เพียงประโยคเดียวที่รับสั่งด้วยอารมณ์หญิงเท่านั้น มันมีผลให้ชีวิตของชายหนุ่มพระองค์หนึ่งต้องสิ้นชีวิตไปด้วยคมดาบของนายเพชฌฆาต พร้อมกับสูญเสียโอรสของเจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย และหญิงสาวแสนซื่อนางหนึ่งต้องสูญเสียยอดดวงใจของเธอไป สตรีสูงศักดิ์ผู้มีน้ำพระทัยเหี้ยมเกินหญิงผู้นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “เจ้าทิพยเกษร” แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ผู้เป็นพระราชธิดาพ่อเจ้าชีวิต  “อ้าว”  ซึ่งมีราชอำนาจดุจดังพยัคฆ์ร้าย จนเป็นที่เล่าลือกันสืบต่อมาว่า ถ้าคราใดพ่อเจ้าชีวิตทรงแผดพระสุรเสียง “อ้าว” ออกมาแล้ว บรรดาข้าราชการบริพารก็มีอันเป็นเหงื่อกาฬไหลตัวสั่นเทิ้มไปด้วยความเกรงกลัว ที่ใจอ่อนมากก็ถึงทรุดนั่งลงอย่างสิ้นเรี่ยวแรงเอาทีเดียว ราชธิดาผู้ทรงพระนามว่า “เจ้าแม่ทิพยเกษร” ผู้นี้ได้อภิเษกสมรสกับบุรุษเชื้อพระวงศ์ ซึ่งทรงพระนามในสมัยขึ้นนั่งเมืองว่า “พ่อเจ้าชีวิตอิทรวิชยานนท์” องค์เดียวกับที่ถวายพระราชธิดาแก่องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแผ่นดินสยาม และพระราชธิดาพระองค์นั้นได้รับพระราชทานตำแหน่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

เหตุเกิดเพราะช้างพังของเจ้าแม่ชื่อว่า “พังแม่คำปิ๋ว” ซึ่งเป็นช้างพระที่นั่งในยามว่างราชการมิได้เสด็จไหน ก็มีคนนำไปเลี้ยงไว้แถวทุ่งหมู่บุ่นชายอาณาเขตเมืองเชียงใหม่ พังแม่คำปิ๋วเป็นช้างที่เกเร ซุกซน และดุร้ายมาก แต่บางเวลาใจดี เป็นช้างเจ้าอารมณ์ไม่ผิดกับเจ้าของ วันหนึ่งขณะที่เดินเล่นแถวชายป่า เป็นขณะเดียวที่หญิงสาวชาวบ้านพากันออกมา “เก็บผักหักฟืน” ตามประสาชาวบ้าน ต่างก็ส่งเสียงหัวเราะต่อกระซิกและบ้างก็ตะโกนเรียกหากันเป็นที่สนุกสนาน  พอเห็นช้างพระที่นั่งกำลังเหยาะย่างผ่านมา ก็ส่งเสียงร้องทักทายเหมือนคนเคยรู้จัก ช้างแม่คำปิ๋วชะรอยจะอารมณ์เสียมาจากที่ไหนสักแห่งหนึ่งก็เกิดรำคาญเสียงของผู้หญิงพวกนั้น มันไล่พวกหญิงสาวหาฟืนเตลิดไปคนละทิศละทางและมีคนหนึ่งล้มลงไปเลยถูกช้างเหยียบตายอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านพอได้ทราบข่าวก็พากันออกมาไล่ช้างเผือกนั้น