ทำไมทางทางรถไฟถึงแค่เชียงใหม่ ทำไมไม่สร้างต่อไปให้ไกลจนถึงแม่ฮ้องสอนหรือไปถึงไทยใหญ่กันเลย คำตอบคือไม่รู้ครับเพราะไม่ใช่ผู้บัญชาการรถไฟและไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เรื่องที่จะเล่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเมืองในสมัยโน้นแสดงให้เห็นถึงวิธีการของพวกล่าเมืองขึ้น ซึ่งล้วนแต่มีกลวิธีต่าง ๆ กัน อันที่จริงสมัยนั้นแต่ละประเทศก็มุ่งแสวงหาหาอาณานิคมของตนเองทั้งนั้น เชียงใหม่เผอิญเป็นประเทศราชแห่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย คือภายหลังจากที่ได้เข้าปกครองพม่าแล้วราวสิบปี ทางรัฐบาลอังกฤษก็ดำริที่จะเปิดการค้าระหว่างพม่ากับเชียงใหม่และเชียงรุ้งซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ของจีนขึ้น จึงได้จัดส่งคนให้ไปสำรวจเส้นทางดังกล่าวโดยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ทางการค้าอย่างมหาศาลถ้าสร้างทางได้สำเร็จ แต่ครั้นแล้วเรื่องก็เงียบไป คงจะมีอุปสรรคอะไรสักอย่างกาลเวลาล่วงไปเนิ่นนานจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ฝรั่งเศสได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออก ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำลายอิทธิพลของอังกฤษ ในแหลมอินโดจีนสมัยนั้น พ่อค้าวาณิชของอังกฤษในพม่าจึงมีความกระตือรือร้นที่จะให้รัฐบาลอินเดียของอังกฤษเปิดเส้นทางบกระหว่างพม่ากับเชียงใหม่ขึ้น ที่คิดกันคือเพื่อป้องกันมิให้สินค้าของท้องถิ่นหลังไหลผ่าไปออกทางเมืองท่าของฝรั่งเศสในแคว้นตังเกี๋ย ซึ่งอาจมีผลกระทบกรเทือนต่อการค้าของอังกฤษได้ ด้วยเหตุนี้คณะพ่อค้าจึงได้ติดต่อขอให้ มร.ฮอลต์ เอส.ฮอลแลตต์ ซึ่งเป็นข้าราชการเก่าเป็นหัวหน้านำคณะเดินทางขึ้นไปสำรวจภูมิประเทศทางลานนาไทยอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นเป็นที่มาของเรื่องหนังสือเดินทางของพ่อเจ้าชีวิต ที่ทรงออกให้แก่ฝรั่งนักสำรวจคณะนั้น เพราะว่านายฮอลแลตต์แกต้องไปอาศัยครูแมคกิลวารีให้ช่วยทูลขออนุญาตพ่อเจ้าชีวิต ซึ่งท่านและเจ้านายทางฝ่ายเหนือ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับพ่อเจ้าชีวิตนั้นไม่ยอมเชื่อว่า

“รถไฟ จะสามารถแล่นไปไหนต่อไหนได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้ใช้ม้าลาก และท่านก็เลยไม่ได้เห็นจริงๆว่ายังมีรถที่แล่นได้โดยไม่ต้องใช้ม้าลากเพราะสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน” “เมื่อได้โปรดอนุญาตให้นายฮอลแลตต์และคณะเดินทางสำรวจได้ตามบ้านเล็กเมืองน้อยในอาณาจักรลานนาไทย พ่อเจ้าชีวิตก็รับสั่งให้กรมเวียงออกหมายคุ้มกันแก่นายฮอลแลตต์ฉบับหนึ่งมีข้อความดังนี้ พ่อเจ้าทรงเขียนลงในใบลานด้วยเหล็กจาร มีตราแผ่นดินประทับหัวท้าย จัดว่าเป็นหนังสือเดินทางที่ฝรั่งสนใจมากที่สุด ท่านเขียนไว้ดังนี้ ...เจ้าพระยาแสนหลวง เจ้าพระยาสามล้าน ตลอดจนข้าทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้น้อย แห่งราชสำนักเชียงใหม่ ขอประกาศต่อท้าวราชแห่งเชียงดาวพระยาขนานเพ็ก แห่งเมืองงาย พระยาก๋อน แห่งเมืองพร้าว พระยาสุระยอด แห่งเมืองฝาง ให้ทราบทั่วกัน ว่าบัดนี้เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ประทานอนุญาตให้แก่นายฮอลแลตต์ นายมาร์ตินและพ่อครูแมคกิลวารี รวมสามคน พร้อมทั้งคนใช้และผู้ติดตามอีก ๑๙ คน รวมทั้งหมด ๒๒ คน มีช้าง ๖ เชือก ม้า ๑ ตัว ปืน ๘ กระบอก ผ่านเข้าไปได้ในเขตเมืองเชียงแสน เมืองราย เมืองพร้าว และเมืองฝาง เมื่อพวกนายต่างชาติเหล่านี้มาถึงและมีความประสงค์จะไปในที่ใดเวลาใดก็ดี ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ลำห้วย หรือตามดอย จากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งหรือจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง ก็ให้พวกท่านจัดหาคนดีอันเป็นที่ไว้ใจได้ ติดตามไปพิทักษ์รักษาเขา อันเป็นประเพณีของบ้านเมืองด้วยและหากเขาร้องขอความช่วยเหลืออย่างใดแล้วก็ให้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้เขาเต็มที่ อย่าให้ต้องได้รับความไม่สะดวกสบายไม่ว่าอย่างใดทั้งสิ้น.....สั่งมาเหนือเกล้าฯ ณ วันที่ ๑๓ ข้างขึ้น เดือน ๘ จ.ศ.๑๒๖๖ (๗ เมษายน ค.ศ.๑๘๘๔) นายฝรั่งก็ได้ท่องเที่ยวไปตลอดแคว้นลานนาตามที่พ่อเจ้าชีวิตกำหนดไว้ในหนังสือเดินทาง ได้พบได้เห็นอะไรก็บันทึกไว้ในหนังสือเล่มใหญ่ ให้ชื่อว่า “พันไมล์บนหลังช้าง”เป็นหนังสือที่บรรจุข้อสังเกตและเหตุการณ์ต่างๆไว้มากมายเป็นหนังสือมีค่าสำหรับนักเรียนโบราณคดีและผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ของภาคเหนือซึ่งนายฝรั่งนักสำรวจคนนั้นได้ใช้ความสังเกตพินิจพิจารณา ตลอดระยะทางที่เดินทางผ่านไปน่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้มิได้มีการพิมพ์เผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป “ฝรั่งคนแรกที่เดินทางไปเชียงใหม่นั้นชื่อนายโธมัส แซมมวล เป็นชาวอังกฤษ เดินทางไปเชียงใหม่โดยทางเรือเมื่อปี ค.ศ.๑๖๑๕ หรือประมาณ ๓๕๐ ปีกว่ามาแล้ว และต่อมาก็มีหมอริชาร์ดสัน เดินทางมาจากมะละแหม่งมาจริญสัมพันธไมตรีการค้ากับเชียงใหม่อีก เพราะเชียงใหม่ยุคนั้นเป็นที่ปราถนาของพวกล่าอาณานิคมดังกล่าวแล้ว

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 16 •มิถุนายน• 2012 เวลา 21:05 น.• )