วัดร่องซ้อผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ช่วงปี ๒๕๔๓ กล่าวว่า วัดร่องซ้อไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นคนสร้าง อาณาเขตบริเวณวัดเป็นป่าไผ่หนาทึบ ห่างจากบริเวณวัดทางทิศตะวันตก ๕๐ เมตร มีร่องน้ำ(ชาวบ้านเรียก ฮ่องน้ำ) ที่มีต้นซ้อขึ้นตามแนวเขตร่องน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปมีทางเดินเรียบแนวตลอดทาง ผู้ที่ใช้เส้นทางนี้ส่วนมากเป็นพ่อค้าวัวต่างจากอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พ่อค้าวัวต่างจากจังหวัดพระเยาตลอดจนถึงชาวบ้านปงศรีสนุก (ชุมชนวัดหลวง, วัดพงษ์สุนันท์ ในปัจจุบัน) ที่อยู่ในตัวเมืองแพร่ที่ย้ายออกมาทำไร่ ทำสวน ได้ถางดงไผ่กับพ่อค้าวัวต่างโดยจัดบริเวณตรงกลางของดงไผ่โล่ง และให้ส่วนหนึ่งเป็นรั้วล้อมบริเวณนี้ไว้สร้างเป็นที่พักและผูกวัวควายได้ ครั้งแรกเป็นแบบพักชั่วคราว ต่อมาได้ย้ายมาอยู่เป็นการถาวร ใช้เป็นสถานที่ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน พ่อค้าวัวต่างเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณนี้ก็หยุดพักอาบน้ำ หุงหาอาหาร และพักแรมเป็นประจำทำการให้การประกอบอาชีพไปมาค้าขายสะดวกสบาย จนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกคนต่างมีความสำนึกในบุญคุณของบริเวณที่ได้พักพิงเพื่อไปค้าขายเป็นอย่างมาก จึงคิดถึงเรื่องการสร้างบุญสร้างกุศลให้แก่ตัวเองและครอบครัว จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างศาลาหลังเล็กมุงด้วยหญ้าคาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นที่พักของสงฆ์และเป็นสถานที่ให้พระสงฆ์มารับบิณฑบาตรับจตุปัจจัยไทยทานเป็นครั้งคราว จากป่าไผ่ป่าไม้ซ้อ แปรเปลี่ยนสภาพเป็น หมู่บ้าน มีสถานที่ทำบุญเป็นสัดส่วน ชาวบ้านที่อยู่ในเมืองและต่างถิ่นก็มาจับจองเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น ในจำนวนชาวบ้านที่อาศัยพื้นที่ส่วนนี้ โดยมากเป็นต้นตระกูล “ร่องซ้อ” และ “อินต๊ะนอน” ต่างก็ได้เชิญชวนผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาช่วยกันออกแนวคิดร่วมแรงร่วมใจและกำลังทรัพย์ขยายที่ทำบุญสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น โดยเชิญชวนชาวบ้านและพ่อค้าวัวต่างมาร่วมสนับสนุนด้านกำลังเงิน กำลังกายช่วยกันสร้างถาวรวัตถุที่มั่นคงถาวรเพิ่มเติม เช่น สร้างกุฏิ วิหาร ศาลา บ่อน้ำ และเรียกชื่อสถานที่ทำบุญว่า “วัดฮ่องซ้อ” ตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นร่องน้ำและมีต้นไม้ซ้อขึ้นโดยทั่วไปชื่อ “วัดฮ่องซ้อ” เรียกขานกันมาเท่าใดไม่ปรากฏและบ้านเรือนที่อยู่บริเวณโดยรอบก็เรียกขาน ตามชื่อวัดไปด้วยว่า “บ้านฮ่องซ้อ” ซึ่งมีความหมายว่าร่องน้ำที่มีต้นซ้ออยู่นั้นเอง แล้วกลายมาเป็นคำว่า “ร่องซ้อ” ในที่สุด

ที่ตั้งของวัดปัจจุบันวัดร่องซ้อตั้งอยูทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองแพร่ ทิศเหนือติดถนนร่องซ้อ ทิศตะวันออกติดกับหมู่บ้านร่องซ้อ ทิศตะวันตกติดกับถนนสานร่องซ้อทางไปวิทยาลัยเทคนิคแพร่ พื้นที่ของวัดมีทั้งหมด ๔ ไร่ ๑๔ ตารางวา ขึ้นทะเบียนประกาศเป็นวัดชื่อ “ร่องซ้อ” เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๑ ถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

ถาวรวัตถุที่สำคัญมี (๑) พระพุทธรูปประทับยืนปางเปิดโลกสูง ๓ เมตร ๓๓ เซนติเมตร เป็นพระประธานในโบสถ์ อยู่คู่กันมาช้านานไม่ปรากฏ พ.ศ. ที่สร้างนับสันนิษฐานมีมายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี (๒) พระพุทธรูปบูชาเนื้อทองสัมฤทธิ์ ๑ องค์ ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว (๓) อุโบสถ สร้างสมัยพระอธิการฮ่อน กิตติสาโร (๔) เจดีย์ สร้าสมัยอธิการเฉลิม ฉน.ทกโร ปี ๒๕๒๔

ลำดับเจ้าอาวาสวัดร่องซ้อ

๑. พระดี จิตตวํวโร พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๐

๒. พระปลิ้น พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๖

๓. พระอธิการฮ่อน กิตติสาโร พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๕๑๙

๔. พระอธิการเฉลิม ฉนฺทกโร พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๕

๕. พระครูมุห์สุรินทร์ สุทธิโก พ.ศ.. ๒๕๒๖ – ๒๕๒๙

๖. พระครูอมรพุทธิคุณ พ.ศ. ๒๕๒๙ – ปัจจุบัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 01 •ธันวาคม• 2012 เวลา 15:05 น.• )