ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๑๗ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การรักษาเสถียรภาพของเมืองลองเมื่อรัฐไทยขยายตัวเข้ามา พ.ศ.๒๔๒๕ - ๒๔๔๒ ยุคจารีตเมืองศูนย์กลางอำนาจกับเมืองบริวารจะมีความสัมพันธ์กันแบบหลวมๆ มีความยืดหยุ่นและเปราะบางสูง อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและเหตุการณ์ที่เมืองนั้นๆ กำลังเผชิญอยู่ ที่เกิดจากการขยายอิทธิพลเข้ามาของเมืองที่มีอำนาจมากกว่าหรือเมืองศูนย์กลางเดิมอ่อนแอลง ซึ่งเมืองลองภายหลังสยามเข้าแทรกแซงการปกครองของ “กษัตริย์” หรือ เจ้าผู้ครองนครประเทศราชทั้ง ๕ ในล้านนา คือ นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน และนครแพร่ จึงพยายามแยกตนเป็นอิสระจากเมืองนครลำปางเพื่อเลื่อนสถานะ ที่เดิมเมืองลองมีสถานะเป็นหัวเมืองชั้นรองมีอิสระภายในสูง แต่ในยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนที่อาศัยความสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่าง “กษัตริย์(เจ้าผู้ครองนคร)” กับ “เจ้าเมือง” หัวเมืองขึ้นต่างๆ เป็นสำคัญ ทำให้เมืองลองที่มีเจ้าเมืองเป็นสกุลวงศ์ท้องถิ่นถูกลดสถานะลงเป็นหัวเมืองขึ้นระดับชั้นต่ำสุด กอปรกับในช่วงนี้เมืองลองมีจารีตพุทธศาสนาที่สั่งสม จนมีครูบามหาเถระที่แตกฉานในพระธรรมเป็นศูนย์กลางการเข้ามาศึกษาของพระสงฆ์สามเณรต่างเมือง รวมถึงผลประโยชน์ป่าไม้ที่กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองควบคุมอยู่กลายเป็นสินค้ามีราคาในช่วงนี้ และการค้าระหว่างกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองกับพ่อค้า “เงี้ยว” โดยเฉพาะนครเชียงตุงกำลังเฟื่องฟู มีผลต่อการอุปถัมภ์พระศาสนาทั้งสร้างศาสนสถานและการศึกษาของพระสงฆ์ ซึ่งการเป็นทั้งศูนย์กลางทางศาสนาหรือศูนย์กลางการศึกษาของพระสงฆ์สามเณรและระบบเศรษฐกิจของเมืองลองที่ขยายตัว ควบคู่กับมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแร่เหล็ก ทองคำ และเงิน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เจ้าเมืองลองมีความมั่นใจจะยกสถานภาพของตนเองขึ้นเป็นเจ้าประเทศราช ดังนั้นเมื่อมีมหาอำนาจสยามเข้ามาแทรกแซงอำนาจเจ้าผู้ครองนครประเทศราชล้านนามากขึ้น กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองจึงขอเป็นเมืองประเทศราชขึ้นตรงกับสยาม ที่กำลังทวีอำนาจเหนือเจ้าผู้ครองนครประเทศราชทั้ง ๕ ขึ้นทุกขณะ

มูลเหตุเจ้าเมืองลองขัดแย้งกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง การขัดแย้งระหว่างเจ้าเมืองลองกับเจ้าผู้ครองนครลำปางในยุคนี้ เกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัยอันหลากหลาย ที่ผูกโยงกับการขยายอิทธิพลเข้ามาของมหาอำนาจสยาม คือ

(๑) การสูญเสียผลประโยชน์เรื่องป่าไม้ของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง การค้าขายไม้ขอนสักหรือที่ชาวเมืองลองเรียกว่า “ค้าไม้ธุง” เป็นผลประโยชน์สำคัญของเจ้าเมืองลองที่ได้รับโดยตรงจากการล่องไม้ไปขายที่เมืองสวรรคโลก และได้รับค่าตอไม้จากผู้รับสัมปทาน ซึ่งเจ้าผู้ครองนครลำปางจะจัดเก็บต้นละ ๑ รูปี(ประมาณ ๘๐ สตางค์) หากเข้ามาทำไม้ในเมืองลอง เมืองต้า เจ้าเมืองทั้งสองก็จะเก็บเพิ่มอีกต้นละ ๑ วิ่น(๑๒.๕ สตางค์)เพราะถือว่าเป็นเจ้าของป่าไม้ภายในเมืองของตนเช่นกัน จนรัชสมัยเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง(พ.ศ.๒๔๑๖ - ๒๔๓๕) จึงเริ่มแทรกแซงผลประโยชน์ป่าไม้ของเมืองลองในพ.ศ.๒๔๒๔ โดยส่งขุนนางเข้าจัดเก็บค่าตอไม้แทนขุนนางเค้าสนามเมืองลองทำให้ได้รับผลประโยชน์ค่าตอไม้ลดลง เพราะเมื่อขุนนางนครลำปางเก็บค่าตอไม้ ๑ วิ่นในส่วนของเมืองลองจะถูกแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ขุนนางนครลำปางที่จัดเก็บได้ ๑ ส่วนและเจ้าเมืองลองกับขุนนางได้ ๒ ส่วน ประกอบกับพระยาไชยสงคราม(เจ้าน้อยเรียวคำ)ได้แอบออกใบอนุญาตทำไม้ห้วยแม่ลานและห้วยแม่กางให้ส่างยี่ และพญาคันธรส ขุนนางเค้าสนามหลวงนครลำปางแอบออกใบอนุญาตทำป่าไม้ห้วยแม่สิน ห้วยแม่สูงและห้วยแม่พูน(ห้วยนาพูน) ให้นายฮ้อยสุวรรณะ ชาวไทใหญ่ ซึ่งป่าทั้งหมดอยู่ในเขตเมืองลอง เมื่อแสนหลวงเจ้าเมืองลองทราบจึงให้ขุนนางเค้าสนามไปห้าม เพราะไม่ได้รับทราบถึงการอนุญาตให้ทำป่าไม้บนพื้นที่เหล่านี้ แต่นายฮ้อยทั้งสองไม่ยอมฟังและเมื่อจะเก็บค่าตอไม้ก็ไม่ยอมให้ แต่ด้วยความเข้าใจว่าเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาเป็นผู้อนุญาต ดังนั้นในเดือนมกราคมพ.ศ.๒๔๒๕ แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงให้เจ้าหนานคันธิยะ บุตรชาย และขุนนางไปร้องเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกของเมืองลองที่ดึงอำนาจของสยามเข้ามาต่อรองกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง แต่สยามก็เห็นว่าเป็นเรื่องภายในของนครประเทศราชจึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ

