ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๕ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต เมืองลองมีเมืองบริวารที่สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นในตอนใต้และตอนเหนือแอ่งลองในเวลาต่อมา ๓ เมือง คือ เมืองตรอกสลอบ เมืองต้า และเมืองช้างสาร เมืองตรอกสลอบ ตั้งอยู่บริเวณแอ่งลอง - วังชิ้นตอนใต้ มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบแคบๆ ลุ่มน้ำ มีแม่น้ำยมไหลผ่าน สร้างขึ้นด้วยปัจจัยมีทรัพยากรสำคัญคือของป่าต่างๆ ด้วยบริเวณนี้มีดินโป่งจึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ดังภายหลังยังปรากฏเรียกบริเวณนี้ว่า “ผางัวเลีย” “วังกวาง” หรือ “วังชิ้น” เป็นพื้นที่ชื้นลุ่มน้ำจึงมีพืชตระกูลเครื่องเทศจำพวกผลเร่ว(มะแหน่ง)ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และมีแร่ทองคำตามห้วยสาขาของแม่น้ำยม โดยเฉพาะบริเวณห้วยแม่ปอย ห้วยหมาก ห้วยผาที ห้วยนาพูน ห้วยแม่เกิ๋ง ห้วยคำอ่อน(อำเภอวังชิ้น) ซึ่งของป่าและแร่ธาตุเหล่านี้เป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดระดับภูมิภาค อีกทั้งเป็นชุมทางที่พักและรวบรวมสินค้า เพราะเส้นทางน้ำยมช่วงผ่านแอ่งลองน้ำไหลแรงมีแก่งขนาดใหญ่อยู่ถึง ๑๒ แก่ง คือจากด่านผาขวาง เข้าสู่เมืองลอง – แก่งหาดรั่ว(ใต้บ้านหาดรั่ว) – แก่งปูหมาง – แก่งเบียน – แก่งแม่แปง – แก่งเดื่อ – แก่งบ้านปง – แก่งหาดคอก – แก่งสลก – แก่งวังหม้อ – แก่งผาคัน – แก่งผาหมู(ใต้วัดพระธาตุแหลมลี่) – แก่งหลวง – ด่านวังเงิน เข้าสู่เมืองแพร่ จึงต้องหยุดพักสร้าง “ปางยั้ง” ค้างแรมตรงจุดนี้ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองลองกับเมืองศรีสัชนาลัย

จารึกของเมืองตรอกสลอบ พ.ศ.๑๘๘๒ “วนฺเทตมนุชํ ส........ มหนฺตํ รตฺตนตฺต(ยํ ปว)กฺขามิ มหาทานํ สุณาถ(สาธ)โว กูข้ายอมือนบพระศรีรัต(นต)รัยอันดีพิเศษกว่าอินทร์ พ........รมหาชนคนทั้งหลายจึงสู(ชาว)...(ขุน)มูลนายไพร่ไททุกคน ฟังญ.....มบุญอัน(ตน)เท่านั้น กล่าวเถิงขุนอู...ว เจ้าเมืองตรอกสล(อบ) แลแซงุน แผ่ใจ(รั)กมักบุญธรรม เป็นขุนผู้ใจดีชวนลูกเจ้า(ลูก)ขุนมูลนายไพร่ไททั้งชาวแม่ชาวเจ้าท(งั้)หลาย พิมพ์รูปพระด้วยเหียกด้วยดินได้...นพันร้อยแปดอัน พระธาตุอันหนึ่ง...ดสอง พระงาสอง ทั้งขันหมากเงิ... ขันหมา(ก)ทอง จ้อง ธง รอบชอบด้วยเสีย(ง)พาดเสีย(งก)ลอง แลขันข้าวตอกดอกไม้ไต้(เที)ยน ธูป จันทร์มันหอมค้อมตนนบบา..เบญ(จางค)ทั้งนั้น เวนให้เป็นพุทธบูชา (ธ)รรมบูชา สังฆบูชา แล้วจึงยกลงใส่ในอ่าง...ยามดีวันเมิงเป้า เดือนเจ็ดออกสิ(บ)..(ค่ำ) ปีกัดเหม้า แลโถะ แต่ก่อหินแลงสิบ..(ทั้)งสทายปูนเดือนหนึ่ง แล้วจึงปลูก(ทั้ง)ศาลาด้วยแล จึงแต่งหากระยาทา(น)..คนครอกหนึ่งให้ดูพระ ช้างตั(ว)...(หนึ่)ง วัวตัวหนึ่ง ควายตัวหนึ่ง....(สำ)หรับเจ้าพายสลอ(บ)ชีพร.....แปดแสนหก(หมื่น)ห......นนอนห้าสิบ....หมาก......” (ที่มา : จารึกล้านนาภาค ๑ เล่ม ๑ จารึกจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่)

