ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๑๘ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การขยายอำนาจของสยาม สู่การล่มสลายระบบจารีตของเมืองลอง พ.ศ.๒๔๔๒ - ๒๕๕๔ เมืองลองในระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลของสยาม เป็นยุคที่เมืองลองมีความเปลี่ยนแปลงทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม จากยุคประเทศราชมี “เจ้าเมืองลอง” ในสกุลวงศ์เจ้าช้างปานมีอิสระปกครองภายในและขึ้นตรงต่อ “กษัตริย์นครลำปาง” ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ครั้นพ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมาเมืองลองได้กลายเป็นเพียง “อำเภอ” หน่วยการปกครองหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของสยาม มีการสร้างระบบราชการเพื่อดึงอำนาจของ “เจ้า” ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนและ “เจ้า” ในสกุลวงศ์เจ้าช้างปานเข้าไว้ที่ส่วนกลาง และกลืนไพร่บ้านพลเมืองทั้งหมดให้กลายเป็นพสกนิกรของ “กษัตริย์สยาม” จึงเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ “เมืองลอง” ที่รัฐบาลสยามเข้ามาเป็นผู้กำหนดทิศทางการปกครองของบ้านเมือง และกลายเป็นรากฐานของการพัฒนารูปแบบสมัยใหม่ที่สืบเนื่องมาเป็นอำเภอลองในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเมืองลองในส่วนระบบการปกครอง ที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของเมืองแบบจารีต พ.ศ.๒๔๔๒ – ๒๔๕๖ เมื่อเกิดการปฏิรูปประเทศราชล้านนาในช่วงแรก สยามเน้นปฏิรูปด้านการเมืองการปกครองและจัดเก็บภาษีเป็นหลัก

โดยเริ่มจัดการปฏิรูปภายในนครประเทศราชทั้ง ๕ ก่อนและค่อยขยายตัวลงสู่หัวเมืองขึ้นต่างๆ ของนครประเทศราช ซึ่งเมืองลองได้ถูกแทรกแซงอำนาจทางการปกครองจากสยามอย่างจริงจังตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา การขยายอำนาจของสยาม : การริบอำนาจกลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง เมื่อสยามขยายตัวเข้ามาสู่เมืองลอง อำนาจการจัดการปกครองบ้านเมืองตามแบบจารีตได้ล่มสลายลงและรัฐบาลสยามได้สถาปนาแบบแผนการปกครองใหม่ขึ้นแทนที่ จึงส่งผลให้กลุ่มผู้ปกครองเดิมของเมืองลองถูกเบียดขับจนหมดสิ้นอำนาจราชศักดิ์ในแทบทุกด้าน การปฏิรูปการปกครองของสยามในประเทศราชล้านนา “ล้านนาประเทศ” ในฐานะประเทศราชถือว่าเป็นแว่นแคว้นต่างชาติต่างภาษา เหมือนกับเมืองนครหลวงพระบาง เมืองนครเวียงจันทน์ เมืองนครจำปาศักดิ์(ล้านช้าง, ลาว) นครกัมพูชา(เขมร) หรือกลันตัน ตรังกานู เคดาห์(มาเลเซีย) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับแผ่นดิน “สยามประเทศ” เจ้าผู้ครองนครมีอิสระปกครองบ้านเมืองทุกประการ มีพันธะกับสยามเพียงส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการทุก ๓ ปี ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา จัดส่งสิ่งของตามเกณฑ์หรือส่งกำลังช่วยเหลือสงครามยามจำเป็น ดังนั้นเจ้าผู้ครองนครจึงเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” โดยมีเจ้าเมืองเล็กเจ้าเมืองน้อยจำนวนมากขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองลดหลั่นเป็นลำดับชั้นลงไป ซึ่งเจ้าเมืองทั้งหลายต่างก็มีอิสระจัดการปกครองภายในเมืองของตนเอง มีพันธะกับเจ้าผู้ครองนคร คือ ส่งส่วยประจำปี เกณฑ์กำลังคนหรือสัตว์สิ่งของ เข้าคารวะที่หอคำ และเข้ากินน้ำสัจจะที่วัดหลวงประจำนคร

