ความเป็นมา พื้นที่ตำบลบ้านกวางเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นป่าเขาลำเนาไพรและมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่น ลิง ค้าง เสือ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะกวาง เป็นสัตว์ที่มีมากในตำบลบ้านกวาง ซึ่งอดีตตอนนั้นตรงกับสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณปีพุทธศักราช ๑๙๐๐ พญาลิไททรงเป็นกษัตริย์ปกครองพระนคร พระองค์ทรงเลื่อมในและศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงทราบว่าวัดวาอารามในภาคเหนือ ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีพระราชดำริทีจะบูรณปฏิสังขรณ์ ให้ดีขึ้น เหมือนเดิม โดยเฉพาะพระเจดีย์ที่บรรจะพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา พระองค์ทรงยกลี้พลข้าราชบริพารโดยใช้ช้างเป็นพาหนะ ใกนารบรรทุกสิ่งของและเงินทองจำนวนมาก เพื่อนำไปบูรณพระเจดีย์ที่ชำรุดเหล่านั้น พระองค์ทรงเสด็จจากกรุงสุโขทัยขึ้นไปทางเหนือจนกระทั่งเสด็จมาถึงบ้านกวางในเวลาพลบค่ำ จึงทรงหยุดประทับแรมอยู่ ณ ที่นี้ และในคืนนั้นได้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดขึ้น คือมีช้างพังเชือกหนึ่ง ชื่อ ช้างพังหราสีหนุศรีกุญชร ซึ่งเป็นช้างที่พญาลิไท ได้ทรงโปรดปรานมาก เพราะรับใช้พระองค์มานานหลายปี ได้ล้มตายลง ในลักษณะหมอบ (มูบ) กับพื้น อันเนื่องมาจากสาเหตุการบรรทุกของหนักและเดินทางมาไกลประกอบกับมีอายุมากแล้ว พระองค์ทรงให้ข้าราชบริพารทำการปลงซากช้างไว้ก่อน รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปยังดอยลูกหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านกวาง ชื่อว่า ดอยจวนแจ้ง อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมแจ้ง ในปัจจุบันพระองค์ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นไปทางภาคเหนือ พระองค์ทรงระลึกถึงบุญคุณของช้างพังเชือกนั้น จึงได้เสด็จมาสร้างวิหารแล้วปั้นรูปช้างพังเชือกนั้น ในลักษณะหมอบกับพื้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีนับตั้งแต่นั้นมา บ้านกวางจึงได้ชื่อว่า “ บ้านกวาง - ช้างมูบ ” และต่อมาจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้น จึงได้ทำการแยกหมู่บ้านจากหมู่ที่ ๑ เป็นหมู่ที่ ๒ และ๓, ๔, ๕, ๖ ตามลำดับ

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของตำบลบ้านกวาง ตำบลบ้านกวางเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอสูงเม่น อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเม่น ประมาฯ ๑๐.๓๐ กิโลเมตร เนื้อที่ทั้งหมดของตำบลบ้านกวางโดยประมาณ ๒๗.๒๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๗,๐๐๐.๒๕ ไร่ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลบ้านกวางเป็นที่ราบสูงมีที่ราบประมาณ ๑๐ เปอร์เซนต์ของที่ทั้งหมดเหมาะสมต่อการปลูกพืชไร่ และไม้ผลสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของตำบลบ้านกวางมีดังนี้ ห้วยแม่สาย ซึ่งไหลมาจากตำบลช่อแฮ เข้าสู่พื้นที่ตำบลบ้านกวาง, ลำเหมืองแม่มาน ซึ่งไหลมาจากตำบลบ้านเหล่าเข้าสู่พื้นที่ตำบลบ้านกวาง, คลองส่งน้ำฝายพญา ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ตำบลช่อแฮเข้าสู่พื้นที่ตำบลบ้านกวาง อาณาเขตของตำบลบ้านกวาง ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่, ทิศใต้  ติดกับ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอสูงเม่นจังหวัดแพร่, ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลนางพญา, ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ้านเหล่าและตำบลบ้านกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จำนวนหมู่บ้านในเขตตำบลบ้านกวาง มี ๖ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ ๑   บ้านกวางเหนือ,  หมู่ ๒  บ้านกวางใต้, หมู่ ๓  บ้านน้ำพู, หมู่ ๔  บ้านกวางใหม่, หมู่ ๕  บ้านกุญชรนิมิต, หมู่ ๖  บ้านกวางใหม่ถาวร, จำนวนครัวเรือนทั้งหมด มีทั้งหมด ๑,๑๓๔ ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด ๓,๒๙๑ คน ชาย ๑,๖๐๒ คน หญิง ๑,๖๘๙ คน อัตลักษณ์ตำบลบ้านกวาง “ ตำบลเกษตรพอเพียง เคียงคู่วัฒนธรรม ” คำขวัญตำบลบ้านกวาง ลือเลี่องถ้ำน้ำพาน  เล่าขานอ่างน้ำเกิ๋น เชิญบวงสรวงวัดกุญชร   กราบขอพรวัดมงคล