 

ลักษณะแก่งของแม่น้ำยม (ที่มา : หจช.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๙๐)

 

แม่น้ำยมบางช่วงไหลเชี่ยว (ที่มา : หจช.ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๙๐)

จากการพบแผ่นทองคำ ฆ้อง และกลองสำริดในแม่น้ำยม บ้านหาดรั่ว ตำบลวังชิ้น เป็นหลักฐานสนับสนุนการใช้แม่น้ำยมเป็นเส้นทางติดต่อค้าขาย ส่วนเส้นทางบกจะขึ้นฝั่งน้ำยมที่ปากห้วยสลอบ(สลก)ไปทางตะวันตก แล้วขึ้นตามลำห้วยปันเจนข้ามกิ่วดอยแปเมืองเข้าสู่ลุ่มน้ำวังบริเวณ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ในปัจจุบัน ตามเส้นทางปรากฏพบเศษถ้วยชามสังคโลก เงินเจียง และของมีค่าต่างๆ ซึ่งเส้นทางนี้สามารถติดต่อกับเมืองเถินชุมทางการคมนาคมและการค้าที่สำคัญทางทิศใต้ได้อีกด้วย กอปรกับตอนกลางแอ่งสร้างบ้านแปลงเมืองลองขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (พ.ศ.๑๖๐๑ – ๑๗๐๐) และกลายเป็นชุมทางสถานีการค้าขนาดใหญ่ของแอ่ง จึงมีการขยายตัวลงมาตอนใต้เกิดเป็นชุมชนขนาดเล็กเพื่อแสวงหาทรัพยากรเพื่อตอบรับการขยายตัวของการค้าขายระดับภูมิภาค เมื่อบริเวณนี้เป็นแหล่งรวบรวมและพักสินค้า เป็นชุมทางการคมนาคมและการค้าทั้งทางบกและทางน้ำ จึงพัฒนาจากชุมชนขนาดเล็กก่อรูปเป็นเมืองตรอกสลอบขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำยม จากศิลาจารึกการสร้างพระธาตุกลางเวียงตรอกสลอบโดยเจ้าเมืองตรอกสลอบเมื่อพ.ศ.๑๘๘๒ สันนิษฐานว่าเมืองตรอกสลอบสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (พ.ศ.๑๘๐๑ – ๑๙๐๐) และภายหลังเมืองตรอกสลอบมีการสร้างเวียงขึ้น ๒ แห่ง คือ เวียงตรอกสลอบ(เวียงวัง) เป็นเวียงศูนย์กลางการปกครองของเมืองตรอกสลอบ และเวียงด้ง เป็นเวียงบริวาร

(๑) เวียงตรอกสลอบ เวียงตรอกสลอบ หรือ เวียงวัง (บ้านนาเวียง ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น) ห่างจากเวียงลองทางทิศใต้ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ตัวเวียงเป็นรูปเกือกม้า กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร มีคูน้ำ ๑ ชั้น กำแพงดิน ๒ ชั้นล้อมรอบ ๓ ด้าน ส่วนด้านตะวันออกใช้ แม่น้ำยมเป็นปราการธรรมชาติ มีห้วยแม่สลอบ(สลก)ไหลสบกับแม่น้ำยมห่างจากกำแพงทิศใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร ภายในเวียงมีวัดตรอกสลอบ(ร้าง)เป็นวัดหลวงกลางเวียง และมีพระธาตุตรอกสลอบเป็นสะดือเมืองหรือพระธาตุกลางเวียง สร้างขึ้นเป็นเวียงศูนย์กลางการปกครองเมืองตรอกสลอบ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านด้านใต้และเมืองบริวารเมืองลอง สันนิษฐานว่าเวียงตรอกสลอบสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองตรอกสลอบในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (พ.ศ.๑๘๐๑ – ๑๙๐๐)

น้ำคือหรือร่องคูน้ำของเวียงตรอกสลอบ (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

 

กำแพงดินของเวียงตรอกสลอบ (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

 

พระพิมพ์จืน(เนื้อชิน,ตะกั่ว) ขุดพบบริเวณเวียงตรอกสลอบ (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

