ประวัติการก่อตั้งชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลเหตุการก่อตั้งชมรมพื้นบ้านล้านนา ตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในพ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในส่วนภูมิภาคและภาคเหนือของประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือ(ชาวล้านนา) มีปณิธานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามหลักเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์เผยแพร่และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และมีเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ๒ ใน ๓ ข้อได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นคือ “ข้อ ๑ เพื่อขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีผลทั่งถึงประชาชนในหัวเมืองของภาคเหนือให้มากยิ่งขึ้น” และ “ข้อ ๓ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นแหล่งรักษา ถ่ายทอด และเผยแพร่วัฒนธรรมทั้งของชาติและของท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคเหนือ” อันเป็นภูมิภาคที่อดีตเคยเป็นอาณาจักรที่มีกษัตริย์ ปกครอง มีภาษา อักษร ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่หรืออดีตคือเมืองพระราชธานีของอาณาจักรล้านนา เป็น “มหาวิทยาลัยของล้านนา”

เริ่มแรกหน่ออ่อนที่พยายามอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นักศึกษาเกือบสิบคนได้รวมกลุ่มกันฝึกหัดและเล่นดนตรีล้านนา แต่ก็ไม่ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการไม่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะปรากฏให้พบเห็นเฉพาะในงานประเพณีบางอย่างของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัว งานทอดกฐินของมหาวิทยาลัย และปรากฏอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน ข้าราชการบางคนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเท่านั้น โดยเฉพาะงานต่างๆ ที่จัดด้วยนักศึกษาแทบจะไม่หลงเหลือวัฒนธรรมแบบล้านนา ทั้งที่นักศึกษากว่า ๓๐ - ๓๕ % เป็นชาวล้านนา(ภาคเหนือ)โดยกำเนิด จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๒๑ มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวงดนตรีล้านนาวงใหญ่ตั้งชื่อวงว่า “ไกลบ้าน” ที่มาจากนักศึกษาสมาชิกแต่ละคนมาไกลจากบ้านหลายจังหวัดในภาคเหนือที่เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งที่บ้านนักศึกษาเหล่านี้ยังมีศิลปวัฒนธรรมล้านนาเหลืออยู่มั่นคงโดยเฉพาะการดนตรี ดังนั้นเมื่อจากบ้านมาเพื่อศึกษาจึงได้นำความรู้เหล่านั้นมาเรียนรู้ร่วมกันจัดตั้งเป็นวงดนตรีล้านนาขึ้น โดยการนำของนายสุพจน์ บุญเมือง นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ชาวเมืองพะเยา ขอใช้สถานที่ร่วมกับชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยและขอใช้เครื่องดนตรีล้านนาที่พอมีอยู่ไม่กี่ชิ้นในชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย และด้วยอยู่ในส่วนของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยจึงไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในการจัดซื้อเครื่องดนตรีล้านนา เหล่าคณะนักศึกษากลุ่มวงไกลบ้านจึงค่อยเก็บหอมรอมริบเงินค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ จากการไปแสดงช่วยงานต่างๆ ร่วมกับเงินส่วนตัวของนักศึกษาที่เจียดมาร่วมกันเพื่อเป็นทุนจัดซื้อเครื่องดนตรีสะล้อ ซึง เพื่อให้ครบวง หลังจากนี้วงดนตรีล้านนาคณะไกลบ้านจึงค่อยๆ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในหมู่ชาวบ้าน ข้าราชการ และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเริ่มได้รับสนับสนุนทุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากขึ้นตามลำดับ

ขณะนั้นเมื่อเข้าอยู่ร่วมสังกัดกับชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย แต่กลุ่มไกลบ้านก็เปิดรับผู้มีความสนใจดนตรีล้านนาโดยตรงด้วย จึงทำให้วงไกลบ้านขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกทั้งที่เป็นชาวล้านนาและจากภูมิภาคอื่นๆ และเริ่มขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีล้านนาอย่างจริงจังโดยออกไปเรียนกับผู้เฒ่าผู้แก่ จนกระทั่งปลายปีพ.ศ.๒๕๒๖ นายสนั่น ธรรมธิ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์เป็นหัวหน้าวงไกลบ้าน จึงทำให้เกิดความเปรียบเทียบว่าวงดนตรีล้านนาไกลบ้านของนักศึกษาขาดความไพเราะ อารมณ์ และจิตวิญญาณไม่เหมือนของผู้เฒ่าผู้แก่ จนพบว่าสาเหตุประการสำคัญคือสมาชิกวงดนตรีล้านนาวงไกลบ้านช่วยกันเล่นกับวงดนตรีไทย และสมาชิกวงดนตรีไทยก็ช่วยเล่นดนตรีล้านนา จึงเกิดการผสมผสานทางดนตรีห่างไกลไปจากดนตรีล้านนาแบบผู้เฒ่าผู้แก่ ขาดความไพเราะ อารมณ์ และจิตวิญญาณของล้านนาไปทุกขณะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กลุ่มดนตรีล้านนาวงไกลบ้านคิดจะแยกออกมาจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นใหม่ ประกอบกับขณะนั้นมีการเตรียมฉลองครบรอบ ๒๐ ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในต้นปีพ.ศ.๒๕๒๗ สมาชิกวงดนตรีล้านนาไกลบ้านจึงได้ไปขอฝึกฝนและถ่ายทอดศิลปะการแสดงของล้านนาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ โดยการชักนำของอาจารย์ธีรยุทธ์ ยวงศรี อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ โดยมีพ่อครูคำ กาไวย์ ถ่ายทอดความรู้ด้านการละเล่น เช่น ฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ กลองสะบัดชัย กลองมองเซิง พ่อครูวิเทพ กันธิมา ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรี เช่น เป่าแน ปี่ชุม ตีกลองตึ่งโนง ภายหลังจากการแสดงล้านนาในรูปแบบละครพื้นเมืองในงานฉลองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผลงานที่แสดงได้รับความสนใจและประทับใจของผู้คนมากที่สุด หลังจากนี้จึงมีความคิดจะจัดตั้งชมรมขึ้นใหม่อย่างจริงจัง โดยขยายแนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากสมาชิกวงดนตรีไกลบ้าน ซึ่งได้สร้างความวิตกให้กับคณะกรรมการชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยว่าจะเกิดความแตกแยกภายในชมรม จึงมีมติอย่างไม่เป็นภายในชมรมไม่ให้สมาชิกวงไกลบ้านแยกออกตั้งชมรมใหม่ แม้ว่ากลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้งจะได้อธิบายแล้วอย่างลึกซึ้ง และก็เริ่มเกิดความขัดแย้งขึ้น คือ กลุ่มผู้ริเริ่มและคณะดนตรีล้านนาวงไกลบ้านถูกคณะกรรมการชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยมองว่า “เป็นผู้ไม่รักดี” ”ไม่หวังดีต่อชมรม” และ “เป็นผู้ก่อเหตุของความแตกราวภายในขึ้น” สภาพความตึงเครียดภายในชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยมีมากจนเห็นได้ชัด ยิ่งเป็นการผลักดันให้วงดนตรีล้านนาไกลบ้านจัดตั้งชมรมใหม่มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว “เพราะความแตกร้าวนี้มีในจิตส่วนลึกของสมาชิก การทำงานร่วมกันในคราวต่อไปจึงขาดความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ซึ่งผลพิสูจน์ของคำกล่าวนี้ปรากฏออกมาแล้วในคราวสมโภชยี่สิบปีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีผู้รับภาระหนักมากเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น”

ภูเดช แสนสา (รวบรวมและเรียบเรียง)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 05 •กันยายน• 2012 เวลา 23:12 น.• )