ประวัติการสร้างวัดแม่คำมี วัดแม่คำมีเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งของอำเภอร้องกวาง ซึ้งตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่คำมี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนองม่วงไข่) โดยเริ่มสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๔๐๕ ประมาณ ๖๐ ปี ได้มีการพัฒนาโดยลำดับ ในสมัยนั้นชาวบ้านแม่คำมีเรียกกันว่า “บ้านอ้องพ้อง” โดยมีชาวบ้านอพยพมาจากในตัวจังหวัดแพร่ อยู่กันเป็นหย่อม ๆ จึงมีชื่อเรียกกันอย่างนั้น ชาวบ้านเริ่มจับจองพื้นที่ถางป่าเพื่อใช้ทำการเกษตรเลี้ยงชีพ เมื่อมีประชากรมาอยู่รวมกันมากขึ้น ชาวบ้านจึงพากันสร้างวัดขึ้นเพื่อทำนุบำรุงศาสนา และใช้ในการประกอบศาสนพิธีตามวิถีแห่งพุทธ ต่อมาภายหลังบ้านอ้องพ้องก็เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านแม่คำมี” ตั้งตามชื่อของลำน้ำแม่คำมี โดยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นผู้ตั้งให้ ต่อมาวัดแม่คำมีได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๐๕ โดยมีพระมโนธรรมเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

