สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๖ LDL HDL และ Cholesteral เกี่ยวกับโรคหัวใจอย่างไร ๑. LDL จัดเป็นไขมัน"ตัวร้าย"ที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังของหลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย เช่น สมอง เกิดอัมพาต หัวใจ เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ไต เกิดไตวาย อวัยวะเพศ หย่อนสมรรถ ภาพทางเพศ เป็นต้น HDL ตรงข้ามกับ LDLไขมันนี้เป็น"พระเอก"ช่วยนำเอาไขมันที่สะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดออกมา แต่ทำงานช้ากว่าผู้ร้ายเสมอ ระดับไขมัน HDLต่ำจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ในทางกลับกันหากยิ่งสูงยิ่งดี ช่วยป้องกันโรคนี้ เราสามารถเพิ่ม HDLให้สูงได้ด้วย การหยุดบุหรี่ ออกกำลังกายแบบแอโรบิคสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก หรือใช้ยาบางชนิด โคเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันที่มีความจำเป็นสำหรับเซลต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลสมอง เซลประสาท ร่างกายสามารถสังเคราะห์ไขมันนี้ได้เองที่ตับ (ผู้ป่วยโรคตับ หรือ มะเร็ง จึงมีโคเลสเตอรอลต่ำ) และ ได้จากอาหารด้วย

๒. ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารมันๆต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้จาก ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน หมูติดมัน หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ ขาหมู เครื่องใน หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไข่ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม แกงกะทิ เป็นต้น หลีกเลี่ยงไขมันพืชชนิดอิ่มตัว ได้แก่ ไขมันจากมะพร้าว (เช่นกะทิ) ไขมันปาล์ม(ในน้ำมันพืช หรือครีมเทียมใส่กาแฟ) ควรรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะกอก(ใส่ในอาหารหรือสลัด) น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ทานอาหารประเภทผัก และผลไม้ ถ้าน้ำหนักมากเกินไป ควรลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกาย งดสูบบุหรี่ โคเลสเตอรอลทำให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างไร ?

ปกติเส้นเลือดจะมีผิวเรียบ สม่ำเสมอ แต่เมื่อมีโคเลสเตอรอลซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่งมาจับที่ผนังเส้นเลือดจนพอกหนา เรียกส่วนนี้ว่า พลัค (plaque) การก่อตัวของพลัคทำให้หลอดเลือดตีบลง ดังนั้นหัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดันให้เลือดเคลื่อนที่ผ่านไปได้ พลัคสามารถขวางกั้นระบบการไหลเวียนเลือดในเส้นเลือด และยังสามารถแตกตัวออกมาทำให้เกิดก้อนเลือดแข็งตัว และเมื่อมันเกิดขึ้นในเส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือสมองจะทำให้อวัยวะขาดเลือด เกิดหัวใจวายหรือเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกได้ เห็นภัยร้ายของมันหรือยังค่ะ ระดับไขมันในเลือด สูงเท่าไรจึงจะเกิดอันตราย ? ความจริงแล้วตัวไขมันในเลือดที่สูงนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอาการ อาการต่างๆ เป็นผลมาจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปี การสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดงนี้ เริ่มพบได้ตั้งแต่ในวัยรุ่น และจะเพิ่มขึ้นตามอายุ การที่จะทราบว่าระดับไขมันในเลือดสูงหรือไม่ ทางการแพทย์จะเทียบกับค่าระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ขึ้นกับว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคเบาหวาน หรือไม่ ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเป็นโรคเบาหวานระดับแอลดีแอล โคเลสเตอรอล ควรน้อยกว่า ๑๐๐ มก./ดล. ไม่เป็นหลอดเลือดโรคหัวใจและโรคเบาหวาน แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ตั้งแต่ ๒ ข้อขึ้นไปควรน้อยกว่า ๑๓๐ มก./ดล. ไตรกลีเซอไรด์ ควรน้อยกว่า ๑๕๐ มก. / ดล. เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ควรมากกว่า ๔๐ มก./ ดล.

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 05 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 09:16 น.• )