สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๓ เป็นเบาหวานถ้าเป็นโรคหัวใจ ...จะเป็นอย่างไร ? อาการเจ็บหน้าอกของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่เป็นเบาหวานมักไม่ชัดเจนหรือไม่มี เนื่องจากมักมีปัญหาปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมสภาพร่วมด้วย ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากกว่าปกติ อาการอื่นที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ อาการแน่น อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หน้าอกข้างซ้าย หรือลิ้นปี่ คล้ายอาการจุกเสียด อาหารไม่ย่อย อาการปวดร้าวที่ท้องแขนด้านใน หน้ามืด วิงเวียน เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น จะเป็นลม หรือหมดสติ อาการอาจมีหลายอย่างเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ อาจมีภายหลังจากที่รับประทานอาหารในปริมาณมาก ตื่นนอนตอนเช้าอากาศเย็น หลังออกกำลังกาย ขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ (ในรายที่ท้องผูก) เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบมาพบแพทย์

ทำไมจึงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่า /รุนแรงกว่าคนทั่วไปมีการศึกษายืนยันว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเกินค่าปกติเล็กน้อย หรืออยู่ในเกณฑ์เบาหวานจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบร่วมกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งประกอบด้วยภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ระดับอินซูลินในเลือดสูง และถึงระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดมีโครงสร้างและทำหน้าที่ผิดปกติไป หลอดเลือดต่างๆที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดอักเสบ มีโอกาสตีบตันหรือแตกออกเป็นลิ่มอุดตันอย่างฉับพลันได้ เห็นได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้เพียงความผิดปกติที่น้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น แต่ยังมีความผิดปกติร่วมที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกหลายอย่าง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ป่วยเบาหวาน จึงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่า เร็วกว่าหรือรุนแรงกว่าคนทั่วไป จะป้องกันและรักษาโรคอย่างไรดี ? ท่านต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกต้อง ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และแก้ไขภาวะผิดปกติที่พบร่วมกับโรคเบาหวาน เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน และอื่น ๆ ซึ่งสามารถทำได้โดย

๑. ควบคุมปริมาณพลังงาน และชนิดอาหารในแต่ละวัน

๒. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (เช่น อย่างน้อย ๒๐-๓๐ นาทีต่อครั้งอย่างน้อย ๓ ครั้งต่อสัปดาห์) โดยประเมินสมรรถภาพของหัวใจในรายที่ต้องการออกกำลังกายอย่างเต็มที่

๓. ลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้ปกติ

๔. ใช้ยารักษาเบาหวานถ้าระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงเกินกว่ากำหนด

๕. ใช้ยาลดความดันโลหิต ไขมันในเลือดและยารักษาโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจ เมื่อมีข้อบ่งชี้

๖. งดสูบบุหรี่

๗. รับประทานแอสไพรินเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (เมื่อไม่มีข้อห้ามใช้ เช่น แพ้ยา แผลในกระเพาะอาหาร การแข็งตัวของเลือด หรือเกล็ดเลือดผิดปกติและต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเท่านั้น เป็นต้น)

๘. มีความรู้เกี่ยวกับเบาหวานและโรคแทรกซ้อนทางหัวใจจากเบาหวาน

เมื่อท่านดูแลตัวเองอย่างจริงจัง มีวินัย กำลังใจเข้มแข็ง และร่วมมือ กับแพทย์ของท่าน พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ท่านจะสามารถป้องกัน หรือชะลอโรคแทรกซ้อนหลอดเลือดหัวใจจากเบาหวานได้

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 13 •ตุลาคม• 2012 เวลา 23:00 น.• )