และท่านก็ได้พาคณะศรัทธาประชาชนปลูกสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นที่ทำบุญทำทานและเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เพราะสมัยนั้นอาศัยวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา โดยอาศัยคหบดีและคณะศรัทธาประชาชนในหมู่บ้านให้ความร่วมมือ จนหมดสมัยของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ รวม ๗ ปี  ต่อจากนั้นมาก็มาถึงสมัยของพระศรีวิชัย เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๔๑๑) ท่านได้พาคณะศรัทธาประชาชนทำบุญทำทานและพัฒนาวัดแม่คำมีมาตลอด ในสมัยนั้นวัดแม่คำมีตั้งตรงกลางลำน้ำแม่คำมีปัจจุบันนี้ ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ คือพอฤดูน้ำหลากทำให้ตลิ่งพัง ก็ได้พาคณะศรัทธาทำฝายกั้นน้ำ โดยตีหลักกั้นน้ำแม่คำมีเป็นตอน ๆ (ชาวบ้านเรียกว่า “หลักหลอ”) เพื่อจะให้น้ำเปลี่ยนทางเดินในสมัยนั้นมีบุคคลสำคัญที่เป็นหัวจักรในการพัฒนาวัดวาฝ่ายคฤหัสถ์ คือพ่อหนานอินทร คำสุข พ่อหนานปัญญา ชมภูมิ่ง พ่อขุนปินตา สุขมี พ่อเลี้ยงเมือง ชมภูมิ่ง ท่านเหล่านี้ได้นำประชาชนร่วมมือกับเจ้าอาวาสได้นำความเจริญมาสู่บ้านแม่คำมีเป็นจำนวนมาก จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๐ รวม ๑๐ ปี มาถึงสมัยพระพรหมเทพเป็นเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งอยู่กลางน้ำแม่คำมีปัจจุบันนี้ เพราะสมัยนั้นน้ำยังไม่เปลี่ยนทางเดินต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติมาตลอด ก็อาศัยคฤหัสถ์โดยเฉพาะพ่อเลี้ยงเมือง ชมภูมิ่งพ่อหนานปัญญา ชมภูมิ่ง พ่อขุนปินตา สุขมี หรือพ่อขุนคำมี และศรัทธาเป็นจำนวนมากได้นำไม้มาตีฝากั้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเซาะตลิ่งกลัวอุโบสถจะพังลง แต่แล้วก็ไม่สามารถสู้ภัยธรรมชาติได้ จึงได้ขยับที่ตั้งวัดมาอีก และได้มีการพัฒนาจนหมดสมัยของท่านใน พ.ศ. ๒๔๕๒ รวม ๓๓ ปี ต่อมาสมัยของพระพรหมวังเป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๔๕๒) ท่านและศรัทธาก็พากันคิดสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น โดยสมัยนั้นมีฝ่ายคฤหัสถ์ที่เป็นหัวจักรสำคัญคือ พ่อหนานปัญญา ชมภูมิ่ง พ่อเฒ่ามูล วงศ์อินทร์ พ่อกำนันกู้ พิมสาร นำศรัทธาผู้ใจบุญทั้งหลายพัฒนาวัดร่วมกับเจ้าอาวาสมาโดยตลอด จึงสามารถสร้างอุโบสถหลังใหม่สำเร็จ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ รวม ๙ ปี ต่อมาสมัยของพระธรรมสรเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา งัดแม่คำมีมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น มีการสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ แต่ก็แพ้ภัยธรรมชาติ ตลิ่งทรุดพังลงอีกครั้งหนึ่ง สมัยนั้นมีบุคคลสำคัญในการช่วยพัฒนาวัดคือ  พ่อหนานปัญญา ชุมภูมิ่ง พ่อเฒ่ามูล วงศ์อินทร์ พ่อกำนันกู้ พิมสาร พ่อเลี้ยงปิง ชมภูมิ่ง พ่อเลี้ยงฟอง ชมภูมิ่ง สมัยนี้คิดสร้างอุโบสถหลังใหม่แต่ไม่สำเร็จ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ รวม ๔ ปี ต่อมาสมัยของท่านพระครูรัตนปัญญา (พ.ศ. ๒๔๖๓) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ร่วมกับบุคคลแกนนำคือ พ่อเฒ่ามูล วงศ์อินทร์ พ่อกำนันกู้ พิมสาร พ่อกำนันอู๊ด ลือวัฒนานนท์ พ่อเลี้ยงอุทัย กันทาธรรม พ่อเลี้ยงทอง กันทาธรรม พ่อเลี้ยงสม กันทาธรรม และศรัทธาทั้งหลายได้ตกลงกันสร้างอุโบสถหลังใหม่จนสำเร็จ ได้อัญเชิญพระประธานในอุโบสถหลังเก่ามาประดิษฐานอยู่ในโบสถ์หลังใหม่ มาจนถึงปัจจุบันนี้ และเป็นพระคู่บ้านแม่คำมีมาโดยตลอด (ต่อมาภายหลังพระครูโกศลสมณคุณได้ตั้งชื่อให้ว่า “พระพุทธรัตนมงคลมุณี”) ในสมัยหลวงพ่อพระครูรัตนปัญญาเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น บ้านแม่คำมีเจริญรุ่งเรืองมาก ท่านเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งจึงได้รับพระราชทานสมนศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรรูปแรก ของวัดแม่คำมี แต่มาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอร้องกวาง ทำให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของคณะศรัทธาวัดแม่คำมีทุกคน ในสมัยท่านยังได้จัดเป็นวัดสถานที่ศึกษาหาความรู้ของกุลบุตรกุลธิดาในสมัยนั้น คือตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นภายในวัด และในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านและคณะศรัทธาประชาชนบ้านแม่คำมีก็ร่วมกันจัดงานผูกพัทธสีมาขึ้นเพื่อที่จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการสังฆกรรมต่อไป สมัยนั้นมีคณะของคุณแม่คำแฝง คุณพ่อทอง คุณแม่กนิษฐ์ คุณพ่อสม คุณแม่ผง กันทาธรรม ได้พากันสร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่งถวายให้วัดแม่คำมีเป็นศาสนสมบัติ ทำให้วัดมีความเจริญมากขึ้น เป็นที่ภูมิใจของชาวแม่คำมี จนในที่สุดท่านได้มรณภาพลงไปแล้ว ชาวบ้านก็ได้นำเอาชื่อท่านมาต่อท้านชื่อหมู่บ้าน คือ “บ้านแม่คำมีรัตนปัญญา” เพื่อเป็นอนุสรณ์ของท่านต่อไป ในสมัยท่านได้ดำเนินมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ รวม ๔๔ ปี ต่อมาสมัยหลวงพ่อพระครูสุวรรณวรคุณ เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๕๐๓) หลังจากหลวงพ่อพระครูรัตนปัญญาได้มรณภาพลงแล้ว คณะศรัทธาในบ้านแม่คำมีก็ได้ไปอาราธนา พระพิมล นามสโร มาจากวัดรัตนสุทร ตำบลน้ำรัด อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดแม่คำมีแล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดมาตลอด ผลงานของท่านมีมากเหมือนที่ท่านสาธุชนทั้งหลายได้เป็นที่ประจักษณ์อยู่ในขณะนี้และต่อมาท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูสุวรรณวรคุณ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอร้องกวาง ในสมัยของท่านได้สร้างกุฏิ กำแพง ซุ้มประตู อุโบสถ และถาวรวัตถุอีกหลายอย่าง แต่ทั้งหมดท่าก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบุคคลสำคัญดังนี้คือ คุณพ่ออุทัย คุณแม่คำแฝง กันทาธรรม และลูก ๆ ของท่าน จากพ่อกำนันอุ๊ด คุณแม่คำเต็ม ลือวัฒนานนท์ ท่านกำนั้นมนัส คุณบุญยงค์ พิมสาร และญาติพี่น้องทุกคน พ่อเลี้ยงเจริญ แม่เลี้ยงวราภรณ์ สานเขื่อนแก้ว คุณพ่อเพชร สุทธิลักษณ์ และคณะศรัทธาบ้านแม่คำมีทุกคน ได้ร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาวัดมาโดยตลอด ดังมีรายละเอียดการสร้างถาวรวัตถุในสมัยของหลวงพ่อพระครูสวรรณวรคุณ ในประวัติของท่าน และท่านได้พัฒนามาจนถึงวินาทีสุดท้ายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒ รวม ๓๐ ปี

สรุปรายนามเจ้าอาวาสวัดแม่คำมีดังต่อไปนี้

๑ พระมโนธรรม พ.ศ. ๒๔๐๕ – พ.ศ. ๒๔๑๑

๒ พระศรีวิชัย พ.ศ. ๒๔๑๑ – พ.ศ. ๒๔๒๐

๓ พระพรหมเทพ พ.ศ. ๒๔๒๐ – พ.ศ. ๒๔๕๒

๔ พระพรหมวัง พ.ศ. ๒๔๕๒ – พ.ศ. ๒๔๖๐

๕ พระธรรมสร พ.ศ. ๒๔๖๐ - พ.ศ. ๒๔๖๓

๖ พระครูรัตนปัญญา พ.ศ. ๒๔๖๓ – พ.ศ. ๒๕๐๓

๗ พระครูสุวรรณวรคุณ พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๓๒

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 14 •กุมภาพันธ์• 2014 เวลา 20:10 น.• )