ตอนที่ดร.แดเนียล แมคกิลวารี มิชชั่นนารีคนแรกเดินทางไปถึงเชียงใหม่ เจ้าหลวงเผอิญไม่อยู่ เจ้าหลานชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบแทนไม่ทราบจะตัดสินใจอย่างไรก็เลยหลบไปบ้านนอก แต่ในที่สุดเมื่อเจ้าหลวงกลับมาก็ได้จัดการต้อนรับตามสมควรจนกระทั่งเดินทางกลับ การเดินทางครั้งนั้นถือว่าไปสำรวจเพื่อเตรียมไปทำงานเผยแพร่ต่อไป ต่อมาอีกสามปีจึงได้พากันเดินทางขึ้นไปเป็นคณะ ทั้งนี้โดยทางกงสุลอเมริกันได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ช่วยนำหนังสือขึ้นทูลเกล้าถวายในหลวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดสำนักขึ้นที่เชียงใหม่ ในหลวงทรงให้คำตอบว่า อำนาจใจเรื่องนี้มิได้อยู่ที่พระองค์ท่าน เพราะพระองค์ท่านยังไม่สามารถจะบังคับประชาชนชาวเชียงใหม่ในเรื่องงของมิชชั่นได้ ขณะนั้นเจ้าหลวงก็ยังพักอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าเจ้าหลวงยินยอมรัฐบาลไทยก็ไม่ขัดข้อง เพราะฉะนั้น ขอให้ไปเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งในหลวงโปรดเกล้าให้พนักงานไปด้วยคนหนึ่ง เพื่อจะได้กลับไปรายงานกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ดังนั้นหมอแดเนียลกับคณะจึงพากันไปที่ท่าน้ำซึ่งกระบวนเรือของเจ้าเชียงใหม่จอดอยู่ ในเช้าวันเสาร์ พระเจ้ากาวิโลรศพระเจ้าเชียงใหม่ ก็แต่งกายแบบพื้นเมืองตามสบายของท่าน คือนุ่งผ้าแต่ไม่สวมเสื้อ มีผ้ายี่โป้พาดบ่า มีไม้ถืออันเล็ก ๆ ออกมาต้อนรับนายแพทย์ชาวอเมริกันที่ท่าน้ำ...

ท่านก็พระหัตถ์ให้จับ แล้วประทับนั่งไขว่ห้าง รับสั่งถามถึงกิจธุระของหมดแดเนียลกับหมอบลัดเลย์ ซึ่งทั้งสองก็ได้ทูลอธิบายถึงเจตจำนงที่จะอนุญาตจัดตั้งสถานีมิชชั่นนารีที่เชียงใหม่ ซึ่งได้เคยทาบทามมาหลายครั้งแล้ว เจ้าหลวงรู้สึกจะทรงยอมให้มีการปลูกสร้าง คือการสร้างโรงเรียน สถานพยาบาล และสำนักงานสอนศาสนา อันนี้นับว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลอยากจะให้บ้านเมืองเจริญขึ้น  ดังนั้นในปี ๒๔๐๙ เดือนมกราคม หมอแดเนียลพร้อมด้วยคณะและผู้ติดตามก็ได้เดินทางโดยทางเรือขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่อีกเป็นคำรบสอง คราวนี้ท่านได้สมรสแล้วกับบุตรสาวของหมอบลัดเลย์ การเดินทางให้เวลาถึงสามเดือน เชียงใหม่สมัยนั้นเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บชุกชุมที่สุด ชาวเมืองก็ใช้ยาสมุนไพรบ้าง ตลอกจนการเซ่นผีเลี้ยงผีไปตามเรื่องตามราว หมอแดเนียลต้องผจญกับอุปสรรคมากมายในการทำงาน อีกทั้งภรรยาจะคลอดบุตร ที่อยู่ก็เพียงศาลาโล่ง ๆ มีฝาสามด้าน มีระเบียงต่อไปราวหกฟุต ตัวศาลายาว ๒๐ ฟุต กว้าง ๑๒ ฟุต ใช้เป็นทั้งห้องนอน ห้องอาหาร ห้องรับแขก และเป็นสำนักงานไปด้วย ห้องครัวกับห้องน้ำต้องสร้างขึ้นใหม่ จนทำให้คริสเตียนมีมากในภาคเหนือ นอกจากจะต้องอยู่อย่างคับแค้นแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับประชาชนเชียงใหม่ที่พากันยกโขยงมาดู “กุลวาขาว” คือพวกฝรั่งกันเนืองแน่นทุกวัน ก่อความลำคาญให้เขาเป็นอันมาก แต่พวกนี้เขามีจุดประสงค์มาเพื่อการเผยแพร่ศาสนาเขาก็ต้องอดทนไม่เป็นแก่ความเหนื่อยยากรำคาญ ในที่สุดหมอแดเนียลก็ได้รับความสำเร็จดังที่เล่าให้ฟังมาแล้ว ส่วนเจ้าหลวงก็สังเกตการณ์การอยู่บ้าง ท่านคุ้นเคยกับพวกนี้มาก่อนตลอดจนเจ้าหญิงทิพเกสรและเจ้าหญิงอุบลวรรณาพระธิดาก็คุ้นกับฝรั่งพวกนี้เป็นอย่างดี ตอนที่หมอแดเนียลแต่งงาน ก็ได้ส่งเค้กไปถวายเจ้าหญิง และเจ้าหญิงก็เคยเสด็จไปเยือนหมอถึงที่พักตอนที่หมอไปถึงเชียงใหม่ แรก ๆ นะเธอ เอายาควินินไปมากมายเพื่อปราบมาเลเรีย แล้วยังต้องรักษาโรคคอพอกซึ่งเป็นกันมาก เพราะขาดอาหารทะเล พอรักษาหายเข้าสักคนหนึ่งก็เลื่องลือกันขนานใหญ่ พวกกะเหรี่ยงและเชาเขาก็พากันมาขอให้ปลูกฝีให้ ส่วนเชื้อหนองนั้นสมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็นก็ใช้วิธีส่งสะเก็ดแห้งไปจากกรุงเทพฯ นับว่าครั้งนั้น คนเชียงใหม่รอดชีวิตจากโรคไข้ฝีดาษเป็นจำนวนมาก ตามบันทึกท่านบอกไว้ว่าได้เดินทางไปถึงเชียงรุ้ง แล้วก็หลวงพระบาง อันนี้น่าชมอุตสาหะวิริยะของหมอแดเนียลเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเดินทางอันแสนทุรกันดารครั้งนั้น เป็นเรื่องยากยิ่งนัก ต้องขึ้นเขาไมรู้ว่ากี่ลูก บางตอนต้องลงลุยน้ำข้ามลำธาร นับได้ถึง ๔๙ แห่ง ทุกวันนี้มีคนไทยไม่กี่คนที่กล้าเดินทางไกลแบบทุรกันดารอย่างท่าน ระยะเวลาที่ท่านอยู่เมืองไทยนายถึงสามราชกาลคือตั้งแต่ รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๖ หรือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ – พ.ศ.  ๒๔๕๔ หนังสือประวัติของหมอชื่อ “กึ่งศตวรรษในหมู่ชนชาติไทยและลาว” เป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก