สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๐ อาหารดี รักษ์หัวใจ อาหารเสริมหัวใจดวงเดียวให้แข็งแรง หัวใจ คือ ศูนย์กลางของชีวิต แม้จะเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติให้มาก็ตาม แต่หัวใจก็ต้องการสารอาหารมากมาย เพื่อบำรุงการทำงาน เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของเครื่องกลไกหรือหัวใจดวงนี้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ อาหารต้านโรคหัวใจ ข้าวกล้อง ให้สารคาร์โบไฮเดรตในรูปเชิงซ้อน ระบบการย่อยจะค่อยๆ ย่อยจนเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ลดระดับโคเลสเตอรอล ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจ อาหารของหัวใจอื่นๆ ธัญพืช ต้องเป็นธัญพืชเต็มรูป ไม่ขัดสี ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าวสาลี ลูกเดือย ต้องกินหลายชนิดผสมกัน เพื่อให้ได้รสชาติอร่อย และได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

ผักสีเขียว มีโฟเลตหรือกรดโฟลิก มีเบต้าแคโรทีนสูง เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี ถั่ว ผักโขม กะหล่ำดาว ยอดแค ใบกะเพรา ขี้เหล็ก ใบยอ ผักคะน้า ยอดกระถิน ใบชะพลู ชะอม ต้นหอม ใบและยอดสะเดา ตังโอ๋ ใบบัวบก ปวยเล้ง ผักกระเฉด ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักโขมน้อย ผักคราด ขึ้นฉ่าย ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักชีล้อม ผักชีลาว ตำลึง ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย ผักปลัง ผักหวาน ยอดมะระ ยอดมันเทศ ยอดมันสำปะหลัง ใบแมงลัก ใบย่านาง ใบปอ

ผักสีเหลือง สีส้ม มีเบต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ กล้วยไข่ กล้วยหักมุก กลัวยน้ำว้า มะม่วงสุก มะละกอสุก แตงโม มะปรางสุก

อาหารเส้นใยชนิดละลายน้ำ มีมากในเมล็ดแมงลัก ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง สารเพกตินเป็นไฟเบอร์ละลายน้ำเช่นกัน มีมากในผักโขม ผักปลัง กะหล่ำปลี มันฝรั่ง หัวหอม ถั่วพู ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ผลไม้ เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ แอปเปิล กล้วย องุ่น แตงโม ข้าวโพด ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง ขนมปังโฮลวีต หัวบุก จมูกข้าวสาลี

อาหารให้แคลเซียม อาหารที่มีแคฃเซียมสูงเรียงตามลำดับดังนี้

- ประเภทสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแห้งตัวเล็กฝอย ปลาลิ้นหมาแห้ง กะปิ กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย

- ประเภทถั่ว ได้แก่ งาดำ ถั่วแดงหลวง อัลมอนด์ เต้าหู้ขาวอ่อน

- ประเภทผัก ได้แก่ ยอดแค ใบชะพลู ปวยเล้งสุก เห็ดลม ใบยอ มะขามฝักสด ผักกระเฉด ผักสะเดา ใบโหระพา ผักคะน้า ผักกาดเขียว

- ขนมที่ใส่น้ำปูนใส เช่น ลอดช่องไทย ขนมเปียกปูน บวดฟักทอง บวดมัน เป็นต้น

อาหารให้แมกนีเชียม มีในผักสีเขียว ยิ่งเขียวเข้มยิ่งมีมาก เพราะเป็นตัวสร้างคลอโรฟิลล์ในอาหารอื่นๆ เช่น ผักกาดเขียวสุก ปวยเล้งสุก ปลาแซลมอนกระป๋อง เต้าหู้อ่อน เต้าหู้แข้ง ถั่วพู อัลมอนด์ ถั่วดำ ถั่วแดง

อาหารให้วิตามินซี มีทั้งในผักและผลไม้

- ประเภทผัก ได้แก่ ใบกระเจี๊ยบเปรี้ยว กะหล่ำดอก ดอกขจร ดอกขี้เหล็ก ใบขี้เหล็ก แขนงกะหล่ำ ใบทองหลาง บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง ยอดอ่อนคะน้า คะน้าทั้งต้น ผักชี ผักบุ้งไทยต้นแดง ผักปูเล่ พริกหวาน พริกหนุ่ม พริกหยวก ฟักข้าว ยอดมะกอก ยอดอ่อนมะขาม มะระจีน มะระขี้นก มะรุม สมอไทย ใบและยอดสะเดา

- ประเภทผลไม้ ได้แก่ ฝรั่ง มะกอกฝรั่ง มะขามหวาน มะปราง มะไฟ มะละกอค่อนข้างสุก ลิ้นจี่ ลูกหว้า ส้มเกลี้ยง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะนาว ส้มซ่า

อาหารให้วิตามินคิว เป็นสารอาหารธรรมชาติที่มีในอาหารจากทะเล ในน้ำมันปลา ถั่งลิสง น้ำมันถั่วเหลือง ปลาซาร์ดีน เกลือ

อาหารให้วิตามินอี มีในข้าวกล้องส่วนจมูกข้าวและเยื่อหุ้มข้าว ลูกนัท แปะก๊วย อะโวคาโด ธัญพืชต่างๆ น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

พริกเผ็ด ทุกชนิดมีสารแคปไซซิน ช่วยป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่มง่าย อาหารให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีในน้ำเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เต้าหู้ ทุกชนิด ถั่วเหลือง โสมเกาหลี โสมตังกุย

ปลาทะเลน้ำลึก มีโอเมก้า-3 มีสารยับยั้งเม็ดเลือดแตกตัว ลดความดัน ลดโคเลสเตอรอลสูง เรียงตามลำดับ ดังนี้ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลากะพง ปลาตาเดียว ปลาโอ ปลาอินทรี ปลาทูหางแข็ง ปลาทูไทย (มีซีลีเนียมอยู่ด้วย) สัตว์ทะเล เช่น หอยลาย หอยแมลงภู่ หอยแครง ปลาหมึกยักษ์ สาหร่ายทะเล

ปลาน้ำจืด มีโอเมก้า-3 สูง ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาเทราต์ ปลาสลิด ปลากราย ปลากด ปลาดุกอุย

หัวใจเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก เป็นศูนย์กลางของชีวิต แต่มาบัดนี้ หัวใจของเราเองอาจเป็นภัยคร่าชีวิต ถ้าไม่รู้จักถนอมดูแลสุขภาพของหัวใจให้ดี เพราะหัวใจเป็นศูนย์กลางแห่งสุขภาวะ สุขภาพของหัวใจกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลเอาใจใส่ ดูแลหัวใจเสียแต่วันนี้ ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วหัวใจที่แข็งแรงจะอยู่กับเรานาน เท่านาน

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ขาดแคลนให้ไปรับการผ่าตัด

อาสาไปส่งผู้ป่วยไปผ่าตัด ที่เชียงใหม่และลำปาง

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 09 •กันยายน• 2012 เวลา 21:56 น.• )