สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๘ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคที่พบบ่อย แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก โรคลิ้นหัวใจพิการ ไม่ว่าจะลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบเป็นโรคที่พบบ่อยมาก ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มาคลินิกโรคหัวใจของโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย เป็นผู้ป่วยลิ้นหัวใจพิการทั้งนั้น แต่ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เพราะโรคนี้มักไม่เกิดกับคนในสังคมเมือง หรือมีฐานะดีจึงไม่เด่นไม่ดัง หรือไม่มีคนใหญ่คนโตเป็นกันเท่าไรนัก จึงไม่ค่อยมีข่าวการป่วยของคนที่เป็นที่รู้จักทั้งประเทศ ไม่เหมือนกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เป็นกันแพร่หลายในสังคมเมือง แล้วทำไมต้องเป็นกับคนในสังคมชนบท หรือสังคมชนชั้นกลางที่ผมกล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะแบ่งชนชั้น หรือวรรณะแต่อย่างใดตำราแพทย์ก็เขียนไว้แบบนั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะโรคลิ้นหัวใจพิการส่วนใหญ่เกิดตามหลังการอักเสบของลิ้นหัวใจเรื้อรังจากไข้รูมาติก ซึ่งมีการอักเสบสะสมเรื้อรังมาตั้งแต่เด็กๆต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10-20 ปีและจะมาปรากฏอาการตอนเข้าวัยผู้ใหญ่  ไข้รูมาติกเป็นโรคที่มีการติดเชื้อตามมาจากการติดเชื้อบริเวณช่องปาก, บริเวณรากฟันหรือคอหอย เช่นเป็นโรคเหงือกอักเสบ, ฟันพุ, คออักเสบ, หรือทอนซิลอักเสบ

อาการของโรคลิ้นหัวใจพิการส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการเหนื่อยง่าย, นอนราบไม่ได้, มีอาการน้ำท่วมปอด, ใจสั่น, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนน้อยจะมาด้วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้  เมื่อมีอาการแพทย์ที่เชี่ยวชาญอาจจะวินิจฉัยได้เลยโดยการใช้หูฟังตรวจ แต่ถ้าไม่สามารถวินิจฉัยได้ ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเช่นเอกซเรย์ปอดร่วมกับดูเงาหัวใจ ว่ามีการโตขึ้นในลักษณะใด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่การตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดสำหรับโรคลิ้นหัวใจพิการคือ การตรวจคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจ [Echocardiography] หรือพูดง่ายๆว่าทำ “เอคโค่หัวใจ” นอกจากนี้การตรวจเอคโค่ยังช่วยวัดว่าลิ้นหัวใจพิการนั้นๆ มีความรุนแรงระดับไหน ต้องรักษาด้วยวิธีสวนหัวใจเพื่อขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ หรือต้องผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือไม่

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ แพทย์ตัดลิ้นหัวใจที่พิการออก และใส่ลิ้นหัวใจเทียมซึ่งอาจจะเป็น ลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อซึ่งดัดแปลงมาจากเยื่อหุ้มหัวใจหรือลิ้นหัวใจของหมู หรือลิ้นหัวใจชนิดลิ้นโลหะหรือลูกบอล ดังภาพ

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

ภาพลิ้นหัวใจไมตรัลที่ปกติ

 

ภาพลิ้นหัวใจไมตรัลที่ตีบวัดได้  1.12 cm2

 

ภาพแสดงลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ, เนื้อเยื่อ และลูกบอล ตามลำดับ

 

ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ขาดแคลนให้ไปรับการผ่าตัด

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 26 •สิงหาคม• 2012 เวลา 11:25 น.• )