 

ไหเคลือบขุดพบใกล้แม่น้ำยม บริเวณด้านหน้าเวียงตรอกสลอบ (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

 

แม่น้ำยมช่วงไหลผ่านหน้าเวียงตรอกสลอบ

 

ห้วยแม่สลก(ห้วยแม่สลอบ)สบกับแม่น้ำยมทางทิศใต้ของเวียงตรอกสลอบ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๔)

(๒) เวียงด้ง เวียงด้ง (บ้านแม่กระต๋อมและบ้านปางไม้ ตำบลป่าสัก อำเภอวังชิ้น) เป็นเวียงตั้งอยู่ใต้สุดของแอ่งลองห่างจากเวียงตรอกสลอบประมาณ ๒๒ กิโลเมตรและห่างจากเวียงเถินประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นเวียงขนาดเล็ก มีคูน้ำ ๒ ชั้น กำแพงดิน ๓ ชั้น มีน้ำแม่สรอยไหลผ่าอ้อมตามกำแพงเวียงด้านทิศตะวันตก พบมีซากวัดร้างอยู่ภายในเวียง เวียงด้งมีตำนานเล่าว่าสร้างโดยเจ้าหมื่นด้งนคร เจ้าเมืองลำปาง จึงเรียกว่า “เวียงด้ง” เพื่อเป็นเวียงหน้าด่าน สันนิษฐานว่าใช้เป็นเวียงตั้งมั่นอยู่รักษากึ่งกลางระหว่างเมืองตรอกสลอบด้านเหนือและเมืองเถินด้านใต้ เพื่อรับข้าศึกก่อนข้ามเทือกเขาเข้าสู่เมืองลำปางด้านตะวันตก หรือเข้าสู่เมืองตรอกสลอบและเมืองลองทางด้านเหนือ จึงปรากฏเรียกเทือกเขาด้านทิศใต้ของเวียงด้งที่เป็นกำแพงธรรมชาติกั้นระหว่างเมืองเชลียง เมืองหน้าด่านด้านเหนือของอาณาจักรอยุธยา กับเวียงด้ง เวียงหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาว่า “ดอยเจ้าใต้” และเรียกช่องเขาเส้นทางเดินโบราณที่ผ่านเทือกเขานี้ว่า “กิ่วเจ้าใต้” ซึ่งคำว่า “เจ้าใต้” หมายถึงกษัตริย์หรือเจ้านายของอยุธยาที่อยู่ทางใต้ของอาณาจักรล้านนา ดังนั้นจึงปรากฏมีการสร้างเวียงด้งขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกเข้ามาโจมตีเมืองลำปางและอาณาจักรล้านนาผ่านบริเวณเส้นทางนี้ ในช่วงที่มีการทำสงครามครั้งใหญ่ระหว่างพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์อาณาจักรล้านนา กับพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อาณาจักรอยุธยา ในระหว่างพ.ศ.๑๙๙๔ - ๒๐๑๘

กิ่วเจ้าใต้ช่องทางเดินโบราณติดต่อกับบ้านเมืองตอนใต้ลงไปของล้านนา ในภาพถ่ายจากบริเวณเวียงด้ง (ที่มา : เมืองเวียงด้งนคร, ๒๕๔๘)

 

รูป คูน้ำคันดินของเวียงด้ง (ที่มา : เมืองเวียงด้งนคร, ๒๕๔๘)

 

แม่สรอยช่วงที่ไหลผ่านเวียงด้ง

 

เศษภาชนะดินเผาที่พบบริเวณเวียงด้ง (ที่มา : เมืองเวียงด้งนคร, ๒๕๔๘)

เมืองต้า เป็นที่ราบแคบๆ ในหุบเขา มีห้วยแม่ต้าลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำยมไหลผ่าน มีการสร้างบ้านแปลงเมืองต้าเนื่องจากมีแหล่งแร่เหล็กที่เรียกว่า “บ่อต้า” หรือ “บ่อเหล็กต้า” ปรากฏร่องรอยการถลุงตั้งแต่ยุคโลหะจึงดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็ก อีกทั้งตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางบก คือ เมืองลอง – เมืองต้า – เมืองสอง – เมืองน่าน – กลุ่มเมืองพะเยา เชียงแสน เชียงราย หรือ เมืองลอง – เมืองต้า – เมืองแพร่ ดังสมัยพญาเมกุ(กษัตริย์ล้านนา พ.ศ.๒๐๙๔ - ๒๑๐๗) เคยใช้เส้นทางผ่านเมืองต้า เมื่อเสด็จกลับจากการทำสงครามกับล้านช้างจะขึ้นไปเมืองพระนครเชียงใหม่ในพ.ศ.๒๑๐๑ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า