แม่คำปิ๋วก็เลยเตลิดไปถึงหมู่บ้านหนองช้างคืน เข้าไปอาละวาดในหมู่บ้านด้วยกำลังอันมหาศาลของมัน ไม่ว่าจะเป็นครกมอง หลองข้าว เรียกสวนไร่หมอกกระเทียม ช้างที่นั่งของพระแม่เจ้าเข้าไปย่ำยีไม่มีเหลือ  คราทีนั้นหนุ่มราชบุตรของพ่อเมืองเจ้าเมืองลำพูน ทรงนามเจ้าน้อยพรหม เป็นเจ้ามิได้ถือพระองค์เหมือนเจ้าอื่น ๆ เจ้าชายได้เสด็จมา “แอ่วสาว” คือมาติดพันสาวชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งความสวยความงามเป็นที่ต้องพระทัย นางนั้นมีชื่อว่า “บัวทอง” เป็นกุลสตรีเยาว์วัยน่ารักเป็นหนักหนา บัวทองมีชีวิตอยู่กับหูกทอผ้าตามแบบฉบับของกุลสตรีสมัยโน้น นอกจากทอผ้าก็ทำสวนทำนาและเลี้ยงสัตว์บ้าง เจ้าน้อยพรหมแวะเวียนมาเยือนสาวบัวทองเป็นนิจศิล วันที่ช้างพังแม่คำปิ๋วเข้ามาทลายยุ้งข้าวชาวบ้านหนองช้างคืนนั้น เจ้าชายก็อยู่ที่บ้านของแม่สาว “บัวทอง” พอได้ข่าวช้างเกเร เจ้าชายไม่รอช้าคว้าดาบได้ก็โดดออกจากบ้านคนรักตรงไปทางบ้านที่ช้างเกเรมุ่งอาละวาดเพียงความประสงค์เพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่ชาวบ้านเท่านั้นเอง เจ้าชายได้ฟันแม่คำปิ๋วด้วยดาบคู่มือจนมันวิ่งแจ้นหนีไปพ้นเขตบ้าน แต่—อนิจจา เจ้าชายหารู้ไม่ว่านั้นคือช้างของพระแม่เจ้าทิพยเกสร ตราบจนกระทั่งขนาดคนเลี้ยงช้างของพรแม่เจ้าได้ไปพบช้างพังแม่คำปิ๋วล้มตายอยู่ มีรอยถูกฟันเหวอะหวะเลือดไหลโทรมเมื่อสืบถามได้ความว่าใครเป็นคนฟันแม่คำปิ๋วแล้ว ขานดผู้นั้นก็ตัวสั่นงักงกเข้าเฝ้าพระแม่เจ้าที่คุ้มหลวงที่ประทับ ร้องไห้ร้องห่มเป็นการใหญ่ พลางกราบทูลว่าช้างพระที่นั่งที่ตนนำไปเลี้ยงนั้นถูกเจ้าน้อยพรหมฟันตาเสียแล้ว พอทราบถึงต้นสายปลายเหตุ พระแม่เจ้าก็กริ้วดุจไปไหม้ป่าไม่มีวันเสียสละที่จะใคร่ครวญถึงความผิดความถูกเจ้าแม่ทิพยเกษรเรียกหาไพร่พลเข้ามาตระเตรียมเดินทางไปเมืองลำพูนในคืนนั้นแม้จะรออยู่จนรุ่งสว่าง พระแม่เจ้าผู้มีอารมณ์อันร้อนประดุจไฟก็ไม่สามารถจะทนรออยู่ได้ เจ้าหลวงลำพูนตกพระทัยเป็นยิ่งนัก อะไรกันจู่ ๆ เจ้าพี่หญิงทิพยเกสรเสด็จมากลางดึก ไม่ได้บอกล่วงหน้า รีบจัดการต้อนรับพร้อมกับสั่งให้พวกเจ้าในราชวงศ์มาเฝ้ากันพร้อมหน้า แต่เจ้าแม่ก็รีบสั่งให้คนพวกนั้นถอยออกไปเพื่อจะมารับสั่งแต่ลำพังกับเจ้าหลวงโดยเฉพาะ “เจ้าพี่หญิงมีธุระสำคัญอันใดก็เชิญตรัสออกมาเถิด ข้าผู้น้องนี้ก็จักสนองรับบัญชาตามพระประสงค์ทุกประการ” เจ้าหลวงผู้มีศักดิ์และอำนาจด้อยกว่าทูลด้วยความคารวะอันสุจริต “มีซินิ้งเอ๋ย พี่มาครั้งนี้ก็เพราะมีเหตุร้ายที่จะขอพึ่งเจ้าน้องอยู่อย่างหนึ่งไม่ทราบว่าจักเป็นผลสำเร็จหรือไม่อย่างใด” เจ้าทิพยเกสรรับสั่งอย่างมีชั้นเชิง เจ้าหลวงลำพูนมิได้ทรงทราบแม้แต่น้อยว่า “กิจธุระ” ของเจ้าพี่ที่ตนนับถือทั้งเกรงใจนั้น หมายถึงการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง รีบน้อมรับอาสาขอปฏิบัติการกิจที่เทวีแห่งนครพิงค์จะทรงขอร้องทุกประการ “พี่ยินดีที่เจ้าน้องรับปากเช่นนี้ มิเสียแรงที่เราเป็นบ้านพี่บ้านน้องกันมา” เจ้าแม่รับสั่งจะเน้นถึงความสัมพันธ์และอำนาจอันเหนือกว่าตน “แต่จะจริงหล่ะหรือ ที่ว่าเจ้าน้องจะรับเป็นธุระให้พี่ให้ครั้งนี้?” ถามอย่างจะเอาคำมั่นสัญญา “ไว้ใจเถิดเจ้าพี่หญิง ข้าพระเจ้าขอเอาพระธาตุหลวงลำพูนอันอันสิทธิ์เป็นสักขีพยาน ว่าจะขอรับใช้เจ้าพี่หญิงได้ทุกอย่างเว้นแต่ดาวเดือนบนฟ้าเท่านั้น ที่จะเด็จเอามาถวายมิได้” เจ้าแม่สรวลด้วยความชอบพระทัย มิได้นึกเวทนาแม้แต่น้อยกับอาการที่พ่อผู้ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีผู้มาทวงเอาชีวิตของลูกชายตนไปเซ่นชีวิตสัตว์ เมื่อเคี่ยวเข็ญเอาคำสัตย์จากผู้ด้อยอำนาจกว่าจนเป็นที่พอใจแล้ว พระธิดาของพ่อเจ้าชีวิตอ้าวก็มีรับสั่งว่า “ดีแล้วน้องที่รักของพี่ พี่จะถือเอาคำพูดของเจ้าน้องเป็นสัจจวาจาที่ไม่อาจลบล้างเสียได้ อันกิจธุระของพี่ต้องมารบกวนน้องในเวลาค่ำคืนดึกดื่นดังนี้ดังนี้ ก็ด้วยเหตุว่ามีคนในเมืองลำพูนนี้ มันบังอาจฆ่าช้างพระที่นั่งของพี่รู้หรือยัง พี่ต้องการหัวของเจ้าคนที่ฆ่าช้างแม่คำปิ๋วของพี่นาเจ้าน้อง ” สิ้นเสียงของจอมนารีนครพิงค์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนก็ทรงพระสรวลว่า อ๋อเท่านั้นเองหรือธุระของพี่เป็นไรมีกับชีวิตของมนุษย์ชาวลำพูนสักคนหนึ่งจะให้มิได้ ในเมื่อจะเป็นแนวทางรักษาน้ำใจไมตรีของเจ้าไม่ทิพยเกษรผู้ทรงอำนาจ  “เป็นไรกับธุระเพียงแค่นี้เจ้าพี่หญิง ขอให้บอกมาเถิดว่ามันผู้นั้นที่บังอาจฆ่าช้างที่นั่งของเจ้าพี่นั้น