ตำบลบ้านกวางมีวัด อยู่ ๒ วัด กับ ๑ สำนักสงฆ์ คือ (๑.) วัดกุญชรนิมิต ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๕ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพญาลิไททรงเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๐ มีเจ้า อาวาสองค์แรกชื่อว่า พระเสด็จ ปัจจุบันมีเจ้าอาส ซึ่งเป็นลำดับที่ ๑๑ ชื่อว่า พระครูบุญบาลนิต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน (๒.) วัดมงคล ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ มีเจ้าอาวาส องค์ปัจจุบันชื่อ พระครูรัฐวุฒิ วราโพ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน  (๓.) สำนักสงฆ์ธรรมจักร เป็นสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยูที่หมู่ที่ ๓ เป็นสำนักสงฆ์ใหม่สายปฏิบัติธรรมมีเจ้าอาวาสชื่อ พระกฤษกร กิติบุญโญ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน

วัดมงคลถาวร

วัดกุญชรนิมิต

น้ำตกตาดหลวง

ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลบ้านกวาง มีดังนี้ ๑. กำนันลือ วงค์สูง  ๒. กำนันสม ศรีบ้าน  ๓. กำนันศรีมูล ประมูล ๔. กำนันสนิท เรือนแก้ว ๕. กำนันประเทือง สมเพาะ

ผู้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกวาง มีดังนี้ ๑. นายสนิท เรือนแก้ว ๒. นายสุทัศน์ อุตส่าห์ ๓.นายชูชาติ กวางวิเศษ ๔. นายก้อนแก้ว สมเพาะ ๕. นายสุชาติ กวางวิเศษ ๖. นายเสน่ห์ จันเสนา

สถานศึกษาในตำบลบ้านกวางมี ๒ แห่ง คือ

๑. โรงเรียนบ้านกวางลือราษรฎ์วัฒนา มีผู้อำนวยการ ชื่อ นายไกรฤกษ์ กิ่งแก้ว ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน

๒. โรงเรียนวัดมงคลถาวร มีผู้อำนวยการ ชื่อ นายเสนีย์ คำหงษา ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน

เหตุที่ตั้งชื่อตำบล ตั้งตามตำนานของบ้านกวางเพราะเมื่อก่อนเชื่อกันว่าในตำบลบ้านกวางมีกวางอยู่เป็นจำนวนมากชาวบ้านก็เลยเรียกว่า บ้านกวางสืบต่อกันมา ตำนานความเชื่อ ชาวบ้านกวางยังคงมีความเชื่อด้านการเลี้ยงผีปู่ผีย่า (ผีเฮีอน) เชื่อกันว่าถ้าใครแต่งงานแล้วไม่บอกผีเฮือนจะถือว่าผิดผี และถ้าบุตรชายของใครถึงวัยเกณฑ์ทหาร แต่พ่อแม่ไม่อยากให้เป็นทหารก็จะไปขอให้ผีเฮือนช่วยในลักษณะบนบานสานกล่าวซึ่งจะตรงกับเดือนหกเหนือ หรือประมาณ เดือนมีนาคมของทุกปี

สินค้า โอทอป ตำบลบ้านกวาง  ชื่อผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์นวดภูมิปัญญาไทย รหัสผลิตภัณฑ์: ๕๔๐๔๐๒๓๙๕๓๐๑ รายละเอียดผลิตภัณฑ์: อุปกรณ์ภูมิปัญญาไทย ระดับดาว : ๓ สถานที่ผลิต/จำหน่าย : นายอุดม ใจงาม ๑๓๐/๒ ม. ๑ ต.บ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่ โทร.๐๘๔๗๔๐๘๗๖๘

เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ คือเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้มีน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวตำบลบ้านกวาง โดยน้ำได้พัดบ้านเรือนของราษฎร์ ไหลไปกับแม่น้ำและทำให้เกิดความสูญเสียทั้งบ้านเรือนสิ่งของ ตลอดจนพืชสวนเป็นจำนวนมากทำให้พี่น้องชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก และต่อมาเมื่อท่านนายกทักษิณ ชินวัตร ได้มาตรวจสอบและดูแลความเสียหาย และความเป็นอยู่ของชาวย้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้สร้างบ้านให้กับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านหมู่ ๓ จำวนกว่า ๒๐ กว่าหลังที่ เรียกว่าบ้าน น๊อคดาวน์ ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนได้มีที่อยู่อาศัย ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธินัดดามาตุ ได้เสด็จมาเยี่ยมที่น้องประชาชนที่ถูกน้ำท่วมและได้รับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่

รูปน้ำท่วมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

พระองค์โสมสวลี ทรงเสด็จเยี่ยมชาวตำบลบ้านกวาง เมื่อ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