หมู่บ้านต้าแป้น เมืองต้า ตั้งอยู่ในที่ราบหุบเขา (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

“...เดือน ๗ ออก ๒ ฅ่ำ ลุกแต่แก่งไปนอนยางคุนสะเอยียบ ๘๐๐๐ วา ยางคุนไปนอนป่าเลา ๑๒๐๐๐ วา ป่าเลาไปนอนเมืองสอง ๑๐๐๐๐ วา เมืองสองไปนอนวังฅำ ๕๐๐๐ วา วังฅำไปนอนป่าเสี้ยว ๑๒๐๐๐ วา ป่าเสี้ยวรอดแพล่ ๑๒๐๐๐ วา อยู่เมืองแพล่ ๑๒ วัน เดือน ๗ แรม ๑๓ ฅ่ำนำพระญาเชียงเลิอ(พญาเชียงเลือก หรือ พญาเชียงเรือ – ผู้เขียน)หื้อกินเมืองแพร่ แต่เมืองแพล่มานอนคราวตนหัว ๕๐๐๐ วา คราวตนหัวหัวมานอนน้ำต้า ๙๐๐๐ วา อยู่น้ำต้าวัน ๑ น้ำต้ามานอนห้วยส้ม ๙๓๐๐ วา ห้วยสมมานอนน้ำเมาะ ๙๒๐๐ วา น้ำเมาะรอดนคอร ๑๓๕๐๐ วา เดือน ๗ แรม ๑๓ ฅ่ำ นำจตุปริหมอฅำกินเมืองนคอร...

รูปปั้นสัตว์มีการเคลือบ

 

เศษภาชนะพบบริเวณตำบลเวียงต้า (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

ส่วนเส้นทางน้ำเมื่อเมืองลองเป็นชุมทางสถานีการค้าขนาดใหญ่ของแอ่ง ได้ขยายตัวขึ้นมาตอนเหนือเพื่อแสวงหาทรัพยากร เส้นทางน้ำจึงใช้เพียงลำเลียงสินค้าเหล็กและของป่าที่เก็บได้จากชุมชนนี้ลงสู่แม่น้ำยมเท่านั้น เพราะเป็นลำห้วยระยะสั้นๆ ไม่สามารถเชื่อมต่อกับแอ่งภายนอกได้ กอปรกับการขยายตัวของอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช(พ.ศ.๑๙๘๔ - ๒๐๓๐) ที่ทรงมีนโยบายขยายพระราชอาณาเขตออกไปให้กว้างขวาง จึงทรงทำสงครามกับหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองน่านและเมืองแพร่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองต้าเพื่อเป็นฐานกำลังให้กองทัพหลวงเชียงใหม่  จากตำนานเมืองต้ากล่าวว่าสร้างเมืองต้าโดยเจ้าเมืองลำปางเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างเมืองลำปางกับเมืองแพร่  เมื่อพิจารณาจากบริบทเหตุการณ์แล้วควรสร้างขึ้นในช่วงเจ้าหมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมืองลำปาง(พ.ศ.๑๙๘๐ - ๑๙๙๒) และสร้างขึ้นก่อนยึดได้เมืองแพร่พ.ศ.๑๙๘๖ และเมืองน่านพ.ศ.๑๙๙๒ ดังนั้นปัจจัยสำคัญของการก่อรูปเมืองต้าคือการขยายตัวของอาณาจักรล้านนา จึงได้สร้างบ้านแปลงเมืองต้าขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐) ซึ่งเมืองต้ามีการสร้างเวียงขึ้น ๒ แห่ง คือ เวียงต้า เป็นเวียงศูนย์กลางการปกครองของเมืองต้า และเวียงปู เป็นเวียงบริวาร

