สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๔ มีโรคประจำตัว ทำอย่างไรไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ง่ายนิดเดียวก็คือดูแล ป้องกันตัวเองไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรค จากที่กล่าวมาแล้วว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดจากการมีคราบไขมันเกาะเลือดหัวใจโดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง รวมกับการมีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นโรคอ้วน การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงดังจะกล่าวต่อไปนี้หลายๆข้อก็จะมีคราบไขมันสะสมมาก และแตกออกง่าย ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่ -โรคความดันสูง  -โรคเบาหวาน -โรคไขมันในเลือดสูง -โรคอ้วนลงพุง

การดูแลโรคเบาหวานเพื่อป้องกันโรคหัวใจ

การคุมเบาหวานให้ได้ดีตามเกณฑ์มาตรฐานคือต้องควบคุมให้ได้ดีตลอดทั้งก่อนทานอาหาร หลังทานอาหาร และตลอดเวลา ดังนี้

๑. ค่าน้ำตาลก่อนอาหาร ระหว่าง ๙๐-๑๓๐ mg%

๒. ค่าน้ำตาลหลังอาหาร ๒ ชั่วโมง ต้องไม่เกิน ๑๘๐ mg%

๓. ค่าระดับน้ำตาลสะสมย้อนหลัง ๒ เดือน [HbA๑C] ไม่เกิน ๗%

๔. คุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า ๑๓๐/๘๐ มม.ปรอท

การดูแล และรักษาโรคไขมันในเลือดสูงเพื่อป้องกันโรคหัวใจ การตรวจไขมันในเลือด มี ๔ ชนิดคือ

๑.โคเลสเตอรอล [total cholesterol; Cho

๒.ไขมันไตรกลีเซอไรด์ [triglyceride; TG]

๓.ไขมันชนิดดี เอช ดี แอล [HDL]

๔. แอล ดี แอล [LDL] ซึ่งเป็นไขมันตัวร้ายที่ฝังตัวเกิดเป็นคราบไขมันบนผนังหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดแดงในที่ต่างๆ

๑.ผู้ใดที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอด เลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดง โรคเบาหวาน ต้องคุมให้ไขมันตัวร้าย แอล ดี แอล < ๑๐๐ mg%

๒. ผู้ใดที่ไม่มีโรคดังข้อ ๑ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างน้อย ๑ ข้อขึ้นไปต้องคุมให้ไขมันตัวร้าย แอล ดี แอล < ๑๓๐ mg%

๓. ผู้ใดมีปัจจัยเสี่ยงเพียงข้อเดียว หรือไม่มีเลยต้องคุมให้ไขมันตัวร้าย แอล ดี แอล < ๑๖๐ mg%

๔. ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากๆ เคยบอลลูนขยาย เคยผ่าตัดบายพาสมาแล้ว อาจต้องคุมให้ไขมันตัวร้าย แอล ดี แอล < ๗๐ mg

ความอ้วนต่อการเป็นโรคหัวใจ คำว่าอ้วน ทางการแพทย์คือ

๑. ดูจากดัชนีมวลกาย สำหรับคนเอเชียถือว่าอ้วน เมื่อค่าดัชนีมวลกาย >๒๓kg/m๒

๒. ดูจากรอบเอว โดยที่รอบเอว ในผู้ชายเกิน ๙๐ ซ.ม. ผู้หญิงเกิน ๘๐ ซ.ม.ถือว่าอ้วน

ยังมีความอ้วนอีกชนิดหนึ่งที่นำไปสู่โรคหัวใจได้โดยตรงคือ “โรคอ้วนลงพุง” โรคอ้วนลงพุงประกอบด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้คือ วัดรอบเอวในผู้ชาย > ๓๖ นิ้ว( ๙๐ ซม.) ในผู้หญิง > ๓๒ นิ้ว( ๘๐ ซม.) ร่วมกับปัจจัย ๒ จาก ๔ ข้อต่อไปนี้

๑. ความดันโลหิตตัวบนได้มากกว่า ๑๓๐ ม.ม.ปรอท หรือตัวล่าง มากกว่า ๘๕ ม.ม.ปรอท หรือทานยารักษาโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว

๒. ระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร ๘ ชั่วโมง มากกว่า ๑๐๐ มก% หรือรักษาโรคเบาหวานอยู่แล้ว

๓. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า ๑๕๐ มก%

๔. .ระดับไขมันชนิด เอช ดี แอล (HDL) น้อยกว่า ๔๐ มก% ใน ผู้ชาย หรือ น้อยกว่า ๕๐ มก% ในผู้หญิง และเมื่อเป็นโรคอ้วนลงพุงแล้วท่านจะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตเพิ่มขึ้น ๒ เท่าตัว

โรคความดันโลหิตสูง

- ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรมีค่าความดันตัวบนน้อยกว่า ๑๔๐ มม.ปรอท และความดันตัวล่างน้อยกว่า ๙๐ มม.ปรอท

- ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และหลอดเลือด ควรมีค่าความดันตัวบน น้อยกว่า ๑๓๐ มม.ปรอท และความดันตัวล่าง น้อยกว่า ๘๐ มม.ปรอท

การควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีต้องทำอย่างไร

๑. รักษาน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายไม่เกิน ๒๓ กก/ม๒

๒. ทานผัก ผลไม้ให้มากๆ ลดอาหาร มัน และไขมันอิ่มตัว

๓. งดเค็ม ทานเกลือแกงไม่เกิน ๑ ช้อนชา ต่อวัน

๔. ออกกำลังกาย วันละ ๓๐ นาที อย่างน้อย ๓ วัน/สัปดาห์

๕. งดดื่มสุรา

๖. รับประทานยาสม่ำเสมอ

* ขอให้ทุกท่าน สุขภาพแข็งแรงนะครับ

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

 

สมาชิกจิตอาสา เล่าประสบการณ์การเจ็บป่วย และแนะนำการปฏิบัติตัว สันทนาการ เพลงดอกไม้บาน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 23 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 09:53 น.• )