“ล้านนาประเทศ” มีการจัดระบบศักดิ์ของเมืองออกเป็นลำดับชั้น ที่แต่ละช่วงเวลามีการเลื่อนไหลอยู่เสมอ สามารถแบ่งศักดิ์ของเมืองระบบจารีตที่ชัดเจน ๒ ช่วง คือ ยุคราชวงศ์มังรายและยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ในยุคแรกเมืองพระนครเชียงใหม่มีฐานะเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการ เมืองการปกครอง กษัตริย์จัดส่งเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางออกไปเป็นเจ้าเมืองและมีอำนาจโยกย้าย ดังนั้นการจัดลำดับศักดิ์ของเมืองในยุคนี้จึงยึดเอาเมืองพระนครเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง พิจารณาลำดับศักดิ์ความสำคัญของเมืองจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งความสัมพันธ์เชิงเครือญาติของกษัตริย์กับเจ้าเมือง ศักยภาพการครอบครองทรัพยากร ชัยภูมิที่ตั้ง ตลอดถึงขนาดของพื้นที่ สามารถจัดลำดับศักดิ์ของเมืองช่วงแรกได้ ๔ ระดับ คือ (๑) เมืองหลวง (๒) เมืองหัวเมืองใหญ่ (๓) เมืองหัวเมืองรอง และ(๔) เมืองหัวเมืองเล็ก กรณีเมืองลองอยู่ในระดับที่ ๓ และเมืองต้าอยู่ในระดับที่ ๔ ยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เมืองนครเชียงใหม่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองการปกครองของล้านนาอย่างแท้จริง อำนาจจะกระจายอยู่ที่เจ้าผู้ครองนครต่างๆ เพียงแต่เมืองนครเชียงใหม่มีสิทธิธรรมสูงเป็นที่ยอมรับจากทั้งสยาม และเจ้าผู้ครองนครที่เป็นพระญาติวงศ์(เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน)หรือนับถือกันเสมือนญาติมิตร(เมืองนครน่าน เมืองนครแพร่) และได้สถาปนาอำนาจสิทธิธรรมขึ้นแทนที่ราชวงศ์มังราย กอปรกับหลังจาก “ฟื้นม่าน” ประกาศอิสรภาพจากการปกครองของพม่าราชวงศ์อลองพญา(พ.ศ.๒๒๙๕ - ๒๔๒๘) เมืองบริวารของล้านนาจำนวนมากกลายเป็นเมืองร้าง เจ้าผู้ครองนครต่างๆ จึงได้จัดตั้งฟื้นฟูขึ้นใหม่มาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ดังนั้นการจัดลำดับศักดิ์ของเมืองในช่วงที่ ๒ จึงต่างจากยุคแรก ซึ่งในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมื่อกลุ่มราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน(พ.ศ.๒๓๑๗) เจ้าผู้ครองนครแพร่(พ.ศ.๒๓๑๔) และเจ้าผู้ครองนครน่าน(พ.ศ.๒๓๓๑) ยอมเข้าสวามิภักดิ์เป็นเมืองประเทศราชของสยาม เพื่อสร้างพันธมิตรต่อต้านการปกครองของขุนนางพม่าที่กดขี่ล้านนามากขึ้น ขณะที่สยามก็ต้องการให้ล้านนาเป็นปราการกันชนกับพม่า เพราะอยุธยาแตกทั้ง ๒ ครั้ง(พ.ศ.๒๑๑๒ และพ.ศ.๒๓๑๐)พม่าได้ใช้ล้านนาเป็นฐานกำลังสำคัญทั้งไพร่พลและเสบียงอาหาร ดังนั้นในยุคนี้ล้านนากับกรุงธนบุรี(กรุงเทพฯ)จึงอยู่ในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วยมีผลประโยชน์ร่วมกัน กษัตริย์สยามมีอำนาจรับรองแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครทั้ง ๕ หัวเมือง การจัดลำดับศักดิ์ของเมืองจึงอิงกับอำนาจกษัตริย์สยาม ขณะเดียวกันเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นลูกเมืองหรือหัวเมืองขึ้นของนครประเทศราช เจ้าเมืองก็อิงกับอำนาจเจ้าผู้ครองนครที่ขึ้นอยู่กับสถานะหรือตามสัมพันธ์

ดังนั้นศักดิ์ของเมืองจึงขึ้นอยู่กับศักดิ์ของเจ้าเมืองเป็นสำคัญมีการเลื่อนไหลอยู่เสมอ หากเปลี่ยนเจ้าเมืองก็เป็นการเปลี่ยนศักดิ์ของเมืองไปด้วย มีลำดับศักดิ์ดังนี้ คือ