(๑) เวียงต้า เวียงต้า (บ้านต้าม่อนและบ้านต้าเวียง ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง) เวียงต้าอยู่เหนือเวียงลองประมาณ ๓๗ กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองต้า  มีวัดต้าเวียงเป็นวัดหลวงกลางเวียง ตัวเวียงเป็นรูปเกือกม้า มีคูน้ำ ๑ ชั้น กำแพงดิน ๒ ชั้นล้อมรอบ ๓ ด้าน ด้านทิศตะวันออกกำแพงเวียงติดห้วยแม่ต้าและสร้างกำแพงบรรจบกับหน้าผาสูงด้านตะวันตกที่มีถ้ำใช้หลบภัย ดังปรากฏตำนาน พญาอุปเสน เจ้าเมืองต้า และญาติวงศ์เข้าหลบภัยและสิ้นชีวิตภายในถ้ำจึงเรียกว่า “ผาเจ้า” เวียงต้ามีชัยภูมิที่ดี คือ ด้านหน้าติดแม่น้ำและด้านหลังติดหน้าผา การสร้างอย่างแน่นหนาเช่นนี้ เพราะเป็นเวียงหน้าด่านด้านตะวันออกให้เมืองลำปางและด้านเหนือให้เมืองลอง ในยามสงบก็เป็นศูนย์กลางควบคุมผลผลิตของเมืองต้า ส่งส่วยให้กับเมืองลองหรือเมืองลำปาง สันนิษฐานว่าเวียงต้าสร้างขึ้นพร้อมเมืองต้าช่วงระหว่างพ.ศ.๑๙๘๐ - ๑๙๘๖

คูน้ำและคันดินของเวียงต้า (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

(๒) เวียงปู เวียงปู (บ้านต้าม่อนและบ้านเย็น ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง) เป็นเวียงที่ตั้งอยู่เหนือสุดของแอ่งลอง ห่างจากเวียงต้าประมาณ ๑ กิโลเมตร ตัวเวียงเป็นรูปวงกลม มีคูน้ำ ๑ ชั้น กำแพงดิน ๒ ชั้น เป็นเวียงบริวารของเวียงต้า เวียงปู(ภูเขา)ตั้งบนเนินและภายในเวียงไม่ปรากฏศาสนสถาน เป็นป้อมปราการสามารถมองเห็นได้รายรอบ อยู่ไม่ไกลจากเวียงศูนย์กลางสามารถยกกำลังเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ดังนั้นเวียงปูจัดเป็นเวียงรูปแบบเดียวกับเวียงลัวะของเมืองลอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเวลาใกล้เคียงกับเวียงต้าในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐)

เมืองช้างสาร เมืองช้างสาร หรือ เมืองสวก พื้นที่เป็นที่ราบแคบๆ สลับกับเนินเขา มีห้วยแม่สวก ลำห้วยสาขาของห้วยแม่ต้าไหลลงสู่แม่น้ำยมไหลผ่าน มีการสร้างบ้านแปลงเมืองช้างสารขึ้นเนื่องจากมีทรัพยากรสำคัญ คือ ทองแดง ทองคำ และของป่า จึงดึงดูดผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานรวมตัวขึ้นเป็นชุมชน โดยเฉพาะแร่ทองแดงที่มีการถลุงตั้งแต่ยุคโลหะ ปรากฏหลุมขุดแร่ขนาดบ่อน้ำลึกหลายสิบเมตรกระจายอยู่ทั่วบริเวณ สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชนนี้อย่างมาก ดังปรากฏพบพระพุทธรูปทองสำริดขนาดใหญ่ พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปและพระเครื่องทำด้วยแก้ว อัญมณี ทองคำ เงินจำนวนหลายสิบองค์  และปรากฏกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐอย่างน้อยประมาณ ๘ แห่ง บริเวณลุ่มน้ำแม่สวกมี ๕ วัด คือ วัดไชยมงคล วัดสันต้นปิน วัดนางรอ วัดต้นหมุ้น วัดสารภี ส่วนในลุ่มน้ำแม่ลานมี ๓ วัด คือ วัดบ่อแก้ว และอีก ๒ วัดไม่ทราบชื่อ ด้วยบริเวณนี้ตั้งอยู่เหนือปากน้ำแม่ต้าสบแม่น้ำยมประมาณ ๘ กิโลเมตร ปากต้าจึงเป็นจุด “ปางยั้ง” ที่พักนักเดินทางและพ่อค้าทางตอนเหนือแอ่งระหว่างเมืองลองกับเมืองแพร่ เป็นจุดสถานีพักส่งแร่เหล็กและของป่าจากเมืองต้าที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไปประมาณ ๒๗ กิโลเมตร ขณะเดียวกันก็เป็นจุดรวบรวมแร่ทองแดงและของป่าบริเวณชุมชนห้วยแม่สวกมาที่เมืองลอง เมืองช้างสารจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการค้าอันเป็นผลมาจากการขยายตัวการค้าระดับภูมิภาค ไม่ใช่เมืองที่ตั้งเพื่อทำศึกสงครามอย่างเห็นได้ชัด ดังขุดพบกระพรวนสำริดสลักอักษรจีนและพบเศษถ้วยชามกระเบื้องเคลือบจีนแตกกระจายอยู่จำนวนมาก ตลอดถึงไม่ปรากฏมีการสร้างเวียงเพื่อป้องกันภัยแต่ใช้ถ้ำบนหน้าผาที่อยู่ติดกับชุมชนด้านทิศตะวันตกเป็นที่หลบลี้ภัยแทน