มันมีชื่อว่าอะไร เป็นคนที่ไหนนะ เจ้าพี่” ครั้นเห็นจอมเทวีแห่งนครพิงค์ยังอ้ำอึ้ง เจ้าผู้ครองนครลำพูนก็ยิ่งรุกเร้าจะเอาคำตอบ “มันเป็นใครนะเจ้าพี่ ขอให้บอกมาเถิด ข้าพเจ้าจักตัดหัวนำตัวมาถวายเดี่ยวนี้แหละ” พระแม่เจ้าทรงสรวลเสียงสูง เหลือบพระเนตรคมกริบไปทางเจ้าหลวงลำพูนเหมือนจะหยั่งความรู้สึก “พี่ขอบใจเจ้าน้องมาก แต่ยังกริ่งเกรงอยู่แต่ว่าเรื่องนี้อาจจะกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านพี่เมืองน้องของเรา ขอแต่เพียง--ให้เจ้าน้องเลื่อนรอเวลาไปสักสามวันถึงค่อยตัดศีรษะส่งไปให้พี่ก็ได้” จอมนารีนครพิงค์ เผยอโอษฐ์แย้มยิ้มอย่างพอพระทัยขยับกายเข้าใกล้จอมคนเมืองลำพูน พลางยกหัตถ์ขึ้นจับพระกรเจ้าชีวิตหริภุญไชยไว้แน่น ตรัสด้วยพระสุรเสียงอันหนักแน่นชัดเจนว่า “เจ้าน้องของพี่ ฟังนะ--ไอ้คนที่บังอาจฟันช้างแม่คำปิ๋วของพี่นั้นหาใช่อื่นไม่ มันคือ--ไอ้เจ้าน้อยพรหมลูกชายคนดีของเจ้าหลวงลำพูนนั้นแหละ อีกสามวันต่อจากนี้ พี่จะรอรับหัวของเจ้าน้อยพรหม--” เพียงประโยคเดียวของพระแม่เจ้าแห่งราชสำนักนครพิงค์เจ้าเมืองลำพูนก็ตกพระทัยแทบสิ้นสติ กระแสเสียงอันชัดเจนหนักแน่นนั้นบอกว่า “--ไอ้เจ้าน้อยพรหมลูกชายคนดีของเจ้าหลวงลำพูนนั้นแหละอีกสามวันต่อจากนี้ พี่ขอรับหัวของมัน ในฐานที่ฟันช้างที่นั่ง”  เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ เจ้าหลวงเมืองลำพูนก้มเศียรตอบรับเสียงเอื่อยอ่อยว่า “อย่างนั้นหรอกหรือเจ้าพี่ คนที่ฟันช้างที่นั่งกลายเป็นไอ้พรหมลูกข้าพเจ้าเองหรือ” ครั้นจอมนารีเสด็จกลับคืนเมืองเชียงใหม่แล้ว ทางเมืองลำพูนก็วุ่นวายด้วยข้าวร้าย คือเจ้าชายน้อยพรหมผู้เป็นที่รักของพวกเขาจะต้องถูกประหารชีวิตจาประกาศิตของพระแม่เจ้าเมืองเชียงใหม่ ในมุมต่าง ๆ ของคุ้มหลวงลำพูน มีเสียงกระซิบกระซาบกันด้วยเรื่องนี้ “เราจะไม่ยอมให้เจ้าน้อยของเราถูกประหารโดยเด็จขาด” บางคนกล่าวเช่นนี้ “มีอย่างที่ไหน ช้างมันเกเรเที่ยวระรานเรือกสวนของชาวบ้านนี่ ฆ่าเสียก็ดีแล้วยังจะมาโทษเอาอีก เจ้าน้อยก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหลานชายของเจ้าแม่เองแท้ ๆ ” “เราจะต้องคิดหาทาง มิให้เจ้าน้อยพรหมของเราถูกตัดคอทำไมทหารของเราก็มีอยู่ไม่น้อย