อาชีพสำคัญของประชาชนในตำบลบ้านกวาง คือ เกษตรกรรม โดยจะเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งทางชาวบ้านกวางจะมีการปลูกพืชหมุนเวียนได้ทั้งปี เนื่องจากสภาพทางพื้นที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและ ลำเหมืองบอน ลำเหมืองกวาง มีน้ำแม่สาย และลำเหมืองแม่หล่าย ลำเหมืองแล้งไหลผ่านเกือบทั้งปี

อาหารพื้นบ้านในตำบล ส่วนมากจะเป็นอาหารตามฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูฝนจะมีมากเป็นพิเศษ เช่น เห็ดป่า เห็ดถอบ หน่อไม้ กบ เขียด ปลา พืชผักตามฤดูกาล สามารถนำมาประกอบอาหารพื้นบ้านได้หลายชนิด เช่น แกงเห็ดต่าง ๆ แกงหน่อได้ หน่อไม้ต้มจิ้มกับน้ำพริก หลามบอน แกงอ่อมเนื้อสัตว์ต่าง ๆ น้ำพริกผักต้ม ชนิดต่าง ๆ

แกงเห็ดถอบ

เห็ดป่า

การเลี้ยงกบ

แกงหน่อไม้หวาน

ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน มีประเพณีสำคัญของตำบลบ้านกวาง เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีเแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีงานตานข้าวใหม่ ประเพณีการเลี้ยงผีต่าง ๆ ประเพณีฉลองพระธาตุสลีศรีกุญชร

การแต่งกายของประชาชนในหมู่บ้านทั้งอดีตและปัจจุบัน แต่งตามสมัยนิยมแต่ในอดีต ผู้หญิงจะมีการนุ่งผ้าถุงและใส่เสื้อคอกลมแขน ๓ ส่วน ส่วนผู้ชายจะใส่เนื้อหม้อห้อม แขนสั้น กางกงหม้อห้อม มีผ้าขาวม้าคาดเอว ช่วงงานมงคล จะมีการใส่เสื้อผ้าที่มีสีสรรสวยงาม ตามสมัยนิยม หรือเป็นผ้าไทย

ลักษณะภาษาพูดของประชาชนในตำบล พูดภาษาถิ่น หรือพูดคำเมือง พิธีกรรม / ความเชื่อ

การนับถือผีบ้านผีเรื่อ (ผีปู่ผีย่า), ร่างทรง (ที่นั่งผี) การส่งสะตง (การสะเดาะเคราะห์) การบูชาท้าวทั้ง ๔ (บูชาเทวดา พระอินทร์ พระพรหม ), การสืบชะตาบ้าน (จะทำกันตราสามแยห) การเอาขวัญผู้สูงอายุ มักทำกันในช่วงวันสงกรานต์ การตานธรรมมหาวิบาก (มักจะทำตอนที่คนใกล้จะตายเพื่อจะได้ฟังธรรมก่อนตาย)

ปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในตำบล

๑. นายสิงห์ ขันวิเศษ อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๕๙ หมู่ที่ ๑ เชี่ยวชาญด้าน พิธีกรรมด้านสะเดาะเคราะห์ และพิธีกรรมด้านศาสนา, การเอาขวัญ, สืบชะตา

๒. นายศรีลัย กวางวิเศษ อายุ ๕๔ ปี บ้านเลขที่ ๗๘/๒ หมู่ที่ ๖ เชี่ยวชาญด้านสะเดาะเคราะห์ และพิธีกรรมด้านศาสนา การเอาขวัญ, สืบชะต

๓. นายเสงี่ยม รัตนสุวรรณกุล อายุ ๖๓ ปี บ้านเลขที่ ๕๔ หมู่ ๕ เชี่ยวชาญด้านศิปละ (งานปูนปั้น สร้างวัดวาอาราม หรือเรียกว่าสล่าแปลงวัด)

ผู้ให้ข้อมูล

๑. นายสิงห์ ขันวิเศษ อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๕๙ หมู่ที่ ๑ ต. บ้านกวาง อ.สูงเม่น จ. แพร่

๒. นางฟองนวล ฟองใหญ่ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกวาง หมู่ที่ ๒ อายุ ๔๒ ปี บ้านเลขที่ ๒๒๖ หมู่ที่ ๒ ต.บ้านกวาง อ.สูงเม่น จ. แพร่

๔. นายป่วน ประมูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกวาง หมู่ที่ ๔ อายุ ๕๙ ปี บ้านเลขที่ ๒๔๙/๑ หมู่ที่ ๔ ต.บ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่

๕. นายชวด กวางเต้น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกวาง หมู่ที่ ๕ อายุ๕๒ ปี บ้านเลขที่ ๖๖/๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่

๖. นายหลวน กาอ้วน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกวาง หมู่ที่ ๖ อายุ ๕๑ บ้านเลขที่ ๗๙ หมู่ที่ ๖ ต.บ้านกวาง อ.สูงเม่น จ.แพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 09 •ตุลาคม• 2012 เวลา 22:44 น.• )