(๒) บุตรหลานเจ้าผู้ครองนครลำปางเบียดเบียนและการเก็บภาษี ภายหลังรุ่นเจ้าชายเจ็ดองค์พี่น้องแล้ว เจ้าผู้ครองนครลำปางแยกเป็น ๒ สาย คือ สายของ เจ้าหลวงคำสม เจ้านครลำปางองค์ที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๓๗) กับสายของพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ พระเจ้านครลำปางองค์ที่ ๕ (พ.ศ.๒๓๓๗ - ๒๓๖๘) โอรสองค์ที่ ๒ และ ๔ ของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วสิงหราชธานี ซึ่งเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๖ – ๙ (๔๘ ปี) ล้วนแต่เป็นราชบุตรของเจ้าหลวงคำสม จนกระทั่งเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา(เจ้าหอคำตนน้อย) เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๐ จึงเป็นราชบุตรของพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ ตามธรรมเนียมแล้วเมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์ก่อนทรงถึงแก่พิราลัย ผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกเป็นของเจ้าผู้ครองนครองค์ใหม่และบุตรหลาน ดังนั้นบุตรหลานเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาจึงมีอิทธิพลสูงตามไปด้วย ซึ่งในพ.ศ.๒๔๒๕ เจ้าบุรีรัตน์(ราชบุตร) เจ้าราชบุตร(ราชบุตรเขย) พระยาไชยสงคราม(ราชบุตร) และผู้ใกล้ชิด ใช้อำนาจเข้ามาเบียดเบียนในเมืองลอง คือ เอาช้างของเจ้าหนานคันธิยะ แสนศิริ หมื่นอรุณ และยางแดงไปขายแล้วไม่ให้เงิน หมื่นอรุณได้เงินไม่ครบ ส่วนแสนศิริเอาช้างตัวเล็กกว่ามาให้ บังคับให้จัดซื้อกระบือเมืองลองในราคา ๑ ส่วน ๓ ของราคาปกติส่งให้ข้ายึดลูกช้างพังที่ถือว่าเป็นช้างรกคอกเข้ามายิงสัตว์เลี้ยงชาวบ้านแล้วไม่จ่ายเงิน แต่ที่เดือดร้อนที่สุดคือการเก็บภาษีที่ได้รับผลกระทบทุกถ้วนทั่วตัวคน จากเดิมเจ้าผู้ครองนครลำปางทุกองค์ ให้เว้นการเก็บภาษีทุกชนิดในเมืองลองตลอดถึงเมืองต้าที่ขึ้นเมืองลอง แต่ในปีนี้มีจีนนายอากรเข้ามาเก็บภาษี ๑๒ สิ่งกับชาวบ้าน แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงไม่ยอมเพราะไม่เคยมีธรรมเนียมเก็บภาษีในเมืองลองและเมืองต้ามาก่อน เจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาจึงส่งทนายมาบังคับ แสนหลวงเจ้าเมืองลองกลัวพระราชอาชญาจึงต่อรองให้เก็บเป็นภาษีหลังคาเรือนละ ๒ สลึง ๑ เฟื้อง(๖๒.๕ สตางค์)แทน แต่ด้วยชาวบ้านยังอยู่ในระบบผลิตเพื่อยังชีพและไม่เคยเสียภาษีเป็นตัวเงินมาก่อนจึงเดือดร้อนและจะอพยพไปอยู่เมืองอื่น แก่บ้านและก๊างหมู่บ้านกะเหรี่ยงจึงพากันเข้าร้องเรียนต่อเค้าสนามเมืองลอง จนแสนหลวงเจ้าเมืองลองต้องให้แสนท้าวออกไปเกลี้ยกล่อมชาวบ้านในเมืองลอง เมืองต้า และยื่นข้อเสนอว่าจะให้เจ้าหนานคันธิยะกับขุนนางส่งเรื่องขอยกเมืองลอง เมืองต้าขึ้นกับกรุงเทพฯ ทำให้ชาวเมืองรอดูสถานการณ์ไม่อพยพ ซึ่งเรื่องจัดเก็บภาษีนี้เกิดจากพระยาราชเสนา(เสือ พยัคฆนันท์) ข้าหลวงสามหัวเมือง(พ.ศ.๒๔๒๕ - ๒๔๒๖) แนะนำให้เจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาจัดเก็บ โดยเจ้าเมืองลองเข้าใจว่าเจ้าผู้ครองนครลำปางเป็นต้นคิด ในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ.๒๔๒๕ แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงให้เจ้าหนานคันธิยะลงไปร้องเรียนเรื่องข้างต้นและไม่ขอขึ้นกับเมืองนครลำปาง ซึ่งครั้งนี้สยามเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าครั้งก่อน จึงจัดส่งพระยาราชสัมภารากร(เลื่อน สุรนันทน์) ข้าหลวงสามหัวเมืองคนใหม่(พ.ศ.๒๔๒๖ - ๒๔๒๗) ขึ้นมาในเดือนมกราคมพ.ศ.๒๔๒๖(หากนับตามสมัยนั้นยังเป็นพ.ศ.๒๔๒๕) และให้พาทั้งสองฝ่ายไปชำระความที่ศาลต่างประเทศ เมืองนครเชียงใหม่

(๓) สนันสนุนให้ “เจ้าหนานคันธิยะ” บุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง เมืองลองถึงแม้เป็นเมืองไม่ใหญ่โตนักเมื่อเทียบกับเมืองนครลำปาง เมืองนครน่าน หรือเมืองนครเชียงใหม่ แต่ทว่าเจ้าเมืองลองมีอำนาจราชศักดิ์เป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งเมืองลองและหัวเมืองขึ้น มีความมั่งคั่งจากการผูกขาดสินค้าต่างๆ เช่น ค้าขายเหล็กและของป่ากับพ่อค้าวัวต่างนครเชียงตุง ค้าไม้ขอนสัก เก็บค่าขุดเหล็ก เก็บค่าตอไม้ เก็บค่าล่องสินค้าผ่านเมือง และผลประโยชน์บางอย่างจากเมืองต้า รายได้จำนวนมากนี้สะท้อนจากคำบอกเล่าว่า ปีหนึ่งเจ้าเมืองลองได้เงินถึงเต็มสามผืนกะลา(คล้ายเสื่อสานด้วยไม้ไผ่ยาวทั้งลำ) รายได้เหล่านี้เมื่อถวายค่าตอไม้ให้เจ้านครลำปางปีละ ๙ - ๑๐ ชั่ง(๗๒๐ -๘๐๐ บาท) และแบ่งปันกับขุนนางแล้วยังถือว่าเจ้าเมืองลองมีรายได้มั่งคั่งระดับหนึ่ง ด้วยเมืองลองมี “เจ้า” แตกแขนงออกมาหลายสาย ขณะนั้นแสนหลวงธานีเป็นผู้มีอำนาจรองลงมาจากเจ้าเมืองและมีสิทธิธรรมขึ้นเป็นเจ้าเมืองคนต่อไป แต่แสนหลวงเจ้าเมืองลองก็ต้องการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ไว้ในสายของตนโดยอยากให้เจ้าหนานคันธิยะบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมือง เพราะตั้งแต่เจ้าหลวงวรญาณรังษี(พ.ศ.๒๓๙๓ - ๒๔๑๖) ทรงโปรดรับรองแต่งตั้งให้แสนหลวงเจ้าเมืองลองขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองสืบต่อจากพญาเววาทะภาษิตผู้เป็นบิดาในพ.ศ.๒๓๙๘ ก็เป็นเวลากว่า ๓๕ ปี อีกทั้งแสนหลวงเจ้าเมืองลองก็ชราภาพมากแล้ว แต่เมื่อเจ้าหนานคันธิยะขัดแย้งกับเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาจึงต้องหาแหล่งอำนาจใหม่นั้นก็คือสยาม ดังนั้นในเดือนมกราคมพ.ศ.๒๔๓๓ แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงให้เจ้าหนานคันธิยะและขุนนางเค้าสนาม คุมเครื่องราชบรรณาการลงไปสยามเพื่อขอให้รับรองแต่งตั้งเจ้าหนานคันธิยะขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง แสนหลวงเจ้าเมืองลองขอขึ้นกับสยามและขอให้รับรองแต่งตั้งเจ้าเมืองลองคนใหม่ การกระทำเช่นนี้ในทัศนะของเจ้านายเมืองนครลำปางถือว่าเมืองลองกำลัง “แข็งเมือง” หรือ “เป็นกบฏ” ดังนั้นเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาจึงถึงกับทรงตรัสว่า “...จะฆ่าทั้ง ๓ คน เมื่อพ่อเมืองลองขึ้นมาถึงเมืองก็จะฆ่าทั้งคนไทยและคนลาว