(๑) เมืองนครประเทศราชล้านนา(เมืองเอก) มี ๕ หัวเมือง คือ (๑.๑) นครเชียงใหม่ (๑.๒) นครลำปาง (๑.๓) นครลำพูน (๑.๔) นครน่าน (๑.๕) นครแพร่

(๒) หัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๑ เจ้าเมืองเป็นบุตรหลานหรือญาติวงศ์ทางการสมรสของเจ้าผู้ครองนคร และสยามรับรองแต่งตั้งให้เป็น “พระยา” เจ้าเมืองขึ้น มี ๘ หัวเมือง คือ (๒.๑) เมืองพะเยา  (๒.๒) เมืองฝาง   (๒.๓) เมืองเชียงราย (๒.๔) เมืองเชียงแสน  (๒.๕) เมืองเชียงของ  (๒.๖) เมืองงาว (๒.๗) เมืองตาก  (๒.๘) เมืองปาย

(๓) หัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๒ เจ้าเมืองเป็นบุตรหลาน บุตรเขย ข้ารับใช้ใกล้ชิดของเจ้าผู้ครองนคร เป็นเครือญาติเจ้าฟ้าในรัฐฉาน(ไทใหญ่)หรือเจ้านายไทลื้อของสิบสองพันนา เจ้าผู้ครองนครแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชั้น “พญา” โดยที่สยามไม่ได้รับรองแต่งตั้ง หรือหากสยามรับรองแต่งตั้งก็เป็นตำแหน่ง “พระ” มี ๙ หัวเมือง คือ (๓.๑) เมืองสอง   (๓.๒) เมืองเถิน   (๓.๓)เมืองเงิน (๓.๔) เมืองเทิง  (๓.๕) เมืองเชียงคำ  (๓.๖) เมืองสา (๓.๗) เมืองป่าเป้า  (๓.๘) เมืองแม่ฮ่องสอน (๓.๙) เมืองขุนยวม
(๔) หัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๓ หัวเมืองระดับต่ำสุด เจ้าเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติวงศ์กับเจ้าผู้ครองนคร เจ้านายในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนถือว่าเป็นไพร่ผู้น้อย ที่เจ้าผู้ครองนครแต่งตั้งให้มีสมศักดิ์นามศักดิ์ครองเมือง เป็น “พ่อเมือง” แต่ภายในเมืองขึ้นชั้นที่ ๓ นี้ ที่เป็นหัวเมืองขนาดใหญ่หรือมีการสืบสกุลวงศ์ปกครองภายในบ้านเมืองตนเองมาหลายชั่วอายุคนก็ถือว่าตนเป็น “เจ้าเมือง” และชาวเมืองก็ถือว่าเป็น “เจ้า” ดังเช่นกรณีของเมืองลอง หัวเมืองขึ้นในชั้นนี้มีจำนวนมากมายร่วมร้อยเมือง