เมื่อพิจารณาจากพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา พระพุทธรูปสำริดพุทธศิลป์เชียงแสนผสมสุโขทัยแบบสกุลช่างท้องถิ่น การสร้างโขงพระเจ้าเชื่อมต่อวิหารหลวงดังรูปแบบวัดพระธาตุภูเข้า เมืองเชียงแสน พระพิมพ์สกุลลำพูน(เช่น พระรอด พระคง พระเปิม พระเลี่ยง พระลือ พระสิบสอง) พระพิมพ์ยอดขุนพลแบบเมืองเชียงใหม่(กรุศาลเจ้า) แสดงถึงกลุ่มคนแถบเมืองพะเยา เชียงราย เชียงแสน ลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่ เคลื่อนย้ายเข้ามาหรือมีการติดต่อสัมพันธ์กันทางการค้าขายแลกเปลี่ยน เพราะไม่ปรากฏมีการหล่อพระพุทธรูปพุทธศิลป์ลักษณะนี้หรือขุดพบพระพิมพ์ยอดขุนพลบริเวณอื่นในแอ่งลอง จากการพบแหล่งเตาหล่อ เศษขี้ทองแดง ทองเหลืองกระจายอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการหล่อพระพุทธรูปของแอ่งลองและเมืองรายรอบ ดังเจ้าหมื่นคำเป็ก เจ้าเมืองลำปาง หล่อพระเจ้าแสนตองถวายไว้วัดสบปุง เมืองต้า ในพ.ศ.๒๐๓๐  และมีจารึกฐานพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นบริเวณนี้พ.ศ.๒๐๕๙ สันนิษฐานว่าเมืองช้างสารสร้างขึ้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๐๐๑ – ๒๑๐๐)

โบราณสถานในเขตเมืองช้างสาร

 

ที่ราบบริเวณเมืองช้างสาร ถ่ายจากบนยอดดอยน้อย บ้านปิน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

 

พระธาตุโบราณของวัดบ่อแก้วร้าง

 

เศษภาชนะทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบกระจายทั่วไปบริเวณวัดบ่อแก้วร้าง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

 

พระพุทธรูปอัญเชิญจากเมืองช้างสาร(บริเวณบ้านบ่อแก้ว)มาไว้วัดแม่ลานเหนือ (ที่มา : วัดแม่ลานเหนือ, ๒๕๕๐)

 

พระพุทธรูปอัญเชิญจากเมืองช้างสาร(บริเวณบ้านบ่อแก้ว)มาไว้วัดแม่ลานเหนือ (ที่มา : วัดแม่ลานเหนือ, ๒๕๕๐)

 

พระพุทธรูปอัญเชิญจากเมืองช้างสาร(บริเวณบ้านบ่อแก้ว)มาไว้วัดแม่ลานเหนือ (ที่มา : วัดแม่ลานเหนือ, ๒๕๕๐)

 

พระเจ้าทองหล่อ พระประธานในวิหารวัดดอนมูล พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดที่อัญเชิญมาจากจากเมืองช้างสาร(บริเวณวัดบ่อแก้ว) (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

 

 

พระพุทธรูปวัดน้ำริน

 

พระพุทธรูปวัดต้าปง ตำบลต้าผามอก ที่อัญเชิญมาจากเมืองช้างสาร(บริเวณสวนหิน)

 

พระพุทธรูปทรงเครื่องประดับอัญมณีของวัดแม่ลานเหนือที่อัญเชิญมาจากเมืองช้างสาร(บริเวณวัดบ่อแก้ว) (ที่มา : ประวัติศาสตร์เมืองแพร่)

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเวียงทั้ง ๙ เวียงในแอ่งลอง – วังชิ้น แผนที่แสดงที่ตั้งเวียงทั้ง ๙ เวียงในแอ่งลอง - วังชิ้น

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 31 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 09:28 น.• )