วันจันทร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายวิชชา จิรภิญญากุล นายอำเภอสอง เป็นประธานเปิดการหล่อเทียนพรรษาซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ณ โรงเรียนวังฟ่อนวิทยา ตำบลหัวเมือง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยมีผู้นำหมู่บ้าน ครู นักเรียน และประชาชนเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ พิธีหล่อเทียน จัดเป็นพระราชกุศล และเป็นงานบุญทั่วไปของชาวบ้านอีกด้วย โดยกำหนดจัดงานราชพิธีหล่อเทียนขึ้นในเดือน ๘ ของทุกปี ก่อน เข้าพรรษาสมัยนั้นการหล่อเทียนใช้หล่อด้วยขี้ผึ้งทั้งสิ้น ในปีหนึ่ง ๆ จะใช้ขี้ผึ้งเป็นจำนวนมากทั้งนี้เนื่องจากบรรดาวัดต่าง ๆ ที่เป็น วัดหลวงทุกวัด จะได้รับพระราชทานเทียนพรรษาวัดละ ๑ เล่ม หรือมากกว่านั้นทุก ๆ วัด จำนวนเทียนที่หล่อจึงมีมากขึ้น

กล่าวกันว่าประมาณปลายรัชการที่ ๓ ต้องหล่อเทียนจำนวนถึง ๒๐๐ เล่ม จึงจะมีจำนวนมากพอที่จะนำไปถวายวัดต่าง ๆ ได้ อย่างทั่วถึง ซึ่งการหล่อเทียนแต่ละเล่มสมัยนั้น ต้องใช้ขี้ผึ้งในการหล่อเทียนหนักถึง ๑๖ ชั่ง ปีหนึ่ง ๆ จะใช้ขี้ผึ้งจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อถึง เวลาที่หล่อเทียนทางสำนักพระราชวัง จำบอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เจ้าภาษี นายอากร และ ขุนนางฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น ให้นำขี้ผึ้งมาช่วยกันหล่อเทียน จึงสำเร็จลงได้

มูลเหตุที่ต้องมีการหล่อเทียนนั้นก็เนื่องมาจากในฤดูฝน หรือที่เรียกกันว่า "ฤดูการเข้าพรรษา" คือช่วงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น กำหนดให้พระภิกษุทั้งหลายต้องเข้าอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา ๓ เดือน พระภิกษุสงฆ์ที่ต้อง อยู่จำพรรษาในพระอารามระหว่างนั้นมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำ มีความจำเป็นต้องใช้เทียนไว้สำหรับ จุดบูชาให้ตลอดพรรษา พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อเทียน สำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ได้จุดบูชาตลอด ๓ เดือนของกำหนดเวลาเข้าพรรษา จึงเรียกเทียนที่หล่อ ขึ้นนี้ว่า "เทียนพรรษา" หรือ "เทียนจำนำพรรษา"

การถวายเทียนพรรษาเป็นกุศลอย่างหนึ่งของการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา สว่างไสว พิธีหล่อเทียน เริ่มก่อนการเข้าพรรษาเล็กน้อย การตระเตรียมงานพิธีหล่อเทียนในชุมชนนั้น จะเริ่มขึ้นประมาณวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ประมาณ ๑ สัปดาห์ เมื่อหล่อเทียนในวันรุ่งขึ้นจะจัดขบวนแห่นำไปถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธบูชาและ ในวันนั้นมีการทำบุญร่วมกัน ตักบาตร ถวายพระภิกษุสงฆ์ แสดงความศรัทธาโดยพร้อมเพรียงกัน

งานทำบุญหล่อเทียน และถวายเทียนพรรษานับเป็นประเพณีที่ดีงามสมควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะได้ช่วยกันรักษา ประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน อานิสงส์ของการหล่อเทียนหรือถวายเทียนพรรษาแก่พระภิกษุ ถือกันว่าจะทำให้เป็นผู้มีปัญญาดีเจริญก้าวหน้า เหมือนดังแสงเทียนที่สว่างในยามค่ำคืน ซึ่งพระภิกษุสมัยก่อนใช้เป็นแสงสว่างในการอ่านหนังสือธรรมะและประกอบกิจของสงฆ์

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 30 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 16:48 น.• )