เมื่อสยามมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนการปกครอง ที่เกิดจากสังคมสยามได้ผูกเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจโลก และชาติมหาอำนาจตะวันตกขยายอิทธิพลเข้ามาล่าอาณานิคม ทั้งอังกฤษในพม่า รัฐฉาน ฝรั่งเศสในลาว กัมพูชา เวียดนาม ทำให้ชนชั้นนำรุ่นใหม่เช่นกลุ่มพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ที่ผ่านการศึกษาในประเทศตะวันตกมีโลกทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะต้องมีเส้นขีดแบ่งขอบเขตอำนาจอธิปไตยที่แน่นอน หรือเชื่อในความสามารถของมนุษย์โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่างกันกับโลกทัศน์ของคนล้านนาในขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง ที่ยังมีวิถีชีวิตอยู่ในระบบผลิตเพื่อพอยังชีพ มีความเชื่อเรื่องคติจักรวาลและสิ่งเหนือธรรมชาติ ประกอบกับกลุ่มอำนาจเดิมของสยามที่ยึดถือแนวทางการปกครองแบบจารีต คัดค้านไม่ให้เข้าแทรกแซงการปกครองหัวเมืองนครประเทศราชเพื่อกันเจ้านายขุนนางไม่พอใจและก่อกบฎขึ้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ถึงแก่พิราลัยพ.ศ.๒๔๒๕ และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(พระองค์เจ้ายอดยิ่ง) วังหน้าทรงทิวงคตพ.ศ.๒๔๒๗ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงสถาปนาอำนาจปรับปรุงการปกครองได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สยามรอดพ้นการ “ล่าอาณานิคมชาติตะวันตก” ขณะเดียวกันก็ทำการ “ล่าอาณานิคมภายใน” กับเมืองนครประเทศราช การปฏิรูปเมืองประเทศราชล้านนาแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงแรกสยามแทรกแซงอำนาจเจ้านครประเทศราช และช่วงที่ ๒ สยามแทรกแซงอำนาจเจ้าเมืองขึ้นของเมืองนครประเทศราช ช่วงแรกสยามได้ขยายอำนาจเข้าครอบงำล้านนาอย่างจริงจังเมื่อพ.ศ.๒๔๒๗ ในกลุ่มเมืองนครประเทศราชสำคัญที่ปกครองโดยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน คือ เมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองนครลำพูน แล้วจึงค่อยขยายถึงเมืองนครแพร่(พ.ศ.๒๔๓๗)และเมืองนครน่าน(พ.ศ.๒๔๓๙) โดยตั้งเสนา ๖ ตำแหน่งเพื่อกระจายอำนาจของเจ้าผู้ครองนครที่เคยมีล้นฟ้าล้นแผ่นดินให้ลดลง และส่งข้าราชการสยามขึ้นมาไว้ในล้านนาเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงและควบคุม ประกอบด้วย กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา มีเจ้านายบุตรหลานเป็น “พระยาว่าการกรม” มีข้าราชการที่ส่งมาจากสยามเป็น “พระยาผู้ช่วยไทย” ทำหน้าที่แนะนำช่วยเหลือเจ้านายบุตรหลานในการปกครองรูปแบบใหม่ พระยาผู้ช่วยไทยจึงเป็นกลุ่มมีอำนาจที่แท้จริง ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงสงวนไว้เฉพาะคนสยามหากยังไม่ได้ส่งคนใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็ให้ว่างไว้ ห้ามคนล้านนาดำรงตำแหน่งแทน อีกตำแหน่งคือ “พระยารองลาว” ไม่มีความสำคัญนักแต่มีไว้เพื่อถนอมน้ำใจเจ้านายและขุนนาง พร้อมทั้งได้แต่งตั้งเจ้าตำแหน่งพิเศษเพิ่มขึ้นอีกหลายตำแหน่งเพื่อให้กระจายอำนาจจากเจ้าขันธ์ทั้ง ๕ เช่น เจ้าทักษิณนิเกตน์ เจ้านิเวศน์อุดร เจ้าประพันธพงษ์ เจ้าไชยวรเชษฐ์ เจ้าราชญาติ และ เจ้าวรญาติ ฯลฯ และเข้าแทรกแซงอำนาจการแต่งตั้งขุนนางเค้าสนามหลวงของเจ้าผู้ครองนคร เช่น แต่งตั้งเจ้าพญาหลวงแสนหลวง(อิ่นคำ ประทุมอินทร์) ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี เมืองนครเชียงใหม่ เป็นรองอำมาตย์เอก พระราชนายกเสนี หรือเจ้าพญาหลวงสามล้าน(เมือง ทิพยมณฑล) อรรคมหาเสนา เมืองนครเชียงใหม่ เป็นหลวงศรีพยุหสงคราม(ต่อมาคือ พระนายกคณานุการ) เป็นต้น
ด้านการเก็บภาษีอากรเดิมล้านนาจัดเก็บเป็นผลผลิต เช่น ข้าว หมาก เหมี้ยง พริก ฯลฯ จึงสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ แต่เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรขึ้นมาปฏิรูปการเก็บภาษีในพ.ศ.๒๔๒๗ ได้จัดเก็บเป็นตัวเงินและเพิ่มชนิดของการเก็บภาษีขึ้นอีกหลายอย่าง การเก็บภาษีระบบสยามมีผลกระทบต่อชาวเมืองที่ต้องถูกขูดรีดเป็นเงินจำนวนมาก จึงเกิดการต่อต้านอีก ๕ ปีต่อมาในพ.ศ.๒๔๓๒ ที่ฝ่ายสยามเรียกว่า “กบฏพระยาผาบ” นำโดยพญาปราบสงคราม หรือ พญาปราบพลมาร(หนานเตชะ) แม่ทัพเมืองนครเชียงใหม่ โดยมีเจ้านายเมืองนครเชียงใหม่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ดังปรากฏในหนังสือนัดหมายของพญาปราบสงครามว่า “หมายพ่อพญาปราบสงคราม บ้านสันป่าสัก มาเถิงพญาโคหา บ้านถ้ำ ด้วยเรา เปนพญาใหญ่ เปนโป่ทัพพ่อเจ้ากาวิโลรส ได้มาร่ำเพิงเลงหันว่าเมื่อพ่อเจ้ายังบ่เสี้ยงบุญเทื่อ ก็จำเริญวุฒิฟ้าฝนก็ตกบ่ได้ขาด เข้านาปลาท้างก็เหลือกินเหลือทาน บัดเดี่ยวนี้คนไธย(ไทย)ชาวใต้ได้ขึ้นมาข่มเหงเตงเต็ก พ่อเจ้าเค้าสนามหลวงของเราก็พากันกลัวมันไปเสี้ยง ชาวหมู่เช็กจีนหินแฮ่มันก็มาเก็บภาษีต้นหมากต้นพลูต้มเหล้าข้าหมู คันผู้ใดบ่มีเงินเสียภาษีมันก็เอาโส้เหล็กมาล่าม ก็คุมตัวใส่ขื่อใส่ฅาไปเขี้ยนไปตี บ้านเมืองของเราก็ร้อนไหม้นัก หื้อพี่พญาโคหาเอาคนสองร้อยทังหอกดาบสีนาดไปช่วยเราเอาเมืองเชียงใหม่ ยับเอาชาวเช็ก(เจ๊ก)ชาวใต้ข้าหื้อเสี้ยง แม่นเด็กน้อยนอนอู่ก็อย่าได้ไว้เทอะ หื้อพร้อมกันที่หน้าวัดเกต ริมพิงค์ หัวขัวคูลา เช้ามืดไก่ขันสามตั้ง เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ฅ่ำ หมายนี้หื้อหนานปัญญา บ้านฟ้ามุ่ย เอาเมือส่ง” แม้ว่าการ “ฟื้นสยาม” ในครั้งนี้ทำการไม่สำเร็จ เพราะมีไพร่พลน้อย นัดหมายผิดพลาด กอปรกับเมื่อสยามปราบปรามอย่างจริงจัง ก็ทำให้เจ้านายและขุนนางเกรงกลัวจนต้องจำยอมหันมาให้ความร่วมมือกับสยามทำการปราบปราม “กบฏพระยาผาบ” แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เกิดรอยสะดุดทางอำนาจของสยามในล้านนาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งสยามก็ค่อยพยายามดำเนินการต่อจนยกเลิกการปกครองแบบเมืองนครประเทศราชได้ในอีก ๑๐ ปีต่อมา