เมืองลองต่อรองกับนครลำปางและสยามด้วยอิทธิพลของสยามแผ่เข้ามาในล้านนามากขึ้นทุกขณะ จึงทำให้แสนหลวงเจ้าเมืองลองและขุนนางพยายามดึงอำนาจสยามต่อรองกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง โดยการถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาในเมืองลอง เดิมการถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาสามารถจัดในนครประเทศราช ส่วนกลุ่มผู้ปกครองลูกเมืองทั้งหลายต้องเข้ามาถือน้ำในนครประเทศราชที่ตนขึ้นอยู่ ซึ่งเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนาม ก็เข้าถือน้ำที่นครลำปางเสมอทุกปี จนกระทั่งทั้งสองเมืองเกิดพิพาทกันขึ้นในช่วงพ.ศ.๒๔๒๖ - ๒๔๓๕ กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองจึงไม่เข้าถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่นครลำปาง เนื่องจาก

(๑) กลัวราชอาชญาเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาที่เมืองนครลำปาง

(๒) แสนหลวงเจ้าเมืองลองมีความมั่นใจจะได้เป็นเมืองประเทศราช เพราะได้ลงไปถวายเครื่องราชบรรณาการให้สยามหลายครั้ง

(๓) เดิมเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนาม ต้องกินน้ำสัจจะต่อเจ้าผู้ครองนครลำปาง ภายหลังพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงพิเศษ(พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๔) เปลี่ยนให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาต่อกษัตริย์สยามจึงแยกมาจัดเองที่เมืองลอง

นอกจากนี้แสนหลวงเจ้าเมืองลองยังงดธรรมเนียมทั้งเข้าคารวะเจ้าผู้ครองนคร ส่งส่วย และเงินค่าตอไม้ ซึ่งเมื่อขุนนางเค้าสนามหลวงนครลำปางเข้ามาแจ้งให้ไปถือน้ำหรือทวงส่วยและเงินค่าตอไม้ แสนหลวงเจ้าเมืองลองก็อ้างว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองลองขึ้นกับข้าหลวงสามหัวเมือง เมืองนครเชียงใหม่ จึงไม่ให้ไปถือน้ำที่นครลำปางจนกว่าจะตัดสินพิพาท ส่วนส่วยและค่าตอไม้ก็อ้างว่าได้ส่งให้กับสยามหมดแล้ว ซึ่งเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาก็ไม่อาจจัดการอะไรได้เพราะมีศุภอักษรและข้าหลวงนครลำปางจากสยามขึ้นมาคุ้มครองเจ้าเมืองลองขุนนาง จึงทำได้แต่มีศุภอักษรร้องต่อสยามว่า แสนหลวงเจ้าเมืองลองไม่เข้าถือน้ำที่นครลำปางและปฏิบัติเหมือนเป็นเมืองนครประเทศราช สังเกตว่าเจ้าเมืองลองต้องการมีอิสระทางอำนาจภายในเมืองลองและเมืองบริวาร เพราะแสนหลวงเจ้าเมืองลองก็ไม่ได้คิดจะยอมรับอำนาจของสยามอย่างแท้จริง สะท้อนจากเมื่อพระยาเพชรพิไชย(จิน จารุจินดา) ข้าหลวงห้าหัวเมือง(พ.ศ.๒๔๓๐ - ๒๔๓๑) มีหนังสือให้กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองไปถือน้ำที่เมืองนครเชียงใหม่ แสนหลวงเจ้าเมืองลองก็อ้างว่าแก่ชราเดินทางลำบาก และพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชื่น บุนนาค) ข้าหลวงห้าหัวเมืองคนก่อน(พ.ศ.๒๔๒๘ - ๒๔๓๐) อนุญาตให้จัดพิธีถือน้ำที่เมืองลองได้ ดังนั้นแสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงให้เจ้าหนานคันธิยะแสนท้าวไปรับน้ำพระพิพัฒสัจจาจากเมืองนครเชียงใหม่ มาประกอบพิธีเองที่วัดหลวงฮ่องอ้อ(วัดพระธาตุศรีดอนคำ) เมืองลอง พร้อมญาติวงศ์และขุนนางปีละ ๒ ครั้ง การขอขึ้นกับสยามสาเหตุสำคัญอีกประการ คือ ช่วงนี้สยามได้เข้าปฏิรูปการปกครองเฉพาะนครประเทศราชตั้งแต่พ.ศ.๒๔๒๗ เป็นต้นมา ส่วนหัวเมืองขึ้นของนครประเทศราชล้านนายังปลอดการแทรกแซงอำนาจจากสยาม ดังนั้นแสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงคิดว่าสยามอยู่ห่างไกลมากจะไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายเรื่องภายในเมืองของตน เหมือนเมืองนครลำปางที่มีอาณาเขตใกล้ชิดติดเนื่องกัน ส่วนแสนประจัญ เจ้าเมืองต้า แม้ขอขึ้นกับสยามพร้อมกับเมืองลองแต่ก็ยังไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่เมืองนครลำปางตามปกติ เพราะเป็นหัวเมืองขนาดเล็กและมีอำนาจการต่อรองน้อยจึงปฏิบัติตนในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ เมื่อสยามขยายตัวเข้ามาจึงเปิดโอกาสให้เจ้าเมืองเล็กเมืองน้อยดึงอำนาจ “ใหม่” ของสยามเป็นเครื่องต่อรองกับเจ้าประเทศราช สังเกตว่าแสนหลวงเจ้าเมืองลองไม่ได้ดึงอำนาจเจ้าอธิราชมาคานอำนาจเจ้าประเทศราชเท่านั้น แต่ยังดึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ้อนกันแต่ละระดับมาคานอำนาจเป็นชั้นๆ ดังเมืองลองสามารถจัดพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาอย่างนครประเทศราชร่วม ๑๐ ปี ตลอดถึงช่วงนี้แสนหลวงเจ้าเมืองลองมีอำนาจอนุญาตให้ทำป่าไม้ภายในเมืองลอง โดยไม่ต้องผ่านการอนุญาตของเจ้าผู้ครองนครลำปาง แสดงถึงกุศโลบายอันชาญฉลาดของแสนหลวงเจ้าเมืองลองจนสามารถเลื่อนสถานะของตนขึ้นได้ระดับหนึ่ง เมื่อเจ้าเมืองลองดึงอำนาจสยามเข้ามาต่อรองกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง ขณะเดียวกันก็พยายามต่อรองกับสยามด้วยวิธีการขอยกเมืองลอง เมืองต้า ขึ้นต่อสยาม และขอให้ตั้งเจ้าหนานคันธิยะบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมือง เดิมทีแสนหลวงเจ้าเมืองลองก็ไม่ได้คิดจะแยกเป็นอิสระจากนครลำปางหรือขึ้นตรงกับสยาม เพียงแต่ลงไปร้องเรียนเรื่องถูกแทรกแซงอำนาจและผลประโยชน์เพราะสยามมีอำนาจต่อรองกับเจ้าประเทศราชสูง แต่เรื่องบานปลายเกิดความขัดแย้งกันจึงผลักดันให้ลงไปขอขึ้นกับสยามเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ.๒๔๒๕ ปัจจัยพื้นฐานมาจากเจ้าหนานคันธิยะเป็นคนกว้างขวางรู้จักกับกลุ่มผู้ปกครองตลอดถึงพระสงฆ์ในนครเชียงใหม่และลำพูน ที่สำคัญคือทำการค้าไม้ที่เมืองสวรรคโลกและกรุงเทพฯ จึงรู้จักกลุ่มคนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย และหม่อมเจ้าอลังการ(โอรส) คือ ขุนราชอาญา นายขำ(บุตร) และนายชื่น บ้านหนองโรง เมืองสวรรคโลก โดยเฉพาะกับนายขำที่เจ้าหนานคันธิยะได้เข้าหุ้นซื้อช้างและล่องไม้ขอนสักไปขายด้วยกันเป็นประจำที่กรุงเทพฯ ซึ่งนายขำไม่พอใจเรื่องพระยาไชยสงคราม ได้ยึดเอาช้างที่เข้าหุ้นซื้อกับเจ้าหนานคันธิยะไปขายแล้วไม่จ่ายเงินให้เมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ.๒๔๒๕ จึงชักนำเจ้าเมืองลองลงไปยื่นเรื่องฟ้องร้องและขอขึ้นกับกรุงเทพฯ ที่ประจวบกับชาวเมืองกำลังเดือดร้อนเรื่องเสียภาษี แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงต้องเริ่มทำการต่อรองกับสยาม คือ

