมืองหม้อ ผลงานที่เด่นคือหอระฆังวัดเหมืองหม้อ

๔.นายวน กาพิยะ บ้านเหมืองหม้อ หมู่ที่ ๘ เป็นช่างแกะสลักประจำหมู่บ้าน มีผลงานมากมายวิหารและหอระฆังวัดเหมืองหม้อ

๕.นายวิเชษฐ์ สุคันธมาลา บ้านเหมืองหม้อ เลขที่ ๒๕หมู่ที่ ๘ เป็นช่างแกะสลัก ปั้นปูนที่มีฝีมือ ผลงานที่เด่นชัดคือวัดสะแล่งอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติจากกรมอาชีวศึกษาประเภทวิชา ศิลปกรรม เมื่อปี ๒๕๔๕

ด้านพิธีกรรม

๑.นายเจริญ ศรีทัน อายุ ๘๑ ปีบ้านทุ่งน้ำใส หมู่ที่ ๗ เป็นภูมิปัญญาด้านพิธีกรรมการส่งเคราะห์(สะเคราะห์) ขึ้นท้าวทั้งสี่ บูชาเทียน ส่งอุบาทว์ รดน้ำมนต์ สู่ขวัญ ทำขวัญได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติจากสภาวัฒนธรรมตำบลเหมืองหม้อ

๒.นายเกี๋ยง เวียงนาค อายุ ๗๘ ปี บ้านเหมืองค่าหมู่ที่ ๖ เป็นภูมิปัญญาด้านพิธีกรรม ส่งเคราะห์ สืบชะตา สูมาแก้วทั้งสาม สู่ขวัญ(ทำขวัญ) เป็นมรรคนายกวัดเหมืองค่า

๓.นายเมือก คำอิสระ บ้านกาซ้อง หมู่ที่ ๔ มรรคนายกวัดกาซ้อง มีภูมิปัญญาด้านสืบชะตา บูชาเทียน ขึ้นท้าวทั้งสี่

ด้านการแพทย์แผนไทย

๑.นายมานิต สุดสวาท อายุ ๖๕ ปี บ้านเหมืองหม้อ เลขที่ ๑๓๑ หมู่ที่ ๘ ประธานศูนย์การแพทย์แผนไทยตำบลเหมืองหม้อ เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มการตั้งศูนย์การแพทย์แผนไทย สอบได้ใบอนุญาตผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ ในสาขาเภสัชกรรม(บ.ภ.๑๖๘๘๒) เป็นครูสอนแพทย์แผนไทยของศูนย์ฯ

๒.นายอนันต์ สุขกันต์ อายุ ๖๘ ปี บ้านเหมืองค่าหมู่ที่ ๖ภูมิปัญญาด้าน สมุนไพรยาหม้อยาต้ม คุณวุฒิวิทยากรนวดแผนไทยของสมาคม เป็นครูสอนการนวดไทยของ กศน.จังหวัดแพร่ วิทยากรฝึกอบรมท่าฤๅษีดัดตน เป็นพราหมณ์ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

๓.นางสุชีลา กาพิยะ ภูมิปัญญาด้านฮมยาแม่เฮือนงามสืบทอดตำรามาจากพ่อหลวงยศ พรินรากุล เป็นการอบสมุนให้กับผู้เจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่เดือนไฟ

๔.กลุ่มผลิตยาแก้สรรพพิษ(แก้ได้หลายโรค)หมอสี เป็นกลุ่มลูกหลานของพ่อหมอสี อุนันชัยชนะ ภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เป็นยาสมุนไพรที่มีคนรู้จักทั้งจังหวัดแพร่และต่างจังหวัด ในเรื่องสรรพคุณแก้ปวดท้อง จุกเสียด กินอาหารแสลงหรือถอนพิษต่างๆได้อย่างฉับพลัน

ด้านวิจิตรศิลป์ นายสุภร พรินทรากูล ศิลปินอิสระ บ้านเหมืองหม้อ หมู่ที่ ๘ เป็นเจ้าของอาศรมศิลป์ผลิตงานในด้านวิจิตรศิลป์ต่อสาธารณชนอย่างมากมาย ได้รับรางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านศิลปะ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นคณะกรรมการของวิทยาลัยอาชีวะศึกษาแพร่ เป็นสมาชิกของกลุ่ม คนสร้างศิลป์เมืองแพร่ เฮือนศิลปินบาซาร์ จังหวัดเชียงใหม่ ครูศิลป์แผ่นดินล้านนา ภาคเหนือ เป็นสมาชิกเริ่มก่อตั้งองค์กรสมัชชาศิลปินแห่งประเทศไทย

ผู้ให้ข้อมูล นายนพดล ปัญญาไว อายุ ๖๔ ปี บ้านเหมืองหม้อ บ้านเลขที่ ๑๖๙ หมู่ที่ ๘ ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ๕๔๐๐๐ โทรศัพท์ บ้าน ๐๕๔-๕๐๖๕๓๙ มือถือ ๐๘๙-๙๙๗๙๐๖๘ ประธานโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดเหมืองหม้อ

พระธาตุเจดีย์สะหลีปุงเมืองเหมืองหม้อ

พระธาตุเจดีย์วัดสำเภา

ตราตั้งพระครูมหาญาณสิทธิ์ (ครูบาคันธา) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗

รูปปั้นพระครูมหาญาณสิทธิ์(ครูบาคันธา)

หอไตรโบราณวัดเหมืองหม้อ

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 07 •ธันวาคม• 2012 เวลา 10:42 น.• )