ช่วงที่ ๒ สยามแทรกแซงอำนาจถึงเจ้าเมืองขึ้นของนครประเทศราช เมื่อมีการจัดการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในพ.ศ.๒๔๔๒ นครประเทศราชทั้ง ๕ กลายเป็นหัวเมือง(จังหวัด) ส่วนหัวเมืองขึ้นทั้งหลายที่เคยขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครได้ถูกยุบรวมหรือแบ่งแยกกลาย เป็นแขวง(อำเภอ)หรือแคว้น(ตำบล) ดังนั้นนครประเทศราชและหัวเมืองขึ้นทั้งหมดจึงกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสยามไม่มีอำนาจปกครองตนเองอีกต่อไป แต่ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเนื่องจากยังมีอิทธิพลสูงภายในบ้านเมืองรัฐบาลจึงไม่สามารถปลดออกได้อย่างทันที จึงรับรองแต่งตั้งไว้ในฐานะเป็น “สัญลักษณ์” ของบ้านเมือง คือ เจ้าอุปราช(เจ้าน้อยสุริยะเมฆะ ณ เชียงใหม่) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในพ.ศ.๒๔๔๔ ต่อมาเจ้าอุปราช(เจ้าอินทแก้ว ณ เชียงใหม่) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายในพ.ศ.๒๔๕๔ เจ้าบุรีรัตน์(เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน) เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายในพ.ศ.๒๔๕๔ และเจ้าอุปราช(เจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่าน) เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายในพ.ศ.๒๔๖๑ ส่วนเจ้านายชั้นสัญญาบัตรก็ยังคงแต่งตั้งในบางตำแหน่ง มีการสถาปนาระบบข้าราชการอันเป็นกลไกของรัฐสยามสมัยใหม่ ที่มีศูนย์กลางอำนาจรวมไว้ที่กษัตริย์สยาม มีข้าราชการหน่วยต่างๆ มีสายบังคับบัญชามาจากส่วนกลาง มีการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระบบราชการไว้มากมาย เช่น สถานที่ทำราชการ แบบแผนการรายงานข้อราชการ รูปแบบการเขียนหนังสือราชการ การตั้งตำแหน่ง และกำหนดวันเวลาทำราชการ วันหยุดราชการเมืองนครลำปางและแขวงต่างๆ กำหนดเวลาทำราชการที่เค้าสนามและกรมการแขวงวันละไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมงตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น.- ๑๖.๐๐ น. มีวันหยุดราชการ คือ