(๑) เมืองลองขอเป็นเมืองประเทศราชส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและส่วย แม้ว่าจะมีคนที่รู้จักธรรมเนียมแบบสยามชักนำอยู่เบื้องหลัง แต่การต่อรองเพื่อขอขึ้นกับสยามแสนหลวงเจ้าเมืองลองก็พยายามทำเป็นการลองเชิงก่อน เพราะสยามเป็นอำนาจใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย ครั้งแรกแสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงใช้จำนวนไพร่พลเป็นเครื่องต่อรอง ตามโลกทัศน์ของผู้ปกครองแบบจารีตที่มองว่าไพร่พลสำคัญกว่าการครอบครองพื้นที่ว่างเปล่า จึงได้ทำบัญชีจำนวนหลังคาเรือนในเมืองลอง ๓,๐๐๐ หลังคาเรือน เมืองต้า ๕๕๐ หลังคาเรือน ซึ่งหากคำนวณจำนวนไพร่พลอย่างคร่าวๆ ครัวเรือนละ ๔ คน เมืองลองมีประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน เมืองต้าประมาณ ๒,๒๐๐ คน ถือว่าไพร่พลของทั้ง ๒ เมืองเมื่อรวมกันมีจำนวนมากพอสมควร เพราะขณะนั้นจำนวนไพร่พลของล้านนามีไม่มากนัก อย่างกรณีเมืองเชียงแสน เมืองขึ้นนครเชียงใหม่ ในพ.ศ.๒๔๓๑ มีไพร่พล ๑,๕๐๐ หลังคาเรือน เมืองพาน เมืองขึ้นนครลำพูนในพ.ศ.๒๔๔๔ มี ๑,๒๙๗ หลังคาเรือน จำนวนไพร่พล ๖,๖๐๙ คน หรือนครแพร่ประเทศราชในพ.ศ.๒๔๔๐ มีไพร่พลประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ดังนั้นเมื่อเทียบไพร่พลของเมืองลองกับเมืองนครแพร่จึงมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงให้เจ้าหนานคันธิยะกับคนไทย(สยาม)ทั้ง ๓ คน นำบัญชีจำนวนครัวเรือนของเมืองลอง เมืองต้า ลงไปต่อรองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่อเห็นว่าสยามรับไว้พิจารณา ต้นปีต่อมาจึงให้คนนำไม้ขอนสักยาว ๘ วา(๑๖ เมตร) ใหญ่ ๒๒ กำ(รอบวง ๔.๔๐ เมตร) จำนวน ๑ ต้นล่องลงไปถวาย ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดปรานมากว่าเป็นของแปลกประหลาดและหาได้ยาก ดังทรงตรัสว่า “...แสนหลวงเจ้าเมืองลองแลบุตรหลาน ก็จะได้มีชื่อเสียงปรากฏต่อไป...” ด้วยฝ่ายเมืองลองเห็นว่าตนเป็นที่โปรดปราน จึงเป็นโอกาสเจรจาขอยกเมืองลองขึ้นกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองประเทศราชอย่างจริงจัง แสนหลวงเจ้าเมืองลองได้ส่งใบบอกลงไปกรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคมพ.ศ.๒๔๒๖ โดยยื่นข้อเสนอว่าจะส่งเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ๓ ปีต่อครั้ง และส่งส่วยเหล็กปีละ ๔๐ หาบ(๒,๔๐๐ กิโลกรัม) หลังจากส่งใบบอกไม่กี่เดือนแสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงลงไปกรุงเทพฯ ด้วยตนเอง พร้อมกับแสนอินทจักร แสนสิทธิ แสนอำนาจ ขุนนางเค้าสนามเมืองลอง เพื่อนำเครื่องราชบรรณาการประกอบด้วยต้นไม้ทองสูง ๑ ศอก ๑ คืบ(๗๕ เซนติเมตร) สี่ชั้นๆ ละ ๖ กิ่งรวมยอดเป็น ๕ กิ่ง มีใบจำนวน ๒๐๐ ใบ มีดอกจำนวน ๒๕ ดอก เป็นทองคำหนัก ๒ ตำลึง ๒ บาท ต้นไม้เงินมีขนาดเท่ากัน หนัก ๒ ตำลึง ๒ บาท สีผึ้งหนัก ๒๐ ชั่ง ดาบเหล็กลอง ๑ คู่ หอกเหล็กลอง ๑ คู่ ทวนเหล็กลอง ๑ คู่ ง้าวเหล็กลอง ๑ คู่ และเหล็กเมืองลองเป็นก้อนหนัก ๔๐ หาบลงไปถวาย น่าสังเกตว่าแสนหลวงเจ้าเมืองลองค่อยวางแผนเตรียมการไว้อย่างดีเป็นขั้นตอน เพื่อต่อรองและลองเชิงกับสยาม แต่ทว่าด้วยหลายปัจจัยจึงไม่สำเร็จซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป สยามจึงให้พระพรหมบริรักษ์ ข้าหลวงเมืองนครลำปาง เข้ามาดูแลจัดการที่เมืองลองเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งท้ายที่สุดในพ.ศ.๒๔๓๒ รัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองลองขึ้นเมืองนครลำปางตามเดิม แต่ขณะเดียวกันสยามก็ติดต่อกับเมืองลองโดยตรงดังปรากฏเกณฑ์ไม้ขอนสัก ๕๐ ต้นจากเมืองลอง เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แสนหลวงเจ้าเมืองลองยื่นเสนอข้อต่อรองใหม่ คือ ขอให้รับรองแต่งตั้งบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองและลงไปร้องเรียนไม่ยอมรับพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงให้เมืองลองขึ้นกับเมืองนครลำปางตามเดิม

