"วัดเหนือ" หรือ "วัดทุ่งโห้งเหนือ" ที่ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้งเรียกขานกันมานาน ด้วยภาษาและวัฒนธรรมอันเรียบง่าย บทความนี้จะพาผู้อ่านท่องเที่ยวบ้านทุ่งโฮ้งไปยังวัดทุ่งโฮ้งเหนือกัน พระพุทธรูปปูนปั้น ที่สร้างขึ้นโดยศรัทธาของชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ร้อยกว่าปีมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี พระพักตร์ยิ้ม ใบหน้าอิ่มเอิบไปด้วยบารมี เดิมพระประธานมีเพียง ๑ องค์ ภายหลังมีผู้ศรัทธาสร้างถวายอีก ๓ องค์รวมเป็น ๔ องค์ ในฐานเดียวกันซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าที่อุบัตในภัทรกัลป์นี้ จำนวน ๔ องค์ เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารมีเล่าลือกันมามากมาย เช่น ในวันพระที่พระจันทร์เพ็ญ มักจะได้ยินเสียงสวดมนต์หรือไม่ก็เห็นลูกแก้วลอยออกจากพระอุโบสถ ลอยไปยังพระอุโบสถหลังเดิม (โรงเรียนทุ่งโฮ้งฯเดิม) บ้างก็เล่าว่ามีผู้พบเห็นชายชรารูปร่างสง่างามมีรัศมีเปล่งปลั่งนุ่งขาวห่ม ขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้ และที่สำคัญชาวบ้านทั่วไปที่มากราบไหว้บูชาต่างประสบลาภผลในการทำมาหากิน และด้าน โชคลาภ และในยามที่จะต้องไปเผชิญโชค หรือมีปัญหาก็จะตั้งจิตอธิษฐานให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีซึ่งก็มักเป็นผล ชาวบ้านบางคนไปกราบขอพรมาได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็มีโชค แบบลาภลอย บ้างก็เชื่อกันว่า ผู้ใดได้กราบสักการบูชา ในภพนี้ นอกจากได้ในสมปรารถนาแล้ว แรงอธิฐานยังส่งผลเมื่อเกิดในภพหน้า จะเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความสุข มีใบหน้าที่งดงาม ผิวพรรณผ่องใส มีคนรักคนหลง ด้วยเพราะบารมีจากการกราบสักการะขอพรจากพระพุทธรูปนั่นเอง

ความเป็นมาชื่อบ้านกับชื่อวัดไม่เหมือนกัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ตัดตัวอักษรที่มีเสียงคล้ายกัน (ซ้ำกัน) ออกไป ๑๗ ตัว เหลือเพียง ๒๗ ตัว และสระอีก ๑ ตัว ฤ-รึ, ฦ-รือ, ฤา-ลึ, ฦา-ลือ ก็ถูกตัดไปหมด เมื่อ ฮ โดนตัดออกก็ใช้ตัว “ห” แทน ดังนั้น “โฮ้ง” ก็เลยมาเป็น “โห้ง” พอหมดยุคสมัยของท่าน ก็กลับมาใช้ตัวอักษรตามเดิม ส่วนบ้านหรือตำบลอยู่ในการปกครองของ กรมการปกครองได้เปลี่ยนเป็น “ฮ” ตามเดิม ส่วนวัดอยู่ในการปกครองของ “กรมศาสนา” ไม่มีใครเปลี่ยนเลยใช้ตัวอักษร “ห” มาจนถึงทุกวันนี้

สภาพภูมิศาสตร์และสังคม ที่ตั้ง วัดทุ่งโฮ้งเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๐ หมู่ที่ ๕ ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ๔ กิโลเมตร สังกัดคระสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและผูกพันธสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๑ มีเนื้อที่วัดรวม ๕ ไร่ ๑๐ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๖๗๒๖

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จากการบอกเล่าสืบมาว่า บรรพชนของชาวทุ่งโฮ้งถูกกวาดต้อนจากเมืองเชียงขวางประเทศลาวสมัยพระยาชัยเจ้าเมืองแพร่ประมาณ พ.ศ.๒๓๔๐-๒๓๕๐ ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองด้านเหนือใกล้ประตูยั้งม้าบริเวณบ้านหัวดง-บ้านใหม่ มีหลักฐานที่ยังปรากฏอยู่คือบ่อน้ำไทยพวนอยู่หน้าอุโบสถวัดสวรรคนิเวศและได้เคลื่อนย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่บริเวณที่เป็นบ้านทุ่งโฮ้งใต้ในปัจจุบัน ประมาณ พ.ศ.๒๓๖๖-๒๓๘๐ มีกลุ่มไทยพวนกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาและตั้งหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านเดิมปะมาณ ๒๐๐ เมตรเป็นบ้านทุ่งโฮ้งเหนือปัจจุบัน อาชีพในสมัยก่อนคือการตีเหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งวัสดุที่ใช้รองรับการตี คือทั่ง ครั้นเมื่อถูกตีเป็นเครื่องตีเป็นประจำนานๆเข้าจึงเกิดการสึกลึกลงไปภาษาไทยพวน เรียกว่า มันโห้งลงไป จึงมีการเรียกว่า บ้านทั่งโฮ้ง และภายหลังเรียกเพี้ยนไปเป็น ทุ่งโฮ้งในปัจจุบัน

ศาสนศิลป์ อุโบสถ ขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ทรงล้านนาสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ ๒๕๐๙ หน้าบันตกแต่งด้วยการตัดกระจกสีเป็นลวดลาย เครือเถาว์เคล้าภาพพระพุทธเจ้า นก กินรี ซึ่งเป็นลักษณะการตกแต่งอันแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่ดำเนินการก่อสร้างคือพระครูวิบูลย์วริยวัตรอดีตเจ้าอาวาส พระพุทธรูป เดิมพระประธานามีเพียง ๑ องค์ ปางมารวิชัยสร้างด้วยปูนปั้น ฝีมือช่างพื้นบ้านภายหลังมีผู้ศรัทธาสร้างถวายอีก ๓ องค์รวมเป็น ๔ องค์ ในฐานเดียวกันซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าที่อุบัตในภัทรกัลป์นี้จำนวน ๔ องค์ อาคารจัดแสดงวิถีชีวิตในอดีต ภายในจัดแสดงวิถีชีวิต สิ่งของ เครื่องใช้ ในชีวิตประจำวันแต่ครั้งอดีต เช่น ที่ทอผ้า เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องมือกสิกรรม

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 10 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 22:43 น.• )