(๑) วันพระ

(๒)วันสงกรานต์ ๓ - ๔ วัน

(๓) วันขึ้นพระธาตุลำปางหลวง ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ เดือนยี่เหนือ จำนวน ๓ วัน

(๔) วันขึ้นพระธาตุเสด็จ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ จำนวน ๓ วัน

(๕) วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ วัน

(๖) วันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ๒ วัน

(๗) วันไหว้สา(เคารพ)เจ้าผู้ครองนครลำปาง ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ๑ วัน

ส่วนในเมืองนครลำปางกำหนดให้ ๑ แขวงมีประมาณ ๑๐ แคว้น ๑ แคว้นมีประมาณ ๑๐ หมู่บ้าน และ ๑ หมู่บ้านมีประมาณ ๒๐ หลังคาเรือนเพื่อให้สะดวกเหมาะสมในการปกครอง ซึ่งมีข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำแต่ละแขวงเรียกว่า “กรมการแขวง” แขวงหนึ่งให้มีนายแขวง(นายอำเภอ) ๑ คน รองนายแขวง(ปลัดอำเภอ) ๑ คนหรือตามความเหมาะสม สมุห์บัญชี ๑ คน และเสมียนตามสมควร ซึ่งข้าราชการเหล่านี้โดยเฉพาะนายแขวงมีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นข้าราชการ “คนไทย” ที่ส่งมาจากสยามถึงแม้ว่าไม่มียศตำแหน่งหรือไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการปกครองมาก่อน ดังเช่น นายจันทร์ บุตรชายขุนพิพิธโกษา ข้าหลวงคลังเมืองนครแพร่ เป็นนายแขวงยมเหนือ(เมืองสอง) หรือ ขุนสถลโทรกรรม(เสริม เกตุถาวระ) พนักงานไปรษณีย์โทรเลขเมืองนครลำปาง เป็นนายแขวงเมืองลอง เพราะนายแขวงเป็นเครื่องมือสำคัญของข้าหลวงใหญ่ในการปฏิรูปการปกครองจึงเน้นคนที่จัดส่งขึ้นมาจากส่วนกลาง ส่วนข้าราชการระดับรองลงมาเพื่อถนอมน้ำใจเจ้านายเมืองนครลำปางระยะแรกจึงแต่งตั้งเป็นรองนายแขวง เช่น เจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง (หลานเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต) เป็นรองนายแขวงเมืองลอง เจ้าน้อยหนู มณีอรุณ (หลานเขยเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต) เป็นรองนายแขวงเมืองงาว ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยระดับนายแคว้น(กำนัน)และแก่บ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน) สยามยังให้คนท้องถิ่นเป็นได้โดยกำหนดให้แคว้นหนึ่งมีนายแคว้น ๑ คน มียศเป็น “พญา” มีผู้ช่วย ๑ - ๒ คนมียศเป็น “แสน” และมีล่าม ๑ คน ส่วนแก่บ้านให้มี ๑ คนต่อหมู่บ้านมียศเป็น “แสน”