(๒) แสนหลวงเจ้าเมืองลองขอต่อสยามให้รับรองแต่งตั้งบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง ด้วยไม่ประสบผลสำเร็จในการต่อรองขอขึ้นกับสยาม แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงขอให้ทางสยามรับรองแต่งตั้งเจ้าหนานคันธิยะบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง เพราะหากสยามยอมปฏิบัติตามคำขอนี้ เจ้าผู้ครองนครลำปางย่อมมีความเกรงใจและได้รับความคุ้มครองจากสยามโดยปริยาย ซึ่งถึงตอนนี้ถ้าหากย้อนกลับไปขึ้นกับนครลำปางบุตรชายจะไม่มีโอกาสเลยที่จะได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง แต่ตรงกันข้ามกับแสนหลวงธานีที่เพิ่มความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการเมืองภายในเมืองลองช่วงนี้นอกจากมีเรื่องขัดแย้งกับ มร.หลุยส์ ที.เลโอโนเวนส์(Mr. Louis T. Leonowens) ผู้จัดการทั่วไปบริษัทบริติชบอร์เนียวผู้รับสัมปทานทำป่าไม้ในเมืองลอง เมืองต้า จากเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา ที่ให้ส่างหนุ่มตีตราไม้ของเจ้าเมืองลอง ขุนนาง และไม้ที่ทางสยามเกณฑ์ไม่ให้เคลื่อนย้าย กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองก็ได้ยกเลิกเลี้ยงผีเมืองลองด้วย “แมงหูหิ้น”(มนุษย์) เปลี่ยนเป็นสัตว์(วัว,หมู,ไก่)ในปีพ.ศ.๒๔๓๒ เพื่อไม่ให้สยามมองว่าเป็นบ้านเมืองที่หล้าหลังป่าเถื่อน เพราะมีข้าหลวงผู้เป็นตัวแทนของสยามเริ่มเข้ามาภายในเมืองลอง กอปรกับการยกเมืองลองขึ้นกับสยามทำให้ผู้ปกครองเมืองลองแตกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่ม แสนหลวงเจ้าเมืองลอง ประกอบด้วยเจ้าหนานคันธิยะ แสนอินทจักร แสนอำนาจ และแสนบ่อ เป็นกลุ่มที่จะยกเมืองลองขึ้นกับสยาม กับกลุ่มของแสนหลวงธานี ประกอบด้วยแสนเขื่อนแก้ว และท้าวอุตมะ เป็นฝ่ายคัดค้านและจะให้เมืองลองขึ้นกับเมืองนครลำปางตามเดิม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับแสนหลวงเจ้าเมืองลองเป็นอย่างมาก จึงออกอาชญาให้ขุนนางเค้าสนามเมืองลองเกณฑ์ไพร่ไปจับคนร้ายและบอกว่าถ้าใครไปไม่ได้ก็ให้รออยู่ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่ากลุ่มแสนหลวงธานีต้องไม่ไป ภายหลังแสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงกล่าวหาว่ากลุ่มแสนหลวงธานีขัดขืนต่ออาชญา จึงสั่งจับเป็นให้ได้ถ้าไม่ได้ก็ให้จับตาย กลุ่มแสนหลวงธานีจึงต้องลี้ภัยไปพึ่งเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาที่เมืองนครลำปาง เมื่อกำจัดกลุ่มที่คัดค้านได้แล้วแสนหลวงเจ้าเมืองลองได้ใช้วิธีการ “ปิดเมือง” โดยให้แสนไชยชนะ (ต้นตระกูล “ไชยชนะ” และ “ชัยชนะ”) แม่ทัพเมืองลอง เกณฑ์เตรียมเสบียง ไพร่พล เกวียน ช้างม้า และให้แสนบ่อ (ต้นตระกูล “แสนบ่อ”) จัดเกณฑ์ขุดเหล็กจากบ่อเหล็กลอง เกณฑ์ทำอาวุธ ตลอดถึงออกอาชญาสั่งห้ามชาวเมืองลอง เมืองต้า ออกไปค้างแรมนอกเมือง การเตรียมการอย่างแน่นหนาและใหญ่โตของแสนหลวงเจ้าเมืองลอง ได้เลื่องลือและเป็นที่ผิดสังเกตถึงเมืองสวรรคโลก จนพระยาวิชิตภักดี ผู้ว่าการเมืองสวรรคโลก และพระกำแหงสงคราม ปลัดกรมการเมือง ต้องมีใบบอกแจ้งไปถึงพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงพิเศษ(พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๔) เมืองนครเชียงใหม่ เพราะในปีเดียวกันนี้ทางเมืองนครเชียงใหม่ก็มีการต่อต้านสยามเกิดขึ้นที่นำโดยพญาปราบสงคราม(หนานเตชะ) แม่ทัพเมืองนครเชียงใหม่ ขณะเดียวกันเมื่อแสนหลวงเจ้าเมืองลองจัดเตรียมเสบียงอาหาร อาวุธ และตรึงกำลังไพร่พลอยู่ภายในเมืองลอง ก็จัดให้เจ้าหนานคันธิยะและขุนนางเค้าสนามเมืองลอง ลงไปต่อรองกับสยามอีกถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในเดือนมกราคมพ.ศ.๒๔๓๓ เพราะต้องล่องไม้ขอนสักที่ถูกเกณฑ์ไปใช้ในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงถือโอกาสให้เจ้าหนานคันธิยะ แสนไชยมงคล รองแม่ทัพเมืองลอง แสนบ่อ และแสนอำนาจ คุมเครื่องราชบรรณาการประกอบด้วย เงิน ๕ ชั่ง(๔๐๐ บาท) นอซู่ ๑ นอ ศิลาประหลาดรูปเหมือนลูกศร ๑ ชิ้นลงไปถวาย เพื่อขอให้รับรองแต่งตั้งเจ้าหนานคันธิยะขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง พร้อมมีใบบอกเหตุผลขอให้รับรองแต่งตั้งว่า “...ข้าพุทธิเจ้าแสนหลวงเจ้าเมืองลอง พร้อมกรมการแสนท้าว ณ เมืองลอง...ข้าพุทธิเจ้าเปนคนชะราภาบอายุถึง ๗๘ ปี แก่หลงใหลไปบ้างแล้ว ข้าพุทธิเจ้าแลกรมการปรึกษาพร้อมกันเห็นว่านายหนานคันทิยะ บุต เปนคนสักสีมั่นคง เหนควนจะรับราชการแทนบิดาฉลองพระเดชพระคุณต่อไปได้...” พร้อมกับฟ้องร้องเรื่อง มร.หลุย ที.เลโอโนเวนส์ และต่อรองไม่ยอมรับคำพระราชวินิจฉัยตัดสินเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๒ แต่ในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จได้แต่ถวายของและเรื่องไว้ เพราะทางสยามกำลังจัดเตรียมพระราชพิธีรับเสด็จมกุฏราชกุมารของรัสเซีย(พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒) เมื่อรออยู่นานเสบียงเริ่มหมดจึงต้องกลับขึ้นมาเมืองลองก่อน

เมื่อต่อรองครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงรอให้ทางสยามพร้อม ซึ่งครั้งนี้แสนหลวงเจ้าเมืองลองได้เพิ่มเครื่องราชบรรณาการ และสร้างความชอบธรรมให้บุตรชาย คือ แต่งตั้งเจ้าหนานคันธิยะ ขึ้นเป็น “แสนหลวงขัติยะ” เพื่อใช้การเป็นผู้มียศศักดิ์ต่อรองกับสยามอีกทางหนึ่งแม้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดธรรมเนียม เพราะตำแหน่งขุนนางเค้าสนามเมืองลองเจ้าผู้ครองนครลำปางเท่านั้นที่มีอำนาจรับรองแต่งตั้ง ภายหลังเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาทราบจึงมีศุภอักษรฟ้องลงไปสยามว่าแสนหลวงเจ้าเมืองลองแต่งตั้งแสนท้าวตามใจชอบ แต่ก็สามารถเข้าใจการกระทำครั้งนี้ได้ เพราะขณะนั้นนอกจากแสนหลวงเจ้าเมืองลองแล้ว ก็มีแสนหลวงธานีผู้ลี้ภัยไปอยู่นครลำปางที่มียศเป็น “แสนหลวง” อันเป็นตำแหน่งระดับสูงในช่วงนี้ของเมืองลอง ทั้งเมืองลองในเวลานี้จึงมีเพียงแสนหลวงขัติยะเท่านั้นที่มีอำนาจรองจากแสนหลวงเจ้าเมืองลอง และเป็นผู้สืบโลหิตสายตรงจึงมีความชอบธรรมสูงสุดที่จะได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองคนต่อไป ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในสยามกลับเข้าสู่ปกติในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ.๒๔๓๓ แสนหลวงเจ้าเมืองลองจึงจัดให้แสนหลวงขัติยะ แสนอำนาจ แสนอินทจักร แสนบ่อ ท้าวจันทร์ หมื่นกลางศาล หมื่นคัณฑสีมา กับไพร่ ๒๔ คน นำเครื่องราชบรรณาการประกอบด้วยไม้ขอนสักยาว ๑๑ วา(๒๒ เมตร) ใหญ่ ๖ กำ(รอบวง ๑.๒๐ เมตร) จำนวน ๑ ต้น, ไม้ขอนสัก ยาว ๑๑ วา ใหญ่ ๑๑ กำ(รอบวง ๒.๒๐ เมตร) จำนวน ๑ ต้น, นอระมาด(แรด) ๒ นอ, งาช้าง ๑ กิ่ง, เขากวาง ๑ กิ่งมียอด ๖ ยอด และเงินค่าตอไม้ขอนเจ้าจำนวน ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท)ลงไปถวาย เพื่อขอให้รัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนพระราชวินิจฉัยและให้รับรองแต่งตั้งแสนหลวงขัติยะบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองอีกครั้ง ด้วยลงไปถวายเครื่องราชบรรณาการถึงสองครั้ง แสนหลวงขัติยะจึงมั่นใจว่าตนจะได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองอย่างแน่นอน ดังเมื่อครั้นกลับขึ้นมาถึงเมืองแม่เจ้าบุญมา ภรรยาได้ให้กำเนิดธิดาคนที่ ๔ เพื่อเป็นนิมิตหมายอันดีจึงตั้งชื่อว่า “บุญเมือง” อันเป็นบุญของเมืองลอง เพราะหากสยามรับรองแต่งตั้งแสนหลวงขัติยะเป็น “พระยา” เจ้าเมืองลองประเทศราช ก็จะเลื่อนจาก “พ่อเมือง”(ศักดินา ๖๐๐ ไร่)ขึ้นเป็น “พระยาประเทศราช”(ศักดินา ๘,๐๐๐ ไร่)ที่มีฐานะเสมือนเจ้าผู้ครองนครแพร่ เห็นได้จากต้นไม้เงินต้นไม้ทองสูง ๑ ศอก ๑ คืบ(๗๕ เซนติเมตร) ที่เจ้าเมืองลองนำลงไปถวายและจะถวายเป็นราชบรรณาการทุก ๓ ปี มีขนาดสูงเท่ากันกับที่เจ้าผู้ครองนครแพร่ส่งลงไปถวายเป็นราชบรรณาการ