จะต่อรบกับพวกเชียงใหม่มิได้หรือ ผิดนักก็ตายกันไปข้างหนึ่งพวกเราที่นี่ยอมตายเพื่อเจ้าน้อยได้ทั้งนั้น” “หรือจะไปเอาตัวนักโทษในคุกมาตัดหัวส่งไปแทน” อีกคนหนึ่งออกความเห็น “ดีไหมพรรคพวก นักโทษของเรามีตั้งเยอะแยะเลือกเอาที่มันหน้าตาคล้ายกับนายของเรา” แต่เสียงกระซิบกระซาบที่ค่อย ๆ ดังขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นเสียงพูดกันอย่างธรรมดาต้องเงียบลงทันใด เมื่อมีเงาคนวูบเข้ามาในห้องนั้น เขาคือเจ้าน้อยพรหมผู้ซึ่งพระแม่เจ้านครพิงค์ปรารถนาศีรษะนั้นเอง เสด็จมาพร้อมกับเจ้าน้องชายชื่ออินต๊ะ (ตรงกับคำว่า “อินทร หรือ อินทรา”) กำลังหนุ่มฉกรรจ์ด้วยกันทั้งคู่ ทุกคนซึ่งเป็นข้าราชบริพารที่จงรักต่อเจ้าหลวงและเจ้าชายต่างก็หลีกทางให้ และบ้างก็ลุกจากตั่งนั่งเพื่อละที่ให้เจ้าชายทั้งสอง “พี่น้องที่รักของข้า” เจ้าชายรับสั่งด้วยความรู้สึกเต็มตื่น “ได้เห็นความจงรักภักดีของทุกคนแล้ว ขอขอบใจมาก แต่การที่เบิกตัวนักโทษในคุก มาตัดหัวแทนข้านั้นขอให้ยับยั้งเสียเถิด จะเป็นบาปเป็นกรรมของตัวข้าเสียเปล่า ๆ” “ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะทำประการใดกันเล่า พวกข้าพเจ้าไม่มีผู้ใดจะยอมให้พวกเจ้าเชียงใหม่มาแตะต้องเจ้าน้อยได้ เราจะต้องต่อสู้กับพวกนั้น ทหารของลำพูนทุกคนยินดีพลีชีพถวายเพื่อความปลอดภัยของเจ้าน้อย” “ขอบใจแล้ว พี่น้องของข้า แต่มันช่วยไม่ได้ในเมื่อเรื่องนี้ข้าเป็นคนกระทำผิดจริง ข้าได้ประหารช้างที่นั่งของจอมเทวีนครพิงค์ตามกฎหมายของบ้านเมืองก็มีโทษถึงประหาร” “แต่เจ้าน้อยทำเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชาวบ้าน ถ้าไม่มีเจ้าน้อยช้างร้ายเชือกนั้นอาจจะเหยียบชาวบ้านตายอีกหลายคน” อีกเสียงหนึ่งดึงดันด้วยความเคียดแค้นแทนเจ้านายของตน “เอาอย่างนี้ดีกว่าเจ้าพี่” เจ้าอินต๊ะผู้เป็นราชอนุชาดำเนินเข้ามาใกล้ เงยหน้าขึ้นประสานตาเจ้าพี่อย่างแน่วแน่ “ข้าพเจ้านี่แหละจะขอตายแทนเจ้าพี่ ให้เขามาตัดหัวอินต๊ะนี้แทนเจ้าน้อยพรหมเถิด” เจ้าชายผู้เคราะห์ร้ายสวมกอดอนุชาด้วยความซาบซึ้งพระทัยน้ำพระเนตรไหลเอ่อออกมาคลอ เพราะตื้นตันในอก “เจ้าน้องของพี่เอ๋ย เพียงเท่านี้ก็เห็นแล้วน้ำใจเจ้าสูงนัก แต่พี่จะยอมให้น้องเสียชีวิตเพราะพี่ไม่ได้หรอก