เมืองนครลำปางจัดแบ่งออกเป็น ๖ แขวง คือ (๑) แขวงนครลำปาง (๒) แขวงเมืองลอง (๓) แขวงวังเหนือ(แจ้ห่ม) (๔) แขวงวังใต้(สบปราบ) (๕) แขวงเมืองงาว และ(๖) แขวงแม่อิง(พะเยา) การจัดตั้งแขวงจะยุบรวมเมืองแบบจารีตที่เคยเป็นหัวเมืองขึ้นของเมืองนครลำปาง หรือเมืองที่มีพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกัน เน้นความสะดวกในการปกครองควบคุมเป็นหลัก เช่น เมืองวังเหนือ เมืองวังใต้ เมืองเตาะ เมืองแจ้ซ้อน เมืองปาน เมืองแจ้ห่ม เมืองมาย รวมเป็นแขวงวังเหนือ, เมืองงาว เมืองตีบ รวมเป็นแขวงเมืองงาว และเมืองพะเยา เมืองพาน รวมเป็นแขวงแม่อิง ฯลฯ ซึ่งหน่วยขนาดใหญ่อย่างมณฑลก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังพ.ศ.๒๔๔๒ รวมเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน เมืองนครน่าน เมืองนครแพร่ และเมืองเถินเป็นมณฑลมณฑลพายัพ พ.ศ.๒๔๕๘ แยกเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน รวมเป็นมณฑลมหาราษฎร์เนื่องจากมณฑลพายัพมีขนาดใหญ่ยากแก่การปกครอง และพ.ศ.๒๔๖๘ ยุบรวมมณฑลมหาราษฎร์เข้ากับมณฑลพายัพเพราะรัฐบาลขาดงบประมาณ จนกระทั่งเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.๒๔๗๕ ในปีถัดมาจึงได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล หน่วยปกครองมณฑลพายัพจึงยกเลิกเหลือเพียงหน่วยจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านสืบมาถึงปัจจุบัน 
แขวงเมืองลองได้รวมเมืองลองและเมืองต้าเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งที่ว่าการแขวงที่บ้านฮ่องอ้อ(ห้วยอ้อ) เดิมเมืองลองมี ๔ แคว้น คือ (๑) แคว้นฮ่องอ้อ (๒) แคว้นหัวทุ่ง (๓) แคว้นทุ่งแล้ง และ (๔) แคว้นวังชิ้น เมื่อสยามปฏิรูปการปกครอง ได้จัดแบ่งบางหมู่บ้านของแคว้นฮ่องอ้อและแคว้นหัวทุ่งรวมเป็นแคว้นปากกางเพราะทั้ง ๒ แคว้นมีขนาดใหญ่ และยุบเมืองต้าเป็นแคว้นเวียงต้า แขวงเมืองลองจึงจัดแบ่งใหม่ออกเป็น ๖ แคว้น (เมืองลอง ๖๘ หมู่บ้าน เมืองต้า ๑๑ หมู่บ้าน) คือ

(๑) แคว้นฮ่องอ้อ(ห้วยอ้อ) พญาเจรจา บ้านดอนทราย เป็นนายแคว้น แสนตะกาย เป็นล่าม ศูนย์กลางแคว้นตั้งอยู่บ้านฮ่องอ้อ มีจำนวน ๑๘ หมู่บ้าน คือ (๑.๑) บ้านฮ่องอ้อ (๑.๒) บ้านนาไผ่ (๑.๓) บ้านแม่กอก (๑.๔) บ้านนาหม้อ (๑.๕) บ้านแม่ลานเหนือ (๑.๖) บ้านแม่ลานใต้ (๑.๗) บ้านจำด้วน (๑.๘) บ้านหล่ายท่า (๑.๙) บ้านทุ่ง(นาหลวง) (๑.๑๐) บ้านนาแก (๑.๑๑) บ้านปิน (๑.๑๒) บ้านแม่จองไฟ (๑.๑๓) บ้านโป่งเก็ม (๑.๑๔) บ้านแม่เกี่ยม (๑.๑๕) บ้านทุ่ง (๑.๑๖) บ้านแม่ปาน (๑.๑๗) บ้านสวนยา (๑.๑๘) บ้านบ่อแก้ว

(๒) แคว้นปากกาง ศูนย์กลางแคว้นตั้งอยู่บ้านปากกาง มีจำนวน ๑๒ หมู่บ้าน คือ (๒.๑) บ้านแม่กาง(ปากกาง) (๒.๒) บ้านท่าเดื่อ (๒.๓) บ้านตะหลุก(ท่าหลุก) (๒.๔) บ้านพร้าว (๒.๕) บ้านหนองบอน(ร่องบอน) (๒.๖) บ้านป่าบง(ปากปง) (๒.๗) บ้านวังต้นเกลือ (๒.๘) บ้านขุนสาง (๒.๙) บ้านวังเคียน (๒.๑๐) บ้านสะหร่าง(ซะหล่าง) (๒.๑๑) บ้านปากลอง(ไฮสร้อย) (๒.๑๒) บ้านหาดคำ(หาดทรายคำ)