สาเหตุที่แยกเป็นอิสระจากเมืองนครลำปางและเป็นเมืองประเทศราชไม่สำเร็จ มีปัจจัยสำคัญสองประการคือ สยามเกรงขัดแย้งกับเจ้าผู้ครองนครในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนจนยากแก่การปฏิรูป และเมืองลองมีผลประโยชน์น้อยต่อสยาม

ด้วยเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน “...ทั้งสามเมืองเป็นเชื้อสายสืบวงศ์ตระกูลติดเนื่องกันมาเป็นบ้านพี่เมืองน้อง...” สยามจึงไม่ต้องการสร้างความบาดหมางกับกลุ่มมหาอำนาจล้านนาเพื่อแลกกับเมืองเล็กๆ อย่างเมืองลอง เมืองต้า โดยเฉพาะเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าผู้ครองนครลำปาง มีฐานะอาวุโสสูงสุดชั้นราชบุตรของเจ้าชายเจ็ดองค์ ขณะที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ และเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนเป็นชั้นหลาน จึงมีอิทธิพลไม่น้อยต่อกลุ่มเจ้านายทั้งในเมืองนครเชียงใหม่และเมืองนครลำพูน ดังเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาได้ระบายความคับแค้นใจเรื่องเมืองลองกับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้เป็น “หลาน” พระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงรีบตรัสเรียกหาพระยาราชสัมภารากร ข้าหลวงสามหัวเมืองเข้ามาปรึกษาเพื่อแก้ปัญหา กอปรกับกรณีเรื่องเมืองลองมีผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในล้านนาจึงเป็นที่หวาดหวั่นกันทั่ว ดังเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าผู้ครองนครลำปางกล่าวกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรว่า “...ถ้ายกเมืองลองไปแล้ว ก็เหมือนกับไม่เลี้ยงเมืองนครลำปางเหมือนกัน เพราะเมืองอื่นๆ ก็จะพากันเป็นดังเมืองลองสิ้น...” ดังนั้นสยามจึงไม่กล้าจัดการรับเอาเมืองลอง เมืองต้ามาขึ้นโดยตรง ด้วยเกรงส่งผลต่อเรื่องจัดปฏิรูปการปกครองลำบาก เพราะหากขัดแย้งกับเจ้าผู้ครองนครก็เป็นการยากที่จะผนวกล้านนาเข้ากับสยามได้ จึงไม่คุ้มค่าที่จะเอาหัวเมืองเล็กเมืองน้อยอย่างเช่นเมืองลองและเมืองต้าเข้าแลก ดังรัชกาลที่ ๕ ทรงตรัสว่า “...แสนหลวงเมืองลอง ซึ่งคุมเครื่องราชบรรณาการมาอยู่กรุงเทพฯ นี้ ...ก็เหนว่าควรจะให้เฝ้าเสียสักเวลาหนึ่ง ถวายของต่างๆ ตามที่มีมาด้วยก็ได้ แต่ต้นไม้เงินทองนั้นหม่อมฉันไม่อยากจะรับเลย ...จะให้คืนกลับไปก็ดูไม่ควร ถ้ากระไรคิดยักย้ายอย่างไรให้เปนถวายพระแก้วเสียได้ก็ดี การที่จะเอาเมืองลองมาขึ้นกรุงเทพฯ นั้นคงเอามาเปนแน่ แต่อยากทำให้งาม อย่าให้เปนฟังความข้างเดียว...” ท้ายสุด พ.ศ.๒๔๓๑ เจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าผู้ครองนครลำปาง ทรงมีศุภอักษรลงไปสยามเพื่อขอปรับความเข้าใจกับแสนหลวงเจ้าเมืองลอง โดยมีพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่(พ.ศ.๒๔๑๖ - ๒๔๔๐) และเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน(พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๓๑) ทรงมีศุภอักษรรับประกันเจ้าผู้ครองนครลำปางว่า “...บัดนี้แสนหลวงพ่อเมืองลอง จะไม่ยอมเปนขึ้นแก่เมืองนครลำปางต่อไปนั้น ก็จะเปนแบบอย่างแก่หัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครเชียงใหม่ แลเมืองประเทศราชในพระราชอาณาเขตร (ศุภอักษรเจ้าผู้ครองนครลำพูน – ก็จะเปนแบบอย่างแก่หัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครเชียงใหม่ แลเมืองนครลำพูน แลเมืองประเทศราช) ..ถ้าแลราชการสำคัญเกิดขึ้นมาเปน ประการใด เจ้าประเทศราชทั้งปวงจะบังคับบัญชากะเกณฑ์ราชการบ้านเมืองแก่หัวเมืองขึ้นต่อไป ..ขออภัยโทษแก่เจ้าหลวงแลเจ้านายบุตรหลาน แลให้แสนหลวงพ่อเมืองลองขึ้นเมืองนครลำปางตามเดิม...” ดังนั้นปีพ.ศ.๒๔๓๒ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองลองขึ้นนครลำปางตามเดิม โดยให้ว่ากล่าวกันเป็นลำดับชั้น คือ หากเมืองลองมีเรื่องราวให้ยื่นต่อเจ้านครลำปาง เจ้านายและขุนนางเค้าสนามหลวงนครลำปาง เมื่อติดสินไม่ยุติธรรมก็ยื่นต่อพระเจ้านครเชียงใหม่และเจ้านครลำพูน หากไม่เป็นที่ตกลงกันก็ให้ยื่นต่อข้าหลวงนครเชียงใหม่ ส่วนปัจจัยสำคัญอีกประการที่เมืองลองทำการไม่สำเร็จ คือ เมืองลองมีผลประโยชน์น้อยต่อสยาม เดิมทรัพยากร “เหล็ก” ที่เมืองลองผูกขาดอยู่ทำให้กลายเป็นเมืองสำคัญ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ ช่วยจรรโลงรักษาระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเมือง ในแบบยุคจารีตเอาไว้ในรูปของ “ส่วย” แต่ทว่ากับสยามที่ขณะนี้ได้ติดต่อกับชาติตะวันตกและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก “เหล็ก” จึงไม่ใช่สิ่งที่สยามต้องการ หรือจำนวนไพร่พลก็ไม่ได้ตอบสนองกับการพัฒนาของสยามในยุคนี้ แม้ป่าไม้ในเมืองลองเป็นสินค้าที่ดึงดูดใจสยามอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับนครประเทศราชทั้งสามแล้วเมืองลองมีผลประโยชน์น้อยมาก รัชกาลที่ ๕ จึงทรงเปรียบเปรยว่า “...เมืองลองมี ๒ ฤา ๓ หลังเรือน...” กอปรกับเป็นช่วงเตรียมปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สยาม จึงไม่มีประโยชน์จะเพิ่มเมืองประเทศราชขึ้นอีก สยามจึงไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของเมืองลอง เมื่อกรมหมื่นพิชิตปรีชากรขึ้นมาเป็นข้าหลวงพิเศษจึงทิ้งไว้จัดการเป็นลำดับสุดท้าย เรื่องราวจึงค้างอยู่ศาลต่างประเทศนครเชียงใหม่อยู่นานหลายปี จนกระทั่งมีศุภอักษรของเจ้าผู้ครองนครทั้งสามลงไป จึงทำให้สยามรีบตัดสินเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับเจ้านายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ถึงแม้ว่าแสนหลวงเจ้าเมืองลองและขุนนางจะพยายามต่อรองกับสยามอีกหลายครั้งก็ไม่เป็นผล เพราะในปลายปีพ.ศ.๒๔๓๔ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ อย่างเด็ดขาดว่า “...