เจ้าอินต๊ะน้องพี่อีกไม่ช้าก็จะได้ไปครองเมืองเชียงแสนแทนตัวพี่ เพราะเจ้าเหนือหัวเมืองใต้ท่านมีประราชประสงค์ให้เจ้าพ่อจัดส่งลูกชายไปครองเมืองเชียงแสน ถัดจากพี่ก็มีเจ้าน้องอินต๊ะนี้แล้ว ขอจงตั้งหน้าปฏิบัติราชกิจด้วยดีเถิด” สิ้นเสียงน้ำตาลูกผู้ชายที่ห้อมล้อมเจ้าชายอยู่ก็ไหลริน น้ำพระทัยของเจ้านายเช่นนี้จะหาที่ไหนได้ ผิดก็ยอมรับผืด ไม่ยอมหลีกเลี่ยง ไม่ยอมให้ใครเข้าไปรับโทษแทนสักคนเดียว “เจ้าพ่อของเราได้รับรองเป็นคำมั่นกับเจ้าฟ้าทิพยเกสรแล้วว่า ต้องต้องตัดหัวคนร้ายที่ฆ่าช้างที่นั่งส่งไปให้ในสามวัน ถ้าพี่ขัดขืนก็เท่ากับได้ทำลายวาจาสัตย์ของเจ้าพ่อ คนเราเกิดมาตายหนเดียวน้องเอ๋ย อย่าคิดรบกันเพื่อรักษาชีวิตของพี่เลย จะเสียไพร่พลทหารโดยใช่เหตุ เชียงใหม่ ลำพูนก็ใช่ใครที่ไหน พี่น้องกันทั้งนั้น” ด้วยประการฉะนี้ แผนที่จะช่วยชีวิตเจ้าน้อยพรหมด้วยวิธีต่าง ๆ ก็เป็นอันต้องล้มเลิกไป ห้ามปรามและชี้แจงแสดงเหตุผลให้น้องชายและข้าเก่าผู้จงรักให้เป็นที่เข้าใจแล้วเจ้าชายผู้มีน้ำพระทัยเด็ดเดี่ยวหาผู้เสมอเหมือนมิได้  ก็เสด็จไปยังบ้านสาวรักนามบัวทอง ณ บ้านหนองช้างคืน เพื่อสั่งลาด้วยความอาลัย ไม่ต้องสงสัย บรรยากาศบนเรือนเยาวนารีผู้มีนามว่าบัวทองเต็มไปด้วยความเศร้าสุดแสนเศร้า เธอร่ำให้ด้วยความสลดสังเวชปานใจจะขาด ปากก็พร่ำรำพันด้วยความอาลัยรักอันแสนสุดจะบบรยายเจ้าชายก็ได้ปลอบโยนให้เธอคลายโศก เช็ดน้ำตาให้เธอด้วยชายผ้าที่ห่มคลุมตัวมากจากคุ้มหลวง แต่แม้น้ำตานางจะไหลลงพราก ๆ เจ้าชายผู้เป็นเชื้อชาติขัตติยะก็มีน้ำพระทัยตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่คิดจะหนีแม้ว่าโอกาสที่จะหนีนั้นมีอยู่ทุกประตู “บัวทองเอ๋ย ให้เจ้าคิดเสียว่าชาตินี้วาสนาเราสร้างกันมาแค่นี้ก็แล้วกันชาติหน้าพี่ขอเกิดมาพบและรักบัวทองอีก แต่ขออย่าให้ต้องพรากจากกันไปเหมือนชาตินี้ บังทองแม่จงอุดส่าห์ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลไปให้พี่ ณ ปรภพโพ้น ขอให้เราเกิดมาพบกันอีกนะบัวทองน้องพี่” ม่มีคำสนองตอบจากดรุณาน้อยผู้กำหัวใจเจ้าชายหนุ่มไว้ เธอได้แต่ร้องร่ำตีอกชกตัวเพราะความเคียดแค้นที่จะต้องเสียชายผู้เป็นยอดดวงใจ “ทำไมเจ้าพี่ไม่หลบหนีไปให้พ้นจากอาชญาแม่เจ้าทิพยเกษร” เธอพ้ออย่างเด็ก ๆ หยาดน้ำตาที่ไหลรินตามร่องแก้มถูกแสงไฟส่องต้องเป็นประกายคล้ายเพชรร่วง เจ้าน้อยพรหมต้องอธิบายให้นางฟังถึงความจำเป็นต่าง ๆ เป็นเวลานานแต่แม้กระนั้นจะทำให้เยาวนารีแห่งบ้านหนองช้างคืนเข้าใจก็หาไม่ เธอก่นแต่พิลาปไห้ไม่ฟังจนกระทั่งถึงเวลาที่เจ้าชายต้องเสด็จกลับ ดรุณีน้อยผู้บริสุทธิ์ได้ยื่นพวงมาลัยดอกมะลิหอมกรุ่นให้เจ้าชาย “เอาไว้ชมต่างหน้าบัวทองเถิดเจ้าพี่” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียสะอื้น พลันเจ้าชายถอดธรรมรงค์วงงามจากนิ้วพระหัตถ์สวมใส่แก่สาวบัวทอง ไว้เป็นที่ระลึกถึงคนรักผู้อาภัพก่อนจาก ประกาศิตของพระแม่เจ้าคือกฎหมาย แม้มีใครวิงวอนทูลขอให้ไว้ชีวิตเจ้าน้อยพรหมอย่างไรก็ตาม เจ้าแม่ทิพยเกสรก็กาคืนคำที่ตรัสออกไปแล้วไม่ ก่อนประหารไม่กี่นาที พระแม่เจ้าได้ไปขอขมาเจ้าหลานชายถึงตะแลงแกงซึ่งตั้งขึ้น ณ ตำบลที่เรียกว่า “ทุ่งหัวคน” พระนางทรงอ้างถึงบทกฎหมายพระธรรมศาสตร์ ซึ่งใครจะละเมิดมิได้ อ้างถึง “สัจจวาจา”ซึ่งเข้าทำนอง “เป็นกระษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” ครั้นแล้วในที่สุด เจ้าชายคนดีแห่งนครลำพูนก็ถูกตัดศีรษะสิ้นชีพด้วยตักษัยเนื่องด้วยลิ้นของสตรีเจ้าอารมณ์ซึ่งบังเอิญเกิดเป็นเจ้าแต่เพลานั้น ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบ เจ้าชายหนุ่มยังได้เรียกคนสนิทให้เข้ามาใกล้เพื่อฝากพวงมะลิแห้งให้นำไปคืนแก่บัวทองสาวคนรัก แล้วก็ดำเนินเข้าหาความตายแต่โดยดี สงสารแต่สาวชื่อบัวทอง เธอต้องร่ำปริเวทนาการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้พวงมะลิแห้งที่ฝากคืนจากเจ้าชายสุดที่รัก เธอกลิ้งเกลือเสือกตัวเหมือนใจจะขาด ไม่ปรารถนาแม้แต่ข้าวปลาอาหารและในที่สุดหลังจากวันสิ้นชีวิตเจ้าชายไปได้หนึ่งคืน ก็มีคนพบสาวบัวทอง ดรุณีผู้ถือความรักเป็นศาสนา ผูกคอตายติดกับกิ่งไม้เธอแต่งตัวสวย มือสวมแหวนและถือดอกมะลิแห้งไว้พวงหนึ่ง นั่นคือพวงมะลิแห้งที่ฝากคืนมาจากเจ้าชายพรหมผู้เสียชีวิต เพราะประกาศิตพระแม่เจ้า

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 29 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 08:49 น.• )