(๓) แคว้นหัวทุ่ง พญาวงศ์ (วงศ์ ภีระ, ต้นตระกูล “ภีระ”) บ้านหัวทุ่ง เป็นนายแคว้น ศูนย์กลางแคว้นตั้งอยู่บ้านหัวทุ่ง มีจำนวน ๑๕ หมู่บ้าน คือ (๓.๑) บ้านหัวทุ่ง (๓.๒) บ้านนาหมาโก้ง(เชตวัน) (๓.๓) บ้านนามน (๓.๓) บ้านไผ่ล้อม (๓.๔) บ้านแม่จอก (๓.๕) บ้านเค็ม (๓.๖) บ้านนาตุ้ม (๓.๗) บ้านใหม่(บ้านผีขุนน้ำ,บ้านต้นผึ้งไม้เสลียม) (๓.๘) บ้านนาอุ่นน่อง (๓.๙) บ้านแม่ลอง (๓.๑๐) บ้านค้างตะนะ (๓.๑๑) บ้านแม่รัง (๓.๑๒) บ้านปง(แม่บง) (๓.๑๓) บ้านหาดหนองแข(ยานแข) (๓.๑๔) บ้านแม่ป้าก

(๔) แคว้นทุ่งแล้ง ศูนย์กลางแคว้นตั้งอยู่บ้านทุ่งแล้ง มีจำนวน ๑๑ หมู่บ้าน คือ (๔.๑) บ้านทุ่งแล้ง (๔.๒) บ้านต้นพร้าว (๔.๓) บ้านแม่จอก(ปากจอก) (๔.๔) บ้านผาเต่า (๔.๕) บ้านอ้ายลิ่ม (๔.๖) บ้านผาคัน(หาดสะเปาคำ) (๔.๗) บ้านท่าวัด (๔.๗) บ้านหาดอ้อน (๔.๘) บ้านแช่ฟ้า (๔.๙) บ้านแม่สิน (๔.๑๐) บ้านค้างใจ

(๕) แคว้นวังชิ้น ศูนย์กลางแคว้นตั้งอยู่บ้านวังชิ้น มี ๑๒ หมู่บ้าน คือ (๕.๑) บ้านวังชิ้น (๕.๒) บ้านผางัวเลียเหนือ (๕.๓) บ้านผางัวเลียใต้ (๕.๔) บ้านวังเบอะ (๕.๕) บ้านนาพูน (๕.๖) บ้านแม่แปง (๕.๗) บ้านวังแฟง (๕.๘) บ้านปลากั้ง(นาปลากั้ง) (๕.๙) บ้านวังไค้ (๕.๑๐) บ้านวังลึกเหนือ (๕.๑๑) บ้านวังลึกใต้ (๕.๑๒) บ้านหาดรั่ว

(๖) แคว้นเวียงต้า พญาไชย (ไชย เชื้อผามอก, ต้นตระกูล “เชื้อผามอก”) บ้านต้าผามอก เป็นนายแคว้น ศูนย์กลางแคว้นตั้งอยู่บ้านต้าผามอก มีจำนวน ๑๑ หมู่บ้าน คือ (๖.๑) บ้านต้าแป้น (๖.๒) บ้านต้าเหล่า (๖.๓) บ้านหัวฝาย (๖.๔) บ้านต้าม่อน (๖.๕) บ้านน้ำดิบ (๖.๖) บ้านต้าแหลง (๖.๗) บ้านผาลาย (๖.๘) บ้านต้าผามอก (๖.๙) บ้านต้าเกี๋ยงพา (๖.๑๐) บ้านต้าน้ำริน (๖.๑๑) บ้านต้าปง

ภูเดช แสนสา

แผนที่แสดงแขวงเมืองลอง นครลำปาง ในพ.ศ.๒๔๔๙: ผ กบค.๕ - (๗ - ๑๒) แผนที่มณฑลพายัพแสดงแขวงป่าตัน แขวงเมืองลอง นครลำปาง พิมพ์ ๑๗ ธันวาคม ร.ศ.๑๒๕(พ.ศ.๒๔๔๙)

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ ๖ (ที่มา : หจช. ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๐๗)

กรมศิลปากร, เมืองประเทศราชของสยามในสมัยรัตนโกสินทร์,(กรุงเทพฯ : บริษัทเอดิสันเพรสโพรดักส์จำกัด,๒๕๔๒), หน้า ๑ - ๑๓๔.

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน (พ.ศ.๒๔๓๖ – ๒๔๖๑) (ที่มา : อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร)

เจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ (เจ้าน้อยสุริยะเมฆะ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 31 •ตุลาคม• 2012 เวลา 08:42 น.• )