เมืองลองนี้ ได้ตัดสินตกลงใคร่การอย่างเลอียดแล้วว่าให้เปนเมืองขึ้นเมืองนครลำปางไปตามเดิม ให้ท่านมีตราตอบข้าหลวงไปว่า ต้องให้เมืองลองทำคงขึ้นเมืองนครลำปางไปตามคำตัดสินเดิม การที่พ่อเมืองลองทำความขัดแขงต่อคำตัดสินนั้นไม่ชอบ แต่ให้ยกโทษเสียครั้งหนึ่ง ต่อไปถ้าพ่อเมืองลองไม่ชอบกระทำตาม ก็ให้เจ้านครลำปางบังคับบัญชาไปโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย แลอย่างธรรมเนียมของบ้านเมือง จะถอดถอนพ่อเมืองลองตั้งพ่อเมืองใหม่ฤาประการใดก็ได้ แต่อย่าให้เปนอันตรายถึงแก่ชีวิตร พ่อเมืองลองได้เปนอันขาด แต่ส่วนตัวแสนหลวงคันทิยะบุตรพ่อเมืองลองที่ลงมาขอรับตำแหน่งแทนบิดานั้น ให้กรมมหาดไทยชี้แจงคำตัดสินนี้ให้ทราบ แลให้คืนสิ่งของเงินทองที่นำมานั้นให้แสนหลวงคันทิยะไปด้วย แล้วให้แสนหลวงคันทิยะได้กลับขึ้นไปบ้านเมืองเสียโดยเร็ว เพราะต้องลงมากรุงเทพฯ ช้านานแล้ว แต่สยามก็ไม่ได้ละเลยเมืองลองเสียทีเดียว เพราะในพ.ศ.๒๔๓๕ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนรักษ์นรา ขึ้นมาเป็นข้าหลวงเมืองลอง และแต่งตั้งเจ้าอุปราช(เจ้าน้อยทนันไชย) ราชบุตรเจ้าหลวงวรญาณรังษีขึ้นเป็นเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และให้เจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางจางวาง สันนิษฐานว่าที่สยามเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ใหม่ นอกจากสาเหตุเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดาชรามากดังที่สยามนำมาอ้างเป็นเหตุผล ยังเพื่อลดความขัดแย้งและเป็นโอกาสเข้าแทรกแซงอำนาจเจ้าผู้ครองนครลำปางมากขึ้น เพราะเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดามีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว เห็นได้จากทรงออกพระราชอาชญายกเลิกภาษียาสูบและเก็บค่านาให้เปลี่ยนเป็นเก็บข้าวขึ้นฉางตามเดิมโดยไม่แจ้งให้สยามทราบในพ.ศ.๒๔๓๓ หรือไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือกับข้าหลวงสยาม ฯลฯ ดังนั้นการเลื่อนขึ้นเป็นจางวางเท่ากับเป็นการปลดออกจากตำแหน่งในทางอ้อม และถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าผู้ครองนครในล้านนาได้รับ ซึ่งเจ้านายเมืองนครเชียงใหม่และเมืองนครลำพูนเข้าใจว่าเป็นการลดยศราชศักดิ์หรือถอดออกจากตำแหน่ง เมื่อเจ้าผู้ครองนครลำปางกลับเข้าสู่สายของเจ้าหลวงคำสมอีกครั้ง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองลองกับนครลำปางก็หมดไป เนื่องจากเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ใหม่(พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๔๐)ก็พยายามถนอมน้ำใจเจ้าเมืองลองและขุนนาง ดังในพ.ศ.๒๔๓๕ ได้ทรงรับรองแต่งตั้งแสนหลวงขัติยะ ขึ้นเป็น “พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ” (ชาวเมืองนิยมเรียกพ้องกับนามเดิมว่า “พญาคันธสีมาโลหะกิจ”) เจ้าเมืองลอง(พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๔๕) พร้อมกับเลื่อนตำแหน่งให้แสนหลวงเจ้าเมืองลองขึ้นเป็น “พญาไชยชนะชุมพู” เจ้าเมืองลองจางวางร่วมกันปกครองบ้านเมือง ตลอดถึงประทานยศศักดิ์หรือเลื่อนตำแหน่งให้ขุนนางเค้าสนามเมืองลอง เช่น รับรองแต่งตั้งแสนไชยมงคล (ต้นตระกูล “ชัยมงคล”) ขึ้นเป็นแม่ทัพเมืองลองแทนแสนไชยชนะที่ชราภาพ ขณะเดียวกันเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต ก็ได้เข้ามาร่วมกับพญาขัณฑสีมาโลหะกิจและขุนนาง ทำบุญ บูรณะพระธาตุศาสนสถาน หรือเป็นองค์ประธานประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเมืองลอง เหมือนดั่งอดีตเจ้าผู้ครองนครลำปางพระองค์ก่อนๆ ที่ผ่านมาได้เคยปฏิบัติเป็นราชประเพณีของบ้านเมือง แต่ทว่าในช่วงปีเดียวกันกับที่แสนหลวงขัติยะ ได้รับตำแหน่งขึ้นเป็น “พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ” เจ้าเมืองลองนี้ ได้มี “จักไคก็บานดอก”(ต้นตะไคร้ออกดอก) และ “ดาวก็ควัน”(“ปี๋ดาวควัน เท่ากะลาปัน”, ดาวหาง)เกิดขึ้นเหนือฟากฟ้าเมืองลอง โดยคนโบราณเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย ดังปรากฏบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้โดยหมื่นกลางโฮง เมื่อมีการบันทึกไว้ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับผู้คนในยุคนั้น ซึ่งอาจเป็นภาพตัวแทนสะท้อนความคิดของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง ที่มีความวิตกกังวลอยู่ในใจลึกๆ ว่ากำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเข้ามาสู่เมืองลอง เจ้าเมืองลอง กลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง ตลอดถึงชาวเมืองลองในอนาคตอันใกล้ต่อจากนี้ จากกรณีของเมืองลองกล่าวได้ว่า ลักษณะการปกครองแบบจารีตได้อาศัยความสัมพันธ์ระหว่างส่วนบุคคลสูง เมื่อเปลี่ยนเจ้าผู้ปกครองใหม่ก็อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเมืองให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังคำกล่าวของแสนหลวงเจ้าเมืองลองว่า “ ...เจ้านครลำปางวรญาณรังษี ให้แสนหลวงว่าราชการเมืองลองต่อมา ...เจ้าวรญาณรังษี เจ้านายเมืองนครลำปาง หาได้กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนแสนหลวงบุตรหลานราษฎรในแขวงเมืองลอง ให้ได้ความเดือดร้อนแต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ ครั้นเจ้าวรญาณรังสีถึงแก่พิลาไลย โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราชเปนเจ้าพรหมาพิพงษธาดา เจ้านครลำปางต่อมา ... เจ้านครลำปาง เจ้านายทุกวันนี้ประพฤติการหาเหมือนเจ้านครลำปางแต่ก่อนไม่...” กอปรกับเมื่อมีอำนาจใหม่ภายนอกยื่นมือเข้ามาแทรกแซงอำนาจเก่ามากขึ้นเพียงใด ก็มีผลทำให้ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มหัวเมืองเก่าที่เคยจรรโลงอยู่ ได้ถูกทำลายมากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าแสนหลวงเจ้าเมืองลอง “เจ้า” หัวเมืองขึ้นขนาดเล็ก จะประสบความล้มเหลวในการเลื่อนสถานะเมืองลองขึ้นเป็นเมืองเอกประเทศราช แต่ก็ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการสนับสนุนให้บุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมือง หลังจากนี้พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ โลหะ)เจ้าเมืองลองคนใหม่และขุนนางเค้าสนามก็เข้าไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา เข้าคารวะเจ้าผู้ครองนคร ส่งส่วย และเงินค่าตอไม้ขอนเจ้า ที่เมืองนครลำปางตามจารีตราชประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ จนกระทั่งเมื่อสยามจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลอีก ๗ ปีต่อมาในพ.ศ.๒๔๔๒ จึงเป็นหมุดหมายเปลี่ยนแปลงความเป็นเมืองลองยุคจารีตในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเมืองลอง

สรุป แอ่งลองมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาอาศัยตั้งแต่ยุคหิน และสืบเนื่องมาจนถึงยุคโลหะ ในยุคหินอาศัยหนาแน่นตอนเหนือแอ่ง พอยุคโลหะได้เคลื่อนย้ายเข้าตั้งถิ่นฐานใกล้กับแหล่งแร่ธาตุบริเวณตอนกลางแอ่ง ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แคว้นหริภุญไชยได้ขยายตัวผ่านทางเมืองเขลางค์นครเข้าสู่แอ่งลองได้ผสมผสานกันทั้งกลุ่มคนและเทคโนโลยีโลหกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งสำคัญของแอ่งลอง และมีการสร้างบ้านแปลงเมืองลองขึ้นอย่างช้าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และเกิดเมืองบริวารขึ้นตามมา คือ เมืองตรอกสลอบ เมืองต้า และเมืองช้างสาร ภายในแอ่งลองมีเวียง ๙ แห่ง แบ่งตามหน้าที่ คือ เป็นเวียงศูนย์กลางปกครอง เวียงบริวารหรือหน้าด่าน และเวียงพระธาตุ เวียงเหล่านี้ยกเว้นเวียงลองและเวียงตรอกสลอบล้วนสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่ออาณาจักรล้านนาเริ่มขยายตัว เมืองลองได้สร้างโลกหรือจักรวาลทัศน์ขึ้นทั้งพุทธและผี มีหน่วยปกครองเป็นลำดับชั้นตั้งแต่เรือน พ้งบ้าน หมู่บ้าน แคว้น และเมือง แต่ละหน่วยจะมีความคิดเรื่องมีชีวิต ตัวตน และจิตวิญญาณกำกับอยู่ นำมาสู่การจัดแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ผูกโยงกับการสร้างสิทธิธรรมอำนาจของกลุ่มผู้ปกครอง มีการควบคุมสังคมผ่านทางประเพณี พิธีกรรม และคติความเชื่อทั้งพุทธและผีจนเกิดประเพณี ๑๒ เดือนของเมืองลอง มีลักษณะเฉพาะทางการเมืองการปกครองของเมืองลองมี ๔ ยุค คือยุคแรกก่อตั้งและสร้างความมั่นคง ยุคที่สองถูกดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ ยุคที่สามมีอิสระการจัดการตนเองสูง และยุคที่สี่เจ้านครลำปางขยายอำนาจควบคุมใกล้ชิด มีโครงสร้างการปกครองแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ เจ้า และ ขุนนาง ภายในเมืองจะมีอิสระในการจัดการปกครองตนเอง โดยกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองมีพันธะกับเจ้าผู้ครองนครลำปางทางการส่งส่วย เข้ากินน้ำสัจจะและคารวะเพื่อถวายความจงรักภักดี พร้อมกันนั้นก็มีการรักษาเสถียรภาพผ่านการสมรส หรือให้การอุปถัมภ์จารีตประเพณีและพิธีกรรมของบ้านเมือง เมื่อสยามขยายตัวเข้าแทรกแซงล้านนาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เจ้าเมืองลองได้ดึงอำนาจของสยามเข้ามาต่อรองกับเจ้านครลำปาง ขณะเดียวกันก็ต่อรองกับสยามเพื่อเลื่อนสถานะ โดยขอเป็นเมืองประเทศราชและให้ตั้งบุตรชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองลอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะสยามไม่ต้องการขัดแย้งกับกลุ่มเจ้าผู้ครองนครราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน จนยากแก่การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราชล้านนา ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่สยามกำลังพยายามยกเลิกระบบเมืองประเทศราช และเมืองลองมีผลประโยชน์น้อยต่อสยาม เมืองลองจึงคงมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครลำปางตามเดิม จนกระทั่งสยามจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในเวลาต่อมา จึงนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของความเป็นเมืองลอง

ภูเดช แสนสา

ชาวขมุจากลาวที่เข้ามาทำไม้ในล้านนา (ที่มา : หมพ.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๕๓)

เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ (ที่มา : หนังสือบูรณะกู่อัฐิเจ้าผู้ครองนครลำพูน)

เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตวราวุธ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๐ (ที่มา : หนังสือประวัติวัดป่าตันกุมเมือง)

เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิตวราวุธ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๐ (ที่มา : ตำนานลำปางในชื่อเขลางค์นคร)

เจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินทร์แถลงเจ้าผู้ครองนครเชียงตุง (พ.ศ.๒๔๓๙ – ๒๔๗๘) (ที่มา : หนังสือพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง)

ห้วยแม่สูง ช่วงที่ผ่านบ้านเปาปมดงยาง ตำบลนาพูน (ที่มา : รายงานการสำรวจศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางโบราณคดี, ๒๕๔๕)

แม่บุญเมือง โลหะ(ไชยขันแก้ว) ธิดาคนที่ ๔ ของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดแม่ลานเหนือ)

เจ้าหลวงวรญาณรังษีราชธรรมเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๒๓๙๓ – ๒๓๑๖)

มหาอำมาตย์โท พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค, พ.ศ.๒๓๘๙ – ๒๔๕๘) (ที่มา : กาญจนาภรณ์ บุนนาค)

เด็งหลวงสร้างถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำโดยเจ้าหลวงวรญาณรังษี เมื่อพ.ศ.๒๔๐๙ มีจารีกอักษรธรรมล้านนาว่า “สักกัทธะได้ ๑๒๒๘ (พ.ศ.๒๔๐๙) ตัว ปีรวายยี(ปีขาล) เดือน ๗ แรม ๒ ฅ่ำ ภ่ำว่าได้ ๑ ปถมมูลสัทธาหมายมี พระองค์เจ้าหลวงญารังสีมหาอิสราธิปติเมืองนคอรที่นี้ เปนเค้าแก่เจ้านายแลลูกเต้าชู่ตนมีบุญเจตนาอันโยชน์ยิ่ง จิ่งได้หล่อส้างยังมหาเด็งหลวงลูกนี้ไว้หื้อเปนทานกับสาสนา ๕ พันพระวสา น้ำหนักทอง(ทองเหลือง)มี ๓ หมื่น ๕ พัน ขอเปนปักกตุปปนิไสยประไจยค้ำชูตนข้าต่อเท้ารอดนิพพานแท้ดีหลีเทอะ” (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

ต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่เจ้าประเทศราชล้านนาส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่สยาม (ที่มา : หนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่)

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ ๗ (ที่มา : หจช. ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๔๐)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 23 •ตุลาคม• 2012 